Skip to main content
sharethis

ดร.สุริยะ สะนิวา


อาจารย์ประจำสาขารัฐประศาสนศาสตร์


มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา 


 


ข้อเขียนชิ้นนี้ นำมาจากบทความทางวิชาการเรื่อง "การลดความรุนแรงจากความเคลื่อนไหวทางการเมืองของชนกลุ่มน้อย: ศึกษากรณีชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนใต้" ของ "ดร.สุริยะ สะนิวา" อาจารย์สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ที่พยายามนำทฤษฎีและปัจจัยต่างๆ มาอธิบายให้เห็นถึงแนวทางที่จะเปลี่ยนแปลงการต่อสู้ของชนกลุ่มน้อย ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการใช้ความรุนแรง มาเป็นแนวทางการต่อสู้ที่ไม่รุนแรงไว้อย่างน่าสนใจ 


 


00000


 


บทความฉบับนี้ ได้สืบสวนเพื่อให้เห็นถึงสาเหตุความเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อยว่า เพราะเหตุใดจึงมีการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์จากความรุนแรงสู่สายกลาง มีการตรวจสอบปัจจัยบางอย่างที่สามารถอธิบายให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในยุทธศาสตร์ความเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อย โดยมองไปที่กรณีศึกษาของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย ข้อมูลต่างๆ ที่รวบรวมมาเพื่อการทดสอบปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นในบทความนี้ ได้มาจากการลงสนามสัมภาษณ์ผู้นำชุมชนกลุ่มน้อยเชื้อสายมลายูจำนวน 30 ท่าน


 


ผู้นำส่วนใหญ่จากการสัมภาษณ์ยอมรับว่า ปัจจัยต่างๆ อย่างเช่น การเป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การมีสถานภาพทางด้านเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และการยอมรับในวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ความเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อยเชื้อสายมลายู กลับสู่รูปแบบการเคลื่อนไหวทางสายกลาง


 


ฉะนั้น ปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น อาจเป็นปัจจัยด้าน "จูงใจ" ที่ทำให้ลดยุทธศาสตร์ การเคลื่อนไหวในผู้นำมวลชนที่รุนแรงลงได้ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็พบว่าปัจจัยด้าน "ผลักดัน" ก็มีส่วนทำให้ความรุนแรงลดลงได้เหมือนกัน ซึ่งปัจจัยผลักดันดังกล่าวนั้น อาจรวมถึงการใช้กฎเหล็กของอำนาจรัฐ การสกัดกั้นด้วยกำลังอาวุธ และการกำจัดผู้สนับสนุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม การศึกษาของเรานั้น มีความเชื่อว่า ความไม่รุนแรงหรือการเดินสายกลางดูเหมือนจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยหากปราศจากปัจจัยจูงใจ 


 


การลดความรุนแรงจากความเคลื่อนไหวทางการเมืองของชนกลุ่มน้อย: ศึกษากรณีชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนใต้


ก่อนที่เราจะนำบทความเรื่องนี้เข้าสู่การอธิบายในเชิงลึก เราควรกลับมาทำความเข้าใจในคำนิยามของกลุ่มคำที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องดังกล่าวกันก่อน ในบทความบทนี้ มีกลุ่มคำว่า "ความเคลื่อนไหวที่รุนแรงของชนกลุ่มน้อย" "ความเคลื่อนไหวทางสายกลางของชนกลุ่มน้อย" และ "การลดความรุนแรงของชนกลุ่มน้อย" สามกลุ่มคำดังกล่าว ดูเหมือนจะมีความสำคัญมาก ต่อการอธิบายถึงความเคลื่อนไหวทางด้านการเมืองของชนกลุ่มน้อย


 


เราจะเริ่มต้นด้วยกลุ่มคำว่า "ความเคลื่อนไหวที่รุนแรงของชนกลุ่มน้อย" ในบทความของเราในครั้งนี้ คำนิยามของกลุ่มคำที่ว่าดังกล่าวก็คือ ความเคลื่อนไหวที่มีลักษณะเป็นผู้แทนและสามารถเห็นได้ถึงการที่จะเป็นผู้แทนในผลประโยชน์ของชนกลุ่มน้อยอย่างมีเอกลักษณ์ ซึ่งตนเองไม่มีความพอใจกับกฎระเบียบของสังคมที่เป็นอยู่ จึงเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงด้วยแนวคิดและมีพฤติกรรมการเรียกร้องที่รุนแรง ดังตัวอย่างเช่น การขออิสรภาพในการปกครองตนเอง การแยกตัว และการเป็นประเทศอิสระ


 


ทั้งนี้ ได้มีความพยายามหาทางให้บรรลุผลด้วยการกระทำที่เป็นจารกรรม ก่อการร้าย การทำลายล้าง และการต่อต้านด้วยกำลังอาวุธ พฤติกรรมความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะผูกพันอยู่กับลักษณะที่ตรงกับคำในภาษาอังกฤษที่ว่า "direct action" คือการรบพุ่งกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีเหตุการณ์ทางด้านการเมืองที่ถูกกฎหมายก่อนหน้านั้น ล้มเหลวหรือสิ้นสุดลงนั้นเอง


 


"ความเคลื่อนไหวทางสายกลางของชนกลุ่มน้อย" อาจให้คำนิยามในบทความบทนี้คือ ความเคลื่อนไหวที่มีลักษณะเป็นผู้แทน และสามารถเห็นได้ถึงการที่จะเป็นผู้แทนในผลประโยชน์ของชนกลุ่มน้อยอย่างมีเอกลักษณ์ และมีพฤติกรรมการเรียกร้องที่มีรูปแบบของการปฏิรูป ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว จะมีความพอใจในกฎระเบียบของสังคมอยู่แล้ว แต่ยังมีความรู้สึกว่าการปฏิรูปในเรื่องบางอย่างนั้น มีความจำเป็น เพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อบางเขตพื้นที่เป็นพิเศษ


 


ตัวอย่างที่ต้องมีการปฏิรูปก็คือ ด้านการศึกษา เศรษฐกิจและสังคมรวมไปถึงการเมือง และมุ่งแสวงหาความสำเร็จในผลประโยชน์ดังกล่าว ด้วยยุทธศาสตร์ความเคลื่อนไหวที่ไม่รุนแรง ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว จะดำเนินการเคลื่อนไหวในลักษณะร่วมกันภายในระบบคือ ผ่านทางกระบวนการขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศนั้นๆ


 


ส่วนกลุ่มคำสุดท้ายคือ "การลดความรุนแรงของชนกลุ่มน้อย" หมายถึงกระบวนการความเคลื่อนไหวที่รุนแรงได้เปลี่ยนตนเองเข้าสู่ความเคลื่อนไหวทางสายกลาง ทั้งธรรมชาติของการเรียกร้องและรูปแบบทางยุทธศาสตร์ของชนกลุ่มน้อย เป็นต้น


 


สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญ ที่เราควรพิจารณาไว้ในที่นี้ ก็คือ "เพราะเหตุใดความเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อย ได้เปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ของตน จากพฤติกรรมที่รุนแรงสู่พฤติกรรมทางสายกลาง" อย่าลืมว่าการยอมรับกฎระเบียบทางด้านการเมืองที่เป็นอยู่ การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปและรูปแบบยุทธศาสตร์ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ด้วยกระบวนการทางกฎหมายนั้น เป็นพฤติกรรมของการเคลื่อนไหวทางสายกลางของชนกลุ่มน้อย


 


ในการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหวในลักษณะที่ไม่รุนแรงนั้น มีคำตอบอยู่หลายแนวทาง ที่แสดงให้เห็นถึงคำแนะนำที่มีประโยชน์ต่อคำถามที่ว่า เพราะเหตุใดความเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อย ได้เปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ของตนจากพฤติกรรมที่รุนแรงสู่พฤติกรรมทางสายกลาง (Huntington 1991)


 


ในบทความบทนี้ เราเน้นประเด็นไปที่ตัวปัจจัยหลักๆ อยู่สามตัวคือ ปัจจัยแรก ความเป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ปัจจัยที่สอง สถานภาพการกินดีอยู่ดีของประชาชนอย่างพอเพียง และปัจจัยที่สามคือ การอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลายอย่างมีความสุข ปัญหาที่ตามมาจึงอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดปัจจัยทั้งสามอย่างนี้ เกิดขึ้นในสังคมของเรา ???


 


จากความเห็นของนักปราชญ์ด้านรัฐศาสตร์ท่านหนึ่งที่ชื่อ Anthony D. Smith ท่านได้กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อยในตำรา ที่ชื่อ "ethnic revival" (ความแปรผันของชนกลุ่มน้อย) ดังใจความว่า "where the general trend has been to move away from the isolationist and accommodationist strategies to those of communalism, autonomism, separatism and irredentism" (Smith 1981:16)


 


ความหมายของท่านก็คือ ความเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อยนั้น จะมาจากจุดเริ่มต้นที่เกิดจากความเป็นทาส ซึ่งจะถือเป็นระดับที่หนึ่ง ตรงกับคำว่า "isolationist"


 


แล้วจะเคลื่อนยุทธศาสตร์ของตน สู่การอพยพเข้าไปในเขตที่มีเผ่าพันธุ์เดียวกัน หรือในถิ่นที่เป็นของพวกเดียวกันคือ พวกที่มีภาษาเดียวกัน มีวัฒนธรรมเดียวกัน มีขนบธรรมเนียมประเพณีเดียวกัน และมีประวัติศาสตร์ที่เหมือนกัน จะถือเป็นระดับที่สองตรงกับคำว่า "accomodationist"


 


แล้วก็จะเข้าสู่การเข้าร่วมการพัฒนาสังคม ร่วมกันกับชนกลุ่มใหญ่ โดยตั้งตนเป็นกลุ่มผลประโยชน์ องค์กรปกป้องสิทธิด้านต่างๆ กลุ่มการเมืองและพรรคการเมือง เพื่อให้เกิดศักยภาพด้านต่อรองเพื่อที่จะต่อรองผลประโยชน์แก่กลุ่มของตน ซึ่งจะถือเป็นระดับที่สาม ตรงกับคำว่า "communalism"


 


และหลังจากที่ตนเองมีความสามารถเท่าเทียมกันแล้ว ก็จะมีการเรียกร้องเพื่อขออำนาจการบริหาร การจัดการทางการเมืองด้วยตนเองบางส่วน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสู่ถิ่นของตน ซึ่งจะถือเป็นระดับที่สี่ ตรงกับคำว่า "autonomism"


 


แล้วก็จะมีความเคลื่อนไหวเพื่อแยกเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นระดับที่ห้าหรือ "separatism"


 


และแล้วก็จะรวมเผ่าพันธุ์ของตนที่อยู่กระจัดกระจายเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศอื่นๆ ให้กลับเข้ามาสร้างเป็นประเทศที่มีอาณาเขตที่ใหญ่กว่าขึ้น และที่มีอำนาจมากขึ้น ซึ่งถือเป็นระดับที่หก "irredentism"


 


สรุปแล้วความเชื่อของ Anthony D. Smith ก็คือ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของชนกลุ่มน้อยจะดำเนินไปจากความรุนแรงที่น้อยกว่า สู่ความรุนแรงที่มากกว่านั้นเอง


 


อย่างไรก็ตาม Samuel P. Huntington มีข้อเสนออีกทางหนึ่งที่เป็นความเห็นตรงกันข้ามกับ Anthony D. Smith ในตำราที่ชื่อ "Third Wave" (คลื่นที่สาม) คือ changes in the policies of external actors, global economic growth, and the transformation of culture from defenders of the status quo to opponents of authoritarianism have contributed to the occurrences of transitions to moderation (Huntington 1991)


 


ความหมายของท่านก็คือ ความเปลี่ยนแปลงในนโยบายจากชนกลุ่มใหญ่ ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจ การเติบโตของเศรษฐกิจโลกและการถ่ายเท หรือความเข้าใจในวัฒนธรรมที่หลากหลายในสังคมซึ่งกันและกันดังกล่าวนั้น จะเป็นตัวปัจจัยหลักที่อาจก่อให้เกิดยุทธศาสตร์เปลี่ยนแปลงสู่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่รุนแรงของชนกลุ่มน้อยเกิดขึ้นได้


 


ในการศึกษากรณีของคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนใต้นั้น "State Preference" (รัฐนิยม) ซึ่งเป็นลัทธิชาตินิยมที่รุนแรง และเป็นที่แพร่หลายในหมู่คนไทยในช่วงปี พ.ศ. 2475 ถึง พ.ศ. 2522 ซึ่งตรงกับสมัยของท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจรนั้น เป็นกลุ่มชาตินิยมที่ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า the strong nationalists หรือกลุ่มชาตินิยมที่รุนแรงนั้นเอง


 


จากเหตุการณ์ที่มีกลุ่มชาตินิยมในอดีตนั้น เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าเป็นเหตุการณ์ที่นำสู่ระดับของความไม่พอใจของคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูที่มีต่อการเมืองไทยและกฎระเบียบของไทยอยู่ในขณะนั้นในระดับที่สูงจนก่อให้เกิดพฤติกรรมความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่รุนแรง


 


โดยธรรมชาตินั้น ยุทธศาสตร์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูจะไม่รุนแรง แต่กลับกลายเป็นความรุนแรง เมื่อโครงสร้างซึ่งเป็นฐานของอำนาจของพวกเขาถูกทำลายลง และกิจกรรมด้านการศาสนาก็ถูกรบกวน


 


นโยบายที่เรียกว่า "รัฐนิยม" นั้น มุ่งกลืนชาติมลายูของพวกเขา ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ให้กลับกลายไปเป็นคนไทยที่เหมือนกับคนไทยโดยทั่วไป ที่มีอยู่ในภูมิภาคอื่นของประเทศโดยสมบูรณ์ มีผู้นำการเคลื่อนไหวทั้งทางด้านการเมืองและทางด้านศาสนาหลายท่าน ถูกจำคุกและถูกฆ่าตายโดยไม่ทราบสาเหตุ และก็ไม่ทราบว่าเป็นฝีมือของคนร้ายกลุ่มไหน พวกเขาถูกขู่เข็ญจากเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น ความเป็นอยู่ของชาวบ้านเป็นไปอย่างแร้นแค้น ความเข้าใจกัน ระหว่างคนไทยพุทธกับคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูเป็นไปอย่างหวาดระแวง


 


ในช่วงนั้นเกิดขบวนการต่างๆ ที่มีลักษณะที่รุนแรงคือ BNPP (มีฐานอยู่ที่จังหวัดปัตตานี) BRN (มีฐานอยู่ที่จังหวัดสงขลา) และ PULO (มีฐานอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส) มีการเคลื่อนไหวที่จะปลดแอกสี่จังหวัดชายแดนใต้คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูลรวมกับบางอำเภอของจังหวัดสงขลาไปเป็นรัฐปัตตานีที่เป็นเอกราชที่แยกออกจากประเทศไทย


 


โต๊ะครูหะญีสุหลง ก็เป็นท่านหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้นำ BNPP ซึ่งถูกอุ้มและหายตัวไป ทราบภายหลังว่า ศพของท่านนั้นถูกถ่วงน้ำในทะเลสาบสงขลา ส่วนหะญีอามีน โต๊ะมีนา ซึ่งเป็นลูกชายของโต๊ะครูหะญีสุหลงนั้น ถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้า BRN และถูกจำคุกก่อนที่จะอพยพลี้ภัยทางการเมืองไปใช้ชีวิตอยู่ที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย (ปัจจุบันนี้ท่านได้เสียชีวิตแล้ว และศพของท่านถูกนำกลับมาฝังที่อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี)


 


จากการอภิปรายข้างต้นนั้น เราพอจะหาสาเหตุที่เป็นต้นตอของการเกิดความรุนแรงในช่วงปี พ.ศ. 2475 ถึง พ.ศ.2522 ได้เป็นอย่างดีว่า เกิดจากการปฏิบัติตัวของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่นอกแถว หรือไม่ก็เป็นนโยบายฟันต่อฟันที่ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า "the Thai coercive tactics" (พฤติกรรมการขู่เข็ญของคนไทย) นั้นเอง พวกเขา (คนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู) จึงเริ่มการต่อสู้ด้วยอาวุธเพื่อปลดปล่อยรัฐปัตตานี


 


พฤติกรรมเหล่านี้ เป็นพฤติกรรมที่เราเรียกว่า "ความเคลื่อนไหวที่รุนแรงของชนกลุ่มน้อย" เหมือนกับความเห็นของ Bowen and Louis (1968:22 - 24) เคยกล่าวไว้ว่า "คนเราจะผูกพันธุ์อยู่กับความเคลื่อนไหวที่รุนแรงนั้น ต้องด้วยสาเหตุที่มาจากการแบ่งปันค่านิยมที่ไม่เป็นธรรมในสังคม…"


 


ซึ่งจะต่างไปจากระหว่างปี พ.ศ.2523 ถึง พ.ศ.2531 ซึ่งเป็นช่วงที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้รับเชิญให้ไปเป็นนายกรัฐมนตรี และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้เป็นที่ปรึกษาของท่าน ซึ่งในสมัยของท่านนั้น พฤติกรรมความเคลื่อนไหวที่รุนแรงได้ลดลง นโยบายต่างๆ อย่างเช่น นโยบาย 66/23 นโยบายใต้ร่มเย็น และการก่อตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จังหวัดยะลา ได้มีการประกาศออกมาอย่างชัดเจน เพื่อแก้ปัญหาความไม่สมดุลทางการเมือง ซึ่งมีหลายพรรคการเมืองเกิดขึ้นในสมัยของท่าน มีโอกาสแสดงบทบาทของตนอย่างมีอิสระในระบบการเมืองของไทย


 


สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ในปี พ.ศ. 2529 มีกลุ่มการเมืองของคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูก่อตั้งตัวเองขึ้นมาโดยมีชื่อว่า "กลุ่ม Al-Wahdah (เอกภาพ)" เพื่อเรียกร้องให้มีการปรับปรุงกฎหมายของบ้านเมืองที่มีต่อคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู โดยเรียกร้องให้มีการพัฒนาสังคมของคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ปรับปรุงสถานภาพทางเศรษฐกิจของคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู และปรับปรุงสถานภาพทางการศึกษาของคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู


 


ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 เป็นต้นมา ความร่วมมือของ Al-Wahdah กับพรรคการเมืองความหวังใหม่ที่นำโดยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ จึงส่งผลประโยชน์แก่คนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูอย่างเห็นได้ชัด


 


ผู้นำที่เป็นคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และประธานรัฐสภา ตลอดจนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พฤติกรรมใจกว้างของรัฐบาลที่ให้ตำแหน่งต่างๆ ในคณะรัฐมนตรีเหล่านี้ เหมือนกับสภาวการณ์ที่ท่าน Huntington เคยสังเกตไว้ใน "Third Wave" (คลื่นที่สาม) ของท่านคือ การเปลี่ยนแปลงในนโยบายของชนกลุ่มใหญ่ ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจในประเทศ ลดความแข็งกร้าวลงมาเพื่อให้เกิดความเสมอภาคนั้น จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเหมือนคลื่นที่สามคือ จากความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่รุนแรงสู่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่รุนแรงนั้นเอง


 


คนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูมีความพอใจ ในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จากระบบการเมืองของไทยในระดับหนึ่ง จากการศึกษาในครั้งนั้นพบว่า ผู้นำของคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูมากกว่าร้อยละเก้าสิบยอมรับว่า ความเป็นระบบในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงของไทยนั้น มีส่วนทำให้การเปลี่ยนแปลงรูปแบบยุทธศาสตร์ของชนกลุ่มน้อย จากความเคลื่อนไหวที่รุนแรงสู่ความเคลื่อนไหวที่ไม่รุนแรง


 


ดังนั้นผู้เขียนจึงคิดว่า ความเป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงของไทยเป็นปัจจัยตัวหลักที่ส่งผลทำให้คนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู เปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ของตน สู่ความเคลื่อนไหวที่ไม่รุนแรง


 


การปรับปรุงสถานภาพด้านเศรษฐกิจและโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ก็เป็นปัจจัยอีกตัวหนึ่งที่มีส่วนทำให้ความเคลื่อนไหวด้านการเมืองที่ไม่รุนแรงเกิดขึ้น การที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าไปเยี่ยมเยียนคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในพื้นที่ และทรงนำโครงการพระราชดำริลงไปในหลายพื้นที่นั้น นับว่าส่งผลประโยชน์อย่างใหญ่หลวงสู่คนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู


 


นอกจากนี้ ก็มีโครงการความหวังใหม่และโครงการทางการเกษตร ซึ่งมีคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูเข้าร่วมโครงการอยู่ด้วย และต่อมา ได้เกิดบริษัทต่างๆ ที่คนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูเป็นเจ้าของ นับว่าเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการปรับปรุงสถานภาพด้านเศรษฐกิจของคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูอย่างแท้จริง และมีส่วนทำให้ความเคลื่อนไหวจากสภาพที่รุนแรงกลับสู่สภาพที่ไม่รุนแรง เพราะผู้นำที่เป็นคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูทั้งหมด จากการสัมภาษณ์ ยอมรับว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูดีขึ้นกว่าเมื่อ 20 - 30 ปี ที่แล้ว


 


การศึกษาของเราพบว่า มีผู้นำร้อยละหกสิบยอมรับว่า ปัจจัยด้านเศรษฐกิจก็มีส่วนสำคัญที่ส่งผลทำให้คนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูมีสถานภาพทางการเมืองดีขึ้น และยังมีหลักฐานบางอย่างที่แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ของความเคลื่อนไหวที่ไม่รุนแรงของผู้นำที่เป็นคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูนั้น มาจากเศรษฐกิจที่ดี


 


ฉะนั้น เราจึงสรุปได้ว่า ปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ดีจึงเป็นตัวแปรอีกตัวหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อผู้นำของคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่รุนแรง ซึ่งตรงกับความคิดของ Huntington ที่โต้แย้งในคลื่นที่สามของท่านว่า ปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างเช่น การเติบโตของเศรษฐกิจโลกนั้น ได้มีส่วนทำให้การเปลี่ยนแปลงจากความเคลื่อนไหวที่รุนแรงมาสู่ความเคลื่อนไหวที่ไม่รุนแรง


 


ความใจกว้างของรัฐบาลที่มีต่อคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูที่เพิ่มขึ้นนั้น ถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง ที่มีส่วนทำให้ความเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่รุนแรง อย่างเช่น นโยบายใต้ร่มเย็น ที่ประกาศใช้ในยุคของท่านพลเอกหาญ ลีนานนท์นั้น ถูกออกแบบเป็นพิเศษเพื่อแก้ปัญหาความไม่เข้าใจกัน ระหว่างข้าราชการที่ส่วนใหญ่เป็นคนไทยพุทธกับสามัญชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในท้องถิ่น


 


เพราะข้อที่ 4 ของนโยบายใต้ร่มเย็นนั้น กล่าวว่า "สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างข้าราชการกับประชาชนทั่วไป และกำจัดการเลือกปฏิบัติระหว่างกันอย่างสิ้นเชิง" ดังนั้นข้าราชการที่กระทำการขู่เข็ญต่อคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในท้องถิ่น จึงถูกโยกย้ายออกจากพื้นที่ และคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ก็มีโอกาสเข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้งในท้องถิ่น กฎระเบียบต่างๆ ของรัฐที่เข้มงวด ก็จะถูกปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในท้องถิ่น


 


ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยพุทธกับคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ก็เกิดขึ้นอย่างแน่นแฟ้นอีกครั้ง จากการสำรวจพบว่า ร้อยละร้อยของผู้นำชุมชนมุสลิมยอมรับว่า พวกเขาอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างมีความสงบสุขในสังคมท้องถิ่นที่อยู่ด้วยความหลากหลาย และมีร้อยละห้าสิบสามเชื่อว่าปัจจัยการอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลายอย่างมีความสุขนั้น เป็นตัวพลังที่ขับเคลื่อนทำให้คนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูเปลี่ยนยุทธศาสตร์สู่ความเคลื่อนไหวที่ไม่รุนแรง


 


ฉะนั้น ปัจจัยตัวที่สามซึ่งเป็นปัจจัยตัวสุดท้ายของบทความนี้จะสอดคล้องกับ"Third Wave" ของHuntington ที่ว่า การถ่ายเทหรือความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในคลื่นที่สาม จากความเคลื่อนไหวที่รุนแรงสู่ความเคลื่อนไหวที่ไม่รุนแรง


 


สรุปแล้วในบทความบทนี้ได้เสนอปัจจัยหลักๆ อยู่สามปัจจัยคือความเป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สถานภาพการกินดีอยู่ดีของประชาชนอย่างพอเพียง และการอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลายอย่างมีความสุข เป็นปัจจัยที่มีความเป็นไปได้สูงที่อาจเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองจากความรุนแรงสู่ทางเดินสายกลาง


 


ตามความเห็นของผู้เขียนบทความบทนี้ เชื่อว่า หากจะมีการเรียงลำดับก่อนหน้าหลังแล้ว ก็ขอจัดลำดับความสำคัญมากที่สุดสู่ความสำคัญน้อยที่สุดดังต่อไปนี้คือ อันดับที่หนึ่งเป็นปัจจัย "ความเป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง" อันดับที่สอง "สถานภาพการกินดีอยู่ดีของประชาชนอย่างพอเพียง" และความสำคัญอันดับสุดท้ายซึ่งเป็นอันดับที่สามนั้นก็คือ "การอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลายอย่างมีความสุข"


 


อย่างไรก็ตาม บทความบทนี้ก็ยังพบว่า ยังมีปัจจัยตัวอื่นๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู สู่ความไม่รุนแรงได้ อย่างเช่น การขยายกำลังด้วยอาวุธของรัฐบาลไทย ที่มีศักยภาพสูงเข้ามาในพื้นที่ ความยากลำบากของการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของฝ่ายขบวนการเอง และกำลังการสนับสนุนจากภายในและภายนอกประเทศ ที่มีต่อพวกขบวนการลดลง ก็มีส่วนทำให้ความเคลื่อนไหวทางการเมืองลดความรุนแรงลงได้เหมือนกัน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า แนวทางสายกลางที่เกิดจากแรงกดดันจากเจ้าหน้าที่นั้น จะอยู่ได้นานแค่ไหนเท่านั้นเอง


 


ความสำคัญที่จะเน้นให้เห็นในบทความฉบับนี้ก็คือ ให้เลือกเอาระหว่างปัจจัยชนิดที่เป็น "pushed" (ผลักดันเขาให้ออกไปอย่างเช่นการปราบปรามอย่างรุนแรง) กับปัจจัยชนิดที่เป็น "pulled" (ดึงเขาให้เข้ามาร่วมแก้ปัญหา อย่างเช่นความเป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สถานภาพการกินดีอยู่ดีของประชาชนอย่างพอเพียง และการอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลายอย่างมีความสุข) ชนิดไหนจะดีกว่ากัน


หากจะย้อนกลับไปมองดูการปราบปรามในอดีตแล้ว ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2523 แทบทั้งสิ้น และลดลงมากในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2529 ถึงช่วงก่อนที่สมัยท่านนายกทักษิณ ชินวัตร จะเข้ามาบริหารประเทศในเทอมที่สอง ถ้าหากเราตั้งสติให้ดีและใคร่ครวญคิดถึงปัญหาที่คุกกรุ่นอยู่ในปัจจุบันนี้อย่างตรงไปตรงมาแล้ว เราจะหาทางแก้ปัญหาเหล่านี้ได้โดยไม่ลำบากเลย


 


บทความบทนี้มีความหวัง และมีความเชื่อว่า ผู้นำหัวเสรีนิยมทั้งสองฝ่าย คือ จากฝ่ายรัฐซึ่งเป็นคนไทยพุทธ และฝ่ายประชาชน ซึ่งเป็นคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู มาจับมือร่วมกันหาสาเหตุที่แท้จริงของปัจจัยที่เป็นปัญหาอย่างตรงไปตรงมา แล้วจะพบว่า เราสามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ ภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศนี้ รวมทั้งการให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดของประเทศไทย ด้วยเพราะประชาชนของประเทศไทย ถือเป็นพลเมืองชั้นหนึ่งในทุกจังหวัด ไม่ได้เป็นพลเมืองชั้นหนึ่งเฉพาะกรุงเทพมหานคร หรือเมืองพัทยาเท่านั้น !!!…….??? 
 


00000


บรรณานุกรม 


Abdul Kadir, Dr. Mohammad. 1987. Education and Development in the South. Bangkok: Aksorn Bandit. 


 


Al-Wahdah News. 1993. Cooperative of Islamic Banking System. Bangkok : Natcha Publishing. 


 


A. Malek, Mohd Zamberi. 1993. History and Politics of Patani Muslims. Kuala Lumpur: Hizbi Reprografik. 


 


Anuraksa, Panomporn. 1984. Political Integration Policy in Thailand: The Case of the Malay Muslim Minority. Ph.D dissertation, the University of Texas


 


Bangkok Post. 2004. Bloodshed, Mayhem in South. 27 October: 1. 


 


Che Man, W.K. 1990. Muslim Separatism: The Moros of Southern Philippines and the Malays of Southern Thailand. Singapore : Oxford University Press. 


 


Dhiravegin, Likhit. 1992. Demi Democracy. Singapore: Times Academic Press. 


 


Haji Sulong, Amin Tohmeena (ed.). 1958. The Gleaming Cluster of Security. Pattani : Saudara Press. 


 


Huntington, Samuel P. 1991. The Third Wave : Democratization in the late twentieth century. Norman : University of Oklahoma Press. 


 


Smith, Anthony d. Smith. 1981. The Ethnic Revival. Cambridge: Cambridge University Press. 


Nik Mahmood, Nik Anwar. 1999. History of Patani Malay Movements, 1785-1954. Bangi : Penerbit Universiti Kebangsaan Malaysia


 


Pitsuwan, Surin. 1989. Islam and Malay Nationalism : A Case Study of the Malay-Muslims of Southern Thailand. Thammasat University : Thai Khadi Research Institute.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net