Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 9 เม.ย.2550 เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 8 เมษายน คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ประชุมเพื่อพิจารณายกร่างรายมาตราเป็นวันที่สามโดยวันนี้เป็นการเริ่มประชุมพิจารณาในหมวดที่ 11 ซึ่งว่าด้วยองค์กรตามรัฐธรรมนูญ


 


ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อการประชุมได้เริ่มขึ้น ปรากฎว่า โทรทัศน์ที่ถ่ายทอดสดภาพการประชุมจากห้องประชุมมายังห้องผู้สื่อข่าวนั้น มีภาพแต่ไม่มีเสียง เมื่อสอบถามจากเจ้าหน้าที่ของโรงแรมได้ความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐสภาได้สั่งให้ตัดเสียงออกชั่วครู่และต้องรอคำสั่งให้เปิดเสียง ต่อมา ผู้สื่อข่าวหลายสำนักได้เข้าไปยังห้องประชุมคณะกรรมาธิการเพื่อสังเกตการณ์ เมื่อเข้าไปพบว่า กรรมาธิการกำลังรับรองการประชุมในครั้งก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะกรรมาธิการฯ ได้รับรองการประชุมเรียบร้อยแล้ว ปรากฎว่า ยังคงไม่มีเสียงถ่ายทอดสดไปยังห้องผู้สื่อข่าว กลุ่มผู้สื่อข่าวจึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่รัฐสภาทราบ เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ของโรงแรมให้ปล่อยเสียงในที่สุด


 


สำหรับการพิจารณาในส่วนที่หนึ่ง เรื่ององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เริ่มที่มาตรา 243 ซึ่งเกี่ยวกับผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา อย่างไรก็ตาม องค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจะต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540 จากเดิมมีสามคน แต่ร่างฉบับใหม่นี้กำหนดให้มีห้าคนและให้เลือกกันเองเป็นประธานหนึ่งคนและมาตรา 244 ระบุว่าการคัดเลือกผู้ตรวจการให้ใช้การสรรหา และใช้รูปแบบการสรรหาเช่นเดียวกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ให้ใช้ประธานศาลรัฐธรรมนูญแทนตัวแทนจากประธานองค์กรอิสระ


 


ทั้งนี้ที่ประชุมโดยนายศรีราชา เจริญพานิช กรรมาธิการ ซึ่งเป็นเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาอภิปรายว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภามีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบของแต่ละคน และผู้ตรวจการไม่ได้ทำงานในรูปของคณะกรรมการจึงไม่จำเป็นที่ต้องมีประธาน ทั้งนี้ นายสมคิดได้รวบรัดและบอกว่าขอให้เป็นไปตามที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมาธิการเสนอ และให้ความเห็นว่า การมีประธานก็ไม่ได้ถือว่าต้องทำงานเป็นรูปกรรมการทุกเรื่อง


 


นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ แสดงความเห็นว่าผู้ตรวจการไม่น่ามีจำนวนถึงห้าคน เพราะลักษณะงานไม่น่าจะมีผู้รับผิดชอบเยอะขนาดนั้นและการทำงานก็น่าจะกระจายงานลงไป โดยเสนอให้เหลือผู้ตรวจการแผ่นดินเพียงสามคนเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งที่ประชุมก็เห็นด้วย


 


นอกจากนี้ในมาตรา 245 ระบุเรื่องอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา โดยได้เพิ่มอำนาจในการตรวจสอบการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขององค์กรตามรัฐธรรมนูญและองค์กรในกระบวนการยุติธรรม


 


เพิ่มอำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาให้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองได้


สำหรับในมาตรา 246 ได้เพิ่มเติมว่า ผู้ตรวจการฯ อาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองในกรณีที่เห็นปัญหาว่ากฎหมายใดไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ให้ยื่นเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า หรือในกรณีที่เห็นว่ากฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใด ที่มีปัญหาด้วยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย โดยให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง


 


ต่อมาเป็นการพิจารณาในเรื่องที่ว่าด้วย ปปช. โดยมาตรา 249 ระบุว่า ส.ส. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของสมาชิกที่มีอยู่ หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานวุฒิสภา ว่า ปปช. คนใดขาดความเที่ยงธรรม จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือพฤติการณ์ที่เป็นการเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งอย่างร้ายแรงและให้วุฒิสภามีมติให้พ้นจากตำแหน่งได้ และมติของวุฒิสภาต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่


   


ขยายอำนาจ ปปช. ตรวจสอบถึงระดับ ผอ. เหตุพบทุจริตมากสุด


มาตรา 251 (3) ที่ระบุขอบข่ายอำนาจในการตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐของ ปปช. ว่าผู้ที่ ปปช. สามารถตรวจสอบได้คือ ผู้บริหารระดับสูง หรือข้าราชการระดับเก้าหรือเทียบเท่าขึ้นไป


 


อย่างไรก็ตาม นายวิชา มหาคุณ กมธ. ซึ่งดำรงตำแหน่ง ปปช. ด้วย ได้อภิปรายว่า จากการทำงานพบว่า ตามปกติการทุจริตที่พบมากที่สุดคือระดับระดับผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่า ซึ่งเป็นข้าราชการระดับแปด ซึ่งเป็นตำแหน่งที่กุมกลไกการใช้จ่ายเงินและเกี่ยวข้องกับนักการเมืองเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้ กมธ.ระบุให้ชัดเจน ซึ่งทางที่ประชุมก็ตกลงและปรับจาก ข้าราชการระดับเก้าหรือเทียบเท่า เป็น ข้าราชการตั้งแต่ระดับแปดหรือเทียบเท่าแทน


 


ขณะที่นายเกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม กมธ. ซึ่งก็เคยเป็น ปปช. ชุดแรก ได้กล่าวว่า โดยมากฝ่ายบริหารมักจะมอง ปปช. แง่ลบ ดังนั้นจะมีปัญหาเรื่องการประสานงานมาโดยตลอด การที่นายวิชาบอกว่าได้รับความร่วมมืออย่างดี นั่นก็เป็นเพราะเป็นยุคสมัย แต่หากเป็นรัฐบาลที่แล้วแทบจะไม่ได้รับความร่วมมือเลย ดังนั้น หากต้องการจะให้การทำงานของ ปปช.มีประสิทธิภาพต้องให้ ปปช. ใช้อำนาจและกฎหมายสรรพากรและ กฎหมาย ปปง. ได้


 


ขณะที่นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ระบุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องรายละเอียด และคงจะเขียนไว้ทั้งหมดไม่ได้และเรื่องนี้ก็ไม่ได้เตรียมการกันมาก่อน


 


นายวิชา จึงกล่าวสนับสนุนนายเกริกเกียรติ ว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคมากที่สุดคือการตรวจสอบนักการเมือง และทำอย่างไรจะให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ปปช.จึงควรต้องมีอำนาจในการตรวจสอบเรื่องทรัพย์สิน และกระบวนการในทางภาษี เพราะที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือในเรื่องการตรวจสอบภาษีเลย สรรพากรก็ปฏิเสธมาตลอด


 


นายเกริกเกียรติ ก็ยืนยันว่าเรื่องนี้ต้องเขียนในรัฐธรรมนูญเพื่อให้เขาไปออกในกฎหมายลูก และโดยส่วนตัวคิดว่า ปปช. ไม่ควรป็นซุปเปอร์พาวเวอร์ แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องให้ ปปช. ทำงานได้ ดังนั้นจึงอยู่ที่ฝ่ายเลขาฯ ว่าจะเขียนอย่างไร ซึ่งทางฝ่ายเลขาฯ ก็รับไปตรวจสอบ


 


นายวิชา กล่าวอีกว่า อีกเรื่องที่เป็นปัญหาในการทำงานของ ปปช. คือเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินของนักการเมือง เพราะที่ผ่านมาการทำงานการตรวจสอบทรัพย์สินไม่เคยมีประสิทธิภาพเลย จึงอยากให้ กมธ. พิจารณาเรื่องนี้ให้ดี


 


อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มีการอภิปรายถึงอำนาจหน้าที่ของ ปปช.ในมาตรา 251 (6) ซึ่งอ้างตามมาตรา 226 ที่ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำตลอดจนขอให้ศาล พนักงานสอบสวน หน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาได้ แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กมธ. ได้มีมติให้ยกเลิกมาตรานี้เนื่องจากมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ


ซึ่งนายไพบูลย์ ได้ขอให้นำมาตราดังกล่าวกลับมายืนในรัฐธรรมนูญอีกครั้งเพื่อใช้เป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่ของ ปปช. หาก ปปช. จะออกเป็นกฎหมายลูกก็เป็นอีกเรื่อง


 


ต่อมาในการพิจารณามาตรา 252 ซึ่งระบุให้ ปปช. มีหน้าที่กำกับดูแลคุณธรรมและจริยธรรมของนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ


 


ส่วนการพิจารณาในเรื่อง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่ประชุมได้อภิปรายขอลดจำนวนกรรมการ คตง.ลงจากที่ระบุว่ามี 10 คนเพราะเห็นว่าจำนวนงานไม่มาก ซึ่งที่ประชุมก็กำลังถกเถียงว่าควรจะเหลือเท่าใด นายสมคิดจึงสรุปว่า "ผู้ว่า สตง. เขาขอมา ผมไม่อยากไปแตะเขามาก เอาเป็นว่าเจ็ดก็แล้วกัน"


 


ดับฝัน "จารุวรรณ" ชี้ คตง.เป็นแค่ที่ปรึกษา-อย่าทำตัวเป็นตำรวจ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้ถกเถียงในเรื่องการกำหนดคุณสมบัติของคนที่จะเข้ามาทำเป็นคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ต้องประกอบด้วยผู้มีความชำนาญการ และมีประสบการณ์ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน การบัญชี การตรวจสอบภายใน การเงินการคลัง และด้านอื่นๆ ซึ่งนายคมสัน โพธิ์คง ได้เสนอต่อที่ประชุมขอให้ตัดคำว่า ด้านอื่นๆ ออกโดยให้เหตุผลว่า บุคคลที่จะเข้ามาทำงานจะต้องมีความเชี่ยวชาญเรื่องบัญชีและการเงินการคลัง ซึ่งหากมีการบัญญัติให้นำผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นเข้ามาได้ก็จะเป็นการเปิดโอกาสฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงได้ จึงอยากให้ กมธ. ทบทวนเรื่องนี้


 


ซึ่งนายสมคิดแย้งว่าที่มีการระบุเช่นนี้เป็นเพราะบางเรื่องต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค อาทิ วิศวกร และในองค์กรอิสระอื่นเราก็ไม่ได้ไปจำกัดมากมายขนาดนี้มีการเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายได้เท่าเทียมมากกว่านี้ ซึ่งเราก็ได้กันบุคคลที่จะเข้ามาแทรกแซงด้วยการเติมคำว่า ต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และมีความซื่อสัตย์สุจริตก็เพียงพอแล้ว


 


แต่นายคมสันก็ได้กล่าวว่าหากต้องการให้ได้ผู้เชี่ยวชาญด้านไหนก็ตั้งให้เป็นอนุกรรมการเข้ามาทำงานได้


นายวิชาได้เสนอเรื่องอำนาจหน้าที่ของ คตง. ว่าให้เติมอำนาจในการรับรองบัญชีและวินัยทางการเงินการคลังลงไปด้วย เพราะในร่างยังระบุไม่ชัด


 


ซึ่งนายคมสันกล่าวว่า อยากให้มีองค์กรรับรองบัญชีเพราะปัจจุบันการจ่ายบัญชีของหน่วยงานพบว่ามีข้อบกพร่องและการทุจริต จากเดิมให้ หน่วยงานยื่นบัญชีต่อผู้ว่า สตง. แต่หากไม่ดำเนินงาน คตง. ก็สามารถแจ้งไปยังกระทรวงหรือรายงานยังรัฐสภา แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานกลับละเลย


 


นายพิสิฐ ลี้อาธรรม กล่าวว่า เรื่องของ คตง.ขณะนี้สังคมส่วนใหญ่มองว่าองค์กรนี้ทำการตรวจสอบเรื่องการทุจริตและคอร์รับชั่น แต่หน้าที่ที่แท้จริงซึ่งเป็นหลักสากล ก็คือ คตง. ต้องทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหน่วยงานรัฐ ในการจัดระบบบัญชีต่างๆ ให้เรียบร้อย ถ้าพบเห็นอะไรตุกติก เขาก็จะไปแจ้ง ปปช.ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักไม่ใช่ทำตัวเป็นตำรวจเสียเองเหมือนเช่นทุกวันนี้


 


ถกเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระ เดชอุดมเบรคหวั่นไปกันใหญ่


นายคมสันเสนออีกว่าให้เพิ่มอำนาจให้ คตง.ในการวินิจฉัยบัญชี เข้าไปด้วยซึ่งในประเด็นนี้นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ได้แย้งว่า การรับรองหรือการวินิจฉัยบัญชี ไม่ทราบว่าให้รับรองบัญชีอะไร มาตรฐานตรงไหน เพราะของเราใช้ระบบของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดการเรื่องนี้ทุกอย่างเรียบร้อย การที่มีการขอเพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระ จะทำให้เขารู้สึกมีอำนาจมากขึ้นและไม่เข้าใจว่าหากเขาละเลยการปฏิบัติหน้าที่ที่เขาได้อำนาจมากขึ้นก็จะทำให้ประชาชนฟ้องร้องฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้


 


"นี่ผมเห็นว่ามันเลยเถิดขนาดจะเพิ่มอำนาจการฟ้องร้องคดี มันไปกันใหญ่แล้ว มันอะไรกัน" นายเดชอุดมกล่าว


 


ซึ่งในท้ายที่สุดที่ประชุมก็ยังไม่ได้เพิ่มอำนาจหน้าที่แต่อย่างใด


 


กมธ. เสียงแตกเรื่องอำนาจ แจกใบเหลืองแดง หลังประกาศผลจะให้เป็นอำนาจ กกต. หรือศาลฎีกา สุดท้ายต้องรอโหวต


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการประชุมในช่วงบ่าย เป็นการประชุมในเรื่องที่ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีเนื้อหาในมาตรา 256 ระบุว่า กกต.มีสองที่มา คือตาม (1) ให้มีคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครอง ประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้าน คัดเลือกผู้ที่สมควรเป็นกรรมการเลือกตั้งจำนวนสามคน ส่วนใน (2) ระบุว่าให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาสรรหาผู้ที่สมควรเป็นกรรมการเลือกตั้งเสนอต่อวุฒิสภา จำนวนสองคน โดยทั้งสองอนุ จะต้องเสนอทำให้เสร็จภายในสามสิบวัน หากกรรมการสรรหาไม่อาจทำงานได้หรือทำงานไม่ทัน ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาเสนอชื่อแทนภายในสิบห้าวัน หากวุฒิสภาไม่เห็นชอบให้ตีกลับไปยังศาลฎีกา หรือกรรมการสรรหาแล้วแต่กรณีแต่หากกรรมการสรรหาหรือที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกายังยืนยันจะต้องใช้มติไม่น้อยกว่าสองในสาม


 


อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเรื่องของอำนาจ กกต. มาตรา 266 นั้นมีการถกเถียงอย่างกว้างขวาง ในเรื่อง การสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) ว่าอำนาจจะอยู่กับใคร ระหว่าง กกต.กับศาล โดยนายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมาธิการ ที่เป็น กกต. ระบุว่าเห็นด้วยกับการที่จะให้ศาลเป็นผู้ที่พิจารณาเรื่องใบเหลืองใบแดง แต่อย่างไรก็หากเกิดเหตุการณ์ทุจริตชัดๆก่อนการเลือกตั้งจะทำอย่างไรเราจะให้คนคนนั้นลงรับสมัครเลือกตั้งอีกหรือ ดังนั้นตนคิดว่าในช่วงที่มีการเลือกตั้งน่าจะมีใครสักคนที่สามารถเป่านกหวีดได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่า กกต. จะแจกใบเหลืองใบแดงก่อนการเลือกตั้ง ผู้สมัครก็จะมีอำนาจไปร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขออุทธรณ์ได้


 


ทั้งนี้นายวุฒิสาร ตันไชย กล่าวว่า หาก กกต. ให้ใบเหลืองใบแดงไปแล้ว ศาลฎีกาที่รับอุทธรณ์พิจารณาไปคนละทางกับ กกต. ก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ เพราะเขาจะเสียสิทธิไป ดังน้นตนเห็นว่าไหนๆก็จะให้ศาลเป็นผู้พิจารณาแล้วก็ควรยกอำนาจนี้ให้กับศาลไปเลย นอกจากนี้แล้ว หากศาลตัดสินไปคนละทางกัน กกต.ก็จะกลายเป็นจำเลยอีกด้วย


 


เมื่อพูดมาถึงตอนนี้ นางสดศรี สัตยธรรม จึงพูดว่าหากไม่เชื่อในการตัดสินของ กกต. เราก็ควรที่จะมอบอำนาจให้กับศาลฎีกาเสียเลย เพราะกกต.จะได้ไม่ต้องถูกใครฟ้องอีกแล้ว


 


ที่ประชุมถกเถียงกันอย่าพักใหญ่ แต่ท้ายที่สุดก็ได้สรุปว่า สำหรับช่วงก่อนและระหว่างการเลือกตั้งเป็นอำนาจของ กกต. ในการออกใบเหลืองใบแดง แต่หากผู้ที่ถูกตัดสินไม่ยอมรับก็สามารถอุทธรณ์ได้ อย่างไรก็ตามในส่วนของหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้วยังมีสองแนวทางคือ 1. อำนาจการออกใบเหลืองใบแดงนั้นเป็นของศาลฎีกา ในขณะที่ กกต.ทำหน้าที่คล้ายอัยการสรุปเรื่องส่งให้ศาลพิจารณา และ 2. อำนาจการออกใบเหลืองใบแดงเป็นของ กกต. แต่เมื่อ กกต. ตัดสินแล้ว หากผู้ที่ถูกตัดสินไม่ยอมรับ ก็จะกำหนดว่าให้สามารถไปร้องต่อศาลได้ภายในเวลาที่กำหนด หากไม่มีการร้อง กกต. ก็สามารถประกาศเพิกถอนสิทธิและจัดการเลือกตั้งใหม่ได้เลย แต่หากมีการร้องก็ต้องรอให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน ทั้งนี้คาดว่าจะมีการโหวตประเด็นนี้ในวันที่ 10 เม.ย.


 


จำนวนกรรมการสิทธิ สรุปไม่ลงตัว ต้องแขวนรอโหวต เสนอเพิ่มอำนาจร้องศาลแทนผู้เสียหาย


ต่อมาเป็นการพิจารณาช่วงบ่าย ในส่วนที่สอง เรื่องของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในร่างมาตรา 66 ซึ่งระบุว่าให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกสิบคน ซึ่งในเรื่องจำนวนนี้ ทำให้ถกเถียงกันเป็นเวลานาน โดยมีผู้เสนอให้ลดจำนวนกรรมการสิทธิลง รวมทั้งมีการเสนอให้กำหนดอายุของกรรมการสิทธิ


 


โดยนางอังคณา นีละไพจิตร กล่าวว่า เสนอให้คงไว้เท่าเดิม ไม่เห็นเหตุผลที่ต้องลดจำนวนกรรมการสิทธิลง เพราะคนมาใช้บริการของกรรมการสิทธิจำนวนมาก ส่วนกรณีมีคนพาดพิงถึงคนในกรรมการสิทธินั้น เธอไม่ทราบความขัดแย้งในองค์กร แต่ไม่ควรพาดพิงถึงคนอื่นที่ไม่ได้มาชี้แจง อยากให้ให้เกียรติกัน ไม่อยากให้กรรมาธิการคิดว่าตัวเองจะดีกว่าคนอื่น


 


อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการอีกหลายคนก็ระบุว่า ไม่ควรที่จะลดจำนวนกรรมการสิทธิลงไปเพราะปัจจุบันงานของกรรมการสิทธิก็มีเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว และกรรมการสิทธิเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน อย่างไรก็ตามอีกฝ่ายก็พยายามชี้ให้เห็นว่าการทำงานของกรรมการสิทธิสามารถที่จะจัดสรรและแบ่งงานได้ โดยไม่ต้องมีคนเป็นจำนวนมาก


 


นายคมสัน โพธิ์คง กล่าวว่า กกต. ซึ่งมีกัน 5 คนก็มีงานเยอะ ขณะที่กรรมการสิทธิมี 11 คน แต่ในแง่ประสิทธิภาพ นับว่า การทำงานมีปัญหา


 


นอกจากนี้ยังมีกรรมาธิการเสนอว่าอาจจะกำหนดจำนวนกรรมการสิทธิฯ ที่ทำงานแบบเต็มเวลา ไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่มากแต่ให้มีกรรมการสิทธิที่ทำงานแบบพาร์ทไทม์ อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งคนที่ทำแบบพารท์ไทม์จะทำเฉพาะการประชุมเป็นครั้งคราวและเรื่องที่ถนัดเท่านั้น


 


การอภิปรายเป็นไปอย่างกว้างขวางและสุดท้ายก็หาข้อยุติไม่ได้ สุดท้ายจึงต้องมีการแขวนประเด็นนี้ไว้โหวตในวันที่ 10 เม.ย.


 


ทั้งนี้ในเรื่องอำนาจหน้าที่ได้กำหนดเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการสิทธิฯ ในมาตรา 269 ว่า สามารถยื่นคำฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อได้ตรวจสอบคำร้องของุคคลว่ากฎหมายขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลได้ เมื่อได้ตรวจสอบตามคำร้องของบุคคลว่าได้รับความเสียหายจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ


 


ซึ่งอำนาจนี้จะเป็นการให้กรรมการสิทธิสามารถร้องแทนผู้ที่เสียหายได้ เพราะก่อนหน้านี้เมื่อกรรมการสิทธิฯ ตรวจสอบพบเหตุเช่นนี้ก็ไม่สามารถที่จะฟ้องร้องแทนได้ และผู้เสียหายเองก็จะไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากไม่กล้าฟ้องร้องเนื่องจากเกรงกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้น


 


ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุพจน์ ไข่มุกด์ กล่าวตอนหนึ่งขณะที่มีการอภิปรายในประเด็นอายุของกรรมการสิทธิว่า ไม่จำเป็นต้องกำหนดอายุ แต่ควรจะต้องตรวจสุขภาพประจำปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net