Skip to main content
sharethis

ชำนาญ จันทร์เรือง


 


ผมไม่รู้จัก อ.ใจ อึ้งภากรณ์ เป็นการส่วนตัวมาก่อนแม้ว่าจะมีโอกาสร่วมเสวนาทางวิชาการบ้างเป็นบางครั้ง แต่เมื่อได้มีโอกาสอ่าน "A Coup For the Rich: THAILAND"s POLITICAL CRISIS" ที่ อ.ใจเขียนจนจบแล้ว จึงรู้จัก อ.ใจมากขึ้น และแน่นอนที่สุดก็คือ รู้จักการเมืองไทยในแง่มุมที่ลึกซึ้งมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำอธิบายที่มิใช่มาจากนักวิชาการหรือนักวิเคราะห์กระแสหลัก (mainstream analysis) แต่เป็นคำอธิบายในทางเลือกอื่น(alternative explanation)


 


น่าเสียดายที่หนังสือเล่มนี้เขียนเป็นภาษาอังกฤษซึ่งเป็นยาขมสำหรับคนไทย แต่เนื้อหาที่บรรจุนั้นกลับเข้มข้น น่าบริโภคเป็นอย่างยิ่ง อ.ใจได้อธิบายถึงแนวความคิดของผู้ที่ไม่เอาทั้งทักษิณและคณะรัฐประหาร (No to Thaksin and No to the Coup) โดยชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าทักษิณหรือรัฐประหารก็ล้วนแล้วแต่เป็นอันตรายต่อประชาธิปไตยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน


 


หนังสือเล่มนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงการไม่ยอมรับของคนชั้นนำในสังคมที่สนับสนุนรัฐประหารที่เห็นว่าคนจนมีประชาธิปไตยมากเกินไป (too much democracy) และโดยเขาเหล่านั้นแบ่งประเทศไทยว่ามีสองชนชั้นใหญ่ๆ คือชนชั้นกลางที่กระจ่างแจ้งและเข้าใจประชาธิปไตย (enlightened middle-classes who understand democracy) กับชาวชนบทและชาวเมืองที่ยากจนอันแสนจะโง่เขลา (ignorant rural and urban poor)


 


และยังได้ถ่ายทอดมุมมองของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหารที่มองว่า ประชาชนชาวไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจประชาธิปไตยที่ถูกต้อง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาให้การศึกษา (I suspect many Thais still lack a proper understanding of democracy: The people have to understand their rights and their duties…I think it is important to educate the people about true democratic rule)


 


นอกจากนั้น อ.ใจยังได้วิพากษ์นักวิชาการที่มีชื่อเสียง อาทิ เอนก เหล่าธรรมทัศน์, ธีรยุทธ์ บุญมี และอดีตนายกฯอานันท์ ปันยารชุน ว่า ปัจจุบันได้หันมาส่งเสริมแนวความคิดคุณค่าของเอเชีย (the idea of Asia values) เพื่ออธิบายเหตุผลของการทำรัฐประหารในครั้งนี้ โดยนักวิชาการเหล่านี้มองว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ (Thai-style democracy) นั้นเป็นสิ่งควรจะเป็นระบบผสม โดยการแบ่งปันอำนาจระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับสถาบันกษัตริย์ ส่วนนโยบายประชานิยมของไทยรักไทยนั้น จะถูกแทนที่ด้วยรัฐสวัสดิการ


 


ในส่วนของกลุ่มพลังที่มีส่วนผลักดันขับไล่ทักษิณก่อนการรัฐประหาร ที่นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อ.ใจได้วิเคราะห์แยกแยะถึงองค์ประกอบและปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้มีการเคลื่อนไหว ซึ่งโดยสรุปแล้ว ผู้ที่มีอิทธิพลสูงสุดและควบคุมการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ทั้งหมดคือ สนธิ ลิ้มทองกุล นั่นเอง เพราะมีทั้งเงินทุน สื่อ ฯลฯ อยู่ในมือ โดยมองว่าแกนนำที่เหลือเป็นเพียงผู้สนับสนุนเท่านั้น


 


อ.ใจได้กล่าวถึงการกลับมาสถาปนาระบอบกษัตริย์ของอังกฤษเพียง 11 ปีภายหลังการปฏิวัติ ค.ศ.1640 ของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ที่สามารถฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ภายหลังการเสียชีวิตเขา แต่ระบอบกษัตริย์ที่ได้กลับคืนมาก็ไม่เหมือนเดิมดังแต่ก่อน เพราะกฎหมายศักดินาและระบบเศรษฐกิจเก่าแก่ได้ถูกทำลายลง แต่อย่างไรก็ตามก็ยังติดอยู่กับการสนับสนุนจากพ่อค้าและผู้ดี โดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบพระเจ้าชารลส์ที่ 2 ว่า เป็นกษัตริย์โดยพระคุณของพระเจ้า แต่ในความจริงแล้วเป็นโดยพระคุณของบรรดาพ่อค้าและพวกผู้ดีทั้งหลาย (Charles (the 2nd) was King by Grace of God, but really King by the Grace of merchants and squires)


 


นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงคนเดือนตุลาฯ อันเป็นผลผลิตของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย แต่ต้องหนีเข้าป่าไปร่วมอุดมการณ์กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเมื่อครั้งเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แต่ในที่สุดก็กลับมาเข้าร่วมกับรัฐบาลไทยรักไทย โดยเปลี่ยนอุดมการณ์ไปโดยเห็นว่าอุดมการณ์เดิมไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ได้


 


เขาเหล่านั้นเห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องใช้ระบบเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน (Dual Track) โดยพัฒนานโยบาย "ทุนนิยม" และ "เศรษฐกิจประชาชน (ชุมชน)" ไปในขณะเดียวกัน (development policy, where "Capitalism" and the "Peoples Economy" (Community based activities) went hand in hand) หรือที่เรารู้จักกันโดยทั่วไปว่าเสรีนิยมบวกกับประชานิยมนั่นเอง


 


ในขณะเดียวกัน วิถีชีวิตของคนเดือนตุลาฯ ในไทยรักไทยห่างเหินจากกระบวนการความเคลื่อนไหวของประชาชนแปรเปลี่ยนเป็นนายทุนและรัฐมนตรีผู้สูงศักดิ์อย่างเต็มตัว นโยบายของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่ออกมาไม่เคยมีความตั้งใจที่จะเก็บภาษีคนรวยอย่างเต็มที่


 


ในช่วงแรก นโยบายนี้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนไทยเกือบทั้งหมด แต่เมื่อเวลาผ่านไป นักธุรกิจบางคนรู้สึกว่าตนถูกกีดกันจากการเข้าร่วมเสวยผลประโยชน์ที่มีแต่เพียงพลพรรคไทยรักไทยเท่านั้น จึงเริ่มมีการแสดงความไม่พอใจและนำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านในที่สุด


 


และบทสุดท้ายในหนังสือเล่มนี้ ได้กล่าวถึงปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ของประเทศไทยที่ได้สรุปว่า ต้นตอแห่งปัญหาที่แท้จริงนั้นมีรากเหง้ามาจากรัฐไทยนั่นเอง โดยลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ในอดีตจนถึงเหตุการณ์ในสมัยรัฐบาลทักษิณ กรณีตากใบ ฯลฯ จนท้ายสุดคือเหตุการณ์สึนามิที่ดูเหมือนว่าจะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่ผลที่ตามมากลับไม่ใช่ (The Tsunami was natural, but its effects were not)


 


ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนจากหลายๆ ส่วนที่ไม่สามารถนำมากล่าวถึงได้หมด แต่โดยสรุปแล้วผมเห็นเป็นหนังสือที่มีคุณค่ายิ่ง เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงความเห็นของนักวิชาการ (ที่แท้จริง) เพียงคนเดียว แต่ได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่มีใครเห็นด้วยทั้งหมด แต่อย่าลืมว่าความเจริญงอกงามทางวิชาการในระบอบประชาธิปไตยก็เริ่มต้นจากการยอมรับในความเห็นที่แตกต่างมิใช่หรือ


 


คิดว่าคนไทยคงจะได้มีโอกาสอ่านฉบับที่แปลเป็นภาษาไทย อย่าปล่อยให้แต่ฝรั่งหรือคนรู้ภาษาอังกฤษได้อ่านเท่านั้นนะครับ


 


 


-------------------------


 


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 11 เมษายน 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net