Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท - เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2550 ห้อง 221 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่ายต้านท่อก๊าซฉ่วย ร่วมกับสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (ฟอรั่มเอเชีย) ชมรมนักกิจกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลง และโครงการสตรีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมกันจัดแถลงข่าวการชุมนุมต่อต้านโครงการท่อก๊าซฉ่วยในประเทศพม่า ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 26 มีนาคม 2550 หน้าสถานทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทย


 


นายวง อ่อง (Wong Aung) ผู้ประสานงานสากลจากขบวนการต่อต้านก๊าซฉ่วย (Shwe) ให้เหตุผลในการคัดค้านโครงการท่อก๊าซฉ่วยว่า โครงการนี้ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญาจะไม่ได้รับประโยชน์จากการลงทุน ผลกำไรจากการลงทุนมีแต่จะทำให้รัฐบาลทหารพม่าเข้มแข็ง ทหารพม่าจะเข้าไปควบคุมพื้นที่การวางท่อก๊าซ ซึ่งหมายความว่าทหารจะเข้าไปควบคุมชาวบ้านและจะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้นในรัฐอาระกัน ประเทศพม่า ไม่ว่าจะเป็นการข่มขืน ยึดที่ทำกิน บังคับชาวบ้านย้ายที่ แรงงานทาส สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย การเข่นฆ่าและทรมานชาวบ้าน


 


นายวง อ่อง ยังกล่าวเพิ่มอีกว่า กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ได้นำมาใช้ในโครงการและประชาชนในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมโดยสิ้นเชิงจากโครงการก๊าซเหล่านี้ ซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนสามารถเกิดขึ้นทางเดียวจากการรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยและมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น


 


"ที่พม่าเมื่อมีโครงการพัฒนาของรัฐแล้ว ประชาชนนอกจากจะไม่ได้รับเงินชดเชยเหมือนประเทศอื่นแล้ว รัฐบาลยังมองประชาชนว่าเป็นปัญหา เป็นตัวขวางเงินขวางทองแทนที่รัฐบาลจะได้เม็ดเงินจากโครงการเต็มเม็ดเต็มหน่วย และแม้ว่ารัฐบาลอินเดียและเกาหลีใต้มีอำนาจในการยุติการละเมิดสิทธิและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในประเทศพม่าแต่รัฐบาลเหล่านี้กลับไม่ทำเช่นนั้น" นายวง อ่อง กล่าว


 


ตนจึงขอความช่วยเหลือและความสมานฉันท์จากสังคมไทย ในการคัดค้านโครงการท่อก๊าซนี้ ทั้งนี้หากเกิดโครงการขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นในพม่าจะส่งผลกระทบทั้งภูมิภาค และจะยิ่งมีจำนวนผู้ลี้ภัยเข้ามายังประเทศเพื่อนบ้านของพม่ารวมทั้งประเทศไทยมากขึ้น นายวง อ่องกล่าว


 


นายปกป้อง เลาวัณย์ศิริ เจ้าหน้าที่ี่ประจำโครงการไทย/พม่าของฟอรั่ม-เอเชีย ซึ่งร่วมการแถลงข่าวด้วยกล่าวว่า "การที่บริษัทของไทยและรัฐบาลไทยมีส่วนร่วมในโครงการก๊าซฉ่วยจะทำให้ประเทศไทยมีบทบาทสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าอย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าจะมีผลกระทบกับสถานการณ์สันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค แต่รัฐบาลไทยสามารถมีบทบาทสำคัญในการรักษาสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคได้โดยการไม่สนับสนุนโครงการนี้" นายปกป้อง เลาวัณย์ศิริกล่าว


 


อนึ่ง สำหรับโครงการสร้างท่อก๊าซธรรมชาติฉ่วย เป็นโครงการในรัฐอาระกันของประเทศพม่า โดยมีการสำรวจพบแหล่งก๊าซในปี 2547 โดยมีแนววางท่อก๊าซจากพม่าไปยังอินเดียและจีน ระยะทางรวมกันกว่า 2,500 กิโลเมตร เป็นโครงการที่มีมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีบริษัทแดวู (Daewoo) ของเกาหลีใต้ และบริษัทอื่นในอินเดียและเกาหลีใต้อีกสามบริษัทร่วมทุน


 


ก่อนหน้านี้ในเกาหลีใต้ได้มีการสืบสวนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างบริษัทแดวูและรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า โดยที่ในเดือนธันวาคมปี 2549 ผู้บริหารจำนวนสิบสี่คนรวมถึงประธานกรรมการสากล นายลี เท ยอง (Lee Tae-yong) ถูกฟ้องข้อหาค้าอาวุธสงครามอย่างผิดกฎหมายให้กับรัฐบาลทหารพม่า โดยที่คดีนี้จะเริ่มการไต่สวนอีกครั้งในวันที่ 12 เมษายน 2550


 


ปัจจุบันนี้ประเทศไทยได้รับก๊าซจำนวนหนึ่งพันล้านคิวบิคฟุตต่อวันจากประเทศพม่า และเป็นประเทศที่มีการลงทุนใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามในพม่าตามหลังสิงคโปร์และอังกฤษ โดยไทยได้รับก๊าซจากแหล่งยาดานา และเยตากุนในรัฐมอญ ซึ่งผลของโครงการวางท่อก๊าซจากแหล่งดังกล่าวมายังไทย ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า และมีชนกลุ่มน้อยจำนวนมากหนีการปราบปรามและหนีการถูกบังคับเกณฑ์แรงงานของรัฐบาลทหารพม่า เข้ามาลี้ภัยหรือหางานทำในประเทศไทย


 


ทั้งนี้จะมีการประท้วงโครงการท่อก๊าซฉ่วยในวันจันทร์ที่ 26 มีนาคมนี้หน้าสถานทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทย และอีก 20 ประเทศทั่วโลก นับเป็นการรณรงค์ครั้งที่ 4 นับตั้งแต่การรณรงค์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2547 ที่ผ่านมา


 


รายละเอียดเพิ่มเติม

Shwe Gas Movement www.shwe.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net