Skip to main content
sharethis


น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)


 


ชลบุรี - วันนี้ (6 เม.ย.) ระหว่างการประชุมยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่โรงแรมเดอะ ไทด์ รีสอร์ท อ.บางแสน จ.ชลบุรี น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีเสียงวิจารณ์ให้อำนาจตุลาการภิวัฒน์เข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงสร้างการเมืองในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากเกินไปว่า เรื่องนี้ตนเองได้รับฟังมาจากหลายทางโดยเฉพาะฝ่ายตุลาการ ซึ่งในการร่างรัฐธรรมนูญ หากเราจะพิจารณาเรื่องความถูกต้องและให้การดำเนินงานทางการเมืองดีกว่าเก่า ดังนั้นมาตรการต่างๆ ที่กำหนดไว้ให้มีการปฏิบัติก็เป็นเรื่องที่จำเป็น ซึ่งหลังจากที่ตนรับฟังความเห็นของฝ่ายตุลาการ ก็ไม่อยากให้ฝ่ายตุลาการโดยเฉพาะศาลเข้ามายุ่งเกี่ยวหรือมีภาระอะไรมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ได้หารือกับกรรมาธิการแล้วจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้ในวันที่ 10-11 เมษายนว่า จะให้ตุลาการเข้ามาช่วยเหลือในด้านใดบ้าง โดยขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติ


 


"แต่อย่างน้อยในวันที่ 6-11 เมษายน ต้องได้ทุกมาตรา เพราะหลังจากวันที่ 11 เมษายนไปแล้วคงได้คำตอบ ทั้งนี้ การที่ทุกฝ่ายอยากให้ตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะเชื่อมั่นว่า สามารถชี้ถูกชี้ผิดก็ไม่น่าหนักใจเท่าไร จึงเป็นความหวังดี แต่ตุลาการเองได้บอกมาแล้วว่า เต็มใจที่จะเข้ามาช่วยทำงาน แต่หากประเด็นไหนเกี่ยวข้องกับการเมืองมาก ท่านก็ไม่ควร"


 


 


ประสงค์ชี้อยากให้การประชุมบางแสนเฉพาะกมธ. 35 คน ไม่เกี่ยวอนุ กมธ.


เมื่อถามว่า ในการประชุมครั้งนี้กรรมาธิการปิดกั้นไม่ให้คณะอนุกรรมาธิการเข้าร่วมประชุมด้วยจึงทำให้คณะอนุกรรมาธิการจะล็อบบี้กับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ให้แปรญัตติในส่วนที่ไม่ได้รับการพิจารณา จะกระทบต่อการทำงานหรือไม่ น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการทั้งสามกรอบ ได้ช่วยกันทำงานกันมาตลอด ก็ขอขอบคุณด้วย แต่ในการมาร่วมประชุมที่บางแสนครั้งนี้ เราก็อยากจะขอให้เป็นเฉพาะกรรมาธิการ 35 คน เพราะประธานคณะอนุกรรมาธิการแต่ละกรอบก็นั่งประชุมกับเราอยู่แล้ว ถ้ามีอะไรประธานแต่ละกรอบก็จะเป็นผู้ชี้แจงเอง หรือ ถ้ามีปัญหาแต่ละกรอบประธานแต่ละกรอบก็จะประสานกันเอง เพราะเรามีเวลาจำกัด


 


เมื่อถามว่า ดูเหมือนฝ่ายเลขานุการจะปิดกั้นการทำงานของคณะอนุกรรมาธิการ โดยไม่หยิบเนื้อหาที่คณะอนุกรรมาธิการศึกษาขึ้นมาประกอบการร่างรายมาตรา จึงทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ มองเรื่องนี้อย่างไร น.ต. ประสงค์ กล่าวว่า เนื้อหาที่คณะอนุกรรมาธิการแต่ละกรอบเสนอมา เราได้นำมาหารือกัน ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการแต่ละกรอบก็เข้าใจว่า ความเห็นของตัวเมื่อเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่แล้ว ต้องยอมรับความเห็นของส่วนใหญ่ที่จะเลือกอะไรดีที่สุด เหมาะสมที่สุด และเป็นไปได้มากที่สุดสำหรับประชาชน ซึ่งในวันที่ 10 เมษายนจะขอเวลาเฉพาะไม่ไปพูดเรื่องนี้เลย จะนำเรื่องที่ตกค้างจากกรุงเทพและในการประชุมรอบนี้ไปพูดกันให้ชัดในวันที่ 10 เมษายน


 


 


ออก ม.175 มาตรการล้อมคอกงบกลางทักษิณ


นอกจากนี้ระหว่างการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในหมวด 8 การเงิน การคลัง และงบประมาณนั้น


 


มาตรา 175 โดยมีเนื้อหาว่าด้วย ต้องมีเอกสารประมาณการรายรับและแสดงฐานะทางการคลังของประเทศ และแสดงการตั้งงบประมาณผูกพันข้ามปี และ งบกลาง โดยนายพิสิฐ ลี้อาธรรม กรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวว่าในช่วงสามปีหลัง ไม่มีการแจกแจงบกลาง มีการใช้เงินเป็นจำนวนมาก ขอให้การเขียนงบกลาง ให้รัฐบาลมีอิสระจะเป็นปัญหาต่อไปได้ แลมีข้อเสนอว่า ควรจำกัดตัวเลข เพื่อไม่ให้รัฐบาลใช้งบกลางได้โดยสะดวก หรือที่เรียกกันว่างบผี ขอให้เขียนผูกมัดให้มากกว่านี้


 


นายเกริกเกียรติ ก่อน 45 งบกลางไม่เกิน สิบเปอร์เซ็นต์ แต่หลังปี2545 งบกลางถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ตั้งแต่ปี 47 ที่คาเกี่ยวการเลือกตั้ง งบกลางเพิ่มเป็น 22% โดยเมื่อก่อนใช้เงินพ่อค้าซื้อเสียง แต่ตอนหลังเป็นการใช้งบประมาณไปซื้อเสียง ตนเห็นว่าไม้เสียหายหากจะใส่ในรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจน


 


ด้านนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่าเห็นด้วยในหลักการแต่การกำหนดสัดส่วนจะลำบาก เพราะการใช้จะเป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน คงจะไปกำหนดไม่ได้ แต่ขอให้ใส่ในวรรคสามให้กำหนดวงเงินและเปอร์เซ็นต์งบกลางไม่ได้ เขียนในรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่จะเขียนบังคับให้ออกกฎหมายที่กำหนดในภายหลัง


 


นายวิจิตร สุระกุล กรรมาธิการยกร่างฯกล่าวว่า ตนเป็นห่วงว่างบฉุกเฉิน เป็นงบใช้ในเหตุการณ์ไม่ปกติ หากไปกำหนดเป็นตัวเลขชัดเจนและกำหนดในรัฐธรรมนูญ ตนเป็นห่วงว่าจะมีปัญหา จะทำให้การทำงานลำบาก และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ดังนั้นควรควบคุมด้วยกลไกที่อ่อนกว่า


 


ขณะที่นายจรัญ ภักดีธนากุล กรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวว่าจากการฟังในกรอบสองทุกคนเห็นว่างบกลางควรพิถีพิถัน เราต้องกำหนดให้ยืดหยุ่น แต่ต้องไม่ใช่แบบที่ทำกันมา และควบคุมไม่ได้ และกลายเป็นงบที่ถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง หากเราปล่อยไปอย่างนี้ ในที่สุดพลาดอีก หากโยนไปให้กฎหมาลูก ต่อไปก็จะออกมาแบบยืดหยุ่นอีก เช่นการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ระบุว่าต้องให้หน่วยงานที่เสียหายมากล่าวโทษ ทำให้ ปปช. ทำงานไม่ได้ ตนจึงอยากให้หาตรงกลางให้เจอ โดยควรจะกำหนดไว้ แต่ไม่ให้กระทบการสภาวการณ์ฉุกเฉิน ก็ให้กำหนดว่าไม่เกินสิบเปอร์เซ็นต์ซึ่งเป็นวงเงินกว่าแสนหกหมื่นล้าน แต่ก็ให้กำหนดเพิ่มเติมด้วยว่า เว้นแต่จะเป็นเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเพื่อให้ยืดหยุ่นได้


 


 


ม.176 ถกหนักประเด็น ใครมีอำนาจเป็นรัฐบาลกรณี "ภาวะฉุกเฉิน" "ภัยพิบัติ"


ในมาตรา 176 "รัฐบาลมีอำนาจทบทวนประมาณการบัญชีรายรับในแต่ละปีงบประมาณ โดยการเสนอเป็นพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย เพื่อเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม ปรับปรุงการใช้งบประมาณประจำปีได้


 


ในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐบาลมีอำนาจปรับปรุง เปลี่ยนแปลง รายการการใช้งบประมาณ ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทันที และให้รายงานรัฐสภาทราบโดยไม่ชักช้า" นั้น


 


ในมาตรานี้ กรรมาธิการหลายรายได้ขออภิปราย โดยนายวิจิตร วิชัยสาร กรรมาธิการยกร่างฯ ถามว่าสถานการณ์ฉุกเฉิน ครอบคลุมถึงภัยพิบัติตามธรรมชาติหรือไม่ นายพิสิฐ  กรรมาธิการยกร่าง กล่าวว่าแล้ว เรื่องนี้แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาจะตีความ แค่น้ำอยู่ที่ตาตุ่มบอกว่าภัยพิบัติฉุกเฉินคงไม่ได้ น้ำท่วมมีคนตายคงประกาศได้


 


 


สดศรีถามหากรัฐบาลถูกยึดอำนาจใครจะมีอำนาจใช้งบ


นอกจากนี้นางสดศรี สัตยธรรม  กรรมาธิการยกร่างฯ ถามว่าถ้าในภาวะที่รัฐบาลถูกยึดอำนาจโดยทหารแล้วยังไม่มีรัฐบาล เมื่อทหารประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ใครจะมีอำนาจปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการใช้งบประมาณดังกล่าว ทุกอย่างมันจะระงับ จึงอยากทราบว่า คำว่า อำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วยังไม่มีรัฐบาลจะทำอย่างไร


 


น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธาน  กรรมาธิการยกร่างฯ ตอบว่าขอตอบคำถามนี้เนื่องจากตนคุ้นเคยกับการปฏิวัติ น.ต.ประสงค์กล่าวต่อว่าเมื่อยึดอำนาจรัฐได้แล้วอำนาจทุกอย่างอยู่ที่เขา เพราะฉะนั้นทุกอย่างจบจะได้คนดีไม่ดีก็อยู่ตรงนี้ว่าเขาจะจัดการอย่างไร


 


สดศรีกล่าวว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วให้รัฐบาลมีอำนาจดำเนินการ จึงน่าจะเขียนไว้หน่อยว่า ปลัดกระทรวงหรือใครมีอำนาจ


 


เดชอุดม  ไกรฤทธิ์ กรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวว่า 176 ในประโยคที่ว่า "รัฐบาล "มีอำนาจ" ทบทวนประมาณการบัญชีรายรับในแต่ละปีงบประมาณ โดยการเสนอเป็นพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม… อยากให้เปลี่ยนเป็น "รัฐบาล "อาจขอทบทวน" ประมาณการบัญชีรายรับต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาอนุมัติได้"


 


ในวรรคสอง รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี ใช้งบประมาณก่อนถ้ามีเงื่อนไขภาวะสงคราม ภาวะสงครามีสองสถานะคือสงครามที่ประกาศ กับสงครามที่ไม่ประกาศ ประกาศก็โดยอนุมัติรัฐสภาและพระมหากษัตริย์ทรงประกาศ ตามรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ประกาศละครับ ก็จะเป็นปัญหา ถ้าเขียนตรงนี้


 


อีกคำคือ เรื่องสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีภาคใต้สมัยรัฐบาลทักษิณ ใช้กฎหมายสองฉบับทับซ้อนกัน คือ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตนเองเคยอยู่คณะ กอส. ที่นายอานันท์เป็นประธาน เคยเสนอว่าไม่ควรประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ก็มีการประกาศ ซึ่งทำให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจใหญ่แทนทหาร พอใช้กฎอัยการศึกทหารใหญ่ แต่พอนายกรัฐมนตรีใช้ พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉิน ตำรวจใหญ่ อันนี้ทะเลาะกันเลย คิดว่าฝ่ายเลขา  กรรมาธิการยกร่างฯ ควรเรียบเรียงใหม่ว่าในภาวะต่างๆ ทั้งสงครามก็ดี สถานการณ์ฉุกเฉินก็ดี เขตภัยพิบัติ อย่างไข้หวัดนก อย่างเขตภัยพิบัติตอนน้ำท่วม ควรออกงดเว้นภาษีหรือเปล่า แล้วเขตภัยพิบัติก็มีที่ประกาศและไม่ประกาศ คิดว่ามาตรานี้ควรรับหลักการ แต่ขอฝ่ายเลขาฯ ปรับถ้อยคำให้ชัดเจนตามกรอบข้อเท็จจริงแต่ละเรื่อง นายเดชอุดมกล่าว


 


ทั้งนี้ประชาไทจะรายงานความคืบหน้าของการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้ทราบต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net