Skip to main content
sharethis

ตามที่ ผศ.ดร. มาณพ ภาษิตวิไลธรรม อธิการบดี มรช. ได้เคยแถลงข่าวเมื่อวันที่ 6 มี.ค.50 ว่าได้แต่งตั้ง ผศ.ดร.สุชาติ ลี้ตระกูล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายให้เป็นประธานกรรมการสืบข้อเท็จจริง กรณีที่มีการอ้างว่านักศึกษาหลักสูตรชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ออกมาร้องเรียนพฤติกรรมของอดีตผู้บริหารสถาบันชาติพันธุ์และสันติศึกษานั้น


 


ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันที่ 26 มี.ค.50 ผศ.ดร.สุชาติ ประธานกรรมการสืบข้อเท็จจริงได้ทำหนังสือเชิญอาจารย์สันติพงษ์ ช้างเผือก และอาจารย์รัชนี นิลจันทร์ ให้ไปชี้แจงข้อเท็จจริง ณ ห้องประชุม สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ตามหนังสือร้องเรียนของเจ้าหน้าที่สถาบันชาติพันธุ์ฯ และนักศึกษาหลักสูตรสหวิทยาการบริหารท้องถิ่นจำนวนหนึ่ง


 


ร้องอาจารย์ช่วย น.ศ.ชนเผ่า ทำสถาบันเสื่อมเสียชื่อ ยัน "ผอ.สมบัติ" ทุ่มทำงานมิรู้เหนื่อย


ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากวันที่ 28 ก.พ. 50 ได้มีพนักงานมหาวิทยาลัย สังกัดสถาบันชาติพันธุ์และสันติศึกษา (เดิม) จำนวน 5 คน คือ นางสาวธัญลักษณ์ แซ่เลี้ยว นางสาวอัมพกา มาตา นางพิมลรัตน์
ชัยชิต นางกุลธิดา อินทร์ไชย และนายอาทิตย์ ทวีอภิรดีภิญโญ ได้ทำหนังสือร้องเรียนต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายให้จัดการอาจารย์ทั้งสองท่านให้พ้นสภาพการเป็นอาจารย์ โดยอ้างเหตุผลว่า อาจารย์ทั้งสองเพิ่งเข้ามาใหม่ไม่ได้พยายามเรียนรู้และเข้าใจการทำงานขององค์กร แต่กลับสร้างความแตกแยก ยุยงให้นักศึกษาชาติพันธุ์ทั้ง
15 คน ไปร้องเรียน จนสร้างความสับสน แตกแยก ร้าวฉาน รวมถึงความเสื่อมเสียให้แก่สถาบันและมหาวิทยาลัย ส่วนกลุ่มผู้ร้องเรียนทั้ง 5 คน ที่ได้ทุ่มเททำงานมาตลอดระยะเวลา 7 ปี รู้สึกเข้าใจและเห็นพ้องกับแนวคิดการทำงานของอาจารย์สมบัติ บุญคำเยืองเป็นอย่างดี และอาจารย์สมบัติ บุญคำเยือง ได้ทุ่มเทให้แก่การงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย มีความเสียสละ และเอาจริงเอาจังกับการทำงานมาโดยตลอด รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาสติปัญญาให้แก่บุคลากรทุกคนเป็นอย่างดี


 


ต่อมา วันที่ 11 มี.ค. 50 ได้มีนักศึกษาผู้ใหญ่ในหลักสูตรสหวิทยาการบริหารท้องถิ่น นำโดยนายคำ ไพศาลสิทธิกานต์ นายอาทิตย์ ทวีอภิรดีภิญโญ และนายมนู สุเรียมมา พร้อมกับเพื่อนนักศึกษา ทั้งหมด 52 คน จาก 106 คน ได้ทำหนังสือร้องเรียนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายถึงพฤติกรรมของอาจารย์กลุ่มดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า อาจารย์กลุ่มดังกล่าวมีการเรียกเก็บเงินนักศึกษาคนละ 500 บาท โดยไม่มีลายลักษณ์อักษร และไม่มีการชี้แจงใดๆ เกี่ยวกับการบริหารเงินจำนวนดังกล่าว และมีพฤติกรรมปลุกระดมและเปิดประเด็นให้เกิดความแลกเปลี่ยนที่ส่อถึงความพยายามที่ส่อให้เกิดความขัดแย้ง/แตกแยก และไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการลงพื้นที่ศึกษาชุมชน ณ อำเภอแม่อาย และอำเภอฝาง ระหว่างวันที่ 20-21 มกราคม 2550  ซึ่งทางอธิการบดีได้มีคำสั่งให้คณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงเร่งรัดดำเนินการ


 


ชี้อธิการบดีทำพิลึกปัญหา น.ศ.ร้องโยนนิติกร แต่อาจารย์ถูกร้องรีบ "เร่งรัด" ดำเนินการ


ด้านอาจารย์รัชนี นิลจันทร์ กล่าวว่า ตอนแรกที่ทางนิติกรโทรศัพท์มาแจ้งนั้น ตนคิดว่าเป็นการมาให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเรื่องการเรียกร้องของนักศึกษาชาติพันธุ์ แต่ไปๆ มาๆ ตนกลับถูกสืบเรื่องที่ถูกร้องเรียนเสียเองอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว จากหนังสือร้องเรียนทั้งหมดที่ทางคณะกรรมการฯ ให้ดู ตนเองไม่ค่อยแปลกใจเรื่องที่ทางเจ้าหน้าที่ร้องเรียนมากนักเพราะคนที่ตามข่าวอยู่จะรู้ว่า ใครเป็นใครและใครมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับอาจารย์สมบัติมากน้อยเพียงไหน  แต่ที่แปลกใจมาก คือ ท่าทีในการปฏิบัติของท่านอธิการบดีต่อปัญหาดังกล่าวนี้ เพราะในหนังสือที่ร้องเรียนของนักศึกษา สาขาสหวิทยาการบริหารท้องถิ่น ลงวันที่ 11 มี.ค. 50 แต่ท่านอธิการบดีรีบเขียนคำสั่งอย่างเร่งด่วนหลังจากนั้น 1 วันว่า ให้มอบหนังสือนี้กับกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงรับเป็นข้อมูลและให้เร่งรัดดำเนินการ จนกลายมาเป็นการเรียกตนเองกับอาจารย์สันติพงษ์มาชี้แจงข้อกล่าวหาในวันนี้ 


 


ขณะที่ในหนังสือร้องเรียนของนักศึกษาชาติพันธุ์ที่ส่งไปเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 50 ท่านอธิการบดีเขียนคำสั่งเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 50 ว่า "มอบนิติกรพิจารณาข้อมูลและเสนอความเห็นต่ออธิการบดีในการดำเนินการต่อไป" และจนถึงวันนี้ ทางมหาวิทยาลัยน่าจะตอบได้ว่า มีการดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง


 


"สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึง การเลือกปฏิบัติของท่านอธิการบดี มรช. หรือไม่  ดิฉันคิดว่า ในสภาพสังคม


ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งเช่นนี้ ความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องสำคัญ และจะทำให้ปัญหาไม่เรื้อรังไปมากกว่านี้  ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่า ดิฉันมาอยู่ที่นี่ได้ไม่ถึงปี แต่มาทำความเสียหายให้กับสถาบันฯ ดิฉันคิดว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเวลา แต่เกี่ยวกับความถูกต้อง ความเป็นธรรม และความปรารถนาที่เราต้องการจะเห็นสังคมมหาวิทยาลัยมีมาตรฐานทางศีลธรรม จริยธรรมที่ดีอย่างไร" อาจารย์รัชนีกล่าว


 


 


แจงที่มาเก็บเงินใช้ตั้งกองทุน "สหวิทย์" หารือ น.ศ. - อาจารย์แล้ว


ทางอาจารย์สันติพงษ์ ช้างเผือก กล่าวว่า ตนได้กล่าวกับคณะกรรมการฯ ว่า ไม่ควรมองปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นส่วนๆ ส่วนเรื่องที่ตนถูกร้องเรียนนั้นก็ได้ชี้แจงโดยละเอียด เช่น การเก็บเงินจากนักศึกษาจำนวน 500 บาท โดยนำร่างเอกสารคำประกาศของหลักสูตรสหวิทยาการบริหารท้องถิ่น ภาคเรียนที่ 2/2549 ที่นางพิมลรัตน์ ชัยชิต เจ้าหน้าที่สถาบันฯ ได้ตระเตรียมไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2549 จำนวน 4 ฉบับ คือ การกำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษา การแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการจัดการเรียนการสอน การแต่งตั้งอาจารย์สอน และการกำหนดอัตราตอบแทนผู้บริหารโครงการ จำนวน 15,000 บาท มาเป็นหลักฐานประกอบ  


 


อาจารย์สันติพงษ์อ้างว่าเงินจำนวนนี้เกิดจากการประชุมปรึกษาหารือร่วมกันในหมู่คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และผอ.สถาบันชาติพันธุ์ฯ เพื่อจัดการปัญหาในการบริหารจัดการหลักสูตร กระทั่งนำไปสู่การยกร่างคำประกาศการเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาฉบับนี้ ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า ภาคเรียนที่ 2 จะเก็บเงินค่าธรรมเนียมการศึกษา 4,000 บาท และค่าเดินทางของวิทยากรและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ 500 บาท แต่หลังจากที่ ผอ.สมบัติ ประกาศยุติการสอนและทิ้งให้ตน อาจารย์อีก 2 ท่านและเจ้าหน้าที่ช่วยกันดูแลหลักสูตรชาติพันธุ์และสหวิทยาการในเทอมที่ 2 คาดว่า ทาง ผอ.สมบัติ คงตัดสินใจไม่ยอมเสนอเรื่องให้อธิการบดีทราบ แต่ร่างประกาศฉบับนี้ก็เป็นเครื่องยืนยันได้ดีว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการเรียกเก็บเงินโดยพลการแน่นอน


 


เนื่องจากพวกเราเป็นอาจารย์สอนเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เรื่องธรรมาภิบาล จะไปเรียกเก็บเงิน นศ. โดยไม่มีการปรึกษาหารือไม่ได้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาจึงมีการเปิดเวทีหารือ-ถกเถียงกับนักศึกษาทั้งสามรุ่นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งได้ข้อสรุปและมีการตั้งคณะกรรมการกองทุนชั่วคราวเพื่อตรวจสอบการใช้จ่าย การเปิดบัญชีที่ธนาคารกรุงเทพฯ ในนาม "กองทุนสหวิทย์" ด้วย


 


ภายหลังเมื่อมีตัวแทน นศ.ที่ทำหน้าที่เก็บเงินมาเล่าให้ฟังว่า นักศึกษาบางคนไม่มีเงินจ่าย บางคนไม่ยอมจ่ายตามมติร่วม ทางเราก็มีการคุยกันว่า อย่าให้ถือว่าไม่เป็นการบังคับกัน ให้มองเป็นเรื่องของการฮอมเงิน (รวมเงิน) กันมากกว่า และอาจารย์ทั้งสองท่านก็ร่วมสมทบด้วยอีกคนละ 500 บาท โดยเงินก้อนแรกจำนวน 16,000 บาทนำเข้าบัญชีไว้ และถอนออกมาเป็นเงินทุนช่วยเหลือฉุกเฉินกับนักศึกษาชาติพันธุ์ 3 คน เป็นเงิน 12,000 บาท โดยมีเงื่อนไขให้ นศ. ช่วยงานของสหวิทย์ฯ  ในวันที่มอบทุน (25 ธันวาคม 2549) ทาง รศ.ดร.มาฆะ ขิตตะสังคะ ผอ.วิทยาลัยก็เป็นตัวแทนมอบให้กับตัวแทน นศ. เอง  อีกก้อนหนึ่งนายคำ ไพศาลสิทธิกานต์ ประธานนักศึกษารุ่นสองได้นำมามอบให้กับอาจารย์รัชนี นิลจันทร์ หน้าห้องเรียนเป็นเงิน 8,500 บาท จากนั้นอาจารย์รัชนีได้มอบให้กับ นายคำ โพธิ เพื่อเป็นค่าอาหารของนักศึกษาทั้งสามรุ่นในการทัศนศึกษาที่อำเภอแม่อายและฝาง จังหวัดเชียงใหม่


แต่จำนวนเงินที่ตกลงค่าอาหารไว้ ขาดไป 1,500 บาท และใกล้กับวันหยุดจึงไม่สามารถไปถอนเงินออกมาได้ ตนจึงใช้เงินส่วนตัวจ่ายแทนไปก่อน ปัจจุบันก็ไม่ได้ไปเบิกเงินมาคืนแต่อย่างใด อาจารย์สันติพงษ์กล่าว


 


ชี้ไม่ได้ปลุกระดม แต่ นศ.ขอให้พูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาของสถาบัน


ส่วนข้อร้องเรียนว่าตนทำการปลุกระดมให้เกิดการขัดแย้งแตกแยกและไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการลงพื้นที่ศึกษาชุมชนนั้น ตนได้ฉายภาพการลงพื้นที่และการประชุมปรึกษาหารือของนักศึกษาให้คณะกรรมการฯ พิจารณาและกล่าวว่าการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่อง ปัญหาการจัดการการศึกษาภายในสถาบันของเรามีอย่างต่อเนื่องทั้งไม่เป็นทางการและเป็นทางการ เรื่องนี้เป็นหลักการพื้นฐานของหลักสูตรที่กล่าวถึงเรื่อง การมีส่วนร่วมอยู่แล้ว และการเปิดเวทีที่อำเภอฝางก็เกิดจากนักศึกษาท่านหนึ่งมาขอให้อาจารย์รัชนีได้เปิดวงพูดคุยถึงปัญหาจนนำไปสู่ข้อเสนอที่จะพบและปรึกษากับท่านอธิการบดี แต่ก็มาเกิดเรื่องนี้เสียก่อน


 


"ผมไม่ถือสาอะไรกับการที่ลูกศิษย์ที่เป็นผู้นำท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่สถาบันที่เป็นรุ่นน้องจะทำเรื่องร้องเรียน กล่าวหา หรือเสนอให้จัดการผมกับอาจารย์รัชนีพ้นสภาพการเป็นอาจารย์ เพราะในสังคมมหาวิทยาลัยทุกคนมีสิทธิที่จะทำและตรวจสอบกันได้ แต่ต้องตั้งอยู่บนหลักการ ความถูกต้องชอบธรรม ตั้งอยู่บนฐานของข้อมูลที่เป็นจริง อย่าพยายามใช้เรื่องอื่นประเด็นอื่นมาบิดเบือนปัญหา เพราะบทเรียนที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยได้ปล่อยให้โอกาสในการแก้ไขปัญหานี้หลุดลอยไปหลายครั้งแล้ว" อาจารย์สันติพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย


 



นายคำ ไพศาลสิทธิกานต์ ประธานนักศึกษาสหวิทยาการรุ่นสอง (ซ้ายสุด) ภาพนี้เป็นภาพที่อาจารย์สันติพงษ์ใช้ชี้แจงคณะกรรมการฯ มรช. ว่าเป็นการหารือของนักศึกษาเกี่ยวกับปัญหาการจัดการการศึกษาในสถาบัน ซึ่งนายคำเองก็ได้ร่วมด้วย


 


 


ชนเผ่าโวยไม่รู้เรื่องถูก มรช. ตั้งเป็นกรรมการวิทยาลัยนานาชาติ


ทางด้านนายนิวัฒน์ ตามี่ ตัวแทนสมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า ตนได้ทราบข่าวที่ทางมหาวิทยาลัยไปโฆษณาหนังสือพิมพ์ก้านบัว ประจำวันที่ 23-25 มีนาคม 2550 ที่พาดหัวว่า "มรช.-เครือข่ายผู้รู้จับมือแน่นร่วมตั้งพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ ปรับหลักสูตรพัฒนาฯให้เป็นต้นแบบ ม.ทั่วไป" และในนั้นยังมีชื่อของตนปรากฏอยู่ในคณะกรรมการฝ่ายวิจัยและพัฒนาของวิทยาลัยนานาชาติ ภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยอ้างว่า เป็นข้อเสนอจากการประชุมร่วมระหว่างอธิการบดีกับเครือข่ายผู้รู้ 13 องค์กร ในวันที่ 13 มีนาคม 2550 ต่อมาเพียง 3 วัน (16 มีนาคม 2550) ทางอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายได้มีคำสั่งที่ 461/2550 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยระบุให้คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งปฏิบัติหน้าที่ทีได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถและบังเกิดผลดีต่อทางราชการ และมีวาระ 2 ปีนับแต่วันประกาศ


 


"อธิการบดีพยายามใช้เครือข่ายผู้รู้เป็นเครื่องมือในการสยบการเคลื่อนไหว และไม่ได้ทำตามสิ่งที่ตนรับปากต่อคณะกรรมาธิการชุดครูหยุย เมื่อ วันที่ 8 มีนาคม 2550 ว่า จะจัดการปัญหาเรื่องนักศึกษาขอให้มีการสอบพฤติกรรมอดีต ผอ.สถาบันชาติพันธุ์ และการพิจารณาเรื่อง การยุบสถาบันชาติพันธุ์"


 


"ส่วนการแสร้งทำเป็นเปิดโอกาสให้ผู้รู้เข้ามาเป็นคณะกรรมการวิทยาลัยนานาชาติก็เร่งรีบดำเนินการจนเป็นที่น่าสงสัยและไม่ชอบมาพากล เพราะชื่อที่เสนอแต่งตั้ง เช่น นายศักดิ์ดา แสนหมี่ ผอ. สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT) และชื่อของตนเอง ก็เป็นการกระทำไปโดยเจ้าตัวไม่รู้เรื่อง หรือกรณีนางจุฑามาศ ราชประสิทธิ์ ผู้จัดการมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ก็ไม่ได้ยอมรับการเป็นคณะกรรมการตั้งแต่แรก ที่ผ่านมาพวกเราทั้งหมดได้แสดงจุดยืนต่อปัญหานี้อย่างชัดเจนและต่อเนื่องว่า ต้องการให้มหาวิทยาลัยแก้ไขปัญหานักศึกษาและพฤติกรรม ผอ.สถาบันฯ ก่อน ที่จะมาพูดเรื่อง โครงสร้างหรือวิทยาลัย ครั้งนี้ถ้าเราไม่ออกมาพูดก็จะกลายเป็นว่า เราสมยอมกับการแก้ปัญหาแบบนี้ของมหาวิทยาลัย" นายนิวัฒน์กล่าว


 


 


 


ข่าวย้อนหลัง


นศ.ชาติพันธุ์โต้อธิการบดี มรช. มีชื่อรับทุน แต่ทำไมไม่ได้สัมผัสเงิน 9 มี.ค. 50


คำแถลง "ฉบับเต็ม" ของอธิการบดี มรช. กรณีนักศึกษาเอกชาติพันธุ์ฯ ร้องเรียน 13 มี.ค. 50

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net