Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 12 เมษายน ชาวบ้านใน จ.ยะลา กว่า 500 คน ยังคงปักหลักนำศพของ น.ส.พัชราภรณ์ บุญมาศ อายุ 25 ปี ซึ่งถูกคนร้ายยิงแล้วเผาเมื่อวันที่ 11 เมษายน มาตั้งประท้วงหน้าศาลากลางจังหวัดยะลา เป็นวันที่สองติดต่อกัน เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นเหตุการณ์อุกอาจสะเทือนขวัญชาวบ้านเป็นอย่างมาก โดยข้อเรียกร้องสำคัญในวันนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมต้องการเจรจากับ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกและประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เพื่อเสนอเงื่อนไขในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้ประชาชน หาก ผบ.ทบ.ไม่เดินทางมาเจรจา จะไม่ยอมสลายการชุมนุม


 



ยื่นข้อเรียกร้อง 8 ประการ


ต่อมาเวลา 09.45 น. พ.ต.ท.พิทักษ์ เอียดแก้ว ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดยะลา เข้าเจรจากับชาวบ้าน เพื่อขอร้องให้ชาวบ้านสลายการชุมนุม และนำศพไปบำเพ็ญกุศลตามพิธีทางศาสนา ใช้เวลาในการเจรจาครึ่งชั่วโมงแต่ไม่เป็นผล เนื่องจากชาวบ้านต้องการความชัดเจน พร้อมกันนี้ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง 8 ข้อ คือ


 


1.ให้ทหารอยู่ปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่เวลา 06.00-10.00 น. และเวลา 15.00-18.00 น. ตามเส้นทางเข้าออกหมู่บ้าน ต.ยุโป ต.ลำพะยา ต.ตาเซะ อ.เมือง จ.ยะลา


 


2.จัดให้มีกำลังอาสาสมัครในพื้นที่หมู่บ้านละ 15 คน โดยต้องเป็นคนในพื้นที่ทั้งหมด


 


3.ให้ยกเลิกโครงการสมานฉันท์


 


4.เมื่อเกิดเหตุการณ์ฆ่าผู้บริสุทธิ์ ให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจค้นในที่เกิดเหตุโดยเร็ว


 


5.ให้ประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้



6.ให้รัฐบาลปราบปรามอย่างจริงจังกับผู้ประท้วงที่ปิดหน้าปิดตา


 


7.ให้ทำประวัติผู้ก่อความไม่สงบ และดำเนินคดีให้ถึงที่สุด


 


8.ถ้านายกรัฐมนตรีหรือผู้บัญชาการทหารบกไม่มารับข้อเสนอแนะภายใน 5 วัน คณะเจ้าภาพจะเผาศพหน้าศาลากลางจังหวัด



หลังชาวบ้านยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าว นายพระนาย สุวรรณรัฐ ผอ