Skip to main content
sharethis

ยกเครื่องกระบวนการทำ "เอฟทีเอ" จี้ผ่านสภาก่อนลงนาม


ประชาไท -เมื่อวันที่ 7 เม.ย. เวลา 9.30 น. มีการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มี น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธาน โดยเริ่มพิจารณารายมาตรา ในมาตรา 200 มีการระบุว่า "พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจ ในการทำสนธิสัญญา สันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ


 


สนธิสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือมีเขตอำนาจตามสนธิสัญญา หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ จะต้องออกพระราชบัญญัติ เพื่อให้เป็นไปตามสนธิสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคง ทางเศรษฐกิจ หรือสังคมของประเทศอย่างร้ายแรง ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา รัฐต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการตัดสินใจ ทำพันธกรณีกับต่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ และต้องเปิดให้ประชาชน เข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับพันธกรณี รวมทั้งต้องชี้แจงต่อรัฐสภา เกี่ยวกับพันธกรณีนั้น


 


ในกรณีที่การปฎิบัติตามพันธกรณีที่ได้กระทำไว้ต่อนานาประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน รัฐต้องดำเนินการ แก้ไขหรือเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว เหมาะสมและเป็นธรรม"


 


โดยในประเด็นนี้กรรมาธิการบางส่วนได้ตั้งคำถามว่าการทำสัญญาเอฟทีเอจะเข้าอนุฯใด นายสมคิดกล่าวชี้แจงว่าการทำสัญญาเอฟทีเอถือว่าเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศซึ่งจะจัดอยู่ในวรรค 2


 


"คมสัน" ดักคอซ้ำรอยปัญหาการตีความ


ขณะที่นายคมสัน โพธิ์คง กรรมาธิการยกร่างฯกล่าวว่าขอเสนอให้สลับถ้อยคำวรรคสอง คำว่า "เขตอำนาจแห่งรัฐ" ขึ้นก่อนคำว่า "อาณาเขตไทย" เพราะหากเขตอำนาจแห่งรัฐอยู่หลังคำว่าอาณาเขต ทำให้เข้าใจว่าเขตอำนาจรัฐหมายถึงดินแดน ทั้งที่คำนี้มีความหมายกว้างกว่านั้น และเคยเกิดปัญหามาแล้วในเรื่องเขตอำนาจแห่งรัฐจึงสมควรแก้ไข


 


"ส่วนวรรคสอง กับวรรคสาม ไม่ตรงกับที่เคยเสนอ เพราะวรรคสอง คำถามคืออะไรมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างร้ายแรง และคำว่าร้ายแรงนั้นแค่ไหน และวรรคสาม ในการที่จะให้ประชาชนรับรู้จะให้รับรู้ช่วงใด ถ้ารู้หลังลงนามสนธิสัญญาก็ไม่มีประโยชน์ ข้อความต่อมาว่า รวมทั้งต้องชี้แจงต่อรัฐสภา เข้าใจว่าจะผูกกับวรรคสอง ความจริงแล้วการขอรับความเห็นชอบจากรัฐสภาต้องชี้แจง ตีความได้หรือไม่ว่าชี้แจงโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบเหมือนกรณีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทยญี่ปุ่น หรือ JTEPA ที่ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อภิปรายโดยไม่มีการลงประชามติ" นายคมสัน กล่าว



นายคมสันกล่าวว่า ขณะที่วรรคสี่ ข้อความตามวรรคสาม หากการรับฟังความเห็นไม่ทำก่อนลงนาม ประชาชนไม่มีประโยชน์อะไร จึงเสนอว่า กรณีที่กระทำพันธกรณีกับต่างประเทศที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตหรือวิถีชีวิตประชาชน รัฐต้องเปิดให้ข้อมูล และรับฟังความเห็นประชาชนอย่างรอบด้านก่อนการตัดสินใจทำสนธิสัญญา และต้องชี้แจงการดำเนินการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม และเป็นธรรม นอกจากนี้ การเขียนมาตรา 200 ไว้เช่นนี้ไม่ได้แก้ปัญหาเดิม แต่เอื้อให้กระทรวงการต่างประเทศ ทำการพันธกรณีกับต่างประเทศได้เร็วขึ้น แต่ประชาชนจะได้รับผลกระทบมหาศาล


 


กรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวว่า มาตรา 200 มีปัญหาตีความมาโดยตลอด ตามวรรคหนึ่งถูกตีความว่าเรื่องการค้าไม่เข้าเงื่อนไขต้องนำขึ้นทูลเกล้า ทั้งที่หลักการ มาตรา 200 เขียนเหมือนมาตราอื่นๆ อาทิเช่น ม.197 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจตราพระราชกฤษฎีกา ม.198 ทรงไว้พระราชอำนาจในการประกาศกฎอัยการศึก ต้องนำขึ้นทูลเกล้า ม.201 ม.203 ต้องนำขึ้นทูลเกล้า แต่มาตรา 200 ไม่เข้าใจว่าที่ผ่านมากระทรวงต่างประเทศ เคยนำหนังสือสัญญาต่างๆ ทูลเกล้าหรือไม่เพราะเนื้อความเขียนเหมือนเรื่องอื่น โดยเฉพาะการทำสนธิสัญญาเขตการค้าเสรี สัญญาระหว่างประเทศ ที่ผ่านมาไม่เคยนำขึ้นทูลเกล้า มีปัญหาที่ต้องชัดเจน เพราะในอดีตนั้นมีปัญหาว่ากว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ โดยเฉพาะจังหวัดภาคเหนือ เอฟทีเอไทย-จีน เกษตรกรปลูกหอม กระเทียม ขายไม่ได้ เอฟทีเอ ไทย-ออสเตรเลีย เกษตรที่เลี้ยงโค มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตมหาศาล


 


"ไม่ว่าอนุสัญญาใดๆ ที่รัฐบาลทำแล้วได้รับผลกระทบต่อประชาชน รัฐต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ก่อนที่จะมีการตัดสินใจ โดยเฉพาะการสอบถามความคิดเห็นของประชาชน ไม่ใช่ทำแล้วค่อยมาถามความคิดเห็นเขา แบบนั้นจะไม่มีความหมายและไม่มีประโยชน์" กรรมาธิการยกร่างฯ กล่าว


 


ขณะที่นายสมคิด กล่าวว่าเราอภิปรายเรียงมาตรา ขอให้เสร็จองค์กรอิสระทั้งหมด พรุ่งนี้ให้เสร็จทั้งหมด เรียงมาตราถ้าท่านอยากแก้ขอให้บอกว่าจะแก้อะไร ใช้คำว่าอะไรบ้างจะได้แก้ไปเลย ด้านนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ กรรมาธิการ กล่าวว่า เมื่อเราได้เซ็นสัญญาฉบับใดๆ กับต่างประเทศก็จะมีเงื่อนไขออกมา ว่าจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายฉบับนั้นฉบับนี้ จะต้องมีการแก้หนี้เอกชนให้เป็นหนี้สาธารณะ ศาลจะต้องเปลี่ยนระบบการตัดสินคดีใหม่ ทุกอย่างเราพ่ายแพ้เขาหมดรูป เป็นการเลี่ยงบาลีของชาวต่างชาติ ประเทศไทยจะวอดวายเพราะเรื่องนี้


 


ด้านน.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ กรรมาธิการยกร่างฯกล่าวว่า ในวรรคสามที่ให้รัฐรับฟังความเห็นประชาชน อยากให้เปลี่ยนจัดข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นประชาชน นำหลักการตามมาตรา 59 ปี 2540 ต้องมีกระบวนการรับฟังความเห็นประชาชน อย่างเป็นระบบ เปิดเผย และโปร่งใส่ จึงอยากให้กรรมาธิการคิดเรื่องนี้ให้ดี ๆ


 


นายสมคิด กล่าวว่า ตามวรรคหนึ่งเรื่องนำขึ้นทูลเกล้าขอให้เป็นไปตามปฏิบัติที่ทำกันมาซึ่งไม่มีปัญหาอะไร รวมถึงหนังสือสัญญา คงขอใช้คำว่าหนังสือสัญญาแล้วไปฟังความเห็นเนื่องจากผู้เชี่ยวชาญบอกว่าคำนี้คลุมหมด ถ้าไม่คลุมก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร


 


ส่วนวรรคสอง เข้าใจว่าสนธิสัญญาที่กระทบเศรษฐกิจและสังคมประเทศ ถ้าให้นำเข้าสภา จะต้องนำเข้าสภาทุกเรื่อง แต่เราจะเปลี่ยนหลักการของมาตรา 200 ที่โดยทั่วไปอำนาจฝ่ายบริหารข้อยกเว้นสภาเห็นชอบ แต่เรื่องกู้เงินต่างประเทศ ที่ผ่านมาทำไมกู้ได้เลยนั่นเพราะเรามีพ.ร.บ.กู้เงินจากต่างประเทศ และไม่เกินวงเงิน จึงไปกู้ได้ ส่วนที่จะใช้คำกว้างขนาดว่า "สัญญากระทบต่อเศรษฐกิจสังคม" มันกว้างมาก เอาเป็นเรื่องๆ ซึ่งก็ได้หารือกับกระทรวงต่างประเทศว่ามีเรื่องอะไรบ้าง อาทิเช่น ส่งทหารไปต่างประเทศหลายประเทศก็ให้ขออนุมัติรัฐสภา ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่ หรือไม่ได้เปลี่ยนแปลงเรื่องออกพ.ร.บ. แต่ที่นายคมสัน เสนอนั้นต้องไปแก้กฎหมายทั้งนั้น เปลี่ยนอำนาจศาลต้องไปแก้กฎหมายซึ่งอยู่ใน 200 วรรคสอง


 


"ที่เรากำลังพูดอย่าพูดแนวปฏิบัติ แต่ขอให้พูดว่ากฎหมายที่กำลังเขียนอยู่คลุมถึงหรือยังถ้าคลุมถึงแล้วก็ให้เขียนไว้ตามนั้น แต่ถ้าคลุมไม่ถึงอยากให้คลุมถึงต้องไปเขียนกฎหมายใหม่"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net