บทความ : โลกร้อน โลกเย็น กับมุมมองที่แตกต่าง

ภัทรพงศ์ พงศ์สวัสดิ์

 

 

เดี๋ยวนี้ เรื่องภาวะโลกร้อนเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของคนมากมาย เพราะมันเริ่มปรากฏแล้วว่า ตัวเราเองกำลังได้รับผลกระทบโดยตรงจากความเปลี่ยนแปลงของโลกครั้งนี้ เรารู้สึกว่าอากาศมันร้อนขึ้น อากาศมันผิดปกติไปจากเมื่อก่อน หน้าหนาวก็หนาวไม่กี่วัน หน้าร้อนอากาศก็ร้อนขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ร้อนนาน ส่วนฝนก็มาบ้างไม่มาบ้าง หรือไม่ก็มีพายุลูกใหญ่ๆ พัดเข้าประเทศโน้นประเทศนี้ก่อความเสียหายไปทั่ว ข่าวน้ำท่วม ข่าวฝนแล้ง มีให้ได้ยินเป็นระยะๆ พร้อมกับข่าวว่าโลกเราร้อนขึ้นทุกวันอันเนื่องมาจากผลพวงของการพัฒนาอุตสาหกรรมและกิจกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์เอง

 

ทฤษฎีโลกร้อนเผยแพร่ออกไปและก็ได้รับการยอมรับไปทั่ว ก่อให้เกิดการตื่นตัวไปทั่วทั้งโลก ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง An Inconvenient Truth ที่เพิ่งคว้ารางวัลออสการ์ประเภทภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมไปหมาดๆ ก็ช่วยเพิ่มอุณหภูมิความร้อนของเรื่องนี้เป็นอย่างดี

 

สิ่งที่จะเล่าต่อไปเป็นเพียงแนวคิดของนักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มที่มีความเชื่อแตกต่างไปจากสิ่งที่หลายๆ คนกำลังเชื่ออยู่ในตอนนี้ พวกเขาเชื่อว่าโลกกำลังอยู่ในช่วงปลายของการพักร้อน ก่อนที่จะก้าวไปสู่ยุคน้ำแข็งอีกครั้งเหมือนที่เคยเป็นมาเมื่อหลายแสนปีก่อน

 

ที่เล่าให้ฟังเพราะอยากให้คนอ่านได้คิดพิจารณาดู ไม่ได้จะไปขวางแนวทางการรณรงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะว่าโดยส่วนตัวแล้ว ก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์แน่ๆ ที่จะช่วยกันลดของเสีย ปฏิกูลต่างๆ ที่มนุษย์เป็นต้นเหตุปล่อยออกมาเปอะเปื้อนโลกใบนี้ เพราะไม่ว่าโลกจะร้อนขึ้นหรือเย็นลง ผลกระทบมันก็ตกมาอยู่กับเราแน่ๆ

 

ภาวะโลกร้อน หรือที่เราๆ รู้จักกันดีในชื่อ Global Warming นั้น นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งเห็นว่า เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ครั้งล่าสุดก็เมื่อ 18,000 ปีก่อน ช่วงที่โลกกำลังก้าวผ่านยุค Pleistocene Ice Age ซึ่งเป็นเวลาที่ดินแดนส่วนใหญ่ของทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย ถูกปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง โลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลายครั้งตลอดหลายล้านปีที่ผ่านมาซึ่งส่วนใหญ่โลกจะอยู่ในยุคน้ำแข็งหรือไม่ก็ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง ตอนนี้เราอยู่ในช่วงว่างเว้นจากยุคน้ำแข็งเป็นการชั่วคราว

 

จริงๆ แล้ว ทุก 100,000 ปี อากาศของโลกจะอุ่นขึ้นระยะหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์เรียกช่วงเวลานี้ว่า Interglacial Periods ซึ่งแต่ละครั้งจะเกิดขึ้นนานราว 15,000 - 20,000 ปี ก่อนที่สภาพอากาศจะหวนกลับสู่ยุคน้ำแข็งอันเยือกเย็นอีกครั้ง ตอนนี้ เชื่อว่าโลกเราอยู่ในช่วง Interglacial Periods ปีที่ 18,000 ซึ่งเป็นระยะที่วันหยุดพักร้อนกำลังจะหมดลงมากกว่าจะเป็นการเข้าสู่ยุคโลกร้อนอย่างที่หลายๆ คนคิด

