เลขาฯ กมธ.ยันพิจารณา รธน.แล้วเสร็จ 9 เม.ย. นี้ - 10 เม.ย. ปิดห้องคุยแน่

ประชาไท 7 เม.ย. 50 - วานนี้ (6 เม.ย.) ระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ ร.ร.เดอะ ไทด์ รีสอร์ท หาดบางแสน อ.เมือง จ.ชลบุรี นั้น

 

 

พิจารณา รธน.ครบ 9 เม.ย. นี้ 10 เม.ย. คุย-ลงมติประเด็นที่สงวน

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6-9 เม.ย.นี้ จะมีการพิจารณาเรียงมาตราจนครบ 317 มาตรา ตอนนี้ (6 เม.ย.) ผ่านมาได้ครึ่งทางแล้ว 173 มาตรา ซึ่งจะพิจารณาให้ครบทั้งหมดภายในวันที่ 9 เม.ย. จากนั้นวันที่ 10 เม.ย.เนื่องจากมีกรรมาธิการหลายท่านขอสงวนไว้หลายประเด็น บางประเด็นคงจะลงมติกันเลย แต่บางประเด็นก็จะเปิดให้อภิปรายเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เพราะหลายเรื่องได้หารือกันมาแล้ว น่าจะอภิปรายกันไม่มาก เช่น การศึกษาจะให้ 12 ปี หรือ 9 ปี แต่บางเรื่องเช่น ควรจะมี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อหรือ ส.ส.สัดส่วนหรือไม่ และรายละเอียดสัดส่วนบุคคลจะเป็นอย่างไรต้องมีการคุยรายละเอียดเพิ่มเติม เท่าที่รวบรวมได้จะมี 20-30 ประเด็น ที่อาจจะต้องมีการลงมติในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งตนก็ได้เตรียมเอกสารลงคะแนนทั้งลงคะแนนเปิดเผยและลงคะแนนลับ เปิดเผยอาจจะใช้วิธีการยกมือ ถ้าต้องการลงลับก็มีกระดาษลงคะแนนเห็นด้วยไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตามในวันที่ 10 เม.ย.น่าจะจบลงทั้งหมด และวันที่ 11 เม.ย.น่าจะทบทวนทั้งหมด

 

 

พิจารณาอำนาจตุลาการที่เพิ่มใน รธน. ตุลาการหวั่นมีการเมืองแทรก

นายสมคิด กล่าวว่า นอกจากนี้ในวันที่ 10 เม.ย.ตนอยากให้มีการพูดคุยในประเด็นอื่นๆ ด้วย เช่น อำนาจของตุลาการที่เพิ่มอำนาจให้มาก ในฐานะที่ตนเป็นเลขาก็จะไปรวบรวมว่าอำนาจของฝ่ายตุลาการเพิ่มขึ้นกี่อย่าง หรือปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งหลาย หรือปัญหาการนำคนดีเข้าสู่ระบบ ซึ่งจะต้องมาดูอีกครั้งว่าร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดได้แก้ปัญหาทั้งหมดไว้หรือยัง เมื่อถามว่ากรรมาธิการส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าให้อำนาจตุลาการมากเกินไป นายสมคิด กล่าวว่า เท่าที่รวบรวมก็เห็นว่ามีอำนาจเยอะ และก็ไปลดอำนาจบางอย่างลงมา เท่าที่รับฟังความเห็นของตุลาการบางส่วนท่านก็กังวล ว่าหากให้อำนาจมากเกินไปฝ่ายการเมืองก็จะเข้ามาแทรกแซงได้ ท่านจึงอยากให้พิจารณาอย่างรอบคอบ แต่ไม่ใช่ว่าตุลาการไม่อยากเข้ามาช่วยประเทศ แต่เป็นเรื่องที่รู้สึกว่าหากหลายเรื่องให้ตุลาการทำ เช่นสรรหาองค์กรอิสระ หรือการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ

 

เมื่อถามว่าหากให้อำนาจตุลาการมากเกินไปจะสามารถคานอำนาจอย่างไร นายสมคิด กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเราก็พยายามคานอยู่แล้ว เช่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจตรวจสอบตุลาการได้ในบางเรื่อง เช่นหากตุลาการทำงานล่าช้า ผู้ตรวจการฯก็สามารถตรวจสอบได้ แต่ความจริงคงไม่ใช่การตรวจสอบฝ่ายตุลาการ แต่ต้องดูว่าอำนาจที่เพิ่มขึ้นของตุลาการมีกี่อย่าง สมมติเพิ่มขึ้น 10 หรือ 15 อย่าง เราก็อาจจะลดลงมาเหลือ 10 อย่าง คงไม่ได้ลดทั้งหมด แต่จะพยายามทำให้เกิดดุลยภาพให้มากที่สุด

 

 

เตรียมหารือ ส.ส.ร.นอกรอบ ตกลงไม่ได้ค่อยแปรญัตติ

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีกรรมาธิการบางคนไม่พอใจการทำงานของเลขานุการจะไปล็อบบี้ ส.ส.ร.ให้มีการแปรญัตติ นายสมคิด กล่าวว่า ตนเองไม่ได้ข่าวเลย แต่การที่ ส.ส.ร.จะไปขอแปรญัตติหากไม่เห็นด้วยกับกรรมาธิการถือเป็นเรื่องปกติ แต่เราได้ตกลงกับ ส.ส.ร.ไว้แล้วว่าจะมีการหารือกันนอกรอบในวันที่ 23-24 เม.ย.เพื่อตกลงในรายละเอียดว่าถ้า ส.ส.ร.ท่านไหนมีประเด็นที่อยากแก้ไขเพิ่มเติม และกรรมาธิการยอมหรือไม่ยอมกัน เพื่อที่จะได้เข้าใจกันได้ ซึ่งอาจจะเพิ่มวันที่ 24 เม.ย.อีกวันก็ได้ เรื่องไหนที่ตกลงกันได้ก็ตกลงกันไป เรื่องไหนตกลงไม่ได้ ส.ส.ร.ก็จะไปแปรญัตติ แต่ว่าแปรญัตติไม่ใช่ว่าไม่เห็นด้วยหรือขัดแย้งกัน คิดว่าเป็นเรื่องระบอบประชาธิปไตย แต่ละคนก็มีบทบาทของตัวเอง กรรมาธิการยกก็มีหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญให้ดีที่สุด ส.ส.ร.อาจจะมีความเห็นแตกต่างกันไปก็ได้ เช่นการสรรหาวุฒิสภา กรรมาธิการส่วนใหญ่อาจจะเห็นว่าการสรรหาเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ ส.ส.ร.ทั้ง 100 คนอาจจะเห็นว่าไม่ถูกต้องอาจจะกลับไปสู่การเลือกตั้ง ก็สามารถแปรญัตติได้ ก็เป็นเรื่องธรรมดา อย่างไรก็ตามหากความเห็นไม่ตรงกันก็ต้องลงมติ ซึ่งไม่แน่ใจว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 49 กำหนดว่าจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงของกรรมาธิการยกร่างต้องใช้เสียง 2 ใน 3 มากกว่าปกติธรรมดาทั่วไป ถ้าจะแก้ ส.ส.ร.ต้องรวมพลังกันพอสมควรการ

 

 

ประธาน ส.ส.ร. ชี้จะให้อำนาจศาลแค่ไหนต้องถามคนทำหน้าที่

ด้านนายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส..ร.) กล่าวถึงการเตรียมการกรณีที่จะมีการพิจารณาแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญมีกำหนดที่จะประชุมนอกรอบกับกรรมาธิการยกร่างก่อนถึงช่วงที่จะมีการแปรญัตติส่วนที่มีผู้เสนอให้ปรับลดอำนาจของฝ่ายตุลาการในร่างรัฐธรรมนูญลงว่า เรื่องดังกล่าวเข้าใจว่ามีการฟังความเห็นของผู้ที่อยู่ในวิชาชีพตุลาการซึ่งคงมีการแสดงความคิดเห็นมาแล้วโดยกรรมาธิการยกร่างฯจะพิจารณาถึงความเหมาะสม

 

"ศาลมีความสำคัญ เดิมไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องมากแต่ศาลเป็นองค์กรที่เข้ามาแก้ไขในช่วงที่มีวิกฤตการณ์ได้เป็นอย่างดีแต่ถ้าเราเอาทุกอย่างไปฝากไว้กับศาลทั้งหมดก็ต้องถามผู้ที่จะทำหน้าที่ด้วย โดยจะให้อำนาจกับศาลมากแค่ไหนกรรมาธิการยกร่างฯก็ต้องพิจารณาโดยกรรมาธิการยกร่างฯ ต้องฟังความเห็นของศาลอยู่แล้วตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้รับฟังความเห็นขององค์กรต่างๆ เพื่อให้เกิดสมดุล" นายนรนิติ กล่าว

 

 

ชี้เรื่องแปรญัตติ ส.ส.ร.จะใช้ประชุมนอกรอบกับกรรมาธิการ

นายนรนิติกล่าวถึงการแปรญัตติของ ส.ส.ร.ซึ่งค่อนข้างมาข้อจำกัดในการขอแปรญัตติโดย ส.ส.ร.คนใดที่ขอแปรญัตติแล้วจะไม่สามารถขอแปรญัตติได้อีกว่า ในเรื่องนี้ ส.ส.ร.ไม่ได้มีข้อจำกัดในการแสดงความคิดเห็นแต่เป็นการเปิดให้แปรญัตติโดยอิสระซึ่งมากที่สุดสมาชิกสามารถแปรญัตติได้เพียง 9 ชุดเท่านั้น ตนเชื่อว่า ส.ส.ร.ไม่สามารถแปรญัตติได้หมดตั้งแต่มาตราแรกจนถึงมาตราสุดท้ายดังนั้นสิ่งที่เราเตรียมเอาไว้คือการประชุมนอกรอบระหว่างกรรมาธิการยกร่างกับ ส.ส.ร.ซึ่งได้มีการหารือเบื้องต้นกันแล้ว

 

เมื่อถามว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลายส่วนที่เปลี่ยนแปลงเช่นการคัดเลือก ส.ว. และการใช้ระบบสัดส่วนจะมีผลต่อการทำประชามติหรือไม่นายนรนิติ กล่าวว่า ทุกอย่างอาจมีผลต่อการทำประชามติมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณีแต่ส่วนที่เกี่ยวกับ ส.ส.และ ส.ว. ตนเข้าใจว่าในวันนี้ยังไม่มีข้อยุติซึ่งอาจจะมีการตกลงกันในการสัมมนาครั้งนี้โดยน่าจะได้ข้อสรุปในวันที่ 11 เม.ย. 2550 ซึ่งจะมีการลงมติเด็ดขาดว่าประเด็นใดมีข้อสรุปอย่างไรและจะมีการเขียนรัฐธรรมนูญออกมาตามนั้นเมื่อถามต่อว่ามีกรรมาธิการฯ หลายส่วนไม่พอใจฝ่ายเลขาฯ ที่พยายามรวบรัดตัดตอนไม่ค่อยฟังความคิดเห็นของอนุกรรมาธิการฯ บางส่วน นายนรนิติกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวตนไม่ทราบ ตนเข้าใจว่าความเห็นต่างกันเป็นเรื่องปกติเพราะมีหลายเรื่องที่ตนเห็นไม่ตรงกับกรรมาธิการยกร่างตั้งมากมายต่างผ่ายต่างมีความเห็นแตกต่างกันออกไปแต่สิ่งทีทราบคือระยะเวลาตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 11 เม.ย. กรรมาธิการยกร่างฯจะตกลงกันซึ่งถ้าตกลงไม่ได้จะใช้วิธีการลงมติ

 

 

จะใช้คุยนอกรอบก่อนแปรญัตติรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามต่อว่ามีกระแสข่าวว่าจะมีกรรมาธิการบางส่วนล็อบบี้ ส.ส.ร.ให้มีการแปรญัตติในส่วนที่มีตกหล่นการพิจารณาของกรรมาธิการยกร่างฯ ไป นายนรนิติ กล่าวว่า ขณะนี้ ส.ส.ร.ยังเข้าไปทำอะไรไม่ได้ซึ่งเรื่องนี้เราจะไม่ควบคุมกันเพราะเป็นเรื่องของกรรมาธิการยกร่างฯ ที่จะไปคุยกันส่วนที่เหลือเมื่อถึงเวลาที่ ส.ส.ร.ชุดใหญ่สามารถแปรญัตติได้จะดำเนินการไปตามนั้นตนเชื่อว่าการประชุมนอกรอบจะช่วยทำความเข้าใจการทำงานของ ส.ส.ร. และกรรมาธิการฯ ยกร่างโดยเราต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเพราะหากรัฐธรรมนูญสุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่งก็คงยากเพราะรัฐธรรมนูญไม่ใช่ของ ส.ส.ร. คนใดคนหนึ่งแต่เป็นของประชาชน

 

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าการทำงานของกรรมาธิการยกร่างฯ ควรมีการเปิดเผยเพื่อป้องกันข้อครหาถึงความไม่โปร่งใสโดยให้อนุกรรมาธิการเข้ามาฟังได้หรือไม่ นายนรนิติ กล่าวว่า กรรมาธิการฯ ก็เปิดเผยมาตลอดโดยมีการถ่ายทอดสดให้สื่อมวลชนฟังการเปิดหรือไม่เปิดอย่าไปดูว่าคนส่วนนี้เข้าไปได้หรือไม่แต่ต้องดูว่าเขาให้มีการถ่ายทอดหมดหรือไม่ หากดำเนินการเหมือนที่ อ.ชะอำก็ไม่มีปัญหาซึ่งตนเชื่อว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเพราะเท่าที่ทำมาตลอดก็เปิดเผยทุกอย่างโดยการเปิดเผยจะเป็นผลดีส่วนที่มีข้อท้วงติงเป็นข้อท้วงติงของกรรมาธิการเท่านั้นแต่ประชาชนและสื่อมวลชนก็ยังคงสามารถรับฟังได้อยู่ดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท