Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 11 เม.ย.50  อ็อกแฟมและองค์การหมอไร้พรมแดน ยินดีที่แอ็บบ็อตต์ตัดสินใจจะลดราคายาคาเล็ตตร้าและอลูเวียลง 55 เปอร์เซ็นต์ให้กับประเทศกำลังพัฒนา ยาดังกล่าวเป็นยารักษาโรคเอดส์ที่สำคัญ อย่างไรก็ดี ทั้งสององค์กรยังคงสนับสนุนให้ประเทศไทยดำเนินการในเรื่องมาตรการบังคับใช้สิทธิต่อไปเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยาช่วยชีวิตในราคาประหยัดได้


 


นอกจากนี้ อ็อกแฟมและองค์การหมอไร้พรมแดน ยังเรียกร้องให้แอ็บบ็อตต์หยุดกดดันรัฐบาลไทยให้ถอนการบังคับใช้สิทธิที่จะทำให้ยาช่วยชีวิตต่างๆ มีราคาที่ถูกลง ขั้นต่อไปแอ็บบ็อตต์ควรจะแถลงรายชื่อประเทศต่างๆ ที่บริษัทฯ จะลดราคาให้

"ด้วยมาตรการบังคับใช้สิทธิ รัฐบาลไทยสามารถทำให้เห็นว่า บริษัทยาโก่งราคายากับประเทศกำลังพัฒนาอย่างไร คนอาจสงสัยว่า ทำไมแอ็บบ็อตต์ไม่ลดราคายาเสียตั้งแต่แรก ก่อนที่รัฐบาลจะนำมาตราการบังคับใช้สิทธิมาใช้" เยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้จัดการโครงการของอ็อกแฟมในประเทศไทย กล่าว

ปีที่ผ่านมา แอ็บบ็อตต์ได้มีประกาศในทำนองเดียวกันว่า จะลดราคายาคาเล็ตตร้าชนิดเม็ดลงเหลือ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อรายต่อปีให้กับประเทศด้อยพัฒนา แต่หลายๆ ประเทศก็ยังรอคอยอยู่ว่ายาจะมาถึงเมื่อไร

"ถ้าแอ็บบ็อตต์จริงใจที่จะลดราคา แอ็บบ็อตต์ควรจะแถลงรายชื่อประเทศออกมาว่า มีประเทศใดบ้างที่บริษัทฯ จะขายยาคาเล็ตตร้า/อลูเวียชนิดเม็ดในราคา 1,000 และ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี และในรายชื่อดังกล่าวควรจะกำหนดด้วยว่า ประเทศใดบ้างที่มีการขึ้นทะเบียนยาและมีการจำหน่ายแล้ว
และประเทศใดบ้างที่กำลังรอการขึ้นทะเบียนยาหรือยังไม่ได้ยื่นขอจดทะเบียนยา" พอล คอว์ธอร์น
หัวหน้าองค์กรหมอไร้พรมแดนในประเทศไทยกล่าว



"ถ้าไม่มีการรับประกันดังกล่าวจากแอ็บบ็อตต์ ข้อเสนอที่ว่ามาก็เท่ากับเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อ
เราต้องการเห็นคนไข้ได้รับยาจริงๆ มากกว่า"

แอ็บบ็อตต์ตัดสินใจหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขของไทย ประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิกับยาคาเล็ตตร้า เพื่อที่รัฐบาลจะสามารถประหยัดงบประมาณจำนวนมหาศาล และจัดหายาให้แก่ผู้ป่วยในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้
 


ปัจจุบัน ยาคาเล็ตตร้ามีราคาอยู่ที่ 72,000 บาทต่อคนต่อปี และในปี ค.ศ. 2007 ผู้ป่วยโรคเอดส์อย่างน้อย 50,000 คนจำเป็นต้องใช้ยาสูตรที่สอง ซึ่งรวมถึงยาคาเล็ตตร้าด้วย ถ้ารวมทั้งหมดแล้ว ค่าใช้จ่ายที่จะต้องจัดหายาดังกล่าวให้กับผู้ป่วยทั้งหมดนับเป็นมูลค่า 3.6 พันล้านบาท

"การที่แอ็บบ็อตต์ตัดสินใจเช่นนี้ ยืนยันให้เห็นแล้วว่ามาตรการบังคับใช้สิทธิเป็นเครื่องมือที่สำคัญและมีประสิทธิภาพที่จะสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันในการผลิตยาชื่อสามัญ และยับยั้งไม่ให้บริษัทยากำหนดราคาแพงเกินจริงและผูกขาดตลาดยา นอกจากนี้ การแข่งขันของยาชื่อสามัญจะมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้ราคายาถูกลง" เยาวลักษณ์กล่าวเพิ่มเติม

"ภายใต้ข้อตกลงสากลว่าด้วยทริปส์และกฎหมายของไทย ประเทศไทยมีสิทธิตามกฎหมายอย่างเต็มที่
ในอันที่จะนำมาตรการบังคับใช้สิทธิมาใช้กับยาจำเป็นเร่งด่วนต่างๆ โดยไม่หวังผลในเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม 4 อาทิตย์ที่แล้ว บริษัทแอ็บบ็อตต์ได้ถอนการขึ้นทะเบียนยา 7 ชนิด เพื่อตอบโต้มาตราการของรัฐบาลไทย ยา 1 ใน 7 ชนิดที่ถูกถอนการขึ้นทะเบียน คือ ยาอลูเวีย ซึ่งก็คือยาคาเล็ตตร้าชนิดเม็ด
ที่สะดวกและเหมาะสมกับประเทศเขตร้อนแบบประเทศไทย การกระทำของแอ็บบ็อตต์ดังกล่าว
ถือว่าเป็นการปิดกั้นการเข้าถึงยาที่จะช่วยให้คนไข้มีชีวิตยืนยาวต่อไปอย่างเลือดเย็น"

ท้ายที่สุด ทั้ง 2 องค์กรระบุว่า แม้ว่าแอ็บบ็อตต์จะประกาสลดราคายาทั้ง 2 ชนิด แต่แอ็บบ็อตต์ก็ยังยืนกรานการตัดสินใจที่จะถอนการขึ้นยาทั้ง 7 ชนิดในประเทศไทยแอ็บบ็อตต์ควรรีบเร่งนำยาทั้ง 7 ชนิดกลับมาขึ้นทะเบียนใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเข้าถึงยาสำหรับประชาชนที่จำเป็นต้องใช้  มิฉะนั้น การประกาศลดราคายาก็ไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะยาดังกล่าวจะไม่สามารถจำหน่ายได้ในประเทศไทยได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net