 

ปรากฏการณ์ที่โลกร้อนขึ้นนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ต่อสภาพแวดล้อมและต่อการขยายตัวของสรรพชีวิตต่างๆ บนโลก เช่น เมื่อ 15,000 ปีก่อน โลกอุ่นขึ้นจนธารน้ำแข็งหยุดขยายตัวและระดับน้ำทะเลเริ่มสูงขึ้น พออีก 8,000 ปีต่อมา ผืนดินช่วงช่องแคบแบริ่งที่เชื่อมระหว่างทวีปยุโรปกับอเมริกาเหนือจมน้ำจนทำให้การอพยพของคนและสัตว์หยุดชะงักลง

 

ช่วง ค.ศ.1400 - 1860 โลกเจอกับภาวะ Little Ice Age ซึ่งมีฤดูหนาวที่โหดร้ายและฤดูเพาะปลูกสั้นกว่าเดิม พร้อมๆ กับอากาศแห้ง อุณหภูมิของโลกลดลงเฉลี่ย 1 - 2 องศา เซลเซียส และช่วงนี้เองที่ทำให้เกิดภาวะอดอยากในไอร์แลนด์ หรือ Irish Potato Famine และเชื่อว่าภาวะนี้เป็นเหตุทำให้อาณาจักรไวกิ้งล่มสลายลงในที่สุด

 

น่าประหลาดใจที่ตั้งแต่ทศวรรษ 1940 อากาศของโลกดูจะเย็นลง แต่พอมาในยุคทศวรรษ 1970 อุณหภูมิของโลกก็เริ่มหยุดการลดลงและเริ่มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 นักวิทยาศาสตร์ที่สนใจเรื่องโลกร้อนมีความเห็นว่า อุณหภูมิของโลกเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 1860 จนถึงปัจจุบัน เนื่องมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือคาร์บอนไดออกไซต์ แล้วคำถามใหญ่ก็คือ มนุษย์เป็นต้นเหตุทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกจริงๆ หรือ?

 

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็คงเป็นความสำเร็จที่น่าเศร้าของมนุษย์ แต่ความจริงก็คือ เรามักจะประเมินตัวเองว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบกับโลกมากจนเกินไป ในกรณีนี้ ก๊าซที่มนุษย์ปล่อยออกมา แม้ว่าจะประเมินในแบบที่มากที่สุดก็ยังมีปริมาณที่ไม่พอที่จะก่อให้เกิดปรากฏการณ์อุณหภูมิเพิ่มสูงได้

 

ทีนี้ อะไรที่นักวิทยาศาสตร์กลุ่มโลกเย็นมองว่า เป็นต้นเหตุของปรากฏการณ์โลกร้อนละครับ

 

ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกถูกควบคุมจากการหมุนรอบตัวเองและองศาการเอียงของโลก และพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ ขณะที่ก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ปล่อยออกมามีเพียง 0.2 - 0.3% เท่านั้น ซึ่งมีผลต่อปรากฏการณ์เรือนกระจกน้อยมาก

 

วงจรสภาพอากาศและอุณหภูมิของโลกเป็นผลลัพธ์มากจากตัวแปรหลายๆ ตัวที่สลับซับซ้อน วงจรและปรากฏการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นทับซ้อนกัน ดังนั้น การใช้ตัวเลขสถิติต่างๆ ในระยะเวลาเพียงไม่กี่สิบปีมาวิเคราะห์แนวโน้มสภาพอากาศจึงไม่ค่อยจะถูกต้องนัก อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์มากมายที่ใช้วิธีทางสถิติที่ไม่ถูกต้องมาช่วยกระพือข่าวโลกร้อน ก็เลยทำให้เรื่องนี้เป็นข่าวโด่งดังไปทั่ว

 

ลองพิจารณาแนวคิดต่อไปนี้ ก่อนที่จะไปปักใจเชื่อว่ากาซคาร์บอนไดออกไซต์ที่มนุษย์ปล่อยออกมาทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกและภาวะโลกร้อน

 

1) ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่ได้สนับสนุนแนวคิดที่ว่า มนุษย์เป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน ตัวอย่างที่ดีก็คือ ในยุคที่เรียกว่า Helocene Maximum ซึ่งเป็นยุคที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ สิ่งที่น่าสนใจก็คือยุคนี้เกิดขึ้นเมื่อ 7,500 - 4,000 ปี ก่อน ซึ่งก็ถือว่านานมากก่อนที่มนุษย์จะเริ่มยุคอุตสาหกรรมซะอีก

 

2) ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในบรรยากาศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 18,000 ปีที่ผ่านมาก่อนที่มนุษย์จะประดิษฐ์ปล่องไฟได้ซะอีก ที่น่าประหลาดใจก็คือ ระดับอุณหภูมิและก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในโลกยุคนี้สูงพอๆ กับที่เกิดในวงจร Interglacial เมื่อ 120,000 - 140,000 ปีก่อน ทั้งนี้ วงจร Interglacial จะกินเวลาครั้งละราว 20,000 ปี ซึ่งหลังจากนั้น โลกจะกลับสู่ยุคน้ำแข็ง

 

3) มนุษย์มีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.28% ขณะที่ อีก 99.72% ของก๊าซเรือนกระจกเกิดจากสาเหตุตามธรรมชาติ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ปริมาณ 186 พันล้านตันที่เข้าสู่บรรยากาศของโลกในแต่ละปีมีที่มาจากหลายแหล่ง แต่มีเพียง 6 พันล้านตันเท่านั้นที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ ขณะที่อีก 90 พันล้านตัน มาจากภูเขาไฟและซากพืชที่เน่าเปื่อย

 

4) ปฏิกิริยาจากดวงอาทิตย์มีส่วนต่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์และอุณหภูมิของโลก

 

พวกนักวิทยาศาสตร์กลุ่ม โลกเย็น เชื่อว่าปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อนเกิดจากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นักข่าว และกลุ่มผลประโยชน์ ที่ออกมาให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและชี้นำเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและอุณหภูมิผันแปร ซึ่งทำให้หลายๆ คน ที่แม้ว่าตอนแรกๆ อาจจะสงสัยกับคำพูดพวกนี้ แต่หลังจากนั้น คนก็จะเริ่มเชื่อว่ามันเป็นจริงเพราะว่าได้ยินมันบ่อยๆ

 

วงจรสภาพอากาศของโลกมีหมุนเวียนกันไปทั้งร้อนและเย็นซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาหลายแสนปีแล้ว และปรากฏการณ์นี้ก็จะยังคงเป็นอยู่ต่อไปเรื่อยๆ เพียงแต่ตอนนี้เราอยู่ในช่วงสั้นๆ ของโลกที่กำลังอบอุ่น แต่มันก็จะคงไม่เป็นแบบนี้ตลอดไป

 

ขณะที่รายงานเรื่อง Climate Change 2007: The Physical Sciences Basis ของ Intergovernmental Panel on Climate Change แห่งสหประชาชาติออกมาสรุปอย่างชัดเจนว่ากิจกรรมที่มนุษย์ทำเป็นสาเหตุหลักที่เป็นไปได้ว่าทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นนับตั้งแต่ปี 1950 พร้อมกับบอกว่าโลกของเรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งเกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์และก๊าซอื่นๆ ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศทำให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วย

 

สัญญาณของภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นค่อนข้างชัดเจน เช่น อัตราการเสียชีวิตของคนยุโรปที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่มีกระแสความร้อนเข้ามา การขยายตัวของสาหร่ายพิษในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไฟป่าในโปรตุเกส เป็นต้น Jacqueline McGlade ผู้อำนวยการ องค์การสิ่งแวดล้อมยุโรป (European Environment Agency) คาดว่า ถ้าไม่มีการเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลง คนทางตอนเหนือและใต้ของยุโรปซึ่งจะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุดจะกลายเป็น "ผู้ลี้ภัยจากสภาพอากาศ" ซึ่งจะอพยพไปสู่ตอนกลางของทวีป

 

อุณหภูมิโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้ จะทำให้สิ่งมีชีวิตกว่า 50% สูญพันธุ์ไปจากโลก ถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศา เซลเซียส 50% ของการผลิตอาหารในอินเดียจะหายไป และถ้ามีการปล่อยกาซคาร์บอนไดออกไซต์ในระดับปัจจุบันต่อไปอีกอย่างน้อย 50 ปี จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและเมืองใหญ่ๆ จะจมน้ำ ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ โตเกียว อัมสเตอร์ดัม เวนิส และนิวยอร์ค ในสหรัฐฯ คน 50 ล้านคนจะไม่มีที่อยู่ ในจีน คน 250 ล้านคนต้องไร้ที่อยู่ พลเมือง 120 ล้านคนของบังคลาเทศ และอีก 150 ล้านคนของอินเดียต้องถูกบังคับให้ย้ายถิ่น

 

สำหรับทวีปเอเชีย รายงานของ Intergovernmental Panel on Climate Change บอกว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณปัจจุบัน จะทำให้อุณหภูมิของเอเชียเพิ่มสูงขึ้น 3 องศาเซลเซียสในปี 2050 และเพิ่มเป็น 5 องศา เซลเซียส ในปี 2080 กลุ่มที่จะถูกผลกระทบมากที่สุดก็คือภาคเกษตร เพราะปริมาณฝนจะลดลง อุณหภูมิบนผิวดินเพิ่มขึ้น และความชื้นในดินลดลง บางพื้นที่ของเอเชียจะประสบกับน้ำท่วม ไฟไหม้ป่า ขณะที่บางพื้นที่จะเจอกับภาวะขาดแคลนน้ำ หรือน้ำท่วมจากพายุที่จะมีบ่อยครั้งขึ้น และระดับน้ำทะเลสูงขึ้น พวกเขายังเชื่ออีกว่า ในพื้นที่ๆ ที่ร้อนและชื้นกว่าเดิมจะมีโอกาสเกิดโรคระบาดได้มากขึ้น

 

สำหรับพื้นที่แถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น รายงานฉบับนี้แนะนำว่า วิธีเตรียมตัวที่เกี่ยวกับการเกษตรได้แก่ การปรับวงจรการเพาะปลูก การหมุนเวียนการเพาะปลูก การพัฒนาพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตสูง และการใช้เทคโนโลยีแบบยั่งยืน การจัดระบบบรรเทาภัยจากน้ำท่วมและฝนแล้ง การเลิกพัฒนาพื้นที่บริเวณใกล้ๆ แหล่งน้ำท่วม การป้องกันดินพังทลาย การรักษาแหล่งน้ำบาดาล การพัฒนาแหล่งน้ำและระบบการจัดการน้ำ

 

ไม่ว่าโลกจะร้อนขึ้นหรือเย็นลง เราก็จะได้รับผลกระทบอยู่ดีในฐานะที่เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมการเกษตรที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศ สิ่งที่ต้องเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ในตอนนี้ก็คือ การสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในพื้นที่ (การจดบันทึกสภาพอากาศ) การเตรียมตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำให้พอกับการเพาะปลูกและการใช้ภายในโรงงาน การพัฒนาพันธุ์อ้อยที่ให้ผลผลิตสูง และทนกับสภาพอากาศแบบต่างๆ ได้ดี เป็นต้น

 

ทีนี้ ไม่ว่าโลกจะร้อนขึ้นหรือเย็นลง เราต่างก็จะโดนผลกระทบจากเรื่องนี้ด้วยกันทั้งนั้น และคงต้องติดตามรับฟังข่าวความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้และก็คอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว พร้อมๆ ไปกับการคิดให้มากกว่าเดิมว่าอะไรเกิดขึ้นกันแน่กับโลกของเรา

 

 

.......................................

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น

ที่มา:     1) www.clearlight.com

2) Climate Change 2007: The Physical Science Basis, Intergovernmental Panel

 on Climate Change, WGO, United Nations (www.ipcc.ch)

3) Elisabeth Rosenthal and Andrew C. Revkin, Panel Issues Bleak Report on

 Climate Change, The New York Times, February 2, 2007

4) Elisabeth Rosenthal, Global Warming: Adapting to a New Reality, The

 International Herald Tribune, 15 September 2005

5) Bo Ekman, Man and His Endangered Home: Our pursuit of growth and luxury

 may leave us homeless, YaleGlobal, 28 September 2006

6) Jim Hansen, The Planet in Peril - Part I, YaleGlobal, 19 October 2006

            7) Executive Summary: Will the Climate in Asia Change?, Climate Change

 2001: Working Group II, Impacts, Adaptation and Vulnerability,

 Intergovernmental Panel on Climate Change, UNEP and WMO

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท