Skip to main content
sharethis

ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทวีความรุนแรงมากขึ้นบ้าง ลดลงบ้างเป็นบางวัน แต่มีคนตายจากการก่อเหตุรุนแรงทุกวัน การแก้ปัญหามีทั้งทางการเมืองและการทหาร มีความพยายามแก้ปัญหาอยู่ทุกวันเช่นกัน


 


แนวทางหนึ่งที่พูดถึงกันมาก แต่มักไม่ค่อยเห็นผลทันใจ คือแนวทางสันติวิธี


 


หากพูดถึงแนวทางสันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในระดับนโยบายนั้น จะพบว่า ก่อนที่สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเริ่มนับจากวันที่ 4 มกราคม 2547 ที่มีการปล้นปืนที่ค่ายกองพันทหารพัฒนาที่ 4 อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี


 


โดยมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 187/2546 เรื่อง นโยบายการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2546 โดยเล็งเห็นว่าความขัดแย้งในสังคมไทยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลจาก วิกฤติเศรษฐกิจ ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ความไม่ไว้วางใจระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน รวมถึงสถานการณ์โลก เป็นต้น โดยแสวงหาวิธีการจัดการความขัดแย้งหลีกเลี่ยงความรุนแรง


 


ทั้งนี้ เพราะการใช้ความรุนแรง จะทำให้เกิดความเกลียดชังและความแตกแยก ยากที่จะสมาน ซึ่งนับเป็นปัญหาความมั่นคงที่ร้ายแรง โดยคำสั่งดังกล่าวเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์สันติวิธีเพื่อความมั่นคงของชาติ กับนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้สังคมในการจัดการความขัดแย้ง ฟื้นความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชน และขจัดความเกลียดชังหรืออคติ ที่เริ่มปรากฏขึ้นในสังคมไทยขณะนั้น


 


รูปธรรมความขัดแย้งอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดขณะนั้นคือ กรณีการคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงตามมาอีกหลายครั้ง หลังจากเกิดเหตุปะทะกันระหว่างกลุ่มชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545


 


จนกระทั่งต่อมาเกิดสถานการณ์ความไม่สงบขึ้นมา เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ได้มีนโยบายรวมทั้งมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการใช้กำลังทหารเข้ามารักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่


 


มาถึงสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ก็ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง นโยบายเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนำไปสู่การรื้อฟื้นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาใหม่


 


มาถึงวันนี้ ได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์สันติวิธีภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมา โดยสถาบันเครือข่ายรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ อันที่จริงมีหลายหน่วยงานแล้วที่ร่วมกันผลักดันการใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ เช่น คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ


 


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ประธานสถาบันเครือข่ายรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ บอกว่า หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศใช้นโยบายเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 206//2549 ลงนามโดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ทางสถาบันเครือข่ายรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ ร่วมกับสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์สันติวิธีภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมา เพื่อจะนำเสนอต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ส่วนหนึ่งได้จากการเชิญภาคประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการ ประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ กลุ่มเยาวชน กลุ่มสตรี เป็นต้น มาร่วมแสดงความคิดเห็นรวมทั้งเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหาความไม่สงบ


 


โดยมีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลาและสตูล จังหวัดละประมาณ 100 คน ซึ่งได้จัดไปแล้ว 4 ครั้ง ยกเว้นที่จังหวัดยะลา จะจัดขึ้นประมาณเดือนพฤษภาคม 2550  


 


ทั้งนี้ ประเด็นคำถามที่คณะทำงานได้กำหนดขึ้นในการรับฟังความคิดเห็นนั้น ได้ใช้กรอบของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติและคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 187/2546


 


สำหรับแนวคำถามดังกล่าวประกอบด้วย คำถามหลักๆ คือ การสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการแก้ปัญหาโดยใช้สันติวิธี การฟื้นความไว้วางใจระหว่างประชาชนกับรัฐ และการขจัดความเกลียดชังและอคติในสังคมไทย


 


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมภพ บอกว่า ทั้ง 4 เวทีที่จัดมา คือที่จังหวัดปัตตานี นราธิวาส สตูลและสงขลา ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นด้วยกับการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี แต่ก็ยังติดใจในเรื่องการจัดการแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการปราบปรามอย่างเด็ดขาด โดยคิดว่าการปราบปรามก็ยังมีความจำเป็น


 


"เรื่องเกี่ยวกับสันติวิธีนั้น ส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจที่ไม่เหมือนกันอยู่ เพราะแต่ละคนมีการรับรู้ข้อมูลที่แตกต่างกัน รวมทั้งประสบการณ์ของแต่ละคนก็แตกต่างกันด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันนโยบายรัฐบาลเกี่ยวกันสันติวิธีก็ยังไม่ชัดเจน เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะจุดมากกว่า


 


ยกตัวอย่างเช่น มุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รู้สึกว่ารัฐเข้าไปยุ่งกับพวกเขามากเกินไป แทนที่จะเข้าไปแก้ปัญหาได้ บางครั้งกลับสร้างความรู้สึกหวาดระแวงต่อเจ้าหน้าที่รัฐขึ้นมา


 


ขณะที่ชาวไทยพุทธมองว่า การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เช่นกรณีการจับผู้ต้องสงสัยได้แล้วทำไม่ต้องรีบปล่อยตัวไป รวมทั้งเกิดคำถามในเรื่องการสมานฉันท์ว่า จะสมานฉันท์กับใคร ในเมื่อผู้ก่อความไม่สงบก็ไม่อยากจะสมานฉันท์ด้วย ถ้าอยากสมานฉันท์ด้วยความรุนแรงก็ต้องลดลง


 


สภาพเช่นนี้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องความรู้สึกของไทยพุทธที่มีต่อรัฐ โดยพวกเขารู้สึกว่า รัฐไม่สนใจเรื่องความปลอดภัยของพวกเขา ขณะเดียวกันก็ยอมให้กับชาวมุสลิมมากเกินไป ชาวพุทธรู้สึกว่ารัฐไม่ให้ความเป็นธรรมกับพวกเขา



ขณะเดียวกัน ชาวมุสลิมมองว่ารัฐไม่ได้แก้ปัญหาอย่างจริงจัง แทนที่จะเป็นการแก้ปัญหา กลับเป็นการสร้างปัญหากับชาวมุสลิมมากขึ้น เช่น การจับกุมผู้ต้องสงสัยไปควบคุมตัว แล้วก็ปล่อยตัวกลับมา แสดงว่าเป็นการจับกุมที่ไม่สมเหตุผล


 


ดังนั้น การที่ส่งทหารเข้ามาอยู่ในพื้นที่จำนวนมากนั้น เขามองว่าเป็นการสร้างปัญหานั่นเอง จึงน่าจะย้ายทหารออกจากพื้นที่ไปจากชุมชน แล้วส่งเสริมบทบาทผู้นำท้องถิ่นในการจัดการปัญหา ซึ่งเชื่อว่าน่าจะได้ผลมากกว่า อย่างไรก็ตามข้อเสนอทั้งหมดนั้นยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะรูปธรรมของการปฏิบัติจริง ซึ่งต้องมีการประมวลและสรุปอีกครั้ง


 


สิ่งที่เป็นรูปธรรมที่มีการเสนอมาแล้ว ซึ่งน่าจะลองทำ คือ การถอนทหารออกจากชุมชน แต่ไม่ใช่ออกจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในระยะเวลา 6 เดือน แล้วประเมินดูว่า ความรุนแรงจะลดลงหรือไม่ ถ้ายังมีความรุนแรงอยู่ ก็ค่อยเอาทหารเข้ามาใหม่ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละชุมชน


 


เหตุที่มีการเสนออย่างนี้ก็เพราะว่า การที่มีทหารเข้าไปอยู่ตามชุมชนต่างๆ นั้น อาจทำให้เกิดการยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงขึ้นมาได้ ซึ่งจะสร้างความเดือนร้อนให้กับชาวบ้านด้วย


 


เนื่องจากปัญหาในพื้นที่มีความสลับซับซ้อนพอสมควร ดังนั้นนโยบายที่จะใช้แก้ปัญหาก็ต้องมีความซับซ้อนเช่นกัน เช่น หากถอนทหารออกไปจากชุมชนแล้ว ปรากฏว่ามีคนไทยพุทธถูกยิง จากนั้นมีการตอบโต้กัน ซึ่งอาจถึงขั้นมีการปะทะกันระหว่างชุมชนไทยพุทธกับมุสลิม ก็จะยิ่งทำให้ปัญหาบานปลายเข้าไปอีก


 


เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่น่าจะลองทำอีกอย่างคือ ให้คงทหารเอาไว้ตามเดิม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทางด้านความมั่นคงด้วย แต่ควรจะอยู่ในรูปพลเรือน นั่นคือไม่เน้นนักรบติดอาวุธนั่นเอง"


 


จากการระดมความคิดเห็นดังกล่าว พบว่า มีหลายเรื่องที่น่าจะลองทำ ดังเช่น การจัดเวทีครั้งล่าสุด สำหรับจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2550 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งสนับสนุนให้ภาครัฐส่งเสริมบทบาทของผู้นำท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้นำตามธรรมชาติ แก้ปัญหาในชุมชนของตัวเอง เพราะเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดในชุมชนของตัวเอง


 


"การส่งทหารเข้ามาจำนวนมาก เพื่อให้แก้ปัญหาทั้งหมดอาจเป็นความเข้าใจผิด แต่กลับเพิ่มความหวาดระแวงระหว่างรัฐกับประชาชน ดังนั้นแนวทางสันติวิธีในการแก้ปัญหาส่วนหนึ่งน่าจะอยู่ที่การส่งเสริมบทบาทผู้นำตามธรรมชาติในท้องถิ่น เพราะรู้ดีที่สุด"


 


นั่นเป็นข้อสรุปส่วนหนึ่งจากเวทีดังกล่าว ที่เป็นข้อเสนอในแนวทางสันติวิธี เพื่อจัดการแก้ปัญหาความไม่สงบและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่น่าจะลองทำ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net