Skip to main content
sharethis

ชื่อเดิม :  จุดยืนและข้อเสนอแนะนักวิชาการอิสลามต่อรัฐกับผู้ก่อการ


                (จากเวทีสัมมนาผู้รู้ทั่วประเทศไทย)


 


----------------------------------------


อ.อับดชชะกูร์ บินชาฟิอีย์  ดินอะ


Shukur2003@yahoo.co.uk


 


 


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีกรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนามุฮัมมัดและผู้เจริญรอยตามท่าน สุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน


 


ผู้เขียนในฐานะนักวิชาการอิสลามศึกษาได้รับเชิญจากคณะกรรมการวิสามัญเพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งร่วมกับสำนักจุฬาราชมนตรี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค ๔ (กรอ.มน. ภาค ๔) และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เข้าร่วมประชุมสัมมนาคณะผู้รู้ศาสนาอิสลามในประเทศไทยขึ้นที่ จังหวัดสตูล ระหว่างวันที่ ๒๕-๒๖  มีนาคม ๒๕๕๐ เพื่อร่วมกันสานเสวนาพิจารณาวินิจฉัยประเด็นปัญหาต่างๆ ทางศาสนาและเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตหรือบรรทัดฐานในการปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลามแก่ประชาชนโดยทั่วไป


การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นที่รร.พินาเคิลวังใหม่ อ.เมือง จ. สตูล ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการรวมตัวกันครั้งสำคัญของผู้นำศาสนาอิสลาม นักการศาสนา  รวมถึงนักวิชาการจากทั่วประเทศที่มีจำนวนร่วมกว่า ๒๐๐ คน นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากสน.จุฬาราชมนตรี ตัวแทนจากคณะกรรมการกลางแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ


จากสถานการณ์การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับในขณะนี้ ได้สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างไม่อาจปฏิเสธได้


จากความห่วงใยต่อสถานการณ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้นในเวลานี้


ผู้รู้ ผู้นำศาสนาอิสลาม นักการศาสนาจึงมีความสำคัญมาก  ทำไม....


ผู้นำทางการศึกษาศาสนาและผู้นำทางศาสนา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นผู้นำทางธรรมชาติในสังคมมุสลิม ความสำคัญของผู้นำมุสลิมตามทัศนะอิสลาม ในสังคมมุสลิมผู้นำศาสนาหรือตามภาษาพื้นบ้าน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า โต๊ะครู ซึ่งมาจากภาษามลายูกลางว่า ตวนฆูรู หรืออาจมาจากคำว่า 'คุรุ' หรือ 'ครู' นั้นเอง 


 


แต่ในภาษาอาหรับ หรือในภาษาที่ชาวมุสลิมทั่วไปอาจเรียกอย่างยกย่องว่าอาลิม(ผู้รู้ 1 คนเป็นเอกพจน์)หรืออุละมาอฺ(ผู้รู้ หลายคนเป็นพหูพจน์) โดยมีรากศัพท์ ผันมาจาก อิลมฺ คือความรู้ โต๊ะครูหรือ อาลิมและอุลามาอฺ จึงให้ความหมายถึง ผู้รู้และบรรดาผู้รู้ ในที่นี้คือ รู้ในศาสตร์ของอิสลาม หรืออิสลามศึกษา


 


ในขณะผู้รู้หลายคน มีความรู้ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงรู้ในเรื่องศาสนาเท่านั้น แต่หมายถึงรู้เรื่องอิสลามที่เกี่ยวข้องศาสตร์อื่นๆ อีกด้วย การแพทย์  ดาราศาสตร์ การเมือง และสังคม ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวถึงความประเสริฐของบรรดาอุลามะอฺว่า เปรียบเสมือนผู้รับมรดกของบรรดานบี (ศาสดาทั้งหลาย) หรือได้กล่าวเปรียบเทียบสถานภาพของอุลามะอฺ ที่สูงส่งกว่า นักพรต นักบำเพ็ญตน ปลีกวิเวก อุปมาดั่งดวงจันทร์วันเพ็ญที่ทอแสงเจิดจ้าโดดเด่นกว่าดวงดาวทั้งหลาย  ท่านอาลี บินอบีฎอลิบ (รอฏิยัลลอฮุอันฮุ)คอลีฟะห์ (คาหลิบ) ท่านที่ ๔ แห่งอิสลาม ได้ถูกตั้งคำถามจากสหายคนหนึ่งว่า


 


"ใครคือผู้ที่ดีที่สุดในงานสร้างของอัลลอฮฺภายหลังท่านศาสดา" ท่านอาลีได้ตอบว่า "อุละมาอฺหรือบรรดาผู้รู้ทางศาสนาเมื่อเขามีความเที่ยงธรรม" และเมื่อถูกถามต่อ "แล้วใครเลวที่สุดในงานสร้างของพระผู้เป็นเจ้าหลังจากฟิรเอาว์ (ฟาโรห์)" ท่านตอบว่า "อุละมาอฺหรือผู้รู้ศาสนาเมื่อเขาประพฤติชั่ว" 


 


จากวจนะท่านอาลี บินอบีฎอลิบดังกล่าว ทำให้เราได้ทราบว่ามุสลิมได้แบ่งประเภท ผู้รู้หรือโต๊ะครูเป็น 2 จำพวก คือ ผู้รู้ที่ดี กับผู้รู้ที่ไม่ดีหรือเลวนั้นเอง เช่นเดียวกัน


 


บุคลิกภาพของผู้รู้จะต้องมีภาพสะท้อนของบรรดาศาสดาทั้งหลาย ทรัพย์สินเงินทอง ลาภยศสรรเสริญ จะต้องไม่เป็นตัวบั่นทอนการนำเสนอสัจธรรมสู่มวลชน หรือสู่สังคม การสงบเสงี่ยมและเจียมตัว และอยู่อย่างพอเพียง พึงใจต่อความเมตตาปรานีของพระเจ้า และที่สำคัญที่สุดของภาระหน้าที่ของอุลามาอฺ หรือโต๊ะครู นั้นคือ การรับใช้มนุษย์และสังคม ตลอดจนรับผิดชอบสังคม ในความดี ความชั่วที่เกิดขึ้น


 


ที่สำคัญต้องสามารถแสดงจุดยืนด้านธรรมะและหลักการที่ถูกต้องตามหลักศาสนาเรื่องราวเหล่านี้เป็นการแสดงบทบาทที่ตรงกับเป้าหมายของอิสลามมากที่สุด


 


เพราะจะเป็นไปได้อย่างไรที่มนุษย์จะศรัทธาหรือยอมรับแนวทางการดำเนินชีวิตของใครสักคน โดยที่ใช้แบบอย่างจากคำพูดของเขา แต่ไม่สามารถเห็นได้จากการกระทำของเขา ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา อุละมาอฺในภาคใต้มีบทบาทในสังคมมาก  ในการชี้นำความถูกต้องให้กับสังคม


 


นับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2547 ถึงบัดนี้ ปรากฏการณ์ความรุนแรงใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สังเวยชีวิตคนไทย (ทั้งมุสลิมและพุทธ) ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2,000 ศพ และยังไม่มีวี่แววความรุนแรงจะลดลง ตรงกันข้าม เหตุการณ์รุนแรงที่ได้ปรากฏให้เป็นที่ประจักษ์มาตลอดสองปีกว่า เป็นสิ่งยืนยันบ่งบอกให้เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าวิกฤตการณ์ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะยืดเยื้อและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น



ดังนั้นปัจจุบัน
อุละมาอฺซึ่งเป็นทั้งผู้นำการศึกษาและศาสนาในภาคใต้ยิ่งสมควรแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคใต้โดยเฉพาะปัญหาการก่อการร้ายเพื่อชี้นำความถูกต้องให้กับสังคม


นอกจากหาข้อยุติในประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับบทบัญญัติในศาสนาอิสลามแล้ว  ที่ประชุมครั้งนี้ยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการส่งเสริมสนับสนุนในการสร้างสันติภาพและความสามัคคีแก่คนในชาติ ส่งเสริมให้เห็นคุณค่าของศาสนาวัฒนธรรมต่างๆ ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้และสนับสนุนให้ผู้นำและผู้รู้ทางศาสนามีบทบาทในการแก้ปัญหาของสังคมมุสลิมและประเทศชาติโดยร่วม


พล.อ.ปานเทพ  ภูวนารถนุรักษ์ อดีตแม่ทัพภาค๔ ประธานคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้กล่าวถึงความคาดหวังจากการดำเนินการประชุมในครั้งนี้ ว่า ทุกคนที่มาร่วมประชุมมีความตั้งใจสูงในการที่จะมีส่วนในการแก้ปัญหาความไม่สงบดูได้จากคืนที่ผ่านมาที่บรรดาผู้นำที่มาร่วมประชุมได้ถกเถียงพูดคุยในหัวเรื่องต่างๆอย่างเครงเครียดและเอาจริงเอาจังจนถึงเที่ยงคืน


"ผมประทับใจกับผู้เข้าร่วมทุกคนที่มีความตั้งใจและเสียสละเวลาในการมานั่งถกปัญหาเพื่อหาข้อตกลงร่วมในการตีความในประเด็นต่างๆ วันนี้เราได้ข้อสรุปแล้วและเราจะต้องเผยแพร่ให้สื่อ ให้ข้าราชการ และประชาชนรับรู้รับทราบอย่างทั่วถึง และผมมีความตั้งใจที่จะแปลข้อสรุปเป็นภาษามลายู (ญาวี) ภาษาอังกฤษ และภาษาอาหรับ เพื่อสิ่งเหล่านี้จะได้เข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง  ซึ่งผมถือว่านี่คือฉันทามติของที่ประชุมในครั้งนี้" 


จากการระดมผู้รู้ในสองวันทำให้ที่ประชุมมีข้อสรุป ๑๐ ข้อด้วยกันดังนี้          


 1. ในยามที่สังคมเกิดวิกฤติ ผู้รู้และผู้นำศาสนาอิสลามต้องมีความกล้าหาญในทางจริยธรรมในการชี้นำสังคมไปในทางที่ถูกต้อง ทั้งนี้โดยรัฐให้การสนับสนุน ส่งเสริมให้ผู้นำและผู้รู้ทางศาสนามีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาของสังคมมุสลิมและประเทศชาติโดยรวม


 2. หลักคำสอนของศาสนาอิสลาม ยอมรับในความแตกต่างและความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม ตลอดจนความหลากหลายทางชาติพันธุ์ การกระทำหรือคำกล่าวใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าศาสนาอิสลามมีความเกลียดชังรังเกียจศาสนิกในศาสนาและชาติพันธุ์อื่น ๆ ไม่ใช่หลักคำสอนของอิสลาม


 3. อิสลามมีหลักคำสอน เรื่อง ญีฮาดชัดเจน  และการญีฮาดมิได้หมายถึงการทำลายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์  ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะนับถือศาสนาใด  การอ้างคำสอนเรื่องญีฮาดเพื่อนำมาทำลายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม


 4. การเรียกว่าญีฮาดหรือไม่  จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า
ถูกกดขี่และขับไล่อย่างอยุติธรรม  ถูกริดรอนด้านศาสนาและจะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ทางจริยธรรมในการทำสงครามญีฮาด  เพราะฉะนั้น  การก่อความรุนแรงต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์  ย่อมไม่ถือเป็นการญีฮาด


อนึ่ง  รัฐจะต้องไม่สร้างเงื่อนไขใด ๆ  อันจะนำไปสู่การอ้างความชอบธรรมของผู้ไม่หวังดีในการกระทำความรุนแรง


 5. การวินิจฉัยว่า  บุคคลจะเป็นชะฮีด (ผู้ที่เสียชีวิตจากการต่อสู้ในการปกป้องศาสนาอิสลาม) หรือไม่  จะต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของการทำญีฮาด  แต่หากการเสียชีวิตที่อยู่นอกเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ดังกล่าวย่อมไม่ถือเป็นชะฮีดตามบทบัญญัติอิสลาม


 6. การสาบาน (ซุมเปาะห์) จะสมบูรณ์ได้  จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขตามบทบัญญัติของอิสลาม  และมีเป้าหมายในสิ่งที่ไม่ขัดต่อหลักการของอิสลาม  หากผู้กล่าวสาบานไม่ได้ดำเนินการตามบทบัญญัติของอิสลามหรือมีเป้าหมายที่ขัดแย้งกับหลักคำสอนของอิสลาม  การสาบานนั้นให้ถือเป็นโมฆะ


 7. เงินที่ได้รับจัดสรรเยียวยาให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ถือว่าเป็นมรดก


 8. การประกาศวันสำคัญในศาสนาอิสลาม (อีดิลฟิตรีและอีดิลอัดฮา)  ในประเทศไทย  มีข้อเสนอให้จุฬาราชมนตรีประชุมร่วมกับประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทุกจังหวัด  เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการประกาศวันสำคัญของศาสนาอิสลามให้เป็นเอกภาพ


 9. การผ่าศพและการขุดศพเพื่อชันสูตรหาข้อเท็จจริงความเป็นบุคคล  สาเหตุการตาย  เพื่อหาความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิตและเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมสามารถกระทำได้  ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้คำวินิจฉัยของผู้รู้ทางศาสนาและได้รับการอนุญาตจากญาติของผู้เสียชีวิต


  อนึ่ง  ในกรณีศพนิรนาม  การดำเนินการให้อยู่ในดุลยพินิจของสำนักจุฬาราชมนตรี


 10. คำวินิจฉัยของอดีตจุฬาราชมนตรี (นายประเสริฐ  มะหะหมัด)  เกี่ยวกับปัญหาการปฏิบัติตามหลักศาสนาของมุสลิมกับทางราชการ  ยังไม่ได้รับการเผยแพร่สู่หน่วยงานราชการ  สาธารณชนและสู่การปฏิบัติอย่างทั่วถึง รัฐจะต้องกำหนดเป็นนโยบายสำคัญ  เร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว


   สุดท้ายผู้เขียนหวังว่ามติของผู้รู้และผู้นำมุสลิมในเวทีสัมมนานี้จะเป็นเสมือนกุญแจแก่ผู้ไม่หวังดี ไม่สร้างความเดือดร้อนโดยเฉพาะผู้บริสุทธิ ในขณะเดียวเตือนภาครัฐให้ระมัดระวัง


โดยไม่สร้างเงื่อนไขใด ๆ  อันจะนำไปสู่การอ้างความชอบธรรมของผู้ไม่หวังดีในการเรียกร้องสู่การญิฮาดที่ใช้ความรุนแรง


 


ที่สำคัญที่สุด เราทุกคนจะต้องช่วยกันส่งเสริมความดีและห้ามปรามความชั่ว ในขณะเดียวกันจะต้องร่วมปรึกษาหารืออย่างสันติในการนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net