มุมมองจากเวทีสาธารณะ : ความเป็นไปได้ของศาลสิ่งแวดล้อมในเมืองไทย





เก็บความจากเวทีนโยบายสาธารณะ เรื่อง "การระดมสมองเพื่อการพัฒนากฎหมายวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม (

Environment Court
) ในประเทศไทย" วันที่ 29 มีนาคม 2550 ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค 

 

เรื่องราวความเดือนร้อนของคนจน คนไร้อำนาจส่วนใหญ่ มักเกี่ยวพันกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีตัวอย่างการต่อสู้มากมายในสังคมไทย บ้างสู้เพื่อจะมีอากาศ มีน้ำที่สะอาด...เพียงแค่นั้น บ้างสู้เพื่อรักษาวิถีชีวิตที่เคยเป็นมา มีไม่น้อยที่สู้จนตัวตาย และมากยิ่งกว่าที่มีสภาพตายทั้งเป็น.....คงไม่ต้องยกตัวอย่าง

 

ความเดือดร้อนเหล่านี้ของชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นกรณีพิพาทกับเอกชนโดยตรง รัฐโดยตรง หรือไม่ก็เอกชนในนามของรัฐ หลายกรณีเป็นความขึ้นโรงขึ้นศาลกันซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าคดีด้านสิ่งแวดล้อมมีลักษณะเฉพาะที่สร้างความปั่นป่วนให้กับแวดวงยุติธรรมไม่น้อย เพราะโครงสร้างองค์กร วิธีพิจารณาและกฎหมายเท่าที่มีอยู่นั้นสลับซับซ้อนจนไม่อาจนำไปสู่ "ความยุติธรรม" ที่พึงมีตามสามัญสำนึกพื้นๆ ได้

 

งานประชุม "การระดมสมองเพื่อพัฒนากฎหมายวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อและวิเคราะห์ความเป็นไปในการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม" เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ซึ่งผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่อยู่ในแวดวงยุติธรรม เป็นอีกเวทีหนึ่งที่พยายามจะหาทางออกเรื่องนี้ โดยเสนองการจัดตั้ง "ศาลสิ่งแวดล้อม" ที่เคยมีการพูดกันไม่น้อยในสังคมไทยให้เป็นรูปธรรม มากยิ่งขึ้น

 

"ประชาไท" ขอเสนอบางส่วนจากวิทยากรที่เข้าร่วมประชุม

 

 

รศ.พิเชษฐ เมาลานนท์ อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนีกาตะ ประเทศญี่ปุ่น เริ่มต้นตั้งคำถามต่อวงการตุลาการไทยไว้อย่างแหลมคมว่า คิดดีแล้วหรือยังที่จะตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ปัจจุบันมีศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการไม่มีระบบที่เหมาะสมหรือมากจากตัวคนผู้ตัดสินคดี

 

"ถ้าผู้ตัดสินคดียังอนุรักษ์นิยม ตั้งกี่ศาลเพิ่มก็ไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้น ดังนั้น เราควรปรับปรุงที่ตัวคนมากกว่าระบบ และสิ่งแวดล้อมจะดีขึ้นได้ต้องพัฒนาหลักกฎหมายมากกว่าวิธีพิจารณาคดี"

 

"ตุลาการควรตีความกฎหมายเพื่อการวางนโยบาย ศาลประชาชนมีสิทธิวางนโยบาย แต่ศาลไทยมักอ้างว่าไม่มีอำนาจ ขณะที่ในยุโรปตุลาการตีความเพื่อวางนโยบายทั้งสิ้นเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม"

 

นอกจากนี้ที่ผ่านมาตุลาการไทยยังไม่มีบทบาทในการพัฒนาหลักกฎหมาย คอยแต่ให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ริเริ่มและสั่งการ ทั้งที่ปัจจุบันมีแนวคิดที่ท้าทายการแบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่ายแล้ว เมื่อพบความจริงว่าฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารมักจะกลมกลืนกัน เหลือเพียงฝ่ายตุลาการที่จะเป็นส่วนตรวจสอบถ่วงดุล

 

รศ.พิเชษฐ ยังระบุแนวทางการพัฒนาคนในวงการยุติธรรมว่า ตุลาการต้องตีความอย่างก้าวหน้า และกล้าวางนโยบายทางสังคม เช่น การที่ศาลสหรัฐวางหลักว่าแม้ไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับรัฐบาลก็ต้องปฏิรูปเรือนจำทำสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม นอกจากนี้ต้องพิจารณาด้วยว่าความเป็นธรรมต้องไม่หมดอายุความในบางกรณี เช่นกรณีที่คนญี่ปุ่นเอาคนจีนมาเป็นทาสตั้งแต่สมัยสงครามโลก จนเมื่อสิ้นสุดสงครามคนจีนมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้

 

"ตัวอย่างรูปธรรมปัญหาที่ดีในสังคมไทยคือ เรื่องสิทธิชุมชนที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญปี 2540 ผ่านมา 10 ปี ไม่มีศาลใดตัดสินโดยอ้างเรื่องนี้เลย เป็นความเศร้าของวงการตุลาการไทย เพราะมีการอ้างเรื่องไม่มีกฎหมายลูกรองรับ เนื่องจากในรัฐธรรมนูญระบุว่า ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ" รศ.พิเชษฐกล่าวพร้อมขยายความว่า ในสหรัฐอเมริกานั้นมีการตีความกฎหมายลูก 2 แบบ แบบหนึ่งคือต้องรอกฎหมายลูกจริงๆ เนื่องจากมีรายละเอียดมากเกินไป อีกแบบหนึ่งศาลฎีกาจะเป็นผู้ชี้ได้เลยว่ามีสิทธิพิจารณาคดีได้เลยโดยไม่ต้องรอกฎหมายลูกหรือไม่

 

 

ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย ประธานสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้ภาพรวมจากประสบการณ์ที่ทำงานด้านนี้มากว่า 10 ปีว่า รากฐานของปัญหาทั้งหมดนั้นเกิดจากความขัดแย้งกันของเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อม โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ จึงนำไปสู่ความไม่เป็นธรรม

 

สำหรับสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวนั้นมีอยู่ 3 ประการ 1.กระแสโลกาภิวัฒน์ขณะนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่กำลังจะเลิกทำอุตสาหกรรมซึ่งก่อมลพิษในบ้านตัวเองแล้วย้ายฐานไปผลิตในประเทศกำลังพัฒนา โดยยังคงความเป็นเจ้าของ ยังควบคุมในส่วนทรัพย์สินทางปัญหาและแบรนด์ผ่านกลไกที่เป็นกฎหมาย การทำข้อตกลงการค้าเสรีก็เป็นกระบวนการหนึ่งที่ผูกพันให้ไทยต้องยอมรับเรื่องทรัพย์สินทางปัญหาและการคุ้มครองการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศอย่างเข้มข้น

 

2..นโยบายรัฐ ที่ผ่านมามีการศึกษาของศาสตราจารย์จากอินเดียพบว่า ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของประเทศอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาก่อมลพิษ ตั้งแต่ในช่วงที่ไทยเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจมาผลักดันการส่งออก ส่งเสริมการลงทุน สร้างมาตรการทุกอย่างเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เกิดอุตสาหกรรมขึ้นมากมายรวมไปถึงอุตสาหกรรมที่ต้องใช้สารเคมีและมีขยะอันตราย โดยที่ไทยต้องนำเข้าทั้งเทคโนโลยีและชิ้นส่วนวัตถุดิบจากต่างประเทศ สิ่งที่ได้จริงๆ คือ การจ้างงาน และตัวเลขการส่งออก แต่รัฐไม่เคยคำนึงถึงต้นทุนที่มองไม่เห็นอย่างสิ่งแวดล้อมและคุณภาพ

 

"เรื่องการปนเปื้อนนั้น ญี่ปุ่นก่อนจะเลิกผลิตในบ้านตัวเองแล้วย้ายฐานไปที่อื่น เขาต้องใช้เงินถึง 1.4 ล้านล้านเยน ในการล้างพิษในดินและน้ำใต้ดินที่รองรับสารเคมีจากสารพัดอุตสาหกรรมมายาวนาน ในประเทศไทยก็เริ่มเห็นปัญหาชัดเจนแล้ว เช่นที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน พบสาร VOC ซึ่งก่อมะเร็งในปริมาณสูงผิดปกติ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีนักวิจัยบางกลุ่มพบข้อมูลนี้ แต่ไม่ยอมเปิดเผย เพราะกลัวจะกระทบกับเศรษฐกิจ นักลงทุนจะย้ายหนีไปที่อื่น นี่คือแนวคิดของรัฐไทยที่หวังพึ่งพิงข้างนอกมากและมอระยะสั้น"

 

3 กระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อม ขาดการตรวจสอบและถ่วงดุล หน้าที่ในการการดูแลสิ่งแวดล้อมและการสนับสนุนอุตสาหกรรมอยู่ในหน่วยงานเดียวกัน ทำให้เกิดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งนี้ การถ่วงดุลที่สำคัญยิ่ง คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน และกฎหมายนั้นจะต้องบังคับใช้ได้จริง ซึ่งเรื่องนี้กระบวนการยุติธรรมคือคำตอบ

 

 

ไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้นำเสนอลงรายละเอียดในการจัดกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยระบุว่าลักษณะคดีสิ่งแวดล้อมนั้นยากจะหาผู้กระทำผิดอย่างชัดเจน กำหนดความเสียหายลำบาก มีการข้ามเขตอำนาจศาล และข้อเท็จจริงยากจะหาข้อยุติโดยง่าย เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา จึงขอเสนอแนวคิดเพื่อแก้ปัญหา คือ นโยบายของศาลควรปรับมาใช้หลักป้องกันไว้ก่อนเป็นหลักและหาระบบต่างๆ ในการเยียวยา

 

ศาลสิ่งแวดล้อมจะต้องไม่ใช่เวทีของการต่อรอง ไกล่เกลี่ย หากต้องแยกแยะพฤติกรรมที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้ ระบบพิจารณาความต้องยึดหัวใจสำคัญคือ การค้นหาความจริง ซึ่งต้องกำหนดให้ชัดว่าวิธีพิจารณาความควรเป็นการไต่สวนหรือกล่าวหา ฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับคดีนั้นการดูจากสำนวนอย่างเดียวนั้นเพียงพอหรือไม่ ข้อมูลความรู้ควรต้องมีสถาบันวิจัยเพื่อเตรียมข้อมูลในเรื่องต่างๆ ด้วยหรือไม่ ควรให้บุคคลผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมเข้าถึงข้อมูลได้แค่ไหน

 

นอกจากนี้ควรมีระบบทบทวนตรวจสอบการตัดสินคดีที่เสร็จสิ้นไปแล้วและจัดทำทะเบียนประวัติของผู้ละเมิดทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงระบบประเมินตนเองและการประเมินปัญหาของระบบกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ตุลาการไทยไม่มีช่องทางในการทบทวนกฎหมาย ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญ คำพิพากษาคดีของศาลจะมีผลต่อการประเมินผลทางนโยบาย แต่ไม่มีการวิเคราะห์วิจัยต่อ เนื่องจากคนกลัวการหมิ่นศาล

 

 

ปิดท้ายด้วยความเห็นของ พนัส ทัศนียานนท์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาและนักกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมคนสำคัญ ที่ปรึกษารมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เรื่องสำคัญที่สุดที่ควรปรับปรุงในการพิจารณาความคือ การรับฟังพยานหลักฐานในเชิงวิทยาศาสตร์ จำเป็นหรือไม่ที่ผู้พิพากษาต้องเชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ส่วนกรณีเรียกร้องค่าเสียหายควรได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนอื่นมาช่วยพิพากษาร่วม ในต่างประเทศนั้นมีการตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญมาช่วยคำนวณค่าความเสียหายด้วย

 

ทั้งนี้ หากจะพัฒนาวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม จะต้องปรับปรุงบรรทัดฐานองความเป็นผู้เสียหายเสียใหม่ ควรเปิดโอกาสให้กับผู้เสียหายที่จะได้รับผลในอนาคต การฟ้องคดีเป็นกลุ่มสำหรับกรณีที่มีผลกระทบวงกว้าง มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมขึ้นมาโดยเฉพาะ และสร้างระบบการช่วยเหลือให้ประชาชนผู้ด้อยโอกาสเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยง่าย ไม่ต้องมีภาระมาก อาจมีทางเลือกอื่นเสริมในการระงับข้อพาททำนองเดียวกับอนุญาโตตุลาการด้วย

เอกสารประกอบ

เอกสารประกอบการประชุมเวทีนโยบายสาธารณะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท