คุ้มครอง หรือ กักกัน : ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์

วันที่ 18 เม.ย.นี้ คณะอนุกรรมการด้านสุขภาพฯ ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมี นพ.ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี เป็นประธาน จะจัดรับฟังความคิดเห็นเพื่อแก้ไขร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ พ.ศ....... หลังจากได้รับเสียงคัดค้านจากกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ อย่างหนัก

 

ร่างพ.ร.บ.นี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณราว 2 ล้านบาท จากสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อตัวร่างปรากฏออกมามันถูกวิจารณ์ว่ากลายเป็น "การกีดกัน" และ "การตีตรา" มากกว่าการคุ้มครองผู้ติดเชื้อ ทั้งที่หลายสิบปีที่ผ่านมานี้มีการทำงานกันอย่างหนักเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสังคม กระทั่งศ.เสน่ห์ จามริก และสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิฯ รับปากว่าจะทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อระงับการนำเสนอร่างพ.ร.บ.นี้ โดยก่อนหน้านี้ไม่ได้รับทราบข้อมูลรายละเอียดว่าอนุกรรมการฯ ได้มีการเสนอร่างกฎหมายนี้อย่างไร

 

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ได้ดูร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวและนำเสนอข้อห่วงกังวลและข้อท้วงติงในประเด็นสำคัญที่น่าสนใจหลายประการ (ร่างพ.ร.บ.ฉบับเต็มดูในเอกสารประกอบ)

 

1. แนวคิดการยกร่างกฎหมายผิดตั้งแต่ต้น ดูได้จากหลักการและเหตุผลของร่างฯ สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ยกร่างไม่มีความเข้าใจปัญหาเอดส์

 

-          โร8เอดส์เป็นโรงติดต่อร้ายแรง ยังไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้

-          มีกฎหมายนี้เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวี

 

2. การตีตรากลุ่มคน ย้อนยุคกลับไปสู่ความคิดเดิมที่ว่า เอดส์เป็นเรื่องของคนบางพวก บางกลุ่ม เช่น การใช้คำว่า "กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ" ในมาตรา 3 ส่งผลให้มีการตีตราบุคคลบางกลุ่ม และจะนำไปสู่การบังคับตรวจเอดส์กลุ่มบุคคลที่ถูกตีตราว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งอาจทำให้กลุ่มคนดังกล่าวหลบลงใต้ดินมากขึ้น และจะมีผลต่อการทำงานกับกลุ่มคนที่ถูกระบุว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงยากลำบากยิ่งขึ้น

 

3. ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ความเป็นส่วนตัวของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์

- การบังคับให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีต้องแจ้งหรือเปิดเผยการติดเชื้อของตนเอง เช่น มาตรา 50 ต้องแจ้งคู่สมรส คู่หมั้น หรือผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ด้วย มาตรา 53 ต้องแจ้งก่อนรับบริการเจาะเลือด ฉีดยา ผ่าตัด ทำฟันเป็นต้น

 

เรื่องเหล่านี้มาจากแนวความคิดที่ว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเป็นบุคคลอันตราย เป็นผู้แพร่เชื้อ การเปิดเผยตัวจะทำให้ผู้อื่นปลอดภัยขึ้น ข้อเท็จจริงคือ ในการบริการสาธารณสุขมีการป้องกันแบบครอบจักรวาล คือ Universal Precaution อยู่แล้ว คือ ในการให้บริการต้อสันนิษฐานว่าผู้ป่วยที่มารับบริการอาจเป็นโรคที่ติดต่อได้ จึงต้องป้องกันไว้ก่อนทุกคน ข้อเท็จจริงคือคนจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ จะส่งผลให้คนไม่เข้าสู่กระบวนการตรวจเอดส์ เพราะจะมีผลให้มีความผิดทางกฎหมาย

 

-          เปิดช่องให้มีการบังคับตรวจเอดส์ เช่น

มาตรา 25 (1) เพื่อความจำเป็นต่อสุขภาพผู้ติดเชื้อ

                   ใครจะเป็นผู้ตัดสินว่าจำเป็น จะมั่นใจได้อย่างไรว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยจริง

              (2) เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวีฯ

มาตรา 51

-          มาตรา 50 วรรค 2 การให้อำนาจผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแจ้งผลการตรวจโรคของผู้ติดเชื้อต่อคู่สมรส คู่หมั้นได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ติดเชื้อก่อน

 

4. ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขมีสิทธิรับทราบสถานการณ์ติดเชื้อเอชไอวีของผู้รับบริการทางการแพทย์ก่อนให้การรักษาพยาบาลหรือการปฏิบัติทางการแพทย์แก่ผู้นั้น

 

สังคมจะวุ่นวายแน่ หากทุกคนมุ่งที่จะรู้ว่าใครติดเชื้อบ้าง เพราะเชื่อว่าตนเองจะปลอดภัยขึ้น ในกรณีนี้หากผู้รับบริการหรือผู้ป่วยจะขอทราบสถานการณ์ติดเชื้อเอชไอวีของผู้ให้บริการบ้าง ทำได้หรือไม่ เมื่อทราบว่าผู้ให้บริการติดเชื้อเอชไอวีจะขอเปลี่ยนผู้รักษาได้หรือไม่

 

5. การแบ่งแยกผู้ติดเชื้ออกจากสังคม

มารตรา 44-45 กรณีเด็กติดเชื้อได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องไปโรงเรียน และการกำหนดให้มีโรงเรียนพิเศษสำหรับเด็กติดเชื้อ ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกทำกัน และเป็นการตีตราเด็ก จะมีผลต่อการดำเนินชีวิตของเด็กเมื่อเติบโตขึ้น ทุกคนจะรู้ว่าเด็กที่จบจากโรงเรียนนี้เป็นเด็กติดเชื้อ

 

6. การกำหนดให้การแพร่เชื้อเอชไอวีเป็นอาชญากรรมร้ายแรง เป็นความผิดทางอาญา มีโทษหนักถึงจำคุกตลอดชีวิต เช่น มาตรา 96

 

หากการแพร่เชื้อเอชไอวีเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แล้วการแพร่เชื้อกามโรค การแพร่เชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งสามารถติดเชื้อได้ผ่านช่องทางการมีเพศสัมพันธ์เช่นกัน ทำไมไม่เป็นความผิดทางกฎหมาย สะท้อนให้เห็นทัศนคติที่มองว่าเอดส์เป็นแล้วตาย รักษาไม่ได้ ซึ่งไม่จริง

 

7. การกักกัน และการควบคุมผู้ติดเชื้อได้ถาวร เป็นการละเมิดสิทธิในร่างกาย เสรีภาพในการเคลื่อนไหวไปมา

-มาตรา 54 ให้อำนาจในการแยกหรือกักกันตัวผู้ติดเชื้อ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวี

-หมวด 5 สถานสงเคราะห์พิเศษ มาตรา 61-65 น่าจะเรียกว่าบ้านกักกันมากกว่า เพราะสามารถที่จะเอาตัวผู้ติดเชื้อไปไว้ในปกครองชั่วคราวหรือถาวรเลยก็ได้ ซึ่งหนักกว่านักโทษทั่วไปที่ต้องมีโทษตามกฎหมายชัดเจนว่ากี่ปี กี่เดือน กี่วัน คำถามคือใช้อำนาจใดมาควยคุมตัวผู้คนเช่นนี้ นี่เป็นกฎหมายที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนอย่างชัดแจ้ง

 

8. การเปิดช่องให้มีกาเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี

มาตรา 30 นายจ้างสามารถปฏิเสธการรับเข้าทำงานได้หากเป็นงานที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไอเชไอวี

คำถามคือ งานอะไรที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อบ้าง ปัจจุบันมีการนำข้ออ้างนี้มาใช้ในการปฏิเสธรับเข้าทำงาน แต่เป็นการอ้างบนความเข้าใจผิดเรื่องเอดส์

 

มาตรา 31 นายจ้างอาจมีการปฏิบัติต่อลูกจ้างที่ติดเชื้อเอชไอวีแตกต่างจากลูกจ้างทั่วไป ขึ้นอยู่กับลักษณะหรือสภาพของงาน

 

มาตรา 32 นายจ้างสามารถอ้างการติดเชื้อเอชไอวีในการเลิกจ้างหรือพนักงาน โยกย้ายหน้าที่การงาน ขัดขวางการทำงานของลูกจ้าง ฯลฯ

ข้อกำหนดดังกล่าวนี้ ขัดกับหลักการไม่เลือกปฏิบัติ และ ILO Code of Practice on HIV/AIDS in The World of Work, 2001 อย่างชัดเจน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท