Skip to main content
sharethis

ประเพณีสงกรานต์  ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ที่ยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่งดงาม โดดเด่น และฝังลึกเข้าไปในชีวิตของคนไทยทุกคนมาช้านาน แม้กระทั่งชาวต่างชาติก็ได้ให้ความสนใจและรู้จักประเพณีสงกรานต์ของไทยเป็นอย่างดี


 


ดังนั้นประเพณีสงกรานต์จึงนับเป็นมรดกอันล้ำค่า เป็นช่วงเวลาแห่งความเอื้ออาทรความรัก ความผูกพัน  ที่มีต่อกันในครอบครัว ชุมชน สังคม และศาสนา เป็นช่วงเวลาที่สมาชิกในครอบครัวทุกคนได้มีโอกาสอยู่ร่วมกันและทำกิจกรรมต่าง    ร่วมกัน


 


"สงกรานต์" เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า ผ่าน หรือเคลื่อนย้ายเข้าไป หมายถึง เวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่งทุกๆ เดือน ยกเว้นเมื่อย้ายจากราศีมีนสู่ราศีเมษ จะเรียกชื่อพิเศษว่า "มหาสงกรานต์" เพราะเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามความเชื่อของอินเดียฝ่ายเหนือ ซึ่งไทย รับคติความเชื่อเกี่ยวกับวันขึ้นปีใหม่นี้มาใช้เช่นกัน แต่จะเรียกว่า "สงกรานต์"


 


การกำหนดวันขึ้นปีใหม่แต่เดิมของไทยใช้วิธีนับทางจันทรคติ ดังนั้น แต่ละปีจะไม่ตรงกัน จนลุถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้กำหนดให้ วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2432 และได้เปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2484 โดยกำหนดวันขึ้นปีใหม่ ตรงกับวันที่ 1 มกราคม ตามหลักสากล 


 


สำหรับการกำหนดวันสงกรานต์มี 3 วัน คือวันที่ 13, 14, 15 เมษายน ของทุกปี มีชื่อเรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศก ตามลำดับ ทั้งนี้ในแต่ละภูมิภาค มีชื่อเรียกวันดังกล่าวและมีพิธีกรรมแตกต่างกัน ตามคติความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น เมื่อถึงวันสงกรานต์ คนไทยสมัยก่อนสนใจที่จะรู้ชื่อนางสงกรานต์ พาหนะทรง กำหนดวันมหาสงกรานต์ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาน้ำฝนจากธรรมชาติ คำทำนายต่าง ๆ เป็นการเตรียมพร้อม ในการที่จะต้องเผชิญกับภาวะต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ ผลิตผลและการทำมาหากินทั่วไป


 


ส่วนประเพณีที่นิยมถือปฏิบัติกัน ในช่วงวันสงกรานต์ ประกอบด้วย  ก่อนวันสงกรานต์ เป็นวันทำความสะอาดบ้านเรือน ชำระล้างสถานที่ สิ่งของเครื่องใช้ ทุกอย่างให้สะอาดหมดจด เพื่อจะได้ต้อนรับปีใหม่ด้วยความแจ่มใสเบิกบาน และตระเตรียมข้าวของไว้สำหรับทำบุญ อาทิ มีพิธีทำบุญตักบาตรก่อเจดีย์ทราย ปล่อยนกปล่อยปลา บังสุกุลอัฐิ สรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ รดน้ำผู้ใหญ่ การสาดน้ำ และการเล่นรื่นเริง


 


ดังนั้น ความงดงามของประเพณีสงกรานต์ อันประกอบด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรมดังกล่าว เปรียบเสมือนสายใยความผูกพันแห่งอดีตกับปัจจุบัน เป็นสิ่งซึ่งแสดงถึงความเป็นไทยอย่างแท้จริง แต่กำลังจะถูกลบเลือนไปในสภาพปัจจุบัน เห็นได้จาก  กิจกรรมหลายอย่างได้ถูกยกเลิกไป สุนทรียภาพ อันเกิดจากภาษาและดนตรีได้เงียบหายไป เพลงร้องอันไพเราะที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนสมัยก่อน  ถูกแทนที่ด้วยบทเพลงสมัยใหม่ ความเอื้ออาทร ความห่วงใย และความปรารถนาดีที่จะให้ผู้อื่น มีความสุขโดยการประพรมน้ำ ถูกแทนที่ด้วยการขว้างปา กิริยาก้าวร้าวรุนแรง ไม่สนใจ ในความเจ็บปวดและอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น พิธีกรรมอันเคยสง่างามถูกบีบรัดด้วยความรีบร้อนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว 


 


คงจะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเรียกร้องให้ทุกสิ่งทุกอย่างในอดีตกลับคืนมาสู่ยุคปัจจุบัน หากเพียงแต่เราจะเริ่มต้นด้วยการแบ่งปันความเอื้ออาทรให้กันและกัน พิเคราะห์ดูความงามของ ประเพณีสงกรานต์ที่แท้จริง และเลือกสรรนำมาปฏิบัติให้เหมาะกับยุคสมัยเท่ากับว่าเราเป็นผู้หนึ่ง ที่จรรโลงประเพณีสงกรานต์ ด้วยความหมายที่แท้จริงให้อยู่คู่กับสังคมไทยสืบต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net