Skip to main content
sharethis


ทิพย์อักษร มันปาติ


สำนักข่าวประชาธรรม


 


แม้ว่าแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือเซาเทิร์นซีบอร์ด (Southern Seaboard Development Plan: SSB) จะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นแผนพัฒนาระดับภูมิภาคชุดใหญ่ที่ได้รับอนุมัติในกรอบยุทธศาสตร์หลัก ตั้งแต่ปี 2532 สมัยนายกรัฐมนตรีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ แต่แนวคิดที่จะรื้อแผนนี้ขึ้นมาศึกษาความเป็นไปได้ใหม่ เกิดขึ้นอีกครั้งหลังจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ถูกพัฒนามาจนถึงขีดสุด พื้นที่เต็มไปด้วยความแออัด สร้างปัญหามลพิษ และแหล่งน้ำมีไม่เพียงพอต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม และที่สำคัญคือ จะไม่สามารถขยายตัวไปได้มากกว่านี้แล้ว


 


วันนี้ แผนเซาเทิร์นซีบอร์ด อาจค่อนข้างเงียบงัน ยังไม่มีใครกล้าฟันธงเสียทีเดียวว่าจะเป็นจริงขึ้นมาได้หรือไม่ นักพัฒนาองค์กรเอกชน นักวิชาการ คือ ศยามล ไกรยูรวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการสร้างเสริมจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) บรรจง นะแส ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งทะเลภาคใต้ และ ดร. เลิศชาย ศิริชัย สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  ทั้ง 3 ท่าน เป็นผู้ซึ่งทำงานคร่ำหวอดอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ต่างมีมุมมองการวิเคราะห์ที่น่าสนใจต่อแผนพัฒนาดังกล่าวว่า จะเป็นทิศทางการพัฒนาแบบเดิมๆ ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความขัดแย้ง และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนเหมือนหลายๆ โครงการที่ผ่านมาหรือไม่


 


 


ศยามล ไกรยูรวงศ์ : การพัฒนาที่สมดุล เน้นท้องถิ่นอยู่ได้ สิ่งแวดล้อมสมบูรณ์


 


มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่จะรื้อแผนเซาเทิร์นซีบอร์ดขึ้นมาดำเนินการ หลังจากที่อีสเทิร์นซีบอร์ดไม่สามารถจะขยายพื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่มได้อีกแล้ว


 



เซาเทิร์นซีบอร์ดเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่โครงการนี้ต้องอาศัยการลงทุนร่วมระหว่างประเทศ เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องอาศัยการลงทุนมหาศาล ซึ่งจะมีโครงการต่างๆ เชื่อมโยง เช่น แลนบริดจ์ การสร้างอุโมงค์เพื่อขนส่งน้ำมันเชื่อมฝั่งอ่าวไทยกับอันดามัน อุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต้องใช้พลังงานและแหล่งน้ำ แต่ที่เริ่มพูดกันมากก็คือเมื่อน้ำมันมีราคาสูงขึ้น การใช้พลังงานจำนวนมากก็จะยังเน้นการใช้ถ่านหิน ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าเป็นพลังงานที่ไม่สะอาด ดังนั้นรัฐบาลควรจะหันมาให้ความสำคัญกับพลังงานทางเลือกที่สะอาดอย่างที่ทั่วโลกเขากำลังให้ความสำคัญกัน


 


ตอนนี้แลนบริดจ์ซึ่งอยู่ในแผนของเซาเทิร์นซีบอร์ดทำแล้ว นอกจากนี้ยังพบว่ามีการกว้านซื้อที่ดินบริเวณ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช แต่ยังไม่รู้ว่าตอนนี้มีต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนหรือยัง แต่ตอนนี้คิดว่ารัฐบาลกำลังรอการลงทุนกับต่างชาติอยู่ ถ้ามีการเข้ามาร่วมลงทุนเมื่อไหร่เชื่อว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นแน่นอน อย่างไรก็ตาม หากจะดำเนินการในรัฐบาลชุดนี้ คงไม่ชอบธรรม เพราะเรื่องนี้ต้องคุยกันหนัก เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ดังนั้นรัฐบาลชุดนี้อาจจะหยิบแผนขึ้นมาดูก่อน แต่ยังไม่สามารถทำอะไรได้เพราะงบประมาณมีไม่พอด้วย แต่พอมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งชุดใหม่ แผนนี้ก็คงจะเอามาพูดอีกที และอาจจะถูกผลักดันให้เกิดขึ้น


 


 


ภาคธุรกิจท่องเที่ยวไม่เห็นด้วยกับเซาเทิร์นซีบอร์ดเพราะจะกระทบการท่องเที่ยวโดยเฉพาะฝั่งอันดามันอย่างมหาศาล


 


เซาเทิร์นซีบอร์ดจะกระทบกับการท่องเที่ยวแน่นอนอยู่แล้ว และกระทบอย่างอื่นอีกมากมายด้วย ถ้ารัฐบาลยังไม่เปลี่ยนวิธีคิด ยังมีวิสัยทัศน์เชิงเศรษฐกิจ เอาค่าจีดีพีของประเทศเป็นตัวตั้ง รัฐบาลต้องคิดวางแผนการใช้ที่ดินให้เป็นในระยะยาว มีมาตรการควบคุมที่ชัดเจนเรื่องการใช้น้ำ เรื่องสิ่งแวดล้อม รัฐบาลและผู้ประกอบการต้องลงทุนสูงหน่อยในด้านนี้มากกว่านี้ ไม่ใช่เอาแต่ต้นทุนต่ำอย่างเดียวซึ่งไม่ได้สามารถป้องกันมลพิษ แต่หลายโครงการที่ผ่านมา ไม่ได้เข้มงวดเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย เพราะรัฐบาลกลัวต่างชาติจะถอนการลงทุน จึงไม่เข้มงวดในด้านการควบคุมเรื่องมลพิษ ทำให้มาตรการเรื่องนี้ไม่มีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันประชาชนก็ดำเนินการตรวจสอบยาก ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง


 


มีความคิดเห็นอย่างไรต่อแนวโน้มทิศทางการพัฒนาประเทศในภาพรวม


 


ถ้ารัฐบาลคิดว่าอุตสาหกรรมส่งออกเป็นสิ่งที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับการประมงพื้นบ้านของชาวบ้าน ก็เป็นการมองแบบเอารายได้ประชาชาติเป็นตัวหลัก มันก็หลีกหนีไม่พ้นที่คุณจะพูดถึงการพัฒนาอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกัน หากรัฐบาลจะเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ว่า ไม่เอาตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ให้มองที่ประชากรทุกคนว่าจะมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพได้อย่างไร มันก็จะมีทางเลือกมากขึ้น เช่น การสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นให้ได้อย่างหลากหลายโดยที่ไม่ต้องทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนมุมมองในการพัฒนาประเทศหรือไม่ ถ้าไม่เปลี่ยนก็จะต้องเจอปัญหาแบบนี้มาตลอด


 


"ความจริงการพัฒนาอุตสาหกรรมสามารถสร้างความสมดุลกับท้องถิ่น สิ่งแวดล้อมได้ เหมือนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง แต่ที่ผ่านมา ไม่ได้มีการเอามาปฏิบัติการที่ต้นเหตุจริงๆ เป็นเพียงการสร้างภาพเฉยๆ รัฐบาลเองก็ไม่ได้คิดถึงการกระจายรายได้จากการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นให้ยั่งยืนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง"


 


คิดอย่างไรต่อการที่รัฐบาลมักอ้างปัญหาความขัดแย้ง และความยากจนในพื้นที่ภาคใต้ แล้วเอาเรื่องเศรษฐกิจมาแก้


 


มันไม่ใช่ประเด็นความขัดแย้ง หรือความยากจนเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงประเด็นทางสังคมอื่นๆ เช่น การไม่ได้รับความเป็นธรรมการการใช้อำนาจรัฐ การใช้อิทธิพลของนักการเมืองท้องถิ่นเข้ามาแทรกแซง ดังนั้นการสร้างอุตสาหกรรมและการสร้างรายได้ ไม่ได้แก้ปัญหาในทุกๆ ประเด็นที่กล่าวมา และในความเป็นจริงที่ผ่านมาก็บอกชัดแล้วว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมไม่ได้มีการกระจายรายได้อย่างแท้จริง แต่รายได้กลับกระจุกตัวมากกว่า ในกลุ่มองค์ความรู้ที่มีฝีมือ ในขณะที่ความเป็นจริง ชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นรายได้ที่ไม่มีความรู้ ดังนั้นชาวบ้านจะไม่ได้รับประโยชน์กับตรงนี้เท่าไรนัก หรือน้อยมากที่จะได้ประโยชน์


 


แนวคิดที่จะแปลงโฉมภาคใต้ทั้งหมดให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม จะทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นที่มหาศาล ทำลายป่าเขตร้อนเป็นจำนวนมากในภาคใต้ รัฐบาลต้องคิดถึงระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมในชัดเจน ถ้าพลาดไปแล้ว ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนับจากวันนี้ไปอีกหนึ่งร้อยปีข้างหน้าอันไหนคุ้มกว่ากัน ประชาชนก็ต้องเรียนรู้ เลือกคนที่จะมาบริหารให้เป็นไปในแบบที่เราต้องการ


 


"เราต้องคำนึงถึงทิศทางการพัฒนาประเทศว่าจะเกิดผลกระทบอะไรขึ้นบ้างในอนาคต หากประชาชนรู้สึกว่าเขายังไม่ได้รับผลกระทบก็จะไม่ทำอะไร การพัฒนาประเทศให้มีทั้งอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมสามารถทำได้ แต่ต้องใช้กฎหมายมาควบคุมสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด นำแนวคิดในหลวงมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เชื่อว่ารัฐบาลสามารถสร้างความสมดุลได้ทั้ง 2 แบบ แต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะทำหรือไม่ จะยอมเปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนทิศทางในการพัฒนาประเทศหรือไม่"


 


บรรจง นะแส : คำตอบของสังคมที่สงบสุขไม่ได้วัดที่จีดีพี


 


หากแผนเซาเทิร์นซีบอร์ดถูกรื้อฟื้นขึ้นมาดำเนินการสำเร็จ หลายคนทำนายว่าอาจทำให้ภาคใต้กลายเป็นมาบตาพุด 2


 


ประเด็นสำคัญที่ผมจะขอกล่าวถึงแผนเซาเทิร์นซีบอร์ด ไม่ได้เป็นเหตุผลในด้านมลพิษเท่านั้น แต่สิ่งที่อยากจะพูดถึงคือ ทิศทางการพัฒนาประเทศแบบนี้ ผมไม่เชื่อว่าในบ้านเราปัจจุบันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างได้ เช่น ปัญหาปัจจัยการผลิตของคนส่วนใหญ่ กล่าวคือ การใช้เครื่องมือการพัฒนาอย่างหนึ่ง เช่น อุตสาหกรรมต่างๆ นิคมอุตสาหกรรม แลนบริดจ์ เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรืออะไรก็แล้วแต่ มันไม่สามารถแก้ปัญหารากเหง้าของความยากจนของประชาชนอะไรได้เลย เพราะว่าวันนี้สังคมเรา มันไม่มีเครื่องมือในการควบคุม ตรวจสอบเป้าหมายที่เป็นทิศทางของการพัฒนาได้ มันยังตกอยู่มือของคนจำนวนน้อยที่เห็นประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก


 


เพราะฉะนั้น ปรากฏการณ์ที่เราเจอทั้งหลาย เช่น มาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรม เหมืองแม่เมาะ โรงงานเล็กๆ น้อย ที่อยู่รายรอบทะเลสาบสงขลา ท่าเรือน้ำลึก สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่มากกว่า แต่ผลประโยชน์กลับตกไปอย่าในมือคนส่วนน้อย ฉะนั้น วันนี้ผมจึงไม่เห็นด้วยที่จะนำพาประเทศไปในทิศทางนั้นในขณะที่สังคมยังไม่พร้อมที่จะไปในทิศทางนั้น ยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่า แค่โรงงานเลี้ยงหมูฟาร์มเดียวก็สามารถทำให้แม่น้ำทั้งสายหรือคนจำนวนเป็นพันคนเจ๊งได้ แล้วจะมีประโยชน์อะไรหากไม่มีกลไกที่จะควบคุมให้ฟาร์มหมูทำให้แม่น้ำสะอาด ก็ยิ่งไปกันใหญ่นี่คือประเด็นแรก


 


ประเด็นต่อมา ถ้าเราวางเป้าว่า ทิศทางในอนาคตของสังคมต้องเป็นสังคมเชิงเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมมีความสมดุลกัน ขณะนี้อุตสาหกรรมเริ่มตกต่ำแล้วล่ะเพราะมันไม่สามารถไปตอบสนองกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการได้ เพราะสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการคืออาหารที่ดี ราคาถูก สิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศที่บริสุทธิ์ มีน้ำดื่มกินโดยไม่ต้องใส่ขวดมาเร่ขาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนที่สังคมเรามีอยู่แล้ว แต่หากเราพัฒนาอุตสาหกรรมโดยที่เราไม่มีความพร้อมในการควบคุมมันก็จะยิ่งทำลายต้นทุนที่มีอยู่เดิม ความทุกข์ยากจะยิ่งเพิ่มขึ้นแทนที่จะแก้ปัญหา


 


เมื่อรู้ไม่พร้อมแล้วจะหยุดโครงการอย่างไร เพราะรัฐบาลก็พยายามที่จะหาเหตุผลมาอ้างให้โครงการสำเร็จขึ้นได้ทุกที


 


ผมว่ามันเป็นวัฒนธรรมของเราที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง สำนึกของผู้คนเรื่องการโกงชาติ คนที่ทำลายสิ่งแวดล้อมยังไม่เปลี่ยนแปลงเพราะขาดความเชื่อมั่นในกลไกรัฐที่จะช่วยเขาได้ เช่น มีบางโรงงานบางที่อยากจะทำดี แต่โรงงานส่วนใหญ่ไม่ทำ ก็ทำให้โรงงานที่อยากจะทำดีมีต้นทุนที่แพงกว่า เขาก็ไม่อยากทำ ซึ่งถ้าทิศทางการพัฒนาในวันนี้ยังเป็นแบบนี้ผลพงที่ตามมามันจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี


 


นอกเหนือจากภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบแล้ว ภาคส่วนอื่นๆ ย่อมได้รับผลกระทบด้วย การแก้ปัญหาด้วยกฎหมายเป็นเพียงปัจจัยเดียว ไม่ใช่คำตอบของการแก้ไขปัญหาทั้งหมด แต่สำนึกของผู้คน หลักสูตรการศึกษาที่ปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ยังเล็กนับเป็นปัจจัยสำคัญด้วย


 


แต่ในเบื้องต้น เมื่อเราไม่พร้อมก็ควรจะหยุดโครงการที่จะมีความเสี่ยงเอาไว้ก่อน กล่าวคือ เมื่อเราตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะนำพาประเทศสู่เศรษฐกิจพอเพียง แล้วถามว่าการทำแลนบริดจ์ และนิคมอุตสาหกรรมมีความสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจพอเพียงหรือเปล่า ถ้าไม่สอดคล้องก็ต้องหยุดเอาไว้ก่อน แล้วมาดูว่าเศรษฐกิจพอเพียงที่คิดว่าเป็นเป้าหมายที่เราเชื่อว่ามันจะทำให้คนส่วนใหญ่มีปัจจัยสี่อยู่ได้ แก้ปัญหาความยากจนได้ เราก็ต้องพูดเรื่องนี้เป็นหลัก ทรัพยากรที่จะต้องแลก งบประมาณแผ่นดินจำนวนเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาทที่จะนำมาทำโครงการแลนบริดจ์ สร้างท่าเรือน้ำลึก ที่จะกระทบกับชาวประมง เราก็ต้องหยุดตรงนั้นเอาไว้ก่อน เพื่อที่จะบอกว่าสิ่งที่เราคิดกับสิ่งที่เราทำไปด้วยกันได้หรือไม่ ไม่อย่างนั้นแล้วคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงก็จะกลายเป็นเพียงวาทกรรม เครื่องมือ หรือยาหอม เอาไว้กล่อมชาวบ้าน แต่ในทางปฏิบัติรัฐกลับทำอีกด้านหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าการคิดแบบนี้ไม่เป็นผลดีกับการบริหารประเทศ เพราะเป็นการพูดอย่างทำอย่าง


 


คิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงไปได้กับอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ ตามที่รัฐบาลพยายามอธิบายไว้หรือไม่


 


มันยังไม่ถึงจุดนั้น เพราะเศรษฐกิจพอเพียงกับการค้ายังเป็นผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยอยู่ แต่ถ้าเศรษฐกิจพอเพียงในทัศนะของผมคือ คนส่วนใหญ่ซึ่งผมเชื่อว่ามีเกิน 50 ล้านคนในประเทศไทยมีชีวิตอยู่อย่างไร บางคนไม่มีที่ดินทำกินแม้แต่ไร่เดียว ในขณะที่นักการเมืองมีที่ดินเป็นหมื่นๆ ไร่ แต่ปัจจัยทางการผลิตของเศรษฐกิจพอเพียงคือที่ดิน แต่วันนี้ไม่มีซักอย่าง แล้วเราจะไปพูดถึงเรื่องอื่นได้ยังไง เมื่อเรื่องนี้ยังไม่ได้พูดเลย เราจะไปพูดเรื่องการค้าขายที่มีเพียงกลุ่มคนไม่กี่คนที่ได้ประโยชน์ แต่คนที่เดือดร้อนอีกกว่า 50 ล้านคน ที่ไม่มีปัจจัยการผลิต เพราะเศรษฐกิจพอเพียงต้องพูดถึงปัจจัยสี่มาก่อน มีข้าวกิน มีอาหาร มีผัก มีสัตว์เลี้ยง แต่ที่คนส่วนใหญ่บางคนต้องไปบุกรุกถางป่าเพราะว่าปัจจัยการผลิต เช่น ที่นา ที่ดิน ส่วนใหญ่ถูกครอบครองอย่างไร้ขีดจำกัดโดยเปิดเงื่อนไขให้ใครมีที่ดินเท่าไหร่ก็ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับเส้นทางเศรษฐกิจพอเพียง เพราะฉะนั้นวันนี้สิ่งที่เราจะต้องหันกลับมาคิดคือ เราเห็นด้วยหรือไม่ว่าสังคมนี้ต้องมีการจำกัดการถือครองที่ดิน ต้องกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ก็ควรจะมีที่นาของตนเอง พื้นที่ทำนาแถบภาคกลาง เช่น พระนครศรีอยุธยา ชาวนาเป็นเพียงลูกจ้างทำนา แล้วอย่างนี้ความยั่งยืนจะมีได้อย่างไร แต่ตอนนี้ปัญหาหลักของคนส่วนใหญ่ถูกพูดถึงน้อย


 


คิดว่าอนาคตภาคใต้จะเป็นอย่างไร หากมีการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแผนเซาเทิร์นซีบอร์ด


 


คนจำนวนหนึ่งจำนวนน้อยได้ผลประโยชน์อยู่แล้ว แต่คนส่วนใหญ่จะไม่ได้ประโยชน์ ชาวประมงพื้นบ้าน 2 ฝั่ง ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ย่อมต้องเปลี่ยนอาชีพเดิมที่เคยพึ่งพิงฐานทรัพยากรเป็นกรรมกรที่ท่าเรือ ถามว่า ถ้าให้เขาเลือกระหว่างชีวิตกรรมกรกับวิถีชีวิตที่อยู่อาศัยหากินกับสัตว์น้ำ เขาคงเลือกอยากเป็นชาวประมงมากกว่า แต่เพราะเขาไม่มีทางเลือกเพราะเราไปกระทำกับเขา ซึ่งสิทธิตรงนั้นในวันนี้ เราไม่เข้มแข็งพอที่จะบอกว่าคุณไม่มีสิทธิที่จะไปทำลายอาชีพคนอื่น อย่างไรก็ตาม การส่งออก การขนส่งน้ำมัน จะทำให้ จีดีพี เพิ่มแน่นอน แต่คำตอบของสังคมที่สงบสุขในวันนี้ไม่ได้วัดที่ จีดีพี เพียงอย่างเดียว ต้องวัดกันที่ความสุขของผู้คนที่อยู่กับศาสนา วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย แต่เรายังพูดกันน้อยไปหน่อย


 


ประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมในแนวทางการพัฒนาประเทศได้อย่างไร?


 


วันนี้ไม่ต้องพูดถึงการมีส่วนร่วมหรอก ยิ่งอยู่ใน พ.ร.บ.การปฏิวัติ จะให้มีส่วนร่วมได้ที่ไหน เมื่อมีคนจำนวนหนึ่งเข้ามายึดอำนาจ แล้วรัฐธรรมนูญที่เขียนมา ขนาดบอกว่าให้มีส่วนร่วมก็ยังมีความขัดแย้งกัน เพราะไม่ได้มีส่วนร่วมจริงในทางปฏิบัติ แต่เป็นการมีส่วนร่วมในทางเทคนิคเท่านั้น


 


อยากเห็นทิศทางการพัฒนาในภาพรวมทั้งประเทศเป็นไปอย่างไร?


 


ประเทศที่จะยั่งยืนได้ คนส่วนใหญ่ต้องลืมตาอ้าปากได้ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนจะต้องลดลง ปัจจัยการผลิตต้องอยู่ในมือคนส่วนใหญ่ ถ้าหากว่าทำตรงนี้สำเร็จ เราจะไปข้างหน้าได้ แต่ถ้าตราบใดที่เรามีแต่ จีดีพี สูงมีคนรวยเพียง 10% แต่คนส่วนใหญ่ยังยากจนอยู่ ปัญหาความยากจน โจร ความเสื่อมโทรมทางสังคมก็ยังมีอยู่ ฉะนั้นการที่คุณจะพัฒนาประเทศไปแบบนี้ ก็ลองถามตัวเองดูแล้วกันว่าผลประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนาประเทศนั้นตกอยู่กับใคร ถ้าหากว่ามีเพียงคนส่วนน้อยที่ได้ประโยชน์ก็ต้องทบทวน แต่ถ้าคนส่วนน้อยมีอำนาจก็คงไม่ทบทวน แต่จะเดินหน้า แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ตื่นรู้ขึ้นมาเขาก็ย่อมลุกขึ้นสู้


 


"แน่นอนว่า การพัฒนาที่มุ่งแต่เศรษฐกิจเป็นหลักได้สร้างความขัดแย้งมาตลอด เมื่อฝ่ายรัฐมีอำนาจมากก็ใช้วิธีกดขี่ข่มเหงเอา และสักวันหนึ่งคนส่วนใหญ่ก็คงลุกขึ้นมาสู้ แต่คนรวยเขาก็ไม่แคร์ หนีไปอยู่เมืองนอกก็ได้ ส่วนคนที่อยู่ในพื้นที่ก็รับชะตากรรมไป เหลือแต่คนที่คิดว่าเมื่อมันไม่ถูกต้องก็ต้องมาช่วยกันคิดว่าเราจะทำอย่างไร แต่ตราบใดที่รัฐไม่ได้อยู่ฝ่ายชาวบ้านเราก็ต้องช่วยตัวเอง ซึ่งหลายที่ก็ลุกขึ้นมาสู้เป็นจุดๆ อยู่ตลอดเวลา เช่น โรงไฟฟ้าแยกก๊าซ อ.จะนะ สงขลา ประชาชนไม่ได้อยู่เฉยๆ" 


 


มีข้อเสนออย่างไรที่จะทำให้ประชาชนตื่นรู้ปัญหาทิศทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนส่วนใหญ่?


 


ผมสนใจประเด็นสื่อ แต่ก็ยังหวังได้ไม่มาก เพราะสามารถเป็นสิ่งที่ให้ศึกษานอกระบบให้กับประชาชนได้ เพราะคนจำนวนมากได้รับการศึกษาถึงชั้น ป.6 แล้วก็ไม่ได้ศึกษาต่อ ฉะนั้นสิ่งที่เขาเสพคือสื่อสาธารณะ แต่ถามว่าวันนี้ ทีวี หนังสือพิมพ์ เป็นของใคร ถ้าสื่อเสรีจริงโดยไม่มีทุนสื่อมาผูกขาด ก็จะทำให้การศึกษานอกระบบของประชาชนเป็นไปได้ง่ายขึ้น จะทำให้ประชาชนโตขึ้น แต่ที่ผ่านมีคนดูรายการละครน้ำเน่า ฟุ้งเฟ้อ เหมือนถูกมอมเมาด้วยยาเสพย์ติด แต่เรื่องปากท้องของตัวเองไม่รู้จะแก้ยังไง แล้วสติปัญญาของประชาชนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร


 


ดร. เลิศชาย ศิริชัย : ความขัดแย้ง 3 เส้า ในทิศทางมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ


 


มีบทเรียนที่พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าที่ผ่านมาโครงการพัฒนาขนาดใหญ่หลายโครงการสร้างความขัดแย้งในท้องถิ่น แต่ตอนนี้เซาเทิร์นซีบอร์ดยังค่อนข้างเงียบอยู่


 


เนื่องจากโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดยังไม่ได้ถูกทำเป็นเรื่องเป็นราว บางกรณีเมื่อมีข้อขัดแย้งขึ้นมาก็ถูกทำให้หายไป แต่ว่าในทุกจุดมันก็มีคู่ขัดแย้งอยู่ กรณีแลนบริดจ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน สำหรับความขัดแย้งเรื่องแลนบริดจ์ยังไม่ปรากฎชัดเจน ผมคิดว่าเป็นเพราะว่าวิธีของรัฐในการจัดทำโครงการรุ่นใหม่จะเปลี่ยนคู่ขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนมาทำให้ชาวบ้านกลายเป็นคู่ขัดแย้งกันเอง โดยทำให้มีกลุ่มบางกลุ่มลุกขึ้นมาสนับสนุนโครงการรัฐเพราะได้ประโยชน์ กลุ่มนี้จะมีตัวตนชัดเจน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. กลุ่มที่จะขายที่ดินได้ กลุ่มทุนธุรกิจที่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นแล้วไปจัดแจงเตรียมตัว แล้วมันจะทำให้เกิดความขัดแย้งกันเองในท้องถิ่นได้ ดังนั้นถ้าโครงการเกิดขึ้นในพื้นที่กลุ่มผลประโยชน์แบบนี้ เสียงคัดค้านจะอ่อน เมื่อชาวบ้านเพราะได้รับผลกระทบก็ขยับลุกขึ้นมาคัดค้าน แต่พอไปเผชิญหน้ากับกลุ่มอิทธิพลบางกลุ่มเสียงคัดค้านเลยค่อนข้างเงียบ


 


ส่วนอีกด้านหนึ่งคือ กรณีประเด็นที่เป็นผลกระทบจากแลนบริดจ์ ยังเห็นไม่ชัดเพราะเป็นประเด็นทางวิชาการ ชาวบ้านอาจจะยังไม่เห็น แต่ถ้าเป็นโครงการที่เกิดผลกระทบชัด ความขัดแย้งจะรุนแรง เช่นกรณีตัวอย่างโครงการที่อยู่ในแผนเซาเทิร์นซีบอร์ดอีกโครงการหนึ่งคือ การสร้างเขื่อนน้ำจืดคลองกลาย โดยมีกรมชลประทานเป็นเจ้าของโครงการ โดยเขื่อนดังกล่าวจะสร้างขึ้นเพื่อไปสนับสนุนท่าเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช โดยวางแผนที่จะสร้างเขื่อนน้ำจืดที่บริเวณต้นน้ำคลองกลาย ทีนี้มันจะไปมีผลกระทบกับคนชัดเจน เพราะการสร้างเขื่อนดังกล่าวจะทำให้น้ำท่วมผืนป่าอุดมสมบูรณ์เป็นหมื่นไร่ รวมทั้งพื้นทำการเกษตร และที่ปลูกสวนยางของประชาชน ก็จะได้รับผลกระทบ ซึ่งตรงนี้ก็จะมีตนลุกขึ้นมาคัดค้านอย่างชัดเจน


 


ดังนั้นเมื่อพูดถึงประเด็นทางวิชาการในพื้นที่นี้ ชาวบ้านก็จะนึกภาพออกเพราะมันกระทบกับเขาชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีคู่ขัดแย้งของกลุ่มพัฒนาที่ดิน คือกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นซึ่งสนับสนุน เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า หากโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดจะเกิดขึ้น มันจะต้องจะถูกคัดค้านจากทุกจุด เพราะมีกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบและเคลื่อนไหวรออยู่แล้ว ทั้งประเด็นท่าเรือพาณิชย์ และนิคมอุตสาหกรรม ในขณะนี้มันมีปัญหาเดิมที่เป็นปัญหาวิกฤติในตัวมันเองอยู่แล้ว เช่น ปัญหาทะเลเสื่อมโทรม ปัญหานากุ้ง ป่าถูกทำลาย เป็นต้น ดังนั้น ผมคิดว่า เซาเทิร์นซีบอร์ดจะเกิดขึ้นยากในพื้นที่ภาคใต้ ถ้าแอบเกิดนิดหน่อยในเรื่องที่ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่กระทบกระเทือนมากนัก โดยมีกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ปกป้อง เรื่องอาจจะเงียบ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่มีผลกระทบชัดเจนเมื่อไหร่ มันก็จะเกิดความขัดแย้ง 3 เส้า ระหว่างรัฐ อิทธิพลท้องถิ่น และ ชาวบ้าน


 


หลายคนมองว่าแผนเซาเทิร์นซีบอร์ด เป็นการแย่งชิงทรัพยากรในทิศทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นรายได้ทางเศรษฐกิจอีกตามเคย


 


เป็นเรื่องชัดเจนเลย มันเป็นความขัดแย้งที่เกิดจากการแย่งชิงทรัพยากร ซึ่งยังมีกลุ่มๆ หนึ่งชัดเจน ที่เคลื่อนไหวเพื่อขูดรีดทรัพยากรที่เหลืออยู่ไปตอบสนองการพัฒนาอุตสาหกรรมกระแสหลักอย่างไม่หยุดยั้ง ในขณะเดียวกันก็จะมีกลุ่มสิ่งแวดล้อมนิยมที่ตระหนักถึงความเสื่อมโทรมของทรัพยากร เขาก็จะเคลื่อนไหวเต็มที่ ดังนั้น ถ้าหากเซาเทิร์นซีบอร์ดเกิดภาคใต้ จะเป็นพื้นที่ประลองกำลังกัน ผมคิดว่าความขัดแย้งจะเยอะ ซึ่งไม่เชียงเพียงคนภาคใต้โดดๆ ที่จะลุกขึ้นมา แต่รวมไปถึงขบวนสิ่งแวดล้อมนิยมที่ตระหนักถึงผลกระทบต่างๆ จะเข้ามาใช้เวทีนี้เป็นเวทีเรียนรู้ เวทีการตอบโต้ทางความคิด 2 ฝ่าย ซึ่งผมคิดว่า ต่อไป ถ้ารัฐคิดจะทำโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ทำนองนี้ในพื้นที่รอบนอกไม่ได้อีกแล้ว เพราะจะเป็นการเปิดพื้นที่ของความขัดแย้ง ซึ่งผมคิดว่ารัฐไม่กล้าทำ เพราะแค่ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รัฐก็เอาไม่อยู่ หากเอาเซาร์เทิร์นซีบอร์ดเข้ามาอีก ไฟภาคใต้ลุกเป็นจุณแน่ เท่าที่ผมได้ทำงานกับชาวบ้านในพื้นที่ รับรองว่าชาวบ้านไม่ยอม เพราะมีกลุ่มเครือข่ายการเคลื่อนไหวของชาวบ้านอยู่แล้ว ชาวบ้านไม่ได้เคลื่อนไหวโดดๆ


 


อาจารย์เห็นด้วยหรือไม่ว่า รัฐกำลังพยายามผลักดันโครงการโดยเอาปัญหาความยากจน และความขัดแย้งในภาคใต้มาเป็นข้ออ้างทำโครงการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้


 


เป็นการอ้างดื้อๆ เพราะกรณีความขัดแย้งของภาคใต้ ก็ถูกประเด็นนี้ออกมาโจมตีด้วยเช่นกัน กรณีที่ว่า การเข้าไปแย่งชิงทรัพยากรของประชาชนในพื้นที่ และสั่งสมมาเป็นเวลานานและระเบิดออกมา จนกระทั่งปัญหาถูกนำมาผูกโยงกันหมด คำถามคือ ทำไมชาวบ้านที่อาจจะไม่ได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการ แต่ก็ไม่เข้าข้างรัฐ? ก็เพราะว่าชาวบ้านไม่เคยรู้สึกว่ารัฐปกป้องเขา ทั้งการประมง ป่า ที่ดิน ล้วนแต่เป็นคนข้างนอกที่ไปกอบโกยแย่งชิงเอามาจากชาวบ้าน แล้วพอรัฐบาลทักษิณแก้ปัญหา ก็ไปทุ่มเงินกับอุตสาหกรรมโดยไม่สนใจว่าอยู่ในพื้นที่ที่ชาวบ้านทำการประมง อาศัยทะเลหาเลี้ยงชีพอยู่ ปัญหาทำนองนี้ เพราะฉะนั้นวิธีคิดในทำนองนี้เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภาคใต้ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีตรรกะในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ เช่น กรณีท่อก๊าซ ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา จนป่านนี้รัฐกับชาวบ้านก็ยังเผชิญหน้ากันอยู่เลย


 


รัฐต้องเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนาประเทศเสียใหม่?


 


แน่นอน เรื่องที่พูดกันมากในขณะนี้คือ เศรษฐกิจพอเพียง โดยฝ่ายประชาชนก็พยายามจะฉกชิงนิยามความหมายของคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นความเคลื่อนไหวของชาวบ้านเพื่อปกป้องฐานทรัพยากรเพื่อความอยู่รอดของพวกเขา ดังนั้น เมื่อเซาเทิร์นซีบอร์ดจะเข้ามา ก็จะต้องเจอกับขบวนการเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ ไม่ว่าใครก็ตามที่พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง ก็จะให้ความสำคัญกับทรัพยากรที่เป็นฐานความอยู่รอดของชุมชน ผมเชื่อว่าชุมชนจะหยิบตรงนี้ขึ้นมาสู้


 


ถ้ารัฐคิดจะพัฒนาเซาเทิร์นซีบอร์ดให้เป็นเหมือนกับอีสเทิร์นซีบอร์ด ขอให้เลิกคิดไปได้เลย เพราะอันดับแรกจะเข้ามาพร้อมกับความขัดแย้ง และความขัดแย้งจะตามมาอีกมาก คนจะแตกออกเป็นหลายกลุ่ม ชาวบ้านก็แตกออกเป็นหลายกลุ่ม บรรยากาศจะคุกรุ่นมาก


 


หากรัฐต้องการพัฒนาอุตสาหกรรม ก็ย่อมสามารถสร้างความสมดุลให้ท้องถิ่นยั่งยืน รักษาสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศน์ไปพร้อมๆ กันได้


 


อันดับแรกให้รัฐบาลยกตัวอย่างมาเลยว่าโครงการไหนบ้างที่คุณสามารถสร้างความสมดุลแบบนี้ได้ รัฐต้องเลิกคิดฝ่ายเดียว ถ้าเราจะหาทางออกให้ได้ว่าทำอย่างไรให้ภาคใต้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจเข้าสู่ความสมดุล ต้องเอาการพัฒนาแผนใหม่เข้ามาประกอบกับภูมิปัญญาชุมชน พร้อมกับสร้างการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน เปิดเวทีเรียนรู้กันอย่างกว้างขวางและหาทางออกร่วมกัน แต่ประเภทที่คิดมาเบ็ดเสร็จมาแล้วนั้น เป็นเพียงการสร้างวาทกรรมหลอกชาวบ้าน


 


หากรัฐบาลคิดว่าทรัพยากรในภาคใต้มีศักยภาพพอที่จะร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรม คุณก็ต้องเคารพคนในท้องถิ่น ต้องเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมกำหนดหาความหมาย และความรู้ด้วยกัน แต่ถ้าคิดมาเสร็จแล้วมาบอกว่า อุตสาหกรรมแบบใหม่ไปกับชุมชนเข้มแข็งได้ เศรษฐกิจพอเพียงไปกับการส่งออกได้ ผมก็อยากรู้ว่ามันจะเป็นอย่างไร แต่คิดว่าแนวคิดสำเร็จรูปแบบนี้ไม่มีทางไปกันได้ และไม่มีใครเชื่อ อย่างไรก็ตาม ทางออกที่สามารถไปร่วมกันโดยไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งนั้น รัฐต้องเชื่อในศักยภาพของชุมชน และมาสร้างเวทีเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ใช่มีเป้าหมายเรียบร้อยแล้วค่อยมาให้คนเห็นด้วยทีหลัง ซึ่งในที่สุดแล้วเราก็ยังไม่รู้ว่าจะค้นพบอะไร แต่ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการที่หลายฝ่ายมาร่วมคิดร่วมวางแผนกัน หากรัฐบาลนี้ หรือชุดใหม่สามารถทำตรงนี้ได้จะเป็นทางออกที่ดี แต่ถ้าคิดแบสำเร็จรูปมาแล้ว ย่อมเกิดการเผชิญหน้าอยู่คนละขั้วแน่นอน


 


ภาคประชาชนจะเตรียมตั้งรับมืออย่างไร เพราะยังไม่อาจรู้แน่ว่าโครงการจะถูกผลักดันให้เกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้


 


ตอนนี้สิ่งที่กำลังทำกันอยู่คือ ประชาชนเป็นผู้ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว ขณะนี้จึงมีการเคลื่อนไหวในเรื่องสิ่งแวดล้อมกันชัดเจน แม้ว่าเซาเทิร์นซีบอร์ดจะยังไม่เกิดขึ้นก็มีปัญหาดักหน้าเอาไว้อยู่แล้ว เช่น ปัญหาทางทะเลเกี่ยวกับอวนรุน อวนลาก การขยายตัวของพืชเชิงเดี่ยว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มีการขยายการปลูกไปยังที่นา และป่าพรุ รวมเป็นพื้นที่แสนกว่าไร่ อีกด้านหนึ่งก็เป็นการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่จะเรียนรู้เรื่องนี้ด้วย ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็มีการเคลื่อนไหวกันอยู่ เช่น ที่ จ. ตรัง มีการเคลื่อนไหวของชาวบ้านเรื่องสิ่งแวดล้อม ป่าชายเลน ป่าสาคู การคัดค้านนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น


 


เพราะฉะนั้นจึงชี้ให้เห็นว่า ความแตกต่างระหว่างอีสเทิร์นซีบอร์ดที่เกิดขึ้น กับเซาเทิร์นซีบอร์ด ตรงที่ ความรู้เท่าทันของประชาชนในตอนนั้นยังไม่มีมากเท่ากับตอนนี้ กรณีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทำให้ชาวบ้านที่ ต.ทุ่งค่าย ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายที่เล็งกันว่าจะสร้างนิคมอุตสาหกรรม ได้ตระหนักถึงพิษภัยจากการพัฒนาอุตสาหกรรม แม้ว่าชาวบ้านอีกจำนวนไม่น้อยยังไม่รู้ว่าในแผนเซาเทิร์นซีบอร์ดมีอะไรบ้าง เพราะมันเป็นแผนที่ลึกลับ แต่ถ้าชาวบ้านรู้ข่าวว่าจะมีท่าเรือพาณิชย์เกิดขึ้นที่ จ.ตรัง 4 แห่ง ตามแผนเซาเทิร์นซีบอร์ด เชื่อว่าชาวบ้านจะเริ่มเรียนรู้ ศึกษารวบรวมข้อมูล และพร้อมที่จะเคลื่อนไหว


 


"ผมเชื่อว่าถ้าหากมีการกำหนดแผนเซาเทิร์นซีบอร์ดออกมา จะเป็นความขัดแย้งที่ใหญ่มาก เพราะประสบการณ์ของชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ มีบทเรียนมาเยอะที่ได้เรียนรู้ความเจ็บปวดของเครือข่ายพันธมิตรที่ได้รับผลกระทบมาก่อนหน้านี้ เช่น มาบตาพุด ท่อก๊าซจะนะ เป็นต้น ผมคิดว่ารัฐบาลไม่กล้าทำ ขืนมาเปิดศึกตอนนี้ก็คงมีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นอีกหลายจังหวัด อยากจะเตือนรัฐบาลว่าไม่ควรเด็ดขาด หากเซาเทิร์นซีบอร์ดจะเกิดขึ้นมา ก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาบนความว่างเปล่า แต่ในพื้นที่ภาคใต้มีพื้นฐานปัยหาที่อีรุงตุงนังเรื่องการที่ประชาชนถูกแย่งชิงทรัพยากรอยู่แล้ว พร้อมกันนี้ก็มีกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ และขบวนการต่อสู่เรื่องสิ่งแวดล้อมที่จะเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายอยู่แล้ว หากเซาเทิร์นซีบอร์ดเกิดขึ้นมาโดยไม่มีการถามไถ่ชาวบ้านในพื้นที่ก่อน การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนก็จะต่อยอดจากปัญหาเดิม เกิดความขัดแย้งที่รับบาลแก้ไม่ได้และคิดไม่ถึงด้วย ผมคิดว่าเราคงไม่อยากเห็นบรรยากาศความขัดแย้งทั้งระหว่างรัฐกับชาวบ้าน หรือชาวบ้านลุกขึ้นมาขัดแย้งกันเอง เพราะแค่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็ทำให้ประเทศเราขยับไปไหนไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้ายังสร้างปัญหาตรงนี้ขึ้นอีกโดยไม่รู้ว่าจะจบลงตรงไหน ยิ่งจะทำให้เราไม่มีทางออกสำหรับประเทศหรือส่วนรวมด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น มิติใหม่ในการหาทางออกก็คือว่า การเคารพท้องถิ่น ชาวบ้าน ชุมชน และเปิดเวทีการเรียนรู้ร่วมกัน แบบนี้ยังพอมีโอกาส


           


ท่าทีของรัฐบาลที่ออกมาแง้มความในว่าจะรื้อแผนพัฒนาอุตสาหกรรมภาคใต้ "เซาเทิร์นซีบอร์ด" มาทบทวน พิจารณาศึกษาความเหมาะสม และความเป็นไปได้ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตนั้น แม้โครงการจะยังไม่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ แต่ประชาชนก็ไม่ควรวางใจ จะทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่เข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาด้วย เพราะไม่รู้กี่ครั้งแล้วที่โครงการยักษ์เกิดขึ้นแบบมัดมือชก สุดท้ายก็หลงเหลือเอาไว้ซึ่งหายนะ และความสูญเสียที่คนสวนใหญ่เป็นผู้แบกรับชะตากรรม.


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net