Skip to main content
sharethis

ร่างแรกรัฐธรรมนูญ ปี 2550 (2)


 


ร่างแรกรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณารายมาตราตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม รายละเอียดมีดังนี้ ...


 


 


ส่วนที่ 8 สิทธิเสรีภาพในการศึกษา


มาตรา 47 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย


 


ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพหรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น


 


การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพ เอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชนการเรียนรู้ด้วยตัวเองและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครองและการส่งเสริมจากรัฐ


 


มาตรา 48 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ


 


การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัย ตามหลักวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน


 


ส่วนที่ 9 สิทธิในการได้รับการบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ


มาตรา 49 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย


 


บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขจากรัฐซึ่งต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ


 


บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและทันต่อเหตุการณ์


 


มาตรา 50 เด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัว มีสิทธิได้รับการดูแลจากรัฐเพื่อให้สถาบันครอบครัวมีความมั่นคงและอบอุ่น และได้รับความคุ้มครองมิให้มีการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม


 


เด็กและเยาวชนซึ่งไม่มีผู้ดูแลมีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอบรมจากรัฐ


 


มาตรา 51 บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ


 


มาตรา 52 บุคคลซึ่งพิการหรือทุพพลภาพ มีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นประโยชน์ และความช่วยเหลือจากรัฐ


 


มาตรา 53 บุคคลที่ไร้ที่อยู่อาศัยและไม่มีรายได้เพียงพอย่อมมีสิทธิได้รับวามช่วยเหลือจากรัฐ


 


ส่วน 10 สิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน


มาตรา 54 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชนหรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองจากบุคคลอื่น


 


มาตรา 55 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล ชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาต หรือดำเนินโครงการหรหรือกิจกรรมใดที่อาจจะมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว


 


มาตรา 56 บุคคลย่อมมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการทางปกครองอันมีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตน


 


มาตรา 57 บุคคลย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และได้รับแจ้งผลการพิจารณาในเวลาอันสมควร


 


มาตรา 58 บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องหน่วยราชการหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล ให้รับผิดเนื่องจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างหน่วยงานนั้น


 


มาตรา 59 สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแกไขเยียวยาความเสียหายรวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค


 


ให้มีองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนผู้บริโภคทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานรัฐ ในการตราและการบังคับใช้กฎหมาย และกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค


 


มาตรา 60 บุคคลย่อมมีสิทธิติดตามและร้องขอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ


 


บุคคลผู้ให้ข้อมูลแก่องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐหรือหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานรัฐ หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมได้รับความคุ้มครอง


 


ส่วนที่ 11 เสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคม


มาตรา 61 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ


 


การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือ ในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก


 


มาตรา 62 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน หรือหมู่คณะอื่น


 


ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบความต่อเนื่อง ประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน และ การจัดทำบริการสาธารณะ


 


การจำกัดเสรีตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน


 


มาตรา 63 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมือเพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนและเพื่อดำเนินกิจการในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้นตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้


 


การจัดองค์กรภายใน การดำเนินกิจการ และข้อบังคับของพรรคการเมืองต้องสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


 


สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง กรรมการบริหารของพรรคการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมืองตามจำนวนที่กำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเห็นว่ามติหรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้นจะขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีสิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย


 


ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติหรือข้อบังคับดังกล่าวขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้มติหรือข้อบังคับเป็นอันยกเลิกไป


 


มาตรา 64-65 สิทธิชุมชน (อยู่ระหว่างการปรับแก้)


 


ส่วนที่ 13 สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ


มาตรา 66 บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศในวิถีทางซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้


 


ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำตามวรรคหนึ่ง ผู้รู้เห็นการกระทำดังกล่าวย่อมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว


 


ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรค 2 ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้


 


มาตรา 67 บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งกระทำการใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้


 


ในกรณีที่ประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤตภาวะคับขันหรือสถานการณ์จำเป็นอย่างยิ่งในทางการเมือง ให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาหาทางป้องกันหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว


 


หมวด 4 หน้าที่ของชนชาวไทย


มาตรา 68 บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้


 


มาตรา 69 บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศและ ปฏิบัติตามกฎหมาย


 


มาตรา 70 บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและออกเสียงประชามติ


 


บุคคลซึ่งไปใช้สิทธิหรือไม่ไปใช้สิทธิโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิได้ ย่อมได้รับสิทธิหรือเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติ


 


การแจ้งเหตุที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้งหรือออกเสียงประชามติและการอำนวยความสะดวกในการไปเลือกตั้งหรือออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ


 


มาตรา 71 บุคคลมีหน้าที่รับราชการทหาร ช่วยเหลือในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะ เสียภาษีอากรช่วยเหลือราชการ รับการศึกษาอบรม ประกอบอาชีพ พิทักษ์ปกป้องและสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ


 


มาตรา 72 บุคคลผู้เป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ ของราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนร่วม อำนวยความสะดวก และให้บริการแก่ประชาชนตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี


ในการปฏิบัติหน้าที่และในการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชน บุคคลตามวรรคหนึ่งต้องวางตนเป็นกลางทางการเมือง


 


ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งละเลยหรือไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามหน้าที่ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง บุคคลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียย่อมมีสิทธิขอให้บุคคลตามวรรคหนึ่งหรือผู้บังคับบัญชาของบุคคลดังกล่าวชี้แจงแสดงเหตุผลและขอให้ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติในวรคหนึ่งหรือวรรคสองได้


 


00000000000000000000000000000


ร่างแรกรัฐธรรมนูญ ปี 2550 (3)


 


ร่างแรกรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณารายมาตราตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม รายละเอียดมีดังนี้ ...


 


 


หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ


ส่วนที่ 1 บททั่วไป


มาตรา 73 บทบัญญัติในหมวดนี้เป็นเจตจำนงให้รัฐดำเนินการตรากฎหมายและกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน


           


ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ต้องชี้แจงต่อรัฐสภาให้ชัดแจ้งว่า จะดำเนินการเมื่อใด เพี่อบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และต้องจัดทำรายงานแสดงผลการดำเนินการรวมทั้งปัญหาและอุปสรรค เสนอต่อรัฐสภาปีละหนึ่งครั้ง


 


มาตรา 74 คณะรัฐมนตรี ต้องจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อแสดงมาตรการและรายละเอียดของแนวทางในการปฏิบัติราชการในแต่ละปีของการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ


           


ในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องจัดให้มีแผนการตรากฎหมายที่จำเป็น ต่อการดำเนินการตามนโยบายและแผนการบริหารราชการแผ่นดิน


           


ส่วนที่ 2 แนวนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐ


มาตรา 75 รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช และบูรณภาพแห่งราชอาณาจักร และต้องให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จำเป็นและเพียงพอเพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเพื่อการพัฒนาประเทศ


           


ส่วนที่ 3 แนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน


มาตรา 76 รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายในด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ดังต่อไปนี้


           


(1)การบริหารราชการแผ่นดินต้องเป็นไปเพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืนโดยรัฐต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวมเป็นสำคัญ


 


(2)จัดระบบการบริหารราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น ให้มีขอบเขตอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบที่ชัดเจน เหมาะแก่การพัฒนาประเทศ และสนับสนุนให้จังหวัดเป็นตัวแทนของรัฐในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดโดยให้มีงบประมาณเพื่อให้เป็นไปตามแผนดังกล่าวรวมทั้งกำกับดูแล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่


 


(3) กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่น


ได้เองรวมทั้งพัฒนาจังหวัด หรือ เขตพื้นที่ที่มีความพร้อม ให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัด หรือ เขตพื้นที่นั้น


 


(4)พัฒนาระบบงานภาครัฐโดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพ คุณธรรม และจริยธรรม ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงรูปแบบและวิธีการทำงานเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐใช้หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการ


 


(5)การจัดระบบงานราชการ และงานของรัฐอย่างอื่น ต้องเป็นไปเพื่อให้การจัดทำและการ


ให้บริการสาธารณะเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน


 


(6)เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามหลักนิติธรรม รัฐต้องดำเนินการให้


หน่วยงานทางกฎหมายที่มีหน้าที่ ให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐตามกฎหมาย และตรวจสอบการตรากฎหมายของรัฐ ดำเนินการอย่างเป็นอิสระ


 


(7)จัดให้มีบริการสาธารณะที่จำเป็นแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกัน โดย


คำนึงถึงวินัยการเงิน การคลัง ของประเทศและเรียกเก็บค่าบริการเพียงเท่าที่จำเป็น


 


(8)ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและ


สาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐาน สารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมและกันทั่วประเทศ


 


(9)จัดให้มีแผนพัฒนาการเมือง และจัดทำมาตรฐานคุณธรรม และจริยธรรมของผู้ดำรง


ตำแหน่งทางการเมืองข้าราชการ และพนักงาน หรือลูกจ้างอื่นของรัฐ ทั้งจัดให้มีสภาพัฒนาการเมืองที่มีความเป็นอิสระ รวมทั้งติดตามสอดส่องให้มีการปฏิบัติตามแผน และมาตรฐานดังกล่าวอย่างเคร่งครัด


 


ส่วนที่ 4 แนวนโยบายด้านศาสนา สังคม การศึกษา และวัฒนธรรม


มาตรา 77 รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์ และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ส่งเสริมความเข้าใจอันดี และความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชน ของทุกศาสนา รวมทั้ง สนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต


 


มาตรา 78 รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านสังคม การศึกษา และวัฒนธรรม ดังต่อไปนี้


 


(1)เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของสถาบันครอบครัว รวมทั้งต้องสงเคราะห์


และจัดสวัสดิการให้แก่คนชรา ผู้ยากไร้ ผู้พิการ หรือ ผู้ทุพพลภาพและผู้อยู่ในสภาวะยากลำบากให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและพึ่งพาตนเองได้


 


(2)ส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาการสร้างเสริมสุขภาพ อันนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของ


ประชาชน รวมทั้งจัดและส่งเสริมการสาธารณสุขให้ประชาชนได้รับบริการ ที่มีมาตรฐาน และประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงและส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดบริการสาธารณสุข


(3)พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทาง


เศรษฐกิจและสังคม สนับสนุนให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ สร้างเสริมและปลูกผังความรู้และจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม แนวทางการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ความรู้รักสามัคคี ความมีระเบียบวินัย พัฒนาคุณภาพผู้ประกอบวิชาชีพครู และบุคลากรทางการศึกษา จัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาอย่างเหมาะสม และเพียงพอ และสนับสนุนให้เอกชนจัดให้มีการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี รวมทั้งการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


           


(3/1)ส่งเสริม สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน องค์กรทางศาสนา และเอกชน จัดและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนามาตรฐานและคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียม และสอดคล้องกับความต้องการในแต่ละพื้นที่


           


(4)ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยในศิลปะวิทยาการแขนงต่าง ๆและเผยแพร่ข้อมูลผลการศึกษาวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนการศึกษาวิจัยจากรัฐ และต้องเปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้


           


(5)อนุรักษ์ ฟื้นฟู ปกป้อง และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ ตลอดจนค่านิยมอันดีงามของภูมิปัญญาท้องถิ่น และต้องปลูกฝังและส่งเสริมให้ประชาชนมีจิตสำนึกในการดังกล่าว


 


ส่วนที่ 5 แนวนโยบายด้านกฎหมายแบละการยุติธรรม


มาตรา 79 รัฐต้องดำเนินการตารมแนวนโยบายในด้านกฎหมาย และการยุติธรรมดังต่อไปนี้


 


(1)ดูแลให้มีการปฎิบัติ และบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม รวดเร็ว ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ


 


(2)คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล ให้พ้นจากการล่วงละเมิดทั้งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลอื่น และต้องอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน


 


(3)ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมและสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว


 


(4)ดูแลให้มีการปฎิบัติตามกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล การให้ความช่วยเหลือประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม จัดระบบงานราชการและงานของรัฐอย่างอื่นให้มีประสิทธิภาพ และอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างรวดเร็ว และเท่าเทียมกัน


 


ส่วนที่ 6 แนวนโยบายด้านการต่างประเทศ


มาตรา 80 รัฐต้องส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ และพึ่งถือหลักในการปฎิบัติต่อกันอย่างเสมอภาค ตลอดจนต้องปฎิบัติตามพันธกรณีที่ได้กระทำไว้ต่อนานาประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ


 


ส่วนที่ 7 แนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ              


มาตรา 81 รัฐต้องดำเนินตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจดังต่อไปนี้


 


(1)สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรี โดยอาศัยกลไกตลาด และสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยต้องยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมาย และกฎเกณฑ์ที่ควบคุมธุรกิจที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมหรือการจัดให้มีสาธารณูปโภค


 


(2)สนับสนุนให้มีการใช้หลักคุณธรรม จริยธรรม บรรษัทภิบาล ควบคู่กับการประกอบกิจการ


 


(3)ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีอากรให้มีความเป็นธรรม และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงขอสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ


 


(4)รักษาวินัยการเงิน การคลัง เพื่อสนับสนุนเสถียรภาพ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ


 


(5)จัดให้มีและส่งเสริมการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราภาพแก่ประชาชน


 


(6)กำกับดูแลให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรี และเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาด ตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อม และคุ้มครองผู้บริโภค


 


(7)ดำเนินการให้มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ขยายโอกาสในการประกอบอาชีพ


ของประชาชนและส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น และภูมิปัญญาไทยเพื่อใช้ในการผลิตสินค้า บริการ และการประกอบอาชีพ


 


(8)ส่งเสริมให้ประชากรมีงานทำ คุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานเด็ก และสตรี และต้องจัดระบบแรงงานสัมพันธ์ การประกันสังคม สวัสดิการ รวมทั้งค่าตอบแทนแรงงานให้เป็นธรรม


 


(9)ส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์ หรือการรวมกลุ่มของประชาชนในการดำเนินกิจการด้านเศรษฐกิจ


 


 


 


ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง


ร่างแรกรัฐธรรมนูญ (1)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net