Skip to main content
sharethis

ธีรมล บัวงาม สัมภาษณ์/เรียบเรียง


สำนักข่าวประชาธรรม


 


เรียบร้อยไปแล้วโรงเรียน มช.ไปแล้ว! สำหรับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) หรือเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ที่ลงนามระหว่างรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่น โดยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีและนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นลงนามกันไปเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา   ท่ามกลางการประท้วง การนำเสนอข้อท้วงติงอย่างต่อเนื่อง ขององค์กรอิสระ นักวิชาการ และประชาชนของทั้งสองประเทศ


 


สารี อ๋องสมหวัง สมาชิกกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA WATCH)  และผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกเล่าความรู้สึกภายหลังศาลปกครองสูงสุดไม่รับฟ้อง และการลงนามดังกล่าว


 


บทบาทและท่าทีของรัฐบาลขิงแก่เป็นอย่างไรภายหลังมีการท้วงติงJTEPA


 


รัฐบาลเมินเฉยมาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือหันไปทำภาคผนวกเข้ามากำกับเพิ่มเติม แต่ประเด็นที่รัฐบาลเพิกเฉยมากที่สุด คือ ข้อเรียกร้องเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบทั้งหมด ทั้งที่JTEPAไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วน และยังมีปัญหาในหลักการหลายอย่าง อาทิ กระบวนการเจรจา หรือแม้กระทั่งวิธีคิดอย่างการทำขยะของเสียอันตรายมาเป็นสินค้า เป็นต้น


 


ประเด็นที่ท้วงติงไป รัฐบาลให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องขยะของเสียอันตราย และสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต โดยรัฐบาลเชื่อว่า สามารถแก้ปัญหาด้วยการใช้เพียงมาตรการป้องกัน อาทิ กลไกภาษีสรรพสามิต  ซึ่งก็ไม่รู้ว่าการทำตรงนั้นมันจะมีผลในทางกฎหมายมากแค่ไหน และนักกฎหมายที่คว่ำหวอดในการทำความตกลงระหว่างประเทศหลายคนชี้ประเด็นตรงกันว่า หากรายการแนบท้าย หรือภาคผนวก ขัดแย้งกับข้อตกลงหลัก ย่อมต้องยึดสาระในข้อตกลงหลักเป็นสำคัญ ดังนั้นการเขียนแบบนี้ (ในภาคผนวก) จึงไม่ได้มีความหมายอะไร อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นประเด็นปลาย แต่สิ่งสำคัญของเรื่องนี้คือกระบวนการมีส่วนร่วมมันอ่อนแอ และไม่ถูกให้ความสำคัญเลย


 


การผลักดันเอฟทีเอในรัฐบาลนี้ต่างจากรัฐบาลที่ผ่านมาบ้างไหม


 


รัฐบาลชุดที่แล้วก็ปกปิด รัฐบาลนี้ก็อ้างว่าอยู่ในชั้นความลับเปิดเผยไม่ได้ ต่อมาเมื่อเขาเปิดให้เราเข้าไปดู ก็ไม่สามารถศึกษาได้อย่างครบถ้วน เนื่องจากเอกสารมีจำนวนมาก ซึ่งจริงๆ เอฟทีเอว็อทช์ และประชาชนควรมีโอกาสได้ศึกษาความตกลงซึ่งจะส่งผลกระทบมากกว่านี้


 


มันน่าคิดเหมือนกัน ตรงที่ว่ารัฐบาลได้ปักธงไว้อยู่แล้วว่าจะเอาแบบนี้ไม่มีการแก้ไข ทั้งที่เมื่อพบว่ามีผลกระทบ ควรจะยอมรับให้มีการแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่อาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องการตีความในภายหลัง เช่น สิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต หรือประเด็นสาระที่ไม่ควรอยู่ในข้อการเจรจา อาทิ ขยะของเสียอันตราย ซึ่งอันที่จริงเขาก็ยอมรับว่าสิ่งที่เป็นปัญหาในข้อตกลง JTEPA คือการให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามากกว่าความตกลงระหว่างประเทศขององค์การการค้าโลก หรือการยอมให้มีทริปส์พลัสนั่นเอง


 


เมื่อมองสถานการณ์ในประเทศ เรื่องที่เราค่อนข้างเป็นห่วงและเชื่อว่าเกิดขึ้นได้ คือ ผลกระทบกับการบังคับใช้สิทธิซึ่งผูกโยงอยู่กับบทบาทการลงทุน ขณะนี้เราบังคับใช้สิทธิยา  เมื่อลงนามไปแล้ว หากถูกบริษัทยาต่างชาติตั้งคำถามว่าทำไมไม่บังคับใช้สิทธิยาตัวนั้นตัวนี้บ้าง หากรัฐบาลตอบไม่ได้ หรือคำตอบไม่เป็นที่พอใจของบริษัท บริษัทเหล่านั้นก็มีสิทธิฟ้องข้อหาเลือกปฏิบัติ และการฟ้องของเขาไม่จำเป็นต้องมาที่ศาลไทย สามารถฟ้องไปที่อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ นั่นหมายความรัฐบาลมีโอกาสถูกฟ้องร้องมากขึ้น แม้ว่าการกระทำนั้นจะมุ่งคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศ


 


ตัวอย่างบางประการเหล่านี้จึงชี้ให้เห็นว่า ข้อท้วง ประเด็นที่น่าเป็นห่วงทั้งหมดไม่นำไปสู่การหามาตรการเตรียมการภายในประเทศ และยังชี้เห็นผลของการไม่มีส่วนร่วม ซึ่งกลุ่มคนที่คัดค้านไม่ได้มีเพียงกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์เท่านั้น ยังมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือนักวิชาการหลายกลุ่มก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องด่วน และตั้งคำถามว่า JTEPA เป็นสิ่งที่รัฐบาลชั่วคราวควรจะดำเนินการหรือไม่


 


นี่คือสาเหตุที่นำไปสู่การยื่นฟ้องศาลปกครอง?


 


ต้องชี้แจงก่อนว่ากลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ไม่ได้ตามเฉพาะJTEPA ก่อนนี้ กรณีไทย-สหรัฐ ก็มีการรณรงค์หลายครั้งทั้งที่พัทยา เชียงใหม่ แต่จริงๆ ก็ยอมรับว่า ตอนแรกให้ความสำคัญกับไทย-ญี่ปุ่นน้อย เพราะพุ่งเป้าไปที่ไทย-สหรัฐเยอะ เนื่องจากมีความซับซ้อนมีหลายประเด็นที่เจรจามาก ในอีกด้านหนึ่งก็มีข้อจำกัดจากการไม่ได้เห็นสาระของ JTEPA แต่เมื่อได้เข้าไปศึกษาจึงเห็นปัญหาที่จะขึ้นในอนาคต


 


ชนวนสำคัญอยู่ที่การเมินเฉยของรัฐบาล และดำเนินกระบวนการทำให้เชิงพิธีกรรมเท่านั้นเอง และทำเหมือนว่าตนเองก้าวหน้า ด้วยการนำร่างความตกลงJTEPAให้สมาชิกสนช.พิจารณา ซึ่งเป็นแค่การให้สนช.รับทราบ แม้กระทั่งเอกสารตัวร่างความตกลง 940 กว่าหน้านั้น สมาชิกสนช.ไม่เคยเห็นเลย เวนี้นั้นจึงเป็นแค่การอภิปรายไม่ได้มีการลงมติเห็นชอบแต่ประการใด ยิ่งไปกว่านั้นสมาชิกสนช.ที่ต้องการอภิปรายคัดค้านหรือตั้งคำถามในประเด็นต่างๆ ก็ไม่ได้ถูกชี้ขึ้นพูด หรือแม้กระทั่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดประชาพิจารณ์ ก็ไม่ได้จัดแต่เป็นการจัดสัมมนา


 


การฟ้องศาลปกครองจริงๆ พวกเราเองไม่มีอำนาจในการยับยั้ง จึงต้องพึ่งกระบวนการทางศาล ซึ่งเมื่อคำวินิจฉัยของศาลออกมาต้องบอกว่าผิดหวัง เพราะศาลพิพากษาว่าเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ไม่ใช่อำนาจของฝ่ายปกครอง ทั้งที่พวกเราฟ้องกระบวนการที่มีคำสั่งทางปกครอง คือ มีมติครม.ให้กระทรวงต่างประเทศดำเนินการจัดการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ซึ่งความจริงไม่ได้ทำตามขั้นตอน และยังการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งควรจะทำขั้นตอนเหล่านี้ให้ถูกต้องก่อนที่จะไปลงนาม แต่กระนั้นศาลก็มองแต่เพียงว่าการลงนามการค้าระหว่างประเทศเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร และไม่เกี่ยวข้องกับการปกครอง


 


เรื่องนี้จึงเหมือนกับการถาม ว่าไปไหนมา? แต่กลับได้รับคำตอบว่ากินข้าวแล้ว มันคือการตอบคนละคำถาม จากนี้ไปจึงน่าคิดว่า เราจะมีกระบวนการตรวจสอบอำนาจของฝ่ายบริหารอย่างไร เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาระหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วอาจพูดถึงมาตรา 214 แต่ก็ยังไม่ชัดเจน ซึ่งต่างกับหลายประเทศที่มีกฎหมายการเจรจาระหว่างประเทศคอยกำกับ ตรงนี้จึงแสดงว่าฝ่ายบริหารสามารถทำข้อตกลง ทำอะไรได้ทั้งหมด และไม่มีใครตรวจสอบได้เลยใช่หรือไม่


 


จากสถานการณ์ดังกล่าว คิดว่าคนทั่วไปรับรู้เรื่องราวเอฟทีเออย่างไร


 


เมื่อครั้งที่รณรงค์เรื่องเอฟทีเอไทย-สหรัฐที่เชียงใหม่ก็ทำให้คนมีคนเข้าใจเรื่องเอฟทีเอมากขึ้นพอสมควร หรือแม้กระทั่งวันที่ 3 เม.ย.2550 ที่ไปประท้วงหน้าสถานทูตญี่ปุ่นก็มีประชาชนทั่วไปเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก มีทั้งคนที่ทิ้งนามบัตรเพื่อให้แจ้งข่าวการเคลื่อนไหวครั้งหน้า สิ่งเหล่านี้แสดงว่าคนทั่วไปให้ความสนใจ


 


อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์ที่รวดเร็ว เร่งด่วน รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ได้มากพอก็เป็นปัญหาในการสร้างแนวร่วมใหม่ๆ บ้าง แต่จริงๆ สาธารณะก็ตระหนักเรื่องนี้พอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มที่รณรงค์เรื่องประชาธิปไตยครั้งที่ผ่านมา และตนก็ยังเชื่อว่าคนกลุ่มนี้ยังสนับสนุนอยู่ ถ้าดูจากเว็บไซต์ และมีคนคัดค้านเยอะ


 


คิดว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากการเคลื่อนไหวเรื่องเอฟทีเอบ้าง


 


สิ่งที่ได้เรียนรู้ คือ รัฐบาลทุกรัฐบาลคิดเหมือนกัน คือให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้สนใจเรื่องอื่น ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดของประเทศไทย แม้กระทั่งเรื่องการค้า เราก็มองเฉพาะการค้าระหว่างประเทศ ไม่ได้มองเรื่องการค้าที่เป็นธรรม การค้าทางเลือกทั้งหลาย ดังนั้นเวลาที่มีการทำเอฟทีเอจึงสนใจเฉพาะกุ้ง ไก่ เท่านั้น


 


จากนี้จะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อ


 


ก็จะเคลื่อนไหวเท่าที่ทำได้ ไม่ใช่แค่JTEPA เท่านั้น แต่รวมถึงเอฟทีเอทั้งหมด  กลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ก็เป็นเครือข่ายที่แน่นหนาพอสมควร และไม่ได้มาจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ประกอบด้วย เกษตรกรรายย่อย กลุ่มเกษตรกรทางเลือก กลุ่มผู้ติดเชื้อ กลุ่มผู้บริโภค ชุมชนแออัด เครือข่ายแรงงาน ฯลฯ รวมถึงมีกลุ่มนักวิชาการที่ให้การสนับสนุนอยู่ด้วย ที่สำคัญเราเคลื่อนไหว ต่อสู้ข้อมูล โดยเฉพาะ JTEPA เราก็เคลื่อนไหวหลังจากได้เห็นตัวสัญญาที่พบว่ามีปัญหา


 


ที่แน่ๆ คือ เราไม่หยุด และไม่ยอมรับการลงนามของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเราได้เรียกร้องให้สมาชิกสนช.จำนวนหนึ่งเข้าชื่อเพื่อส่งให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตีความ และจะประสานกับประชาชนทุกภาคส่วนให้เขาลุกขึ้นมาคัดค้านการเจรจาความตกลงระหว่างประเทศที่ไม่ชอบธรรม.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net