Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท โดยเครือข่ายแรงงาน - 12 เม.ย. 50 เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 50 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และองค์กรพันธมิตรแรงงาน จัดเวทีสาธารณะเพื่อเผยแพร่ข้อเสนอแนะและประเด็นสำคัญในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของผู้ใช้แรงงาน ที่ห้องประชุมคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีเวทีอภิปรายเรื่อง "ทิศทางรัฐธรรมนูญ 2550 เนื้อหาเป็นเช่นไร...?" วิทยากรได้แก่ สมศักดิ์ โกศัยสุข เลขาธิการศูนย์ประสานงานกรรมกร, จอน อึ้งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร และสุริยะใส กตะศิลา สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง มีผู้ดำเนินรายการคือ วิไลวรรณ แซ่เตีย และสาวิทย์ แก้วหวาน


 


สมศักดิ์ โกศัยสุข ให้ความเห็นว่า ตั้งแต่ 2475 ประเทศไทยยังไม่เคยเป็นประชาธิปไตยเลย เพราะคนจนยังคงจน กรรมกรยังคงถูกขูดรีด ค่าจ้างขั้นต่ำยังต่ำขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ค่าแรงก็ไม่พอกิน เขาเห็นว่าประชาธิปไตยต้องแจกจ่าย แบ่งปันทรัพยากร ผลผลิตในสังคมให้กับผู้คนอย่างยุติธรรมด้วย


 


นายสมศักดิ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นเสี้ยวหนึ่งของประชาธิปไตย ไม่ใช่ทั้งหมด แต่มันจำเป็นต้องมี มันเป็นกติกา ถ้าเขียนไว้ดีและมีการปฏิบัติ มันก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้าเขียนแล้วไม่ปฏิบัติ มันก็ไม่เป็นประโยชน์อะไร เป็นเพียงกระดาษเปื้อนหมึก  เขาย้ำว่าชนชั้นใดร่างกฎหมาย กฎหมายก็จะเอื้อชนชั้นนั้น รัฐธรรมนูญ 2540 นั้น เขาเห็นว่าไม่ใช่ฉบับประชาชน เพราะประชาชนที่ไม่จบปริญญาตรียังไม่มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยซ้ำ ซึ่งมีคนไทยเพียง 5% ที่จบปริญญาตรี คนที่จะเป็นผู้ปกครองมาจากเพียง 5% นี้ และยังกำหนดให้แรงงานต้องกลับไปเลือกตั้งที่บ้านนอก อย่ามาเลือกคนที่อยู่ข้างโรงงาน ทั้งที่ต้องเข้ามาทำงานในโรงงานเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นการกีดกันการรวมตัวของแรงงาน กีดกันการตั้งพรรคการเมือง


 


"อย่างมาตรา 87 รัฐต้องส่งเสริมการค้าแบบเสรี ถามว่าทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เสรีต้องส่งเสริมด้วยหรือ ไหนว่ากลไกตลาดจะจัดการเอง จะไปส่งเสริมอะไร มันเป็นนโยบายเพื่อเอื้อให้ขายรัฐวิสาหกิจได้ต่างหาก" นายสมศักดิ์กล่าว


 


เขามีสิ่งที่อยากเห็นในรัฐธรรมนูญหลายประการ เช่น การกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม การให้คนเรียนฟรีอย่างแท้จริง การปรับปรุงระบบการศึกษา ประกันสังคมที่เท่าเทียมกันทั้งนายจ้างและลูกจ้าง สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวจัดตั้งสหภาพแรงงานต้องได้รับการคุ้มครองโดยรัฐ การคุ้มครองแรงงานและจัดแรงงานสัมพันธ์ รวมทั้งความปลอดภัยในสถานประกอบการด้วย


 


จอน อึ้งภากรณ์ เห็นด้วยว่ารัฐธรรมนูญ 2540 มีส่วนที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่ เช่นการกำหนดวุฒิการศึกษาสำหรับผู้ที่จะลงรับสมัครเลือกตั้งทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น คนที่ไม่จบปริญญาสามารถสมัครเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯได้ ในอังกฤษก็เคยมีนายกฯ หรือรัฐมนตรีที่ไม่จบปริญญาตรี


 


แต่จอนเห็นว่าแม้เราจะไม่เคยเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ แต่ก็ต้องแยกแยะว่ามีบางยุคที่เรามีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าบางยุค ถ้าเรามองว่าเป็นเผด็จการตลอด ก็จะเห็นว่าถึงทหารมาปกครองก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเรายึดถือระบอบประชาธิปไตย เราต้องเรียกร้องการเลือกตั้ง และกติกาที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ  


 


"ผมไม่มีศรัทธากับการร่างรัฐธรรมนูญปี 50 นี้ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ต้องพยายามฉวยโอกาส ผลักดันอะไรได้ก็ต้องผลักดัน ผมว่ารัฐธรรมนูญสำคัญมาก มันเป็นหัวหาด แม้ผมจะไม่คาดหวังการต่อสู้สำเร็จในครั้งนี้ มันอาจจะได้สัก 1% 2% แต่เราอย่าไปมองว่านี่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้าย ยิ่งรัฐธรรมนูญออกมาแย่เท่าไร ยิ่งบอกได้ว่าไม่ใช่ฉบับสุดท้าย และถ้ามีการเปิดโอกาสให้ประชาชนลงชื่อ 100,000 ชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญได้จริง พวกเราต้องร่วมกันยื่นชื่อมาเพื่อแก้ประมาณ 100 มาตราเป็นอย่างน้อย" จอนกล่าว


 


เขากล่าวต่อถึงสื่อมวลชนเวลานี้ว่า เสนอข่าวการร่างรัฐธรรมนูญแต่ว่า กรรมาธิการร่างจะร่างอะไร ร่างเสร็จไปแล้วเท่าไร แต่ไม่เคยเสนอว่าภาคประชาชนต้องการอะไร ไม่มีการเอาประเด็นมาถกเถียง สื่อมวลชนยุคนี้จึงเชื่อง และเป็นสุนัขรับใช้ผู้มีอำนาจโดยตรง


 


ในช่วงท้ายอาจารย์จอนสรุปความคิดเห็น จากหลายเวทีที่เขาได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชน เช่น การเสนอใช้คำว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ยกเลิกการใช้คำว่าปวงชนชาวไทย เพราะประเทศมีหลายเชื้อชาติ ศาสนา, การรองรับสิทธิและสภาพภาพของบุคคล คุ้มครองคนไร้สัญชาติ, การรับรองเสรีภาพต่างๆ ทั้งการรวมกลุ่ม การตั้งพรรคการเมือง การชุมนุม สิทธิชุมชน การแสดงความคิดเห็น แม้แต่การแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาท ก็ควรจะแสดงได้ รวมถึงการมีระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม มีหลักประกันรายได้และการมีงานทำ การปฏิรูปที่ดิน และการจัดสรรทรัพยากรอย่างเท่าเทียม


 


สุริยะใส กตะศิลา กล่าวว่าการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นเกมส์การเมือง ไม่ได้เป็นวาระแห่งชาติเช่นเดียวกับการร่างรัฐธรรมนูญในปี 2540 คนจะสนใจมากกว่าว่าม็อบพีทีวีจะจบลงอย่างไร คมช.จะประกาศภาวะฉุกเฉินหรือไม่ แต่ไม่ได้สนใจว่ากรรมาธิการจะร่างกรอบแรกออกมาอย่างไร ตัวรัฐธรรมนูญจึงอาจเป็นทั้งสายล่อฟ้า และระเบิดเวลาไปพร้อมๆ กัน


 


"ผมจึงไม่คาดหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง ผมคาดหวังเพียงว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือเปลี่ยนผ่านการเมืองเฉพาะหน้าอย่างสันติ ไม่เกิดเหตุการณ์นองเลือด แล้วหลังเลือกตั้ง พอตั้งสติ ตั้งสมาธิ ค่อยมาสู้กัน"


 


นอกจากนั้นแล้วสุริยะใสยังทำนายทิศทางของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้ว่าสาระสำคัญจะยังคงอยู่ที่การเมืองภาคนักการเมือง หรือการสร้างประสิทธิภาพ เสถียรภาพของการเมืองภาคผู้แทน ไม่มีความมุ่งมั่นที่จะสถาปนาการเมืองภาคประชาชนหรือภาคพลเมือง  รวมทั้งความมีอคติต่อนักการเมือง ทำให้เกิดถ่ายโอนอำนาจจากรัฐสภาไปอยู่ที่ตุลาการ หรือที่เรียกว่าตุลาการภิวัตน์ ไม่ใช่ภาคประชาชน ซึ่งเขาตั้งคำถามว่าเป็นเดิมพันที่สูงเกินไปหรือไม่สำหรับการเมืองไทย 


 


สุริยะใสยังแสดงความเห็นต่อการลงประชามติว่า ถ้า สสร.ไม่สามารถชูทิศทางของรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนได้ ประชาชนจะไม่ไปลงประชามติ และถ้าคนไม่ไปลงประชามติถึงครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก็ถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นโมฆะโดยปริยาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net