Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 28 มี.ค. 2550 เมื่อวันที่ 27 มี.ค. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) คณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และAmnesty International Thailand ได้ออกข้อเสนอต่อการแก้ปัญหาการคุกคามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และปัญหาภาคใต้


 


โดยระบุว่า จากกรณีเหตุคนร้ายลอบยิงนายสอด สุดนาค อายุ 58 ปี แกนนำนักอนุรักษ์ธรรมชาติชื่อดัง อ.พนม จ. สุราษฎร์ธานี บาดเจ็บสาหัสกลางดึกเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมานั้น


 


ความคืบหน้าเหตุดังกล่าว พ.ต.อ.สำราญ มาเจริญ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร อ.พนม ได้เรียกพนักงานสืบสวนและชุดสายตรวจประชุมเพื่อเร่งติดตามคนร้าย แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด โดยล่าสุด นายสอด สุดนาค ได้รับการผ่าตัดจนพ้นขีดอันตรายแล้ว


 


เครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนดังกล่าว ระบุว่า เหตุสำคัญของการลอบสังหารนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนครั้งนี้ มาจากสาเหตุการเป็นแกนนำชาวบ้านในการเคลื่อนไหวตรวจสอบการถือครองที่ดินของนายทุนสวนปาล์มใน จ.กระบี่ และ จ.สุราษฎร์ธานี รวมถึงยังเป็นแกนนำเครือข่ายปฏิรูปที่ดินซึ่งเรียกร้องให้ตรวจสอบสัญญาเช่าของบริษัทนายทุนที่ฮั้วกับนักการเมืองบุกรุกป่านับหมื่ื่นไร่ และทำสวนปาล์มอย่างผิดกฏหมายทั้งๆ ที่หมดสัญญาเช่า นอกจากนั้นยังเป็นแกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อ.พนม มีบทบาทในการคัดขวางขบวนการตัดไม้ในพื้นที่อีกหลายครั้งจากกลุ่มนายทุนและนักการเมือง


 


จากกรณีต่างๆ ที่สั่งสมและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงจากความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองในขณะนี้ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) และคณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน มีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้


 


หนึ่ง เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งตรวจสอบการบุกรุกป่าเพื่อทำสวนปาล์ม สัญญาเช่าที่หมดอายุของบริษัทนายทุนเอกชนจำนวนมากในพื้นที่ รวมถึงขบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าที่ขัดแย้งกับการอนุรักษ์ธรรมชาติของชาวบ้านที่เป็นสาเหตุสำคัญในการคุกคามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก


 


ทั้งนี้ที่ผ่านมานั้น มีการลอบสังหารจนนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในภาคใต้เสียชีวิตไปกว่า 10 ศพแล้ว โดยเฉพาะในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายสอด สุดนาค เกือบเป็นรายที่ 3 ในรอบไม่กี่ปีนี้ เราจึงขอเรียกร้องไปยัง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ท้าทายความรับผิดชอบว่า จะขจัดปัญหาผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานีได้หรือไม่ และขอให้เร่งติดตามจับกุมคนร้ายรวมถึงผู้สั่งการมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมโดยเร็วที่สุด เพราะขณะนี้ในพื้นที่ยังมีการข่มขู่คุกคามด้วยรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง


 


สอง เรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมเร่งคลี่คลายปัญหาการคุกคามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะเร่งให้ความเป็นธรรมและคลี่คลายคดีที่สำคัญในอดีตที่ยังปล่อยเกียร์ว่างอยู่ เช่น คดีการลอบสังหารพระสุพจน์ สุวโจ จ.เชียงใหม่ นายสมชาย นีละไพจิตร กรุงเทพฯ และนายเจริญ วัดอักษร จ.ประจวบคีรีขันธุ์ และกรณีอื่นๆ อีกหลายกรณี เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางกระบวนการยุติธรรม ก่อนจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้


 


สาม กรณีปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรใช้วิธีเดียวกัน คือ การสร้างมาตรการเฝ้าระวัง ดูแลความปลอดภัย และลดอุณหภูมิของจุดปะทุความขัดแย้ง โดยคลี่คลายความขัดแย้งด้วยสันติวิธี เน้นกระบวนการยุติธรรม การมีส่วนร่วมของชุมชน และสิทธิการปกครองตนเองส่วนท้องถิ่น มากกว่าการเพิ่มความขัดแย้ง ขยายพื้นที่ความรุนแรงโดยแจกอาวุธแก่ชาวบ้านให้ปกป้องตนเอง ซึ่งจะทำให้ภาคใต้เข้าสู่สงครามการเมืองเร็วขึ้น


 


และสถานการณ์ความรุนแรงดังเช่นที่เกิดกับผู้บริสุทธิ์หรือนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศจะซ้ำรอยและรุนแรงยิ่งขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุร้ายรายวันอาจไม่มีวันจบสิ้น ตราบใดที่รัฐบาลไม่จำกัดเขตความรุนแรง เช่น การจำกัดการถือครองอาวุธ หรือการริบอาวุธทุกชนิดที่ค้นพบ


 

การพกพาอาวุธควรอนุญาตเฉพาะเจ้าหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยเท่านั้น การดึงแนวร่วมประชาชนเข้าสู่การมีส่วนร่วมทางการเมืองแทนการทหาร การกระจายอำนาจ การใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเข็มทิศ การปราบปรามผู้มีอิทธิพลเถื่อน ยาเสพติดและขบวนการใต้ดิน รวมถึงการเจรจาสันติภาพกับขบวนการทุกกลุ่มด้วยเงื่อนไขการเมืองแม้ว่าจะเป็นขบวนการใดๆ หรือเป็นตัวจริงหรือไม่ก็ตาม เพื่อจำกัดการขยายตัวทางอิทธิพล เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net