Skip to main content
sharethis

สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคประกาศบอยคอต การรับฟังความเห็น เรื่องการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าและแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ที่จัดโดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงานในวันที่ 3 เมษายน 2550 นี้ โดยใช้พื้นที่ทหารและมีกำลังทหารกว่า 100 นายคอยคุมสถานการณ์ ระบุ เป็นการสร้างบรรยากาศเผด็จการ ไม่เอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วม ต่อการกำหนดนโยบาย แนวทางการบริหารประเทศ และการลงทุน ที่จะมีผลผูกพัน "เป็นค่าโง่" กว่า 300,000 ล้านบาทในอนาคตที่ประชาชนผู้บริโภคต้องจ่ายในรูปของค่าไฟฟ้า เป็นภาระค่าใช้จ่ายเกินจำเป็นที่มาจากการฮั้วกันของ รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และนักธุรกิจด้านพลังงาน-นักลงทุนก่อสร้างไฟฟ้า ทั้งนี้มีรายละเอียดคำแถลงการณ์ ดังนี้


 


0 0 0


 


คำแถลงการบอยคอต


"การรับฟังความเห็นการสร้างโรงไฟฟ้า ภายใต้กระบอกปืน ปูทาง "ค่าโง่" ค่าไฟฟ้า 3 แสนล้านในอนาคต"


                       


โดย สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สอบ.)


 


 


ตามที่กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะมีการรับฟังความเห็น เรื่องการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าและแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) วันที่ 3 เมษายน 2550 นี้ โดยจัดในพื้นที่ทหาร และจะมีกำลังทหารกว่า 100 นาย คอยคุมสถานการณ์


 


สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สอบ.) เห็นว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการใช้บรรยากาศเผด็จการ และกำลังทหารเข้ามาละเมิดสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมต่อการกำหนดนโยบาย แนวทางการบริหารประเทศ และการลงทุน ที่จะมีผลผูกพัน "เป็นค่าโง่" กว่า 300,000 ล้านบาทในอนาคตที่ประชาชนผู้บริโภคต้องจ่ายในรูปของค่าไฟฟ้า เป็นภาระค่าใช้จ่ายเกินจำเป็นที่มาจากการฮั้วกันของ รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และนักธุรกิจด้านพลังงาน-นักลงทุนก่อสร้างไฟฟ้า


 


ดังนั้นสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สอบ.) จึงขอปฏิเสธ (บอยคอต) การเข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นภายใต้กระบอกปืนดังกล่าว ตามที่กระทรวงพลังงาน โดยสำนักนโยบายและแผนพลังงานได้มีหนังสือเชิญเข้ามาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา


 


ทั้งนี้สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ขอเสนอเหตุผลต่อสาธารณชน ถึงปัจจัยสำคัญซึ่งเป็นที่มาของการจัดเวทีรับฟังความเห็นภายใต้กระบอกปืนและอำนาจเผด็จการในครั้งนี้ ดังนี้


 


1. ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประมาณ 50 ปี ประเทศไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ 21,064 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 27,115 เมกะวัตต์ แต่ในการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าเพื่อจัดทำแผนPDP2007 ระบุว่าในอีก 14 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีความต้องการไฟฟ้าสูงขึ้นเป้น 49,213 เมกะวัตต์ ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้น 1.3 เท่าตัว


 


2. มีการระบุในแผน PDP 2007 ว่า หากได้รับการอนุมัติจะนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประมาณ 4 โรง รวม 4,000 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 20 โรง ในอีก 14 ปีข้างหน้า


 


3. ปลายปี2549 นายกรัฐมนตรี พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ร่วมกับม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ได้เชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศให้มาลงทุนร่วมประมูลสร้างเมกะโปรเจคในภาคไฟฟ้า โดยประกาศว่าจะรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือ ไอพีพี จำนวน 3,000 - 4,000 เมกะวัตต์ ทั้งๆที่แผนพีดีพี ยังไม่ได้พิจารณาอนุมัติ ยังไม่รู้ว่าประเทศไทยความต้องการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เท่าไร และแบ่งกันอย่างไร


ระหว่างการดำเนินการโดยเอกชน กับการดำเนินการโดยรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.)


 


แต่เมื่อรัฐบาลให้คำมั่นสัญญากับนักลงทุนต่างชาติแล้ว หากผิดสัญญาก็อาจจะกระทบต่อภาพพจน์ของประเทศและความเชื่อมั่นนักลงทุน กระทรวงพลังงานในขณะนี้จึงจำเป็นต้องผลักดันให้ค่าพยากรณ์และแผนพีดีพีรองรับการประมูลไอพีพี เป็นการกลับหัวกลับหางในทางกระบวนการอย่างสิ้นเชิง


 


4. ยิ่งลงทุนมาก ยิ่งกำไรมาก เพราะผู้บริโภคเป็นผู้จ่ายค่าโง่ทั้งหมด เนื่องจากทุก ๆ 100 เมกะวัตต์ ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เพิ่มขึ้น จะนำไปสู่การลงทุนในระบบผลิตไฟฟ้า 115 เมกะวัตต์ (รวมกำลังผลิตสำรอง) คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 2,500 - 4,000 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ยและผลตอบแทนการลงทุน) การประมูลของนักลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่(IPP) 3,000 - 4,000 เมกะวัตต์ จึงหมายถึงเม็ดเงินลงทุนมากถึง 70,000 - 140,000 ล้านบาท ซึ่งท้ายสุดจะถูกนำมารวมเป็นต้นทุนบวกกำไรของผู้ลงทุน จะถูกส่งผ่านให้ประชาชนผู้บริโภค เป็นผู้จ่ายเงินในรูปค่าไฟฟ้า แม้จะเป็นภาระการลงทุนเกินจำเป็นผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ นักลงทุน ไม่ต้องลาออก ไม่ต้องติดคุก ไม่ต้องเสียค่าปรับ ไม่ต้องจ่ายชดเชยใดๆ ไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆ เพราะผลักภาระค่าโง่นั้นมาให้ประชาน ผู้บริโภคได้ทั้งหมด


 


เช่น ประสบการณ์ในอดีตเมื่อปี 2546 ประเทศไทยเคยเกิดภาระการลงทุนในกิจการไฟฟ้าเกินความจำเป็นถึง 400,000 ล้านบาทมาแล้ว และส่งผ่านในรูปค่าไฟฟ้ามาสู่ผู้บริโภคมาโดยตลอด


 


5. ประเทศไทยยังมีเวลาอย่างน้อย 7 ปี ที่ไม่ต้องสร้างโรงงไฟฟ้าใหม่ เพราะเรามีกำลังผลิตอีกกว่า 7,000 เมกะวัตต์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เนื่องจากแต่ละปีประเทศไทยมีความใช้ไฟฟ้าเพิ่มประมาณปีละไม่ถึง1,000 เมกกะวัตต์


 


ประเทศไทย มีศักยภาพการจัดการด้านการใช้พลังงาน พลังงานหมุนเวียนและระบบพลังงานแบบกระจายศูนย์ที่รอการสนับสนุนและพัฒนาอีกมาก และหากแนวโน้มการเพิ่มความต้องการใช้ไฟฟ้าใกล้เคียงกับแนวโน้มในอดีต ระบบไฟฟ้าน่าจะมีกำลังการผลิตเพียงพอที่จะรอสัก 2 ปี ให้มีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลอิสระ และเตรียมการปฏิรูประบบการวางแผนใหม่ที่โปร่งใส อิสระ ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน และมีการพิจารณาทางเลือกและต้นทุนความเสี่ยงที่รอบด้านขึ้น และอีก 5 ปีสำหรับสร้างโรงไฟฟ้าหากจำเป็นจริงๆ


 


6.รัฐบาลควรมีสนับสนุนการจัดทำการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าและแผนพีดีพี ให้กลุ่ม


ต่างๆในสังคมได้ไปจัดทำ เช่น ในเยอรมนี รัฐบาลมีนโยบายให้เงินหน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัย NGOs ผู้ประกอบการ และกลุ่มอื่นๆ รวม 10 แห่ง ต่างคนต่างทำแผนมา เพื่อมาเปรียบเทียบสมมุติฐาน กรอบคิด แนวทาง และให้คณะกรรมการกำกับดูแลนำไปดำเนินการต่อ ไม่ใช่กระบวนการปิดลับ เผด็จการ มีผลประโยชน์ทับซ้อน และผูกขาดเหมือนประเทศไทย


           


สุดท้ายประชาชน ผู้บริโภค ต้องร่วมมือกันบอยคอต "กระบวนการเผด็จการ" และ "ค่าโง่ในกิจการไฟฟ้า" ที่ส่งผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ในรูปค่าไฟฟ้า ผลกระทบต่อชุมชน วิถีชีวิต สุขภาพคน การแย่งชิงน้ำ มลพิษทางอากาศ ภูมิอากาศโลก ระบบนิเวศในท้องทะเล และปัญหาความขัดแย้งในสังคม เพื่อสังเวยผลกำไรให้ชนชั้นนำ นักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net