Skip to main content
sharethis

26 มี.ค.50 - นายวิชา มหาคุณ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กรอบที่ 3 ว่าด้วยองค์กรตรวจสอบอิสระและศาล โดยที่ประชุมมีการหารือกันในประเด็นต่างๆ ที่ความคิดเห็นกรรมาธิการยกร่างไม่ตรงกับความเห็นของคณะอนุกรรมาธิการ อาทิ ที่มาของประธานศาลฎีกา เงินเดือน เงินประจำ ตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) การจ่ายเงินค่าทดแทนกรณีการจ่ายเงินทดแทนแก่ผู้ต้องหาในคดี
อาญา


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมมีการถกเถียงกันในประเด็นอำนาจหน้าที่ในการเป็นผู้วินิจฉัยคุณสมบัติต้องห้ามของ ส.ส. ส.ว.และการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีว่า ควรเป็นหน้าที่ของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง หรือ ศาลรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชุมมีมติด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 5 ให้อำนาจหน้าที่ดังกล่าวเป็นของศาลฎีกา โดยจะตั้งเป็นแผนกเลือกตั้ง นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้มีการหารือให้บัญญัติกฎหมาย ข้อหาทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชนหรือของชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายคมสัน โพธิ์คง เป็นผู้เสนอ โดยระบุว่า ควรมีการดำเนินคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในเรื่องการทรยศต่อชาติเป็นการเฉพาะ สืบเนื่องจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้มีการกระทำที่เข้าข่ายการทรยศต่อประชาชน เช่นการแปรรูป กสท.แต่ในทางกฎหมายไม่มีการบัญญัติการเอาผิดแต่อย่างใด ส่วนสาเหตุที่ต้องมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเนื่องจากการบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาจะมีข้อจำกัดในเรื่องอายุความ


 


ทั้งนี้ นายคมสัน เห็นว่า ควรบัญญัติเรื่องดังกล่าวเพิ่มไว้ในหมวดศาล ซึ่งอาจจะเป็นการเพิ่มวรรคใหม่ในมาตราใดมาตราหนึ่งนั้น หรือเขียนเพิ่มใหม่ก็ได้ โดยสาระสำคัญควรต้องระบุให้นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมืองอื่นที่ถูกกล่าวหาว่า แสวงหาประโยชน์อันเป็นการกระทำที่ทรยศต่อระบอบประชาธิปไตย ความไว้วางใจของประชาชน และกระทบต่อความเสียหายของชาติถือเป็นภัยอย่างร้ายแรง ให้ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นผู้วินิจฉัย โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการ เห็นพ้องกับข้อเสนอดังกล่าวเพียงแต่ให้นายคมสัน กลับไปพิจารณาปรับแก้ถ้อยคำให้เหมาะสมก่อนที่จะเสนอให้กรรมาธิการยกร่างเป็นผู้พิจารณาต่อไป


ประสงค์ปัดข่าวลือถอดใจลาออก


ด้านน.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าตนเองถอดใจ และลาออกจากตำแหน่ง โดยปฏิเสธว่าตนเองไม่รู้ เรื่องและไม่เคยพูด  เชื่อว่าข่าวดังกล่าวเป็นการสร้างกระแส เพื่อยุให้เกิด ความสับสน พร้อมยืนยันจะขอทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น และไม่มีความรู้สึกกดดัน หรืออึดอัดต่อกระแสข่าวปล่อยที่ออกมาแต่อย่างใด


"ผมเป็นทหาร ธรรมชาติของทหารถ้าเข้าสู่สนามรบแล้ว เป้าหมายที่สำคัญคือชัยชนะที่ต้องทำให้ได้ ไม่เคยคิดที่จะถอดใจ คิดเพียงอย่างเดียวว่าจะต้องทำงานให้บรรลุ เป้าหมาย ซึ่งหน้าที่ขณะนี้ ก็คือ ต้องยกร่างรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์ เพื่อวางเครือข่ายดักตะกวดทางการเมือง  ไม่ให้เข้ามาหาผลประโยชน์ให้กับตนเองหรือพวกพ้อง เหมือนอย่างทุกครั้งที่ผ่านมา"น.ต.ประสงค์ กล่าว


 


นอกจากนี้ น.ต.ประสงค์ ได้กล่าวถึงการออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ว่า เป็นพลพรรคของกลุ่มการเมืองเก่าที่เสียผลประโยชน์ และอำนาจทางการเมือง ส่วนการที่จะออกมาเคลื่อนไหวด้วยกลวิธีใดๆ ก็เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ แต่อย่านำเรื่องไม่จริง มาเป็นประเด็นเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ประเด็นที่ออกมาเคลื่อนไหวนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาชน ส่วนประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุม เป็นเพียงบางกลุ่มที่ทำตามการว่าจ้างจากแกนนำของกลุ่มที่เสียอำนาจ


 


ส่วนกรณีที่จะมีการบัญญัติเรื่องนิรโทษกรรมไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น น.ต.ประสงค์ ยืนยันว่า จะต้องเขียนไว้ เพื่อรองรับองค์กรอิสระที่ถูกตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เพื่อให้มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางคณะกรรมาธิการจะมีการหารือกันอีกครั้ง


 


"เจิมศักดิ์" แฉกลางสภา กมธ.ภาคเหนือ ใช้เงินหลวงจัดเวทีรธน.เตรียม "หาเสียง"


ขณะที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)รับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนในภาคเหนือ โดยนายวิชัย ศรีขวัญ ประธานกมธ. ได้รายงานผลการดำเนินการต่อที่ประชุมส.ส.ร.ว่า ประชาชนในภาคเหนือเห็นด้วยกับการลดจำนวนส.ส.และลดบทบาทส.ส.ลงเนื่องจากปัจจุบันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลประชาชนในพื้นที่อยู่แล้ว ถ้ามีส.ส.มากก็จะทำงานซ้ำซ้อนและมีปัญหา ดังนั้นส.ส.จึงทำแต่หน้าที่นิติบัญญัติเท่านั้นจึงไม่ควรจะมีจำนวนมาก ขณะที่ยังเห็นควรให้คงส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อเอาไว้เพื่อเป็นช่องทางให้คนที่มีความรู้ ความสามารถเช่นข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีเวลาหาเสียงได้เข้าไปในสภา  รวมทั้งส.ส.บัญชีรายชื่อยังเป็นการส่งเสริมความเข้มแข็งของพรรคการเมือง


 


นายวิชัย  แจงด้วยว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในภาคเหนือเห็นว่าไม่ควรกำหนดวุฒิการศึกษาสำหรับผู้สมัครส.ส.แต่ส.ว.ควรจะจบปริญญาตรี เนื่องจากต้องทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย แต่เห็นว่าส.ส.ควรจะมีความอิสระจากพรรค ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมืองถึง 90 วัน และการลงมติในสภาเห็นว่าควรจะเป็นความลับเพื่อไม่ให้ส.ส.อยู่ภายใต้การครอบงำจากพรรคการเมือง พร้อมกันนี้ยังเห็นว่าส.ว.ควรจะมาจากการสรรหาโดยตั้งองค์กรกลางขึ้นมาสรรหาบุคคลจากกลุ่มอาชีพต่างๆ แต่ถ้าเป็นการเลือกตั้งจะทำให้ส.ว.ไม่เป็นอิสระเพราะจะต้องอาศัยฐานเสียงของส.ส.


 


นายวิชัย  กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่านายกรัฐมนตรีควรจะมาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่ควรจะอยู่ในตำแหน่งเกิน 2 วาระ และเมื่อเป็นนายกฯแล้วต้องลาออกจากการเป็นส.ส.เพราะถ้ายังเป็นส.ส.ด้วยจะทำให้ใช้อำนาจรัฐสร้างความได้เปรียบในเรื่องงบประมาณให้กับพื้นที่ของตัวเอง ห้ามไม่ให้นายกฯและรัฐมนตรีมีผลประโยชน์ซับซ้อนก่อนและหลังการดำรงตำแหน่ง 2 ปี สนับสนุนให้ฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาลได้ง่ายขึ้นสามารถใช้เสียงเพียง 2  ใน 5 อภิปรายนายกรัฐมนตรีได้ และเห็นด้วยกับการให้บุคคลถูกพิพากษาว่ามีความผิดต้องหลุดจากตำแหน่งทันทีแม้ว่าศาลจะสั่งให้รอลงอาญา เพราะถือว่าเป็นบุคคลที่มีมลทิน


 


อย่างไรก็ตาม การอภิปรายร้อนแรงขึ้นเมื่อ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกมธ.ประสานการมีส่วนร่วมและการประชามติ ลุกขึ้นอภิปราย โดยแฉว่ามีการใช้งบประมาณโดยทุจริตเกิดขึ้นในกมธ.วิสามัญประจำจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคเหนือ โดยกมธ.จำนวน  6 คน ที่มีความสัมพันธ์อยู่กับพรรคการเมืองพรรคหนึ่งและนักการเมืองคนหนึ่งมีเจตนาที่จะลงส.ส.ในครั้งหน้า ไปเปิดเวทีรับฟังความเห็นประชาชน เพื่อปูพื้นฐานทางการเมือง มีการขนเอาหัวคะแนนและพรรคพวกมารับฟังความเห็นมีการจ่ายเงินแบบเหมาจ่าย  และจ่ายรายหัวเหมือนที่ระบบทักษิณเคยทำ มีการทำเสื่อคลุมแจกจ่าย และเมื่อเสร็จงานแล้วก็มีการจัดเลี้ยงกัน โดยเบิกงบประมาณในส่วนของวิทยากร เรื่องนี้สร้างความลำบากใจให้กับกมธ.ภาคและผู้ว่าราชการจังหวัดนี้เป็นอย่างมาก อยากถามว่าผลการรับฟังความเห็นประชาชนเช่นนี้สมควรจะรับฟังหรือไม่ และผมอยากถามว่าประธานกมธ.ภาคว่าจะดำเนินการอย่างไร


 


"ยืนยันว่าต้องเอาผิดให้ได้ แม้เงินเพียงบาทสองบาท หรือเป็นหมื่นแสนบาทหรือแสนบ้านก็ไม่ได้ อยากถามประธานกมธ.ภาคเหนือที่เคยเป็นผู้ว่าฯเชียงใหม่ แม้เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในเชียงใหม่ แต่ก็เชื่อว่าท่านร้อนใจ และอยากฝากไปถึงบางจังหวัดในภาคกลางและภาคอิสาน ก็เริ่มได้ยินความไม่โปร่งใสเข้ามาบ้างให้รีบดำเนินการสอบสวน" นายเจิมศักดิ์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net