บทความ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : ความสมานฉันท์ในการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อ กรณีวิจารณ์ "ป๋า"

ชื่อบทความเดิม

With Words that Appear like Bats : ความสมานฉันท์ในการเซ็นเซ่อร์ตัวเองของสื่อมวลชนในกรณีข่าวการวิพากษ์วิจารณ์ป๋า

 

 

ในความรู้ความเข้าใจของคนทั่วไปนั้น เมื่อพูดถึงการเซ็นเซอร์สื่อมวลชน (media censorship) เรามักจะคิดว่าสื่อมวลชนนั้นเป็นผู้ถูกกระทำด้วยอำนาจภายนอก หรือ และสถาบันที่มีอำนาจ ที่ไม่ใช่สื่อมวลชนเอง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือกลุ่มนายทุนขนาดใหญ่ที่มีเงินและอำนาจในการจัดการสื่อ

 

สิ่งที่เรามักไม่พูดถึงกันก็คือการเซ็นเซอร์ตัวเอง (self-censorship) ของบรรดาสื่อมวลชนเอง ซึ่งหมายถึงการปิดกั้นความจริงบางอย่างภายใต้กระบวนการ "ปรุงแต่งความจริง" ที่หมายถึงการ "ผลิต" และ "นำเสนอข่าว" ของสื่อมวลชนเอง โดยมิได้ถูกคำสั่งในการปิดกั้นจากอำนาจภายนอกสื่อมวลชน หรือสถาบันภายนอกของสื่อมวลชน

 

เราไม่ค่อยระวังสงสัยว่า ก่อนที่ข่าวจะถูก "นำเสนอ" นั้น ข่าวนั้นต้องถูก "ผลิต" และภายใต้กระบวนการผลิตข่าวก่อนที่จะถูกนำเสนอนั้น มันเป็นเรื่องของความเป็น "มืออาชีพ" ของสื่อเองในการที่จะผลิตข่าวหรือทำให้ความจริงบางอย่างมันถูกเล่าออกมาให้ในฐานะที่เป็นความจริง (ไม่ใช่ความเท็จ หรือความลวง) นั่นแหละครับ หรือหมายถึงการ "ปรุงแต่งความจริง" ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของการ "บิดเบือน" เพื่อสร้าง "ความเท็จ" หรือ "ความลวง" แต่อาจหมายถึงการเลือกมุมมองในการเสนอข่าวบางมุมมากกว่ามุมอื่นๆ (1)

 

กรณีศึกษาหนึ่งที่สะท้อนถึงกระบวนการปรุงแต่งความจริงภายใต้การเซ็นเซอร์ตัวเอง ก็คือการผลิตและนำเสนอข่าวการวิพากษ์วิจารณ์ความเกี่ยวพันของป๋ากับการรัฐประหาร 19-9-49 และระบอบการเมืองหลัง 19-9-49 ซึ่งสิ่งที่พบก็คือ "ความสมานฉันท์" ของบรรดาสื่อมวลชนในการเซ็นเซอร์ตัวเองในการผลิตและนำเสนอข่าวการวิพากษ์วิจารณ์ป๋าอย่างพร้อมเพรียง โดยไม่ต้องมีอำนาจภายนอกมาบังคับการปรุงแต่งข่าวดังกล่าว นอกเหนือไปจากอำนาจภายในของสื่อมวลชนเอง

 

งานนี้สื่อมวลชนทั้งหลายมีความสมานฉันท์กันอย่างชัดเจนที่จะไม่ "สืบค้น" ว่า ข้อกล่าวหาว่าป๋านั้น เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร  19-9-49  และระบอบการเมือง  19-9-49 แค่ไหน-อย่างไรแม้แต่น้อยนิด แต่กลับใช้ความเป็นมืออาชีพของตนเองในการ "สืบค้น" ว่า "ใครเป็นคนพูด"

 

ดังนั้นการปรุงแต่งความจริงในเรื่องของการผลิตและวิพากษ์วิจารณ์ป๋า จึงไปให้ความสำคัญกับ "เบื้องหลัง" การ "วิจารณ์ป๋า" และ "การโต้ตอบการวิจารณ์ป๋า" โดยไม่ได้สนใจเลยว่า การวิพากษ์วิจารณ์ป๋านั้น "มีมูลความจริงแค่ไหน" (คือเป็น "ความจริง" หรือ "มูล" กันแน่?)

 

พูดง่ายๆ ก็คือ ทำข่าวเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ป๋าให้เป็นประเด็น "ข่าวหมิ่นประมาท" และ "ข่าวม็อบ" แต่ไม่ได้ทำข่าวให้เป็นข่าว "การเมือง-การทหาร" ดังที่ในยุคหนึ่ง (ซึ่งก็คือยุคที่ป๋าเป็นนายกรัฐมนตรี) ข่าวการเมืองคือข่าวสายสัมพันธ์และการสืบทอดอำนาจในหมู่ผู้นำเหล่าทัพ

 

แต่ท่ามกลางการเซ็นเซอร์ตัวเองบรรดาสื่อมวชน "มืออาชีพ" ก็เห็นจะมีความหวังเล็กๆ กับหนังสือพิมพ์ "คุณภาพ" อย่างหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ที่ได้เคยนำเสนอถึงความจริงและทัศนะอีกชุดถึงความเกี่ยวพันของป๋ากับการรัฐประหาร  19-9-49 และการปกครองหลังรัฐประหารไว้อย่างน่ามหัศจรรย์

 

ตัวอย่างแรก : ในคอลัมน์ของ คำนูณ สิทธิสมาน บรรณาธิการอาวุโสของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายหลังการรัฐประหาร ที่ชื่อ "เปรม สุรยุทธ์ สนธิ 3 ศูนย์อำนาจการเมืองไทย จนกว่าจะถึงวันมี ผบ.ทบ.ใหม่!!" (5 มีนาคม 2550) คำนูณอธิบายว่า พลเอกเปรมนั้นเป็น "ศูนย์อำนาจ" ที่ไม่ได้มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และให้ทัศนะไว้ว่า "การเปลี่ยนแปลง 19 กันยายน 2549 ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าป๋าเปรมไม่ออกโรงมาเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ ผลลัพธ์ก็ไม่อาจจะเป็นอย่างที่เห็นที่เป็นอยู่" (2)  

 

หรือในข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ "Virabongsa turns down offer to replace Pridiyathorn" เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2550 ที่อ้างแหล่งข่าวว่า พลเอกเปรมเป็นผู้ทาบทามให้นายวีรพงษ์ รามางกูร เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยเป็นผู้โทรศัพท์ไปหานายวีรพงษ์ หลังจากที่ทั้งสองท่านไปร่วมรับประทานอาหารกลางวันที่ธนาคารกรุงเทพ เนื่องในวันครบรอบวันเกิดของนายชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการของธนาคาร (3)

 

สิ่งที่น่าจับตาดูก็คือ ในระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่หลายคนเชื่อว่า เราจะเข้าสู่ประชาธิปไตยเข้าสักวันหนึ่ง เรากำลังมีสื่อมวลชนที่สนใจ "ปรุงแต่ง" ความจริงมากกว่า "ค้นหา" ความจริง เข้าแล้วครับ

 

และที่น่าสนใจก็คือ ในสมัยทักษิณนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ทักษิณนั้นมักจะถูกจัดการโดยการฟ้องค่าเสียหายราคาแพง แต่อย่างน้อยก็ยังพอเห็นว่า สื่อพยายามที่จะค้นหาความจริงกันบ้าง ท่ามกลางการถูกแทรกแซงในหลายรูปแบบ

 

... แต่การวิพากษ์วิจารณ์ป๋านั้น นอกจากจะไม่นำไปสู่การค้นหาความจริงแล้ว ยังจะต้องถูกประนามจากบรรดาทหารว่าคนพวกนี้ไม่รักชาติบ้านเมืองเข้าไปอีก เพราะ "ความเป็นมืออาชีพ" ของสื่อมวลชนในการ "ปรุงแต่งความจริง" นี่แหละครับผม ...

 

 

เชิงอรรถขยายความ :

1. รวมไปถึงสิ่งที่นักภาษาศาสตร์กลุ่มหนึ่งอธิบายว่า Truths need to be framed appropriately to be seen as truths.  ดู Lakoff, George. 2006. Thinking points. New York: Farrar, Straus and Giroux. หน้า 10

2. http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9500000026039

3. "Gen Prem reportedly telephoned Mr Virabongsa yesterday after the two attended a lunch at the Bangkok Bank to celebrate the birthday of Chatri Sophonpanich, the bank chairman. The source said Mr Virabongsa, reputed to be a favourite "son" of Gen Prem, turned down the request."

 

 

(ปรับปรุงจากบทความที่ตีพิมพ์ครั้งแรกใน หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันพุธที่ 28 มีนาคม 2540 หน้า 4 เพื่อออนไลน์ครั้งแรกใน www.onopen.com)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท