Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 1 เม.ย.2550 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส) จัดงานสัมมนา เรื่อง "JTEPA: ความท้าทายต่อความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนระหว่างไทย-ญี่ปุ่น" เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2550 เวลา 9.00-12.30. ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 2 อาคารวิจัยและตรวจสอบอัญมณี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


ผู้ร่วมอภิปรายที่เข้าร่วมในงานสัมมนา ได้แก่ ผศ.ดร.อากิโกะ คาวามูระ ภาควิชาสหวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยโกเบ ประเทศญี่ปุ่น, คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม และคุณสุภา ใยเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนประเทศไทย โดยมีคุณศจินทร์ ประชาสันติ์ โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส) เป็นผู้ดำเนินรายการ


 


ทั้งนี้ ผู้ร่วมอภิปรายแต่ละรายได้แสดงความคิดเห็นต่อการลงนามในสัญญา JTEPA ระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงในวงกว้าง ดังนี้


 


ผศ.ดร.อากิโกะ คาวามูระ ภาควิชาสหวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยโกเบ ประเทศญี่ปุ่น


ผมไม่ได้ตามประเด็นเรื่อง JTEPA มากนัก สิ่งที่ผมจะทำวันนื้ คือ หนึ่ง พูดถึง JTEPA จาก มุมมองของญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึง มุมมองของรัฐบาล สอง มีกลุ่มใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับ JTEPA และเขามีข้อกังวลอย่างไร สาม อนาคต ควรจะเป็นอย่างไร


 


ประการแรก ไม่ค่อยมีการพูดถึง JTEPA มากนักในญี่ปุ่น ซึ่งอาจเป็นเพราะผลกระทบส่วนใหญ่เกิดกับไทยมากกว่าในญี่ปุ่น และอาจเป็นเพราะเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลคุณทักษิณ อย่างไรก็ตามผมอยากจะแบ่งปันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคการผลิตญี่ปุ่น


 


ภาคที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ เกษตรกรรม หนึ่งคือ น้ำตาล เรามีการผลิตน้ำตาลในภาคเหนืออย่างฮอกไกโด และทางใต้ บริเวณโอกินาวา โดยเฉพาะในโอกินาวา อุตสาหกรรมน้ำตาลมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นมาก ใน JTEPA มีการลดภาษีนำเข้านำเข้าสินค้า แต่จำนวนไม่มากนั้น ดังนั้น แม้อาจจะส่งผลกระทบต่อญี่ปุ่น แต่ก็คงไม่มากนัก


 


อีกกรณี คือ ไก่ อันที่จริง ญี่ปุ่นนำเข้าไก่อันดับหนึ่งจากไทย ชาวญี่ปุ่นกินไก่ทุกวันโดยเฉพาะในบาร์เครื่องดื่มแบบญี่ปุ่นในตอนกลางคืน ปัจจุบัน อุตสาหกรรมไก่ ได้รับการแข่งขันอย่างมากจากไก่นำเข้า JTEPA จะลดภาษีนำเข้าไก่ลง ดังนั้น เหล่านี้เป็นประเด็นที่เกษตรกรเป็นห่วง


 


เหตุผลที่รัฐบาลปกป้องภาคเกษตร มีหลายปัจจัย ประการแรก คือ อัตราการพึ่งตัวเองด้านอาหาร ในญี่ปุ่นมีอัตรานี้ ประมาณ 40% วัดตามปริมาณแครอลรี หมายความว่า ในร่างกายคนญี่ปุ่น 40% เท่านั้นที่มาจากอาหารที่ผลิตในญี่ปุ่น ที่เหลือต้องนำเข้าทั้งสิ้น โดยเฉพาะพวกเนื้อและไก่จะมาจากการนำเข้า ซึ่งอัตราการพึ่งพิงนี้ไม่ค่อยจะดีเท่าไรนัก เกษตรกรในละครัวเรือน มีเนื้อที่เพียง 1.5 เฮกเตอร์ ซึ่งคิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของพื้นที่การทำเกษตรในไทย และน้อยกว่าประเทศพัฒนาอื่นๆ เช่น สหรัฐฯหรืออียู เกษตรกรในญี่ปุ่นอ่อนแอมาก มีพื้นที่น้อย ผลิตน้อย ขาดแคลนแรงงาน อันที่จริง ปัจจุบัน มีแรงงานชาวจีนจำนวนมากเข้ามาทำงานในภาคเกษตรของญี่ปุ่น ผ่านระบบ ผู้ฝึกงาน ซึ่งผู้ฝึกงานเหล่านี้จะได้รับค่าแรงค่อนข้างต่ำ


 


ผมเข้าใจว่ามีความต้องการให้เปิดตลาดข้าว แต่ข้าวเป็นสินค้าที่อ่อนไหวมาก เพราะมีเกษตรกรจำนวนถึง 3.4 ล้านครัวเรือนเกี่ยวข้องกับการผลิตข้าว และเป็นพืชที่มีอัตราส่วนของการพึ่งพิงตัวเองได้มากที่สุด คือ 50% และในทางวัฒนธรรมและทางนิเวศวิทยา ข้าวมีความสำคัญมาก ดังนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงไม่ต้องการที่จะเปิดตลาดข้าว แม้ว่าญี่ปุ่นจะนำเข้าข้าวจากไทย แต่ก็ค่อนข้างจำกัดในบางพื้นที่และสำหรับการนำมาผลิตภัณฑ์บางอย่างเท่านั้น ส่วนข้าวหอมมะลิก็มีขายในบางร้าน และในราคาที่แพงประมาณ 300 บาทต่อ 1 กิโลกรัม


 


ดังนั้น ตลาดข้าวจึงไม่ค่อยเปิด


 


อีกประเด็นหนึ่ง คือ เรื่องแรงงานย้ายถิ่น เพราะ JTEPA พูดถึงการเคลื่อนย้ายเข้าเมืองของพ่อครัว และในอนาคตอาจรวมถึงผู้ดูแลผู้สูงอายุ นอกจากนี้ เรื่องที่ไม่ค่อยได้พูดถึงกันอย่างเปิดเผย แต่อาจส่งผลกระทบอย่างมาก คือ เรื่อง การส่งออกของเสีย ตามข้อมูลของรัฐบาลญี่ปุ่น สิ่งนี้อาจรวมถึงการนำเข้าของเสียด้วย เพราะบริษัทญี่ปุ่นที่ตั้งฐานในหลายประเทศ รวมถึงไทย ต้องการส่งออกขยะรีไซเคิลกลับมายังญี่ปุ่น แต่แน่นอนว่า มีเรื่องการส่งออกของเสีย เพราะญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาไม่มีที่เพียงพอสำหรับจัดการของเสีย ส่วนท่าทีของญี่ปุ่นในการลงนามข้อห้ามบาเซลนั้นไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะในญี่ปุ่นมีพื้นที่จำกัดในการจัดการของเสีย นอกจากนี้ยังมีแรงผลักดันจากธุรกิจญี่ปุ่นในเรื่องการส่งออกของเสีย ญี่ปุ่นได้จัดจ้างให้มีการวิจัยถึงความเป็นไปได้ในการสนับสนุนการค้าขายของเสียข้ามพรมแดน อันนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวล ในญี่ปุ่น การมีส่วนร่วมของกลุ่มประชาสังคมมีไม่ค่อยมากในการเจรจา เพราะรัฐบาลต้องการรักษาการเจรจาเป็นความลับ


 


อย่างในองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) รัฐบาลอ้างว่าการเปิดเผยอาจนำไปสู่การรั่วไหลข้อมูลไปสู่ประเทศคู่แข่งอื่นๆ ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งไร้สาระ เพราะอะไรก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนควรจะต้องได้รับการถกเถียงในสาธารณะ และมันก็เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย กรณี JTEPA มีการตั้งกลุ่มคณะทำงานในปี 2546 ซึ่งจัดทำรายงานให้กับรัฐบาลทั้งสองประเทศ ทางฝั่งญี่ปุ่น คณะทำงานนี้มีตัวแทนจากภาครัฐบาล สภาธุรกิจ ตัวแทนจากสหกรณ์ประมง ตัวแทนจากเกษตรกร แต่ในฝั่งไทย มีแต่ตัวแทนของภาคธุรกิจที่เข้าร่วมในคณะทำงาน


 


นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม ญี่ปุ่นจึงปกป้องภาคเกษตร นอกจากนี้ คณะทำงานนี้ยังเป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสารกับรัฐบาล ในญี่ปุ่น มีกลุ่มที่ติดตามความเคลื่อนไหวของดับบลิวทีโอและเอฟทีเอ มีสมาชิก เช่น กลุ่มที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้บริโภค เดือนที่แล้ว กลุ่มเหล่านี้ออกแถลงการณ์ต้านการส่งออกของเสียของญี่ปุ่น


นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มแรงงานย้ายถิ่น ซึ่งแม้ปัจจุบันอาจจะยังไม่ค่อยมีบทบาท แต่น่าจะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต กลุ่มนี้กังวลเรื่องสิทธิของแรงงานย้ายถิ่นซึ่งไม่ค่อยได้รับการปกป้องเท่าไรในญี่ปุ่น และ JTEPA อาจจะเปิดโอกาสให้มีแรงงานย้ายถิ่นเข้ามาในญี่ปุ่นและอาจจะเปิดให้แรงงานเหล่านี้มีสถานภาพมากขึ้น อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มเกษตรกร ซึ่งมีอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน


 


คำถามคือ หลักการแบบไหนที่เราควรยึดถือในอนาคต หลักการพื้นฐานคือ ความสัมพันธ์ที่ยุติธรรม ยั่งยืน และมีส่วนร่วม ทั้งในระหว่างสองประเทศ และภายในแต่ละสังคม เราควรจะมีสังคมที่ยุติธรรม ยั่งยืน และมีส่วนร่วมภายในด้วย เพราะปัญหาที่เกิดจาก JTEPA อาจสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่มีอยู่ภายในประเทศ แต่น่าเสียดายที่ JTEPA เป็นการเจรจาอย่างลับๆ ขาดจากการมีส่วนร่วม และขาดจากความยุติธรรม แน่นอนว่า อาจจะมีแง่ดีที่จะตอกย้ำความสัมพันธ์ที่ไทยและญี่ปุ่นมีอยู่แล้ว แต่ในอนาคต คิดว่าเราควรจะต้องทบทวนความสัมพันธ์ให้อยู่บนพื้นฐานของหลักการเหล่านี้ คือ ยุติธรรม ยั่งยืน และการมีส่วนร่วม เราควรจะหลีกเลี่ยงการปกป้องอย่างแคบๆ ควรจะเรียกร้องความโปร่งใส เรียกร้องความยุติธรรมภายในสังคมของเรา


 


ในกรณีของญี่ปุ่น เราส่งออกของเสียเพราะว่าเราไม่พยายามแก้ไขปัญหาในประเทศของเราอย่างจริงจัง เราต้องคิดให้มากขึ้นว่าจะจัดการของเสียและจะลดการผลิตของเสียเหล่านั้นได้อย่างไร ญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะปกป้องตัวเองโดยเฉพาะในกรณีของภาคเกษตรบางส่วน แต่นั่นก็เพราะเราไม่สามารถผลิตภาคเกษตรที่เข้มแข็งภายในได้ ดังนั้น ประเด็นของ JTEPA ไม่ใช่เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเท่านั้น แต่สะท้อนปัญหาภายในของแต่ละประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า เราควรจะมีการทบทวน JTEPA ในอนาคต เพื่อจะลดผลกระทบ และควรจะมีการระบุประเด็นที่จะทบทวนชัดเจน เช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อม ประเด็นผลกระทบต่อภาคเกษตร


 


ส่วนคำถามที่ว่าหากไม่มีการลงนามระหว่างรัฐบาลทั้งสองในเดือนหน้าแล้ว ทางญี่ปุ่นจะมีปฏิกริยาอย่างไร ผมคิดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรร้ายแรง เพราะเป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า รัฐบาลไทยมาจากการรัฐประหาร ดังนั้นจึงน่าจะเป็นเรื่องปกติที่ เราน่าจะรอให้มีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งก่อน


 


000


 


คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม


ได้ไปศึกษาที่ญี่ปุ่น กรณีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนต่อโรคมินามาตะ และโรคอื่นๆที่เกิดจากมลพิษอุตสาหกรรมและของเสียอันตราย ได้มีโอกาสไปดูบางพื้นที่ของญี่ปุ่นและพบว่ามีปัญหาเยอะมากอย่างที่คาดไม่ถึง มีโอกาสได้พบกับคนญี่ปุ่นจำนวนมาก ทั้งแพทย์ นักวิจัย ชาวบ้าน ซึ่งหลายคนมีสำนึกในทางสาธารณะต่อประเทศของเขาสูงมาก คือ ไม่ต้องการให้รัฐบาลของเขาไปสร้างความเดือดร้อนให้ประเทศอื่น และจะพยายามช่วยเหลือแก้ปัญหา อันนี้เป็นสิ่งที่ประทับใจ


 


ญี่ปุ่นมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมาก แม้ว่าจะผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เข้มข้นมาหลายทศวรรษ และล่วงหน้าไทยมาร่วม 100 ปี แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังมีปัญหาอยู่ กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมของเขาเข้มงวดมาก มีโทษเอาผิดสูงขึ้นเรื่อยๆ ต้นทุนในการจัดการขยะแพงมาก เพราะสังคมบริโภคของญี่ปุ่นขยายตัวอย่างกว้างขวางและเข้มแข็ง ทำให้เกิดวิกฤตด้านของเสีย และยังมีสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุสูงขึ้น ญี่ปุ่นจึงต้องคิดแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เช่น พยายามถ่ายโอนการดูแลผู้สูงอายุไปยังประเทศอื่นที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่า


 


ความหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ที่แต่เดิมเรียกว่าเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นนั้น การเปลี่ยนชื่อมาเป็นอีพีเอ แทนเอฟทีเอ เป็นกุศโลบายของรัฐบาลเพราะต้องการเลี่ยงการต่อต้าน แต่ในเมื่อข้อตกลงยังมีจุดมุ่งหมาย และเนื้อหาเช่นเดิม ก็ต้องประสบกับการต่อต้านเช่นเดิม ประเด็นที่กลุ่มภาคประชาชนต่อต้าน คือ กระบวนการที่ไม่โปร่งใส และเนื้อหาที่จะส่งผลกระทบในส่วนของการเปิดโอกาสให้มีการจดสิทธิบัตรจุลชีพ การขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรพันธุ์พืช เรื่องขยะ เรื่องการแย่งชิงบุคลากรด้านสาธารณสุข เป็นต้น


 


ใน JTEPA เรื่องของเสียหรือขยะ ทั้งที่อันตรายและไม่เป็นอันตราย จะถูกยกระดับให้เป็นสินค้าและมีการลดภาษี เมื่อเราพูดถึงขยะ คนทั่วไปจะนึกถึงขยะที่เน่าเหม็น แต่ใน JTEPA จะรวมถึงยางรถยนต์เก่า สินค้าอิเล็คโทรนิคที่ไม่ใช้แล้ว ขยะทางการแพทย์ ขยะจากอุตสาหกรรม ตัวอย่างของเสียที่จะลดภาษีภายใน JTEPA เช่น เถ้าที่เหลือจากการเผาขยะเทศบาล เถ้าและกากที่มีสารหนูปนเปื้อน ของเสียจากอุตสาหกรรมเคมี ของเสียทางเภสัชกรรม อัตราภาษีจะเป็น 0% ในปีที่ 6 ปีแรกยังเสีย 25% แต่ในปีที่ 6 จะเป็น 0% ถ้าเป็นขยะเทศบาล ในปีแรกจะเสียภาษี 3.75% แต่จะลดเป็น 0% ในปีที่ 4 เช่นเดียวกับแบตเตอรี่เก่า ยางรถยนต์เก่า และของเสียจากสถานพยาบาล สิ่งเหล่านี้นำเข้ามาในไทยได้ทั้งนั้น และนี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยเท่านั้นในความตกลง ส่วนแอสเบสตอส เป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นห้ามไม่ให้ผลิต ใช้และจำหน่ายแล้ว เช่นเดียวกับประเทศในยุโรปและอเมริกา เพราะว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ว่านำเข้าไทยได้โดย JTEPA จะลดภาษีในปีแรกเหลือ 0% สำหรับของเสียทางเภสัชกรรมถือเป็นวัตถุอันตรายที่ห้ามนำเข้า แต่ตามสถิติปี 2539 มีการนำเข้าจากญี่ปุ่น 30,000 กว่าบาท ซึ่งถือเป็นการนำเข้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย


 


รายการของเสียอันตรายใน JTEPA ที่กรมควบคุมมลพิษเสนอให้เอาออกมีประมาณ 30 รายการ ไทยมีกฎหมายควบคุมไม่ให้นำเข้า แต่ปีที่แล้วยังมีการนำเข้ายาเหลือใช้และของเสียอื่นๆ จากญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆอยู่ และใน JTEPA ก็จะมีการลดอัตราภาษีด้วย กรมควบคุมมลพิษไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน แต่มาทราบภายหลังจากที่ภาคประชาชนเปิดเผยข้อมูล กรมควบคุมมลพิษได้ทำเรื่องไปยังกระทรวงการต่างประเทศ ขอให้ถอนรายการเหล่านี้ออก แต่ของเสียที่ปรากฎใน JTEPA มีอยู่กว่า 100 รายการ


 


รัฐบาลยืนยันว่ากฎหมายไทยควบคุมการนำเข้าของเสียอันตรายได้ แต่ขอยืนยันว่าไม่จริง เพราะกฎหมายไทย คือ พรบ. ควบคุมของเสียอันตรายและ กฎหมายควบคุมโรงงาน มีช่องโหว่ ส่วนอนุสัญญาบาเซลยังมีการเปิดให้มีการนำเข้าแบบรัฐต่อรัฐ ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลพยายามบอก คือ JTEPA จะไม่ละเมิดกฎหมายไทยแน่จึงไม่เป็นความจริง และปัญหาน่าจะรุนแรงมากขึ้นด้วย ที่น่ากังวลอีกอย่างคือ JTEPA จะส่งเสริมธุรกิจการรีไซเคิล แม้ว่าการรีไซเคิลอาจจะจำเป็นในการลดปริมาณขยะ แต่ควรจะทำกับขยะที่มีอยู่ในประเทศไทย นี่เป็นเสียงที่มาจากนักธุรกิจไทยด้วย เพราะเมื่อเปิดทางให้มีการนำเข้ามา เราจะควบคุมไม่ได้เลย นอกจากนี้ ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่มีมลพิษสูง หากมีการขยายตัวของธุรกิจนี้ในไทย รัฐไทยจะจัดการได้ยากมากภายใต้ความตกลงนี้


           


JTEPA เป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ โดยมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ผลักดันอยู่เบื้องหลัง อย่าว่าแต่ภาคประชาชนเลย หน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืช หรือรักษาสิ่งแวดล้อม ก็ยังไม่เคยเห็นร่างความตกลงฯ ข้อตกลงการค้าเสรีมันว่าด้วยเรื่องผลประโยชน์เท่านั้น ไม่สนใจเรื่องผลกระทบด้านอื่นๆ หากว่าผู้นำไทยไปลงนามในวันที่ 3 มีนาคม ไทยจะไม่มีกระบวนการใดในการนำเข้าสู่สภา แต่ในญี่ปุ่น จะต้องมีการนำเรื่องเสนอสู่การพิจารณาของรัฐสภาอีกครั้งเพื่อให้มีผลบังคับทางกฎหมาย การอภิปรายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ผ่านมา เป็นเพียงการขอความเห็นเท่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้ให้อำนาจรัฐบาลในการไปทำข้อผูกพันระหว่างประเทศ


 


000


 


คุณสุภา ใยเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน


เกษตรกรญี่ปุ่นมาถามเหมือนกันว่าเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นจะมีผลกระทบอย่างไร ที่ไปศึกษาที่ญี่ปุ่น คือ สนใจว่า เกษตรกรในญี่ปุ่นซึ่งมีจำนวนน้อยมี่ชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร สมมุติฐานคือ เขาน่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่พอไปเรียนรู้แล้ว พบว่าไม่ได้เป็นอย่างที่คิด พอไปถามเกษตรกร เขาก็ได้รับผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรี โดยเฉพาะ ดับบลิวทีโอ เพราะถูกกดดันให้ลดการอุดหนุนจากประเทศอย่างพวกเรา ในอเมริกาและสหภาพยุโรปก็คล้ายๆกันมีการอุดหนุนอย่างมาก แต่ไม่ว่าจะอุดหนุนมากอย่างไรก็ตาม มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าส่งผลให้ภาคเกษตรอ่อนแอลง เพราะการอุดหนุนไม่ได้กระตุ้นให้เกิดการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากนัก หลังจากเปิดการค้าเสรีในปี 2533 คือ เนื้อวัวและส้ม เกษตรกรก็ต้องปิดกิจการ เมื่อเปิดตลาดข้าว ราคาข้าวก็ตก ญี่ปุ่นไม่ได้นิยมกินข้าวหอมมะลิ ยกเว้นในเกาะโอกินาวา ซึ่งแต่เดิมมีความสัมพันธ์อันดีกับสยาม และมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์จากข้าว จึงมีตัวเลขการนำเข้าข้าวจากไทย


 


ประเด็นที่สองที่คิดว่าสำคัญ คือ การพึ่งตัวเองด้านอาหารได้เพียง 40% นั้นทำให้ญี่ปุ่นต้องพึ่งพิงอาหารจากต่างประเทศมาก นโยบายต่างประเทศจึงสำคัญ อันที่จริงมีความพยายามเพิ่มอัตราการพึ่งพิงทางอาหาร เพราะแม้แต่ในยุโรปเองก็มีอัตราที่สูงกว่านี้ พอพูดถึงเรื่องนี้ ก็อาจต้องพูดถึงด้วยว่าเมื่อทำข้อตกลงการค้าเสรีแล้ว ใครได้ประโยชน์ พอไปคุยเข้าจริง เกษตรกรญี่ปุ่นก็ไม่ได้ประโยชน์ เกษตรกรญี่ปุ่นก็ถามมาด้วยว่า ในเมื่อไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปที่ญี่ปุ่นมากแล้ว เกษตรกรไทยได้ประโยชน์หรือไม่ จากการที่ทำงานกับเกษตรกรมานาน ก็ทราบว่าภายใต้กรอบการแข่งขันเช่นนี้ เกษตรกรไทยเองก็ไม่ได้ประโยชน์ อย่างหอมและกระเทียม ตอนนี้ราคากลับแพง เพราะว่ามีการลดพื้นที่การปลูก เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ซึ่งมีผักจากจีนเข้ามามากในราคาที่ถูก เพื่อที่จะให้ราคาผักสูงขึ้น จึงต้องลดพื้นที่การผลิตบางส่วน การลดพื้นที่การผลิตก็ทำให้ราคาขึ้นๆลงๆ และสิ่งหนึ่งที่คาดไม่ได้คือ ภัยธรรมชาติ ญี่ปุ่นประสบปัญหาว่าอาหารที่นำเข้าจากออสเตรเลียราคาสูงขึ้น สินค้าจีนที่เข้าไปในญี่ปุ่นขณะนี้อาจจะยังถูกอยู่ แต่อีกหน่อย เมื่อจีนพัฒนาขึ้น จีนก็จะมีค่าแรงสูงขึ้น ขณะที่พื้นที่ปลูกภายในลดลง อันนี้เป็นโครงสร้างของระบบทุนและการค้าที่ปล่อยให้กลไกอุปสงค์และอุปทานขับเคลื่อน คิดว่าเป็นหน้าที่รัฐบาลโดยตรงที่ต้องสร้างโครงสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกร และทำให้ข้อตกลงการค้าเป็นประโยชน์ของคนส่วนใหญ่และต่อเกษตรกรในทั้งสองประเทศ


 


ภายใต้กรอบคิดการค้าเสรี ภาคเกษตรจะได้รับผลกระทบแน่นอน ไม่ต่างกัน อันที่จริงเกษตรกรในออสเตรเลียก็ไม่ได้รับผลประโยชน์มากนัก แม้ว่าออสเตรเลียจะส่งออกนมผงเข้ามาในไทยมาก กรณีไทย-ญี่ปุ่น ดูเหมือนว่าไก่ กุ้ง และอาหารทะเลจะได้เปรียบ แต่เราต้องดูโครงสร้างการผลิตด้วย อย่างนากุ้งที่นครศรีธรรมราชกำลังจะแย่ ที่ยังสามารถอยู่ได้เป็นบริษัทที่ทำนากุ้ง ไม่ใช้ชาวนารายย่อย เพราะล้มละลายไปแล้ว จะรื้อฟื้นกลับมาก็ไม่ใช่ง่าย ดังนั้น ดูจากโครงสร้างแล้วรายย่อยไม่น่าได้ประโยชน์ แต่จะตกอยู่ในมืออุตสาหกรรมการเกษตรมากกว่า อย่างปัญหาผู้อพยพในญี่ปุ่น แรงงานไทยแม้ว่าจะลดลง แต่ก็มีปัญหาเรื่องวีซ่า ล่าสุดฟิลิปปินส์มีข้อตกลงส่งผู้ดูแลคนสูงอายุซึ่งได้รับใบอนุญาตที่จะเข้าไปทำได้ แต่ยังไม่เห็นการเจรจาเชิงรุกที่เป็นผลประโยชน์กับคนด้อยโอกาสเหล่านี้และยังเห็นวิถีของแรงงานไทยที่ยากลำบาก อีกประการหนึ่ง คือ ในภาคอุตสาหกรรมเองก็อาจจะได้รับผลกระทบ อย่างกรณีการผลิตถ้วยซึ่งเป็นความงามศิลปะในญี่ปุ่นแต่ราคาแพงมาก กำลังถูกตีตลาดจากถ้วยราคาถูกจากจีน อีกเรื่องคือ เรื่องสิทธิบัตรจุลชีพ ในระดับดับบลิวทีโอเองก็มีปัญหาที่ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องแก้ไขกันอยู่แล้ว หาก JTEPA ทำให้ข้อตกลงเกินไปกว่าที่เป็นอยู่ก็จะทำให้การแก้ปัญหายากขึ้น


 


ที่พบอีกอย่างคือ กระบวนการสิ่งแวดล้อมในญี่ปุ่น อย่างเช่น เรื่องมินามาตะ ผู้บริโภคตื่นตัวมาก มีการรวมตัวซื้อสินค้า เขาจะระวังมากกับผักจีนซึ่งมีสารเคมีปนเปื้อน ในไทย ความตื่นตัวนี้มีมากขึ้น และก็มีนโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ส่วนกระบวนการชาวนา พบว่า เมื่อเขาทำแล้ว มีความตื่นตัวมากขึ้นและมีความร่วมมือกบัผู้บริโภคในการสร้างความสัมพันธ์ต่อกันในการผลิตอาหาร เป็นความสัมพันธ์ที่มากไปกว่าการซื้อขายผัก แต่เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมด้วย เช่น ที่เมืองนากาอิ มีเกษตรกรที่ร่วมกับผู้บริโภคทำเกษตรกรรมยั่งยืน มีโครงการเก็บขยะ เข้าใจว่าไม่ใช่แต่เฉพาะที่นากาอิ เพราะในส่วนอื่นๆก็มีการแบ่งแยกว่าในแต่ละวันจะมีการเก็บขยะประเภทใด แต่ที่นากาอิต่างตรงที่ว่า ผู้บริโภคที่ไม่ได้ทำการผลิตก็จะมานั่งคิดกันว่าจะจัดการของเสียอย่างไร และเทศบาลก็มาสนับสนุนทีหลังในการทำโรงปุ๋ยหมัก หรืออีกที่ เป็นองค์กรผู้หญิงทำร้านรีไซเคิล คือ ให้คนเอาของเก่าที่ไม่ใช้มาบริจาคและขายต่อ เงินที่ได้มาก็จะนำไปบริจาคให้กับประเทศในแอฟริกา


 


เมื่อครั้งที่เกษตรกรไทยและญีปุ่นได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันก็มีหลายอย่างที่เรานำกลับมาทำ โดยเฉพาะเรื่องขยะ กำลังเป็นปัญหามากในไทย ขณะนี้ก็มีกลุ่มองค์กรเกษตรกำลังคิดถึงเรื่องนี้อยู่ มีเทศบาลที่ขอนแก่นก็ไปดูงานที่ญี่ปุ่น ประเด็นสำคัญคือ หนึ่ง ภาคประชาชนญี่ปุ่นเน้นว่า ขยะบ้านใครก็บ้านมัน อย่างไทยบอกว่าจะส่งกากเต้าหู้ไปให้ทำปุ๋ยหมัก เขาก็บอกว่าไม่ต้อง ของเขาก็มี สอง ควรจะผลิตภายในและบริโภคภายใน อันนี้ก็เป็นประเด็นรณรงค์ ซึ่งรวมกับประเด็นอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับกำลังการทหาร และอยากจะแก้ข้อมูลนิดหน่อย คือ เมื่อมีการแก้กฎหมายเรื่องการเลือกตั้งในปี 2537 ทำให้ฐานเสียงของพรรค NLD อาจจะไม่อยู่ที่เกษตรกรอีกต่อไป อันนี้คือการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในญี่ปุ่น


 


สรุปสุดท้าย พบว่า บทเรียนที่เกิดขึ้นไม่ได้ถูกเอาขึ้นมาให้ความสำคัญ


 


ประเด็นหนึ่ง คือ พบว่ามันมีความแตกต่างอย่างมากของกรอบความคิดในเรื่องความสัมพันธ์ ในการเจรจาเอฟทีเอในทุกประเทศ กรอบความคิดคือต้องได้ผลประโยชน์จากกัน แต่เราต้องระมัดระวังด้วยว่าข้อตกลงใดก็ตาม เมื่อทำกับประเทศอื่น มันไปส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นหรือไม่ เพราะทำไปแล้วมาแก้มันแย่กว่าทำให้รอบคอบแล้วไม่ต้องแก้ แต่เวลาประชาชนคุยกัน กรอบความคิดอยู่ภายใต้การสร้างสังคมแห่งความยุติธรรม และในญี่ปุ่นก็คิดอย่างนี้ ในภาคประชาสังคมไทยเองก็คิดเช่นเดียวกัน เราไม่อยากให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกันมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้น คนเล็กคนน้อยในทั้งสองประเทศก็ไม่ได้ประโยชน์จากการเจรจา ดังนั้น กรอบความคิดในการเจรจาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจจะต้องเปลี่ยนไปสู่กรอบความคิดที่เห็นประโยชน์ส่วนใหญ่ของประชาชนและผู้ด้อยโอกาส


 


ประเด็นที่สอง มันอาจจะต้องสร้างพื้นที่เปิดให้ประชาชนมีความสัมพันธ์กันได้มากขึ้น และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างสัมพันธ์ระหว่างกัน ถ้าจะมีข้อตกลงใดๆก็ตาม น่าจะให้ประชาชนเข้ามาพูดคุยกันเองได้ ไม่ใช่เป็นความลับ คนที่สูญเสียประโยชน์จากการเจรจาควรจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมากด้วย


 


นอกจากนี้ คุณศจินทร์ ประชาสันติ์ โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส) ผู้ดำเนินรายการ สรุปประเด็นสำคัญที่ได้จากการสัมมนาอย่างคร่าวๆ ได้แก่


 


1. ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และกระแสที่ประเทศต่างๆ มุ่งสู่การค้าเสรี ข้อตกลงด้านเศรษฐกิจส่งผลกระทบไม่ได้แต่ในแง่เศรษฐกิจ แต่ยังส่งผลด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีความซับซ้อน เช่น เราอาจคิดว่าเกษตรกรญี่ปุ่นหรือออสเตรเลียได้ประโยชน์จากข้อตกลงกับไทย แต่ในความจริงกลับไม่ใช่ ขณะที่เกษตรกรไทยก็ไม่ได้ผลประโยชน์เช่นกัน


 


2. ในการทำความตกลงการค้าเสรี เราจะมีกลไกในการรวบรวมผลประโยชน์ที่แตกต่างหลากหลายและกระจัดกระจายภายในประเทศได้อย่างไร และจะมีกระบวนการจัดการผลประโยชน์ที่แตกต่างภายในประเทศอย่างไรได้บ้าง


 


3. เราจะส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนระหว่างกันให้มากขึ้นได้อย่างไร นอกเหนือไปจากความสัมพันธ์ในเชิงการค้าขายธุรกิจและความสัมพันธ์ในระดับรัฐ ความริเริ่มที่เกิดในท้องถิ่นของทั้งสองประเทศจะสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้อย่างไร และการเจรจาข้อตกลงใดๆจะเป็นเชิงรุกเพื่อประโยชน์ของคนด้อยโอกาสได้อย่างไร


 


4. การทบทวนข้อตกลงการค้าเสรีควรจะต้องมีประเด็นและแนวทางชัดเจนในการประเมิน ซึ่งต้องรวมถึงประเด็นผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม


 


5. การที่รัฐบาลชุดนี้ตัดสินใจลงนาม JTEPA ภายใต้บริบทที่ว่ารัฐบาลชุดนี้มาจากการรัฐประหาร และ ผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นกับหลายภาคส่วนนั้นชอบธรรมหรือไม่ และการที่รัฐบาลญี่ปุ่นยินยอมลงนามกับรัฐบาลไทยภายใต้บริบทที่ว่านี้สมควรหรือไม่


 


 


----------------------------------------

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net