คมช. เตรียมเสนอ "ร่างกฎหมายคุมการชุมนุม" คาดเสร็จไม่เกินศุกร์นี้

วันนี้ (27 มี.ค.) พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แถลงภายหลังการประชุม คมช. ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช.เป็นประธาน และมีสมาชิก คมช.เข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียง ขาดเพียง พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข รองประธาน คมช. และ พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ สมาชิก คมช. ซึ่งติดราชการในต่างประเทศ ว่า พล.ต.ท.อดิศร นนทรีย์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และคณะมาร่วมชี้แจงการปฏิบัติงานของตำรวจต่อการชุมนุมที่สนามหลวงในสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมเสนอแนะแนวทางการรักษาความสงบในเขตพื้นที่ กทม. และการดำเนินการกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่จะมีขึ้นในโอกาสต่อๆ ไป
       
พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ตำรวจชี้แจงว่ากฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ ดำเนินการต่อกลุ่มผู้ชุมนุมขณะนี้มีเพียง 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.จราจร, พ.ร.บ.รักษาความสะอาด และ พ.ร.บ.การก่อสร้างในพื้นที่สาธารณะ ที่ไม่ค่อยมีความเข้มข้นเท่าใดนัก และว่าประเทศไทยยังไม่มี พ.ร.บ.เกี่ยวกับการควบคุมการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ ขณะที่หลายประเทศมีกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ ตำรวจจึงให้ข้อเสนอแนะว่าควรจะหาแนวทางนำกฎหมายที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
       
"คมช.มีความห่วงใยในสถานการณ์การชุมนุม ว่าอาจส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และส่งผลกระทบต่อการลงประชามติ และกรอบเวลาในการเลือกตั้ง ที่ คมช.ยืนยันมาตลอดว่าพร้อมจะให้มีการเลือกตั้งภายในสิ้นปีนี้ จึงได้รับข้อเสนอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และขอเวลาพิจารณาภายใน 1-2 วันนี้ อย่างช้าไม่น่าจะเกินวันพฤหัสบดี หรือวันศุกร์นี้ ซึ่งมาตรการที่ว่า คงไม่ถึงขั้นประกาศกฎอัยการศึก หรือภาวะฉุกเฉินอย่างแน่นอน เพราะ คมช.คำนึงถึงวิถีชีวิตของประชาชน สิทธิเสรีภาพของผู้ที่มีเจตนาบริสุทธิ์ ในเรื่องประชาธิปไตย และภาพลักษณ์โดยรวมของประเทศไทยอยู่แล้ว" พ.อ.สรรเสริญ กล่าว
       
ผู้สื่อข่าวถามว่า คมช.จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณา เสนอกฎหมายสำหรับการควบคุมการชุมนุมโดยเฉพาะ ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติใช่หรือไม่ พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า คมช.รับข้อเสนอจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีความเหมาะสมก็มีความเป็นไปได้ที่จะเสนอต่อสภานิติบัญญัติต่อไป อย่างไรก็ตาม คมช.เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวมีความจำเป็น เพราะในการชุมนุมมักจะมีการพูดจาหมิ่นเหม่ เหยียดหยาม เสียดสี จาบจ้วงต่อบุคคลต่างๆ
       
 "บุคคลที่ถูกพูดถึงเป็นตัวแทนของคุณธรรมที่คนโดยทั่วไปให้การยอมรับ ซึ่งก็ใช้ความอดทน ไม่อยากเป็นคดีความ เพราะการบังคับใช้กฎหมาย ผู้ที่เสียหายจะต้องไปร้องต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งไม่ประสงค์จะทำอย่างนั้น เพราะจะเป็นชนวนความแตกแยกขึ้น จึงเป็นช่องโหว่หนึ่ง แต่ถ้ามี พ.ร.บ.นี้ขึ้นมาจะทำให้การชุมนุมเป็นไปไปตามกรอบที่ชัดเจนมากขึ้น" พ.อ.สรรเสริญ กล่าว
       
พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า กลุ่มที่มาชุมนุมมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ 1.เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจริง 2.กลุ่มที่มีจุดยืนชัดเจนในการเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งคงไม่ต้องทำอะไร เพราะเมื่อวันเวลาผ่านไป รัฐธรรมนูญมีความชัดเจน มีเนื้อหาสาระที่ทุกคนยอมรับได้ กำหนดวันเลือกตั้งชัดเจนก่อนสิ้นปี กลุ่มนี้จะค่อยๆ ลดน้อยลงไป แต่กลุ่มที่ 3 ซึ่งมีนัยทางการเมืองแฝงเข้ามา ทุกคนสามารถแปรเจตนาได้ โดยเฉพาะกลุ่มพีทีวีที่ลาออกจากพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำรัฐบาลที่ผ่านมาแต่เพิ่งลาออก จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะแปลเจตนาว่าทำเพื่ออะไร
       
 "แต่คงไม่สามารถดำเนินการกับกลุ่มดังกล่าวตามอำนาจของคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 15 และ 27 ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เพราะได้ลาออกจากพรรคการเมืองแล้ว แม้ว่าจะมีกลุ่มการเมืองที่ยังไม่ได้ลาออก แอบแฝงเข้ามาด้วย แต่เราไม่พยายามที่จะทำให้เกิดปัญหาขึ้น เพราะเราทราบดีถึงเจตนาที่แต่ละฝ่ายพยายามยั่วยุให้เกิดความรุนแรงขึ้น" พ.อ.สรรเสริญ กล่าว
       
อย่างไรก็ตาม พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า คมช.มองข้อดีของการชุมนุมว่าจะได้เปิดเผยตัวตนไปเลย เพราะจะเห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่เคยพูดเรื่องการใช้อำนาจที่เกินขอบเขต หรือเรื่องการทุจริตของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในอดีตเลย ตรงนี้ประชาชนจะใช้วิจารณญาณได้ง่ายขึ้นว่าใครมีแนวคิดอย่างไร ระหว่างคนที่เชื่อมั่นเชื่อถือในอดีตนายกรัฐมนตรี กับกลุ่มที่ไม่ยอมให้ผู้ทุจริตมาลอยนวล ประชาชนจะตกลงใจได้ง่ายขึ้น ทำให้มีความชัดเจนเรียกว่าไม่มี "อีแอบ" ทางการเมืองต่อไป
       
"คมช.ยังมั่นใจว่าประชาชนมีวิจารณญาณพิจารณาเรื่องดังกล่าว แต่ขณะเดียวกันก็คิดถึงปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น การชุมนุม และมีการชี้แจงให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้คนฟังรู้สึกคล้อยตามไปได้ ส่วนเรื่องการส่งท่อน้ำเลี้ยงหรือสนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ชุมนุม มีการติดตามความเคลื่อนไหวอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตรวจสอบ" พ.อ.สรรเสริญ กล่าว
       
ส่วนกรณีที่กลุ่มมัชฌิมาขออนุญาต คมช.ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ประธาน คมช.ได้หารือกับแกนนำกลุ่มดังกล่าวแล้ว เนื่องจาก คมช.เป็นห่วงเรื่องผลกระทบที่จะตามมาในลักษณะการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน ในภาวะเช่นนี้เราต้องการให้สถานการณ์สงบเรียบร้อย โดยเฉพาะเรื่องการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ การลงพื้นที่อาจส่งผลกระทบได้ จึงได้ขอความร่วมมือว่าอย่าเพิ่งดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งแกนนำกลุ่มมัชฌิมาเองก็เข้าใจ

 

000000

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท