Skip to main content
sharethis

รายงานจาก ติมอร์ตะวันออก


ส ม ศ รี   ห า ญ อ นั น ท สุ ข


Asian Network for Free Elections (ANFREL)


25 มีนาคม 2550


 


 


หลายคนที่เคยมาเยือนติมอร์ตะวันออก (Timor Leste) หลังการลงประชามติปี 2542 และติดตามพัฒนาการของประเทศเล็กๆ ซึ่งมีประชากรไม่เกิน 1 ล้านคนแห่งนี้ คงจะเห็นว่าประเทศติมอร์เป็นประเทศที่น่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง


 


หากท่านทั้งหลายมีโอกาสเดินทางกลับไปใหม่จะเห็นว่าสถานการณ์การเมืองมีขั้วอำนาจเข้ามายุ่งเกี่ยวต่างไปจากแปดปีที่แล้ว ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยเป็นจังหวัดหนึ่งของอินโดนีเชียมาเป็นเวลา 24 ปี หลังจากเจ้าอาณานิคมโปรตุเกส ได้เคยครอบครองดินแดนแห่งนี้มาก่อนและได้ปล่อยให้เป็นอิสระ ต่อมาอินโดนีเชียเข้ามาครอบครองและใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนสังหารคนติมอร์ไปสองแสนกว่าคนนั้น ประชาคมโลกได้ประณามการกระทำอย่างต่อเนื่องและเรียกร้องให้สหประชาชาติเข้ามาช่วยระงับสถานการณ์ที่เรียกกันว่า "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์"


 


ต่อมาเมื่อชาวติมอร์ตะวันออกได้ลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ให้เป็นประเทศเอกราชจากอินโดนีเซียด้วยคะแนนเสียงถล่มทะลาย ประชาชนได้มีโอกาสเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เลือกประธานาธิบดี และได้มีสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร 88 คน แม้ประเทศได้มีประสบการณ์การเป็นประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกมาและรัฐบาลรวมทั้งกองกำลังทหารที่เคยร่วมเป็นร่วมตายต่อสู้กับทหารอินโดนีเชียมาก่อนกลับไม่สามารถทำให้ประเทศสร้างเสถียรภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองได้อย่างที่ต้องการ


 


ประธานาธิปดี Xanana Gusmao ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้นำ และเหมือนรัฐบุรุษของคนติมอร์มาก่อน กลับเป็นผู้สร้างความผิดหวังให้ประชาชนเสียเองด้วยถ้อยแถลงที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นผลจากความไม่พอใจนายพล Afredo Reinado กับพวก ที่ประชาชนหลายคนชื่นชมว่าเป็นทหารที่รักประเทศและปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน  เมื่อ Afredo ถูกจับและสามารถหลบการกักขังโดยเดินทางหนีเข้าป่าไปกับทหาร 600 คน (จากที่มีอยู่ 1500 คน) ทำให้สถานการณ์ในเมืองดิลีในปีนี้ไม่สงบไปด้วย จนกระทั่งเกิดการแบ่งแยกเป็นตะวันออก ตะวันตก ไปอย่างน่าเสียดาย


 


หลายคนไม่พอใจประธานาธิบดี และตั้งข้อสงสัยว่าประธานาธิบดีกุสเมาเป็นเครื่องมือของต่างชาติหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อมีความใกล้ชิดกับออสเตรเลียมากเกินไป ขณะที่รัฐบาลเองก็ได้เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจของคนออสเตรเลียไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน กิจการโรงแรม การขนส่ง ส่วนโทรคมนาคมจะตกอยู่ในมือของโปรตุเกส และได้มีการประกาศให้ภาษาประจำชาติเป็นภาษาโปรตุเกสและเตตุม


 


สภาพทั่วไปในเมืองหลวง ดิลี มีทหาร ตำรวจจากสหประชาชาติเข้ามาช่วยดูแลความปลอดภัยทั่วไปรวมถึงการดูแลคนสำคัญของประเทศ นอกจากนั้นยังมีกองกำลังทหารจากออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เข้ามาอีกเกือบ 1700 คน โดยเป็นทหารออสเตรเลีย 1500 คน (ไม่นับจำนวนที่ส่งเข้าร่วมกับสหประชาชาติ)


 


ระยะหลังนี้ชาวติมอร์จะพูดถึงออสเตรเลียและโปรตุเกส ในทางลบมากเพราะการปฏิบัติกับประชาชนในพื้นที่ไม่เหมาะสม ตำรวจโปรตุเกสจะปฏิบัติด้วยวิธีค่อนข้างก้าวร้าวกับคนติมอร์ ส่วนความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อเจ้าหน้าที่ของออสเตรเลียเป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะคนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าออสเตรเลียต้องการเข้ามาหาผลประโยชน์ในติมอร์ตะวันออก ด้วยเหตุผลหลายประการ


 



  1. ติมอร์เป็นแหล่งที่สามารถป้อนทรัพยากรให้คนออสเตรเลียได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ค่าแรงต่ำ

  2. ติมอร์เป็นเกาะที่ด้านเหนือสุดอยู่ใกล้ออสเตรเลียมากที่สุด

  3. คนติมอร์ยังยืนอยู่บนขาตนเองไม่ได้ ยังต้องการความช่วยเหลือในทุกด้าน

  4. มีผู้นำที่เปิดโอกาสให้คนออสเตรเลีย และโปรตุเกส เข้าไปมีบทบาทได้

 


อย่างไรก็ตาม การเข้าไปยุ่มย่ามภายในเกาะติมอร์แห่งนี้ได้เกิดการกระทบกระทั่งกับคนพื้นที่มากบ้างน้อยบ้าง ทำให้คนติมอร์ตะวันออกเริ่มรู้สึกว่าตนกำลังอยู่ภายใต้มหาอำนาจย่านแปซิฟิกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงอดที่จะถามไม่ได้ว่า ขณะนี้ติมอร์ปลอดจากอำนาจการครอบงำของอินโดนีเชียแล้ว แต่กำลังเข้าไปอยู่ภายใต้มหาอำนาจรูปแบบใหม่ของโปรตุเกส และออสเตรเลียหรือไม่


 


คณะของอันเฟลที่ไปจากเมืองไทยเข้าไปหลังจากสถานการณ์ในดิลีสงบลงไปบ้าง แต่ความกังวลใจเรื่องความรุนแรงจากการเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งที่ 9 เมษายน กำลังจะเข้ามา แม้ว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะมีก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (รัฐธรรมนูญเปลี่ยนเป็น 65 คน) และหลายคนหวังว่าการแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดีซึ่งมีผู้สมัคร 8 คนนั้นจะดำเนินไปอย่างสันติ  หนึ่งในผู้สมัครแปดคนนี้รวมนายโฮเซ่ รามอส ฮอสต้า นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันด้วย  ผู้สมัครหลายคนจะมาจากพรรคการเมือง (14 พรรค) แต่ก็ไม่น่าจะดุเดือดเท่ากับการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะมีพรรคมากกว่านี้อย่างน้อยพรรคใหม่ที่นาย ซานาน่า กุสเมา ตั้งขึ้นใหม่ด้วย คาดว่านายกุสเมาอาจจะลงสมัครตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน เพราะเห็นว่าน่าจะมีอำนาจมากกว่าประธานาธิบดีที่เขากำลังดำรงอยู่ขณะนี้


 


ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัครหญิงลงแข่งด้วย 1 คนชื่อ Lucio Maria Brandao Freitas Lobato จากพรรคสังคมประชาธิปไตย ทำให้กลุ่มผู้หญิง (Women Caucus) และพันธมิตรสตรีอีกหลายองค์กรมีความคึกคัก เริ่มมีการเคลื่อนตัวเพื่อให้กำลังใจและให้คนมาลงคะแนนให้ผู้สมัครคนนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ชนะการเลือกต้องได้คะแนนเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์จึงจะได้ตำแหน่งประธานาธิบดี มิเช่นนั้นจะต้องมีการเลือกตั้งกันใหม่ ส่วนผู้ที่จะได้รับเลือกเป็น ส.ส.ต้องได้คะแนนเกิน 3 เปอร์เซ็นต์ของผู้มาลงคะแนนทั้งหมด


 


 


ระบบการเลือกตั้ง


ประเทศไทยน่าจะศึกษาระบบการเลือกตั้งของติมอร์ในหลายประเด็นแม้ว่าเราจะไม่มีระบบประธานาธิบดี แต่กระบวนการนั่นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีอนุญาตให้ผู้สมัครมาจากพรรคการเมืองได้และจากผู้สมัครอิสระได้ด้วย ไม่กำหนดวุฒิการศึกษา ผู้สมัครทั้งแปดคนจะได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนในการรณรงค์หาเสียงและส่วนอื่นเท่ากันทุกคน


 


ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นระบบสัดส่วน (Party List) ที่กำหนดให้ผู้สมัครมาจากพรรคเท่านั้น  ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีอายุ 17 ปีขึ้นไป ทำให้มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากขึ้น ในจำนวนศูนย์เลือกตั้งทั้งหมด 650 ศูนย์ รวมศูนย์ในเรือนจำด้วย ประชาชนจะไปหย่อนบัตรที่ใดก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นที่บ้านเกิดของตนเท่านั้น เพราะเขตเลือกตั้งคือประเทศ ไม่ใช่จังหวัด


 


แต่ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งคือ ปัญหาของผู้พลัดถิ่นซึ่งหลบหลีกการสู้รบจากความขัดแย้งที่ผ่านมา และไม่สามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมได้อย่างปกติสุข ต้องหลบไปอาศัยตามเต็นท์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติในหลายจุดของประเทศ คนเหล่านี้มีถึง 10,000 กว่าคนจะเลือกตั้งอย่างไร หลายคนไม่ได้ลงทะเบียนใช้สิทธิ และไม่มีนโยบายจะให้ไปเลือกที่หน่วยใกล้เคียง หรือให้มีคูหาเลือกตั้งเคลื่อนที่ ดังที่มีหน่วยในเลือกตั้งในเรือนจำ


 


สัปดาห์นี้การรณรงค์ได้เริ่มขึ้นแล้ว และรณรงค์ได้เพียง 15 วันเท่านั้น โดยจะมีวันหยุดการรณรงค์ก่อนเลือกตั้งถึง 2 วัน ขณะนี้ยังไม่เห็นความคึกคักตามท้องถนนมากนัก อาจจะเป็นเพราะว่าคนส่วนใหญ่รู้จักผู้สมัครอยู่แล้ว หรือกลัวความรุนแรง ขณะนี้ได้แต่เก็งกันว่าผู้ชนะจะได้คะแนนเกินครึ่งหรือไม่ ถ้าไม่ก็ต้องนำผู้ได้คะแนนสูงสุด 2 คนแรก มาแข่งกันใหม่  


 


จากความเห็นของ NGO ต่อความคาดหวังว่าการเลือกตั้งจะช่วยให้อะไรดีขึ้นจริงหรือไม่นั้น นาย Jese Luis de Oliveira ผู้อำนวยการขององค์กรสิทธิมนุษยชน (Yayasan Hak) บอกว่า



"หากยังมีความไม่ยุติธรรม ไม่นำคนผิดมาลงโทษ และทหารเก่ายังเล่นเส้นสายกันอยู่อย่างนี้ ก็จะไม่สามารถลบล้างความไม่พอใจของทหารหัวใหม่อย่าง Afredo Reinado (ซึ่งขณะนี้ยังหลบอยู่ในป่า) ลงไปได้  ถ้าเช่นนั้นการเลือกตั้งก็ไม่ช่วยอะไร  และยิ่งถ้าประธานาธิบดีคนใหม่คือนาย โฮเซ่ รามอส ฮอต้า โดยมีนายกุสเ มาสลับมาเป็นนายก รมต.ในอนาคต ก็จะยิ่งไม่ทำให้อะไรเปลี่ยนแปลง"


 


ดูเหมือนมันอาจไม่ต่างอะไรจากเหล้าเก่าในขวดใหม่....ฟังดูคล้ายๆ กับบ้านเรายังไงชอบกล


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net