ศาลปกครองสูงสุดไม่รับฟ้องคุ้มครองฉุกเฉินให้ระงับลงนามJTEPA

ประชาไท - 30 มี.ค. 50 น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาไม่รับคำฟ้อง กรณีขอให้มีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉินและคุ้มครองชั่วคราว เพื่อขอให้ระงับลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย- ญี่ปุ่น

คำฟ้องดังกล่าว ฟ้องโดยกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) มูลนิธิข้าวขวัญ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิชีววิถี และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ฟ้องกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ คณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี ให้เพิกถอนกระบวนการลงนามข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) เนื่องจากไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจทางการปกครอง

 

ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้ว เห็นตามที่ศาลปกครองกลางตัดสิน ด้วยเหตุผลว่า มิใช่การใช้อำนาจทางการปกครอง หากเป็นการใช้อำนาจทางการบริหาร ซึ่งทางกลุ่มฯ จะได้มีการหารือเพื่อดำเนินเคลื่อนไหวในด้านอื่นๆ ต่อไป

 

 





000

ส่วนหนึ่งของสาระสำคัญในคำฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ให้มีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉินและคุ้มครองชั่วคราวเพื่อขอให้ระงับการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น

 

ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น มีเนื้อหาครอบคลุมเกี่ยวกับทรัพยากรชีวภาพ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยทั่วไป ทั้งในฐานะเกษตรกร, ผู้บริโภค, ผู้ป่วย และโดยประการสำคัญ คืออำนาจอธิปไตยของประเทศไทย

 

ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดทั้งในฐานะองค์กรและตัวบุคคลที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว จึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายหรืออาจจะได้รับความเดือดร้อนเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้นโดยไม่สุจริตของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมด ซึ่งได้กระทำในฐานะที่เป็นหน่วยงานรัฐทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งผลจากการกระทำดังกล่าวได้สร้างภาระให้เกิดกับผู้ฟ้องคดีและประชาชนโดยทั่วไปเกินสมควร กรณีการดำเนินกระบวนการ การเจรจาและลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น กล่าวคือ

 

จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 กระทรวงการต่างประเทศได้นำเสนอเรื่องความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) เข้าสู่การพิจารณาในคณะรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการเจรจา และคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและกลุ่มองค์กรต่างๆ

 

กระทรวงการต่างประเทศในฐานะหน่วยงานรัฐ ที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดให้มีการประชาพิจารณ์ ได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์ ซึ่งได้จัดให้มีขึ้นในวันที่ 22 ธันวาคม 2549 ซึ่งการจัดประชาพิจารณ์ดังกล่าวห่างจากวันที่มีมติคณะรัฐมนตรีเพียง 3 วันเท่านั้น

 

ก่อนถึงกำหนดวันจัดให้มีประชาพิจารณ์ในวันที่ 22 ธันวาคม 2549 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2549 เรื่อง การเจรจาและลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ถึงนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี (ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล) หนังสือดังกล่าวแสดงข้อห่วงใย ท้วงติง และแสดงความไม่เห็นด้วย กับการจัดประชาพิจารณ์ที่ขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ฟ้องคดีได้เคยเสนอความเห็นในการจัดการประชาพิจารณ์ต่อ ดร. ชโยดม สรรพศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าการจัดประชาพิจารณ์ควรยึดถือตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นประชาชน พ.ศ. 2548

 

แต่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะผู้จัดการประชาพิจารณ์เพิกเฉยไม่นำพาต่อข้อเรียกร้องดังกล่าวแต่อย่างใด

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วนทุกประเด็นและมีรายละเอียดเพียงพอที่ประชาชนโดยทั่วไปและผู้ฟ้องคดีจะสามารถเรียนรู้ทำความเข้าใจได้อย่างเพียงพอที่จะแสดงความเห็นในการสนับสนุนหรือคัดค้าน รวมตลอดถึงการตรวจสอบความถูกต้องในการดำเนินการดังกล่าว

 

ซึ่งประเด็นเหล่านี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2549 กราบเรียนต่อนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด

 

ต่อมาวันที่ 22 ธันวาคม 2549 กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 ที่ให้ดำเนินการจัดประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและกลุ่มองค์กรต่าง ๆ และนำผลการประชาพิจารณ์เสนอรองนายกรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า การจัดทำประชาพิจารณ์ดังกล่าวมิได้ดำเนินกระบวนการตามขั้นตอนและข้อกำหนดตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548

 

กล่าวคือ การจัดทำประชาพิจารณ์ดังกล่าว มิได้จัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลอย่างน้อยตามข้อ 7 แห่งระเบียบฯ ดังกล่าวให้ประชาชนโดยทั่วไปและผู้ฟ้องคดีทราบ ซึ่งข้อกำหนดเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลถือเป็นสาระสำคัญที่ผู้จัดการประชาพิจารณ์จะต้องถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพราะหากขาดซึ่งข้อมูลแล้ว การจัดให้มีการประชาพิจารณ์ดังกล่าวย่อมไม่มีทางบรรลุเจตนารมณ์ อีกทั้งระยะเวลาในการจัดก็เป็นระยะเวลาที่สั้นมากแสดงให้เห็นถึงเจตนาของผู้จัดที่ไม่ต้องการให้เกิดการศึกษาข้อมูล ซักถาม โต้แย้ง อันจะนำไปสู่การตรวจสอบ

 

เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จก็หาได้มีการประกาศให้ประชาชนและผู้ฟ้องคดี ได้รับรู้รับทราบตามข้อกำหนดแห่งระเบียบฯ ดังกล่าวไม่ ทั้งที่ตามประเด็นดังกล่าวได้มีการท้วงติงจากหลายองค์กรและจากผู้ฟ้องคดีมาก่อนเริ่มดำเนินการจัดการประชาพิจารณ์

 

เมื่อไม่ได้ดำเนินการตามข้อกำหนดแห่งระเบียบ ฯ ดังกล่าว ประชาชนโดยทั่วไปและผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่อาจเชื่อคำโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลว่าการดำเนินการดังกล่าวจะไม่เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพชีวิต ความมั่นคงของประชาชนและประเทศชาติ และหากมีความเสียหายเกิดขึ้นก็ไม่ปรากฏว่ารัฐบาลจะได้วางมาตราการป้องกันแก้ไขเยียวยาไว้แต่อย่างใด การดำเนินการดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการจัดทำการประชาพิจารณ์เป็นการรับฟังความคิดเห็นประชาชน และถือว่าการกระทำดังกล่าวมีเจตนาจงใจหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดแจ้งรายละเอียดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นประชาชน พ.ศ. 2548 และข้อเท็จจริงการจัดการประชาพิจารณ์ที่ไม่ชอบด้วยระเบียบ ฯ ดังกล่าว

 

เมื่อปรากฎว่าการจัดการประชาพิจารณ์ดังกล่าวไม่ดำเนินการตามระเบียบฯ ดังกล่าวจึงต้องถือว่ายังไม่ได้จัดให้มีการประชาพิจารณ์ ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ได้จากการดำเนินการเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2549 เป็นข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีนำข้อมูลดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งกล่าวอ้างว่าเป็นข้อมูลที่ได้จากการทำประชาพิจารณ์ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 จึงเป็นการนำเสนอข้อมูลที่ได้มาจากการปกปิดการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2550 รับทราบและให้ดำเนินการในขั้นตอนอื่นต่อไป

 

ต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ออกแถลงการณ์ ลงวันที่ 19 มกราคม 2550 ชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำความตกลงเขตการค้าเสรีและขอให้ดำเนินการจัดให้มีการประชาพิจารณ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

 

และต่อมาวันที่ 30 มกราคม 2550 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนได้ทำหนังสือเรื่อง ขอให้พิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2550 เกี่ยวกับการจัดทำประชาพิจารณ์ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและขอให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ใหม่ก่อนนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

 

แต่ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมิได้ดำเนินการใดๆ อันจะเป็นการแก้ไขการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งไม่ปรากฏว่าจะได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียนดังกล่าว การกระทำดังกล่าวจึงถือเสมือนหนึ่งเป็นการปกป้องผู้กระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี จึงถือได้ว่าคณะรัฐมนตรีไม่ปฏิบัติหน้าที่ ไม่บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2545 ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มาเสนอเรื่องร่างความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อเปิดให้มีการอภิปรายโดยไม่ลงมติตามบทบัญญัติมาตรา 12 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้จัดให้มีการอภิปรายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 ที่ผ่านมา

 

แต่การอภิปรายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็เกิดสภาพปัญหาเดียวกับการจัดการประชาพิจารณ์ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2549 คือไม่มีข้อมูลเพียงพอต่อการพิจารณา ไม่มีระยะเวลาเพียงพอในการศึกษาทำความเข้าใจกับข้อมูลที่ได้รับเพียงบางส่วนก่อนการอภิปรายเพียง 2 วัน ทั้งระยะเวลาที่เปิดให้มีการอภิปรายก็เป็นระยะเวลาที่สั้นมาก ทำให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติบางท่านทำหนังสือเสนอสภาพปัญหาข้อจำกัดในการอภิปรายต่อ พณฯนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2550

 

นอกจากนี้องค์กรต่างๆ อันประกอบด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน และมูลนิธิ พลตรีจำลอง ศรีเมือง ยังได้ออกแถลงการณ์ ออกหนังสือแสดงความห่วงใย ท้วงติง เสนอแนะ และขอให้แก้ไข การดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายพร้อมกับเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

 

การดำเนินการเกี่ยวกับการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ที่ผ่านมาถึงปัจจุบันก็เป็นที่ปรากฏว่ามีปัญหามากมายหลายประการ และภาคประชาชนได้มีการเรียกร้องให้ทบทวนแก้ไขมาโดยตลอด โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยกับประเทศออสเตรเลียซึ่งได้ลงนามไปแล้ว องค์กรภาคประชาชน "กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน" ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาซึ่งได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว และได้ส่งเรื่องต่อไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของตุลาการรัฐธรรมนูญ

 

ซึ่งประเด็นนี้ผู้ถูกฟ้องคดีก็ทราบดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก็หาได้ตระหนักไม่ ยังคงดำเนินการเดินหน้ากรณีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นต่อไปโดยไม่ตรวจสอบถึงความไม่ถูกต้องตามขั้นตอนข้อกำหนดของกฎหมาย

 

กระบวนการการดำเนินการเพื่อลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น กระทำไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และหากให้มีการดำเนินการต่อไปจนมีการลงนามจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน รวมตลอดถึงทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง และอำนาจอธิปไตยของไทย

 

โดยสรุปความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ดังนี้

 

 

เรื่องสิทธิบัตรจุลินทรีย์

1) การลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมิได้ให้ประโยชน์กับประเทศ ญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียวเท่านั้น แต่เป็นการเปิดให้สหรัฐอเมริกา ยุโรป และ ประเทศอุตสาหกรรมอื่นทั้งหมดที่เป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก ได้สิทธิคุ้มครองไปพร้อมๆกันด้วย ทั้งนี้โดยเป็นไปตามหลักปฎิบัติต่อ "คนชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favored-Nation Treatment)" ที่ระบุไว้ในมาตราที่ 4 และ 5 ของข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้ องค์กรการค้า

โลก

2) ปัจจุบันมีสมาชิกในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายกสิกรรม ไร้สารพิษ และเกษตรกรกลุ่มอื่นๆที่ใช้จุลินทรีย์ในการปรับปรุงบำรุงดินรวมกัน มากกว่า 2 ล้านครอบครัว การใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ดังกล่าวเป็นการใช้ประโยชน์ขั้นต้น โดยรวบรวมจุลินทรีย์จากธรรมชาติมาทดลอง คัดเลือก และเผยแพร่ไปสู่สมาชิกในเครือข่ายและเพื่อนบ้าน หากรัฐบาลไม่ตัดข้อความ ในข้อ 130(3)) ต่างชาติจะฉวยโอกาสเข้ามาจดสิทธิบัตรใน จุลินทรีย์ตาม ธรรมชาติ รวมทั้งนำจุลินทรีย์ที่เกษตรกรใช้ประโยชน์ไปต่อยอดเพื่อพัฒนาเอา ไปใช้ประโยชน์ในทางพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม เป็นการขัดขวาง โอกาสในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ซึ่งเป็นมรดกของแผ่นดินอีกทั้งเป็นการทำลายรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียง

3) ตัวอย่างผลกระทบอื่นๆเช่น กรณีนายเดนิส กอนซาลเวส(Danis Gonslves) และมหาวิทยาลัยคอร์แนลได้ฉกฉวยจดสิทธิบัตรไวรัสใบด่าง จุดวงแหวนสายพันธุ์ไทยเมื่อวันที่ 18กรกฎาคม 2549 ส่งผลให้มะละกอ ดัดแปลงพันธุกรรมที่กระทรวงเกษตรฯกำลังทำวิจัยในประเทศไทยกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยคอร์แนล กรรมสิทธิ์นี้ยังครอบคลุมไปถึง มะละกอสายพันธุ์ท้องถิ่นอื่นๆที่ผสมข้ามกับมะละกอดัดแปลงพันธุกรรม รวมไปถึงกรรมสิทธิ์ในพันธุ์พืชตระกูลแตง มะเขือเทศ และพืชอื่นๆทั้งหมด ที่นำเอายีนจากไวรัสใบด่าง จุดวงแหวนสายพันธุ์ไทยไปใช้ประโยชน์ด้วย เกษตรกรและแม้กระทั่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็ได้รับผลกระทบด้วยเพราะจะถูกเรียก เก็บค่าสิทธิบัตรสูงถึง 35 % ของยอดขายจากผลิตภัณฑ์หากพบว่าเกี่ยวข้อง กับสิทธิบัตรที่เขาจดไว้

 

4) การจดสิทธิบัตรในจุลชีพจะส่งผลกระทบต่อการวิจัยและการผลิต ยาและอาหารด้วย เนื่องจากจุลินทรีย์มีบทบาทสำคัญมากในการพัฒนา เทคโนโลยีชีวภาพในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น ยาที่ผลิตจากจุลินทรีย์ เป็นแหล่งตั้งต้นมีมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านเหรียญในประเทศอุตสาหกรรม โดยขณะนี้มียาปฏิชีวนะที่ได้จากจุลินทรีย์มากกว่า 3,000 ชนิด

 

 

เรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืช

1) เกษตรกรจะต้องใช้เมล็ดพันธุ์ราคาแพงเพราะการผูกขาดเมล็ด พันธุ์โดยบริษัทต่างชาติ

 

2) วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ระหว่างกัน และการเก็บรักษา พันธุ์ไว้ปลูกต่อในฤดูถัดไปจะได้รับผลกระทบ ส่งผลต่อการลดลงของ ความหลากหลายทางพันธุกรรมในระยะยาว

 

3) แทรกแซงและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการกำหนดนโยบาย ที่จะคุ้มครองเกษตรกรภายใต้การบริหารกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542

 

4) สหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆจะได้รับสิทธิเช่นเดียวกับญี่ปุ่น ตามหลักปฏิบัติต่อ "คนชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favored-Nation Treatment)" ที่ระบุไว้ในมาตราที่4 และ5 ของข้อตกลงทรัพย์สิน ทางปัญญาภายใต้องค์กรการค้าโลก

 

 

เรื่องขยะของเสียอันตราย

1) การส่งเสริมการค้าหรือการเปิดเสรีค้าขายขยะและของเสียอันตราย ระหว่างประเทศเป็นการขัดกับหลักการสากลเรื่องการจัดการของเสียโดย เฉพาะของเสียอันตรายที่มุ่งว่า แต่ละประเทศผู้ก่อมลพิษควรต้องรับผิดชอบมลพิษของตนเองจนถึงปลายทางภายในประเทศตนเอง
 

2) เนื่องจากการควบคุมของเสียอันตรายตามข้อบัญญัติกฎหมายไทย มีขอบเขตจำกัดอยู่มาก ทั้งในแง่ความไม่ครอบคลุมประเภทของเสีย อันตรายต่างๆ อย่างกว้างขวางเพียงพอ ขณะที่มาตรการการควบคุม ก็ไม่เข้มงวด และมีช่องโหว่มากมาย ดังนั้นการส่งเสริมการค้าขายสิ่งเหล่านี้ ตามความตกลง JTEPA จะเปิดโอกาสให้ขยะและของเสียอันตรายจาก ประเทศญี่ปุ่น ไหลหลั่งเข้ามาในประเทศไทยมากยิ่งขึ้นในลักษณะที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ
 

3) เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการลักลอบนำเข้าขยะและของเสียอันตราย ที่กฎหมายห้ามมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัญหานี้มีอยู่แล้วจากการที่กฎหมายภายใน ของไทยมีความอ่อนแอในการบังคับใช้และขาดระบบการติดตามตรวจสอบ ที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ปัญหาหนักหน่วงขึ้น การแก้ไขเรื่องนี้ ก็จะยิ่งยากขึ้น

 

4) การต้องรับขยะและของเสียอันตรายจากประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะโดย ผิด กฎหมายหรือถูกกฎหมาย ก็จะทำให้สถานการณ์ปัญหาโดยรวมในเรื่อง การจัดการของเสีย (โดยเฉพาะของเสียอันตราย) ภายในประเทศไทย เลวร้ายยิ่งขึ้นจากที่มีปัญหาอยู่แล้ว นับตั้งแต่ปัญหาเรื่องภาระการกำจัด ที่อยู่ในสภาพไล่ตามปัญหา กล่าวคือ มีขยะและของเสียอันตราย จำนวนมากตกค้างไม่ได้รับการบำบัดหรือจัดการอย่างถูกต้อง ปัญหาการ ควบคุมมาตรฐานการกำจัด ปัญหาการจัดหาพื้นที่รองรับการกำจัด ปัญหา ความขัดแย้งกับท้องถิ่นที่ถูกใช้พื้นที่เพื่อการรองรับหรือกำจัดขยะ ปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากกิจกรรมการบำบัดหรือกำจัด ขยะและของเสียอันตราย ฯลฯ

 

 

เรื่องการเข้าถึงยาและบริการสาธารณะ

การใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิภายใต้ความตกลง JTEPA จะไม่ สามารถเป็นกลไกลดราคายาลงได้ตามเจตนารมณ์ที่ระบุไว้ในกฎหมายไทย และความตกลงระหว่างประเทศ
 

จากประสบการณ์การประกาศบังคับใช้สิทธิที่กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนิน การในยา 3 รายการนั้น พบว่าสามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้ปีละ 1,035-1,665 ล้านบาท และสามารถช่วยให้ผู้ป่วยเป็นจำนวนมากเข้าถึงยาได้ มากขึ้นหากประเทศไทยยังยืนยันที่จะใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิตามที่เป็นอยู่ใน ปัจจุบัน ผู้ลงทุนของภาคีอีกฝ่าย(ซึ่งในที่นี้ คือนักลงทุนญี่ปุ่น) จะสามารถ ฟ้องเรียกร้องค่าชดเชย โดยใช้กลไกการระงับข้อพิพาท ระหว่างรัฐและเอกชน โดยผ่านอนุญาโตตุลาการนอกประเทศ ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญเสียประโยชน์ ของประเทศชาติ เนื่องจากเป็นการพิจารณาโดยบุคคลเพียง 2-3 คน และ เน้นประโยชน์ทางธุรกิจ-การลงทุน มากกว่าประโยชน์สาธารณะ
 

นอกจากนั้น ความตกลงทวิภาคีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะกับ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ก็จะเรียกร้องให้ประเทศไทยให้การคุ้มครอง ผลประโยชน์ของเขาเท่ากับที่ประเทศไทยให้กับญี่ปุ่นตาม "หลักปฏิบัติ เยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง(Most Favored Nation - MFN)" นักลงทุนอเมริกัน และยุโรปซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมยาข้ามชาติ ก็จะได้สิทธิ นี้ด้วยเช่นกัน

เอกสารประกอบ

สำเนาคำฟ้องขอให้ระงับลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย- ญี่ปุ่น (JTEPA)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท