Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 7 เม.ย. 2550 วันนี้ก่อนการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ ร.ร.เดอะ ไทด์ รีสอร์ท บางแสน จ.ชลบุรี ในช่วงเช้านั้น


 


 


นายจรัญ ภักดีธนากุล รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และประธานคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกรอบที่ 2 ว่าด้วยสถาบันการเมือง


 


จรัญชี้ที่มานายกฯ "แต่งตั้งจาก ส.ส." ก็เหมือน "มาจาก ส.ส."


ผู้สื่อข่าวถาม นายจรัญ ภักดีธนากุล รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ว่า กรณีที่มีความเป็นห่วงว่าในมาตรา 180 อาจจะมีการซ่อนให้สามารถให้นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้ว่า หลักการของที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างฯ คือให้ นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. โดยหลักการอันนี้ชัดเจนว่าเป็นเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ส่วนเรื่องถ้อยคำเป็นการปรับให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ในคำว่า "แต่งตั้งจาก ส.ส." หรือ "มาจาก ส.ส." ก็มีความหมายที่ไม่ต่างกัน


 


เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการอภิปรายของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ บางคนถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อวานนี้จะเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกหรือไม่ นายจรัญ กล่าวว่า แน่นอน 100% ว่าไม่มีอะไร อันนี้แสดงให้เห็นถึงบรรยากาศของความหวาดระแวง ขอเรียนยืนยันว่าไม่มีอะไรแม้เพียงกระผีกนิดเดียว การบัญญัติที่มาของนายกรัฐมนตรีลงไปในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้สะท้อนประชาธิปไตย แต่สะท้อนให้เห็นภาวะความหวาดระแวง และความไม่ไว้วางใจในบ้านเรา ความแตกแยกทางความคิดของผู้คน ถึงจะต้องบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้นเป็นการบัญญัติเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของประเทศ


 


ส่วนเหตุผลที่กำหนดให้การประชุมในวันที่ 10 เม.ย. เป็นวันที่ลงมติและเป็นการประชุมลับนั้น นายจรัญ กล่าวว่า ตนเข้าใจว่าการลงมติก็เนื่องมาจากบางคนมีความเห็นที่ขัดแย้ง และมีความเชื่อและยึดมั่นกับความคิดเห็นของตัวเอง การที่เขาสงวนไว้ก็แปลว่าเขาจริงใจต่อความเชื่อ ดังนั้น หากมีโอกาสก็ต้องชี้แจงและพูดคุยให้ชัดเจน ซึ่งบางเรื่องก็ต้องลงในรายละเอียด และมีการพาดพิงถึงคนอื่น หากมีคนอื่นร่วมอยู่ด้วยก็อาจจะทำให้พูดได้ไม่เต็มปาก


 


 


นายศรีราชา เจริญพานิช กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.


 


ศรีราชายันเสนอควรเปิดช่องนายกฯ คนนอก ชี้บ้านเมืองต้องมองไกล แนะคนไทยเลือกตั้งให้เป็นได้แล้ว


ขณะที่นายศรีราชา เจริญพานิช ให้สัมภาษณ์ถึงการที่ตนเองได้เสนอที่มาของนายกรัฐมนตรีว่าไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาตรา 180 ในการประชุมวานนี้ว่า การเลือกตั้ง ส.ส. ก็เป็นการย่อส่วนของประชาชนลงมาให้ ส.ส. มาจากตัวแทนประชาชนและเมื่อถึงจุดๆ หนึ่งหาก ส.ส. มองว่าคนอื่นเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ผมยังถือว่าตัว ส.ส. นั้นเองซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนเป็นตัวเลือกนายกรัฐมนตรี เพียงแต่ว่าไม่ใช่ใครที่ไหนลอยมา แต่ก็มาจาก ส.ส.เหล่านั้นเห็นชอบ ต้องถือว่าปวงชนชาวไทยเป็นคนเลือก


 


"ทีนี้ถ้าเกิดพูดตามเหตุผลความจริงหรือปรากฏการณ์ในปัจจุบัน มองไปแล้วก็จะเห็นว่ามีเพียงไม่กี่คนที่น่าจะเป็นนายกฯ ได้ ดังนั้นยิ่งถ้ากำหนดข้อจำกัดเหล่านี้ลงไปมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะได้ผู้นำที่ดีน้อยก็อาจมีน้อยลงเรื่อยๆ ถึงเวลาแล้วที่บ้านเมืองต้องมองไกลๆ ยาวๆ เราต้องมองดูว่าใครเป็นคนมีศักยภาพและมีความเหมาะสม ก็ฝากไว้กับ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ว่าท่านมองผลประโยชน์ของตัวเองหรือผลประโยชน์ของประเทศไทยในระยะยาว นำพาประเทศไทยไปสู่ความเจริญ ถ้าเพื่อจะเล่นการเมืองในระบบเหมือนอย่างที่ผ่านมา ผมว่าประเทศไทยจะไม่ไหว ถึงเวลาแล้วที่บางครั้งเราต้องฉีกแนวออกไป ผมไม่อยากร่างรัฐธรรมนูญแล้วก็เหมือนอีหรอบเดิม เลือกตั้ง ส.ส.หน้าเดิม มีพฤติกรรมอย่างเดิม ก็ถือว่าคนไทยโชคร้าย ต้องฝากคนไทยแล้วครับ คุณจะต้องเลือกตั้งให้เป็นกันได้แล้ว"


 


นายศรีราชากล่าวอีกว่าแล้วเรื่องกินสินบาทคาดสินบนนั้น ตามรัฐธรรมนูญใหม่ผู้ที่ซื้อเสียงและขายเสียงผิดด้วยกันทั้งคู่


 


 


ประสงค์ยันที่มานายกฯ "ต้องได้รับการแต่งตั้งมาจาก ส.ส."


ด้าน น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเขียนรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่มีความกำกวมเหมือนจะเปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีคนนอกว่า ในมาตรา 180 ก็ชัดเจนว่านายกรัฐมนตรี "ต้องมาจาก ส.ส." เพราะฉะนั้นคำว่า "ต้องมาจาก ส.ส." อย่าไปตีความอย่างอื่น เพราะชัดเจนแล้วว่า "ต้องมาจาก ส.ส." เขียนไว้ชัดเจนแล้ว เมื่อถามว่าการเขียนว่านายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งมาจาก ส.ส. อาจจะไปเอาคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า คงไม่มี ซึ่งตนเชื่อว่าเมื่อวานก็ชัดเจนและได้ถกเถียงกันในประเด็นนี้


 


ถ้าหากเราไปเขียนว่า นายกรัฐมนตรี "ต้องได้รับการแต่งตั้งมาจาก ส.ส." ถ้าอย่างนี้จะไปตีความได้ว่าจะไปแต่งตั้งใครก็ได้ แต่ถ้าไปเขียนว่านายกรัฐมนตรี "ต้องมาจาก ส.ส." ก็ชัดเจนแล้ว ซึ่งคำว่า "แต่งตั้ง" กับ "มาจาก" ก็เหมือนกันคือแต่งตั้งจาก ส.ส.จะไปแต่งตั้งคนอื่นไม่ได้ เวลาเลือกตั้งมาและเลือกนายกรัฐมนตรีพรรคไหนได้เสียงข้างมาก พรรคนั้นก็เลือกคนของพรรคตัวเอง แต่ถ้าเป็นรัฐบาลผสมก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกใคร แต่ว่าจะเลือกใครก็ต้องเลือกจาก ส.ส. เมื่อถามว่า ส.ส. อาจจะไปแต่งตั้งคนนอกมาก็ได้ น.ต.ประสงค์กล่าวว่า เราชอบเป็นนักตีความ แต่การเขียนครั้งนี้จะชัดกว่าทุกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามมีผู้ขอสงวนไว้ ความเห็นที่แตกต่างตนรับฟังหมด และเราจะได้มาดูกันอีกครั้ง ยังไม่ได้ข้อยุติ


 


 


ชี้ความเห็นของศรีราชาเป็นความเห็นหนึ่ง ซึ่งที่ประชุมต้องรับฟัง


ผู้สื่อข่าวถามว่านายศรีราชา เจริญพานิช กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่าให้เลือกคนนอกมาก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ก็ขึ้นอยู่กับ ส.ส. แต่ความเห็นของนายศรีราชาก็เป็นความเห็นหนึ่ง ที่ประชุมก็ต้องรับฟัง แต่จะได้ข้อยุติอย่างไร ตนเชื่อว่าจะเป็นไปตามที่ประชาชนคาดหวัง หารือกันว่าประเด็นนี้จะโหวตหรือไม่ ที่ประชุมต้องหารือกัน เมื่อถามว่าจะสามารถตกลงกันได้หรือไม่ น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า คุยกันมาตั้งหลายเดือนแล้ว ทำไมจะกันไม่ได้


 


 


แย้มประชุมลับเพื่อถกเรื่องละเอียดอ่อนจะได้ทำงานสะดวก


ผู้สื่อข่าวถามว่าการโหวตลับจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหรือไม่ น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ในฐานะตนเป็นประธานตอบไม่ได้ ถ้าตนร่างคนเดียวถึงจะตอบได้ ตนต้องรับฟังทุกฝ่าย เพราะความเห็นของทุกฝ่ายต้องเป็นความเห็นที่ต้องนำมาพิจารณาว่าในที่สุดแล้วอะไรจะเป็นผลดี และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมของบ้านเมือง ตนมองตรงนี้เท่านั้น ตอนที่ประชุมที่ชะอำก็บอกแล้วว่าวันไหนที่มีประเด็นละเอียดอ่อนจะขอประชุมลับ ก็ได้ขอกันแล้ว


 


เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรให้สาธารณะสบายใจว่าไม่มีการบล็อกโหวต น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า สบายใจได้เลยว่ากรรมาธิการยกร่างทั้ง 35 คน ตนสังเกตว่าทำงานมา 2 เดือนกว่าทุกคนหวังดีต่อบ้านเมืองทั้งนั้น และความเห็นของเขาก็มาจากคนที่มีทั้งความรู้ทางวิชาการและประสบการณ์


 


"การประชุมลับไม่มีความหมายอะไร เพียงแต่ว่าขอเวลาให้พวกผมทั้ง 35 คน ได้ทำงานในลักษณะที่เราจะแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างชนิดที่เรียกว่าตรงไปตรงมาในประเด็นบางอย่างที่ละเอียดอ่อน และยังไม่ได้ข้อยุติ"


 


"แต่ก็มีโฆษกกรรมาธิการและรองโฆษก จะออกมาชี้แจงให้ทราบ ในข้อยุติเหล่านี้ต้องมีคำตอบชี้แจงให้สื่อหรือสังคมรับทราบหรือมีเหตุผล เราก็คอยจะไปดูว่าใครมีความเห็นอย่างไร เราต้องฟังความเห็นเขาบ้าง ขนาดสภายังขอประชุมลับได้ แต่นี่ไม่ใช่สภา นี่เป็นการทำงานพิเศษเฉพาะ ในเรื่องรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ปิดอะไร โปร่งใสตรวจสอบได้ เพียงแต่ว่าผมได้ขอร้องไว้แล้ว บางเรื่องบางราวที่มันละเอียด" น.ต.ประสงค์ กล่าว


 


นอกจากนี้ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวในห้องประชุมก่อนการประชุมว่า วันอาทิตย์เย็นคณะกรรมาธิการขอเชิญประชุมและทานอาหารนอกสถานที่ ณ ร้านปะการัง ส่วนวันจันทร์เย็น องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีเชิญทานข้าว โชว์น้ำพุ 32 ล้าน เต้นประกอบดนตรี และนายสมคิดยังกล่าวติดตลกว่า ตนขอความคิดเห็นว่าจะระบุเรื่องจะเอาน้ำพุลงไปในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเรียกเสียงหัวเราะจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างฯ อย่างครื้นเครง


 


 


โฆษกยันที่มานายกฯ "แต่งตั้งจาก ส.ส." ผ่านแล้ว จะไม่นำไปอภิปรายเพื่อปิดห้องโหวต


นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ แถลงข่าวเมื่อเวลา 11.00 น. ของวันนี้ว่า ความเห็นของนายศรีราชา กรรมาธิการยกร่างฯ ที่เสนอให้รัฐธรรมนูญระบุให้นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้เป็นความส่วนตัว แต่เมื่อวานนี้ที่ประชุมของคณะกรรมาธิการก็แลกเปลี่ยนกันแล้วว่าที่มาของนายกรัฐมนตรี "ต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" ตนคิดว่าประเด็นนี้คงผ่านแล้ว


 


ส่วนการตีความว่า "ต้องแต่งตั้งจาก ส.ส." หรือ "มาจาก ส.ส." คงไม่มีปัญหา ตนเองเห็นว่าจะไปตั้งจากอย่างอื่นไม่ได้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการโหวตลับกรณีที่มาของนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น นายไพบูลย์กล่าวว่าคงไม่มีการโหวตในประเด็นนี้ ส่วนที่มีกรรมาธิการยกร่างฯ บางคนเห็นว่าน่าจะมีการเปิดกว้าง ให้เป็นดุลพินิจของ ส.ส. ในการเชิญหัวหน้าพรรคคนใดคนหนึ่งมาเป็นนายกรัฐมนตรี หรือเอาบุคคลที่ไม่ได้เป็นบุคคลในสภามาเป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นความเห็นส่วนตัวของกรรมาธิการยกร่างฯ บางท่าน แต่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เมื่อวานนี้ ก็ยุติแล้วว่านายกรัฐมนตรี "ต้องแต่งตั้งมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" เท่านั้น


 


เมื่อมีผู้สื่อข่าวถามทำไมไม่ร่างรัฐธรรมนูญตามที่อนุกรรมาธิการยกร่างฯ กรอบ 2 เสนอว่า "นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส." การเขียนรัฐธรรมนูญว่า "นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งมาจาก ส.ส." จะทำให้เกิดการตีความผิดเพี้ยนไปได้หรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า "ไม่มีปัญหานายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งมาจาก ส.ส. จะแต่งตั้งจากอย่างอื่นไม่ได้"


 


แต่ปัญหาอยู่ที่เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือถูกยุบ มีการหารือว่าเราจะใช้ระบบเดิมคือใช้คณะรัฐมนตรีรักษาการจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่รับหน้าที่ หรือดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีชุดเดิมนั้นพ้นออกไปก่อนแล้วมีคณะรัฐมนตรีชั่วคราวขึ้นมาบริหารใหม่ ซึ่งจะไปโหวตกันวันที่ 10 เม.ย


 


เมื่อมีผู้สื่อข่าวถามว่า ในเมื่อที่ประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้ข้อยุติว่านายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งมาจาก ส.ส. แล้ว แต่นายศรีราชา เจริญพานิช หนึ่งในกรรมาธิการยกร่างฯ ยังเสนอนายกรัฐมนตรีคนนอกอยู่ แสดงว่าอาจมีการหยิบยกขึ้นมาโหวตในการประชุมลับหรือไม่นั้น


 


นายไพบูลย์ตอบว่า ในวันนั้นก็จะมีการทบทวนประเด็นคาใจขึ้นมาโหวต ซึ่งอาจมีกรรมาธิการบางรายขอมติที่ประชุม แต่ในทรรศนะส่วนตัวของผมคิดว่าได้ยุติแล้วแต่ในกรณีที่มาของนายกรัฐมนตรี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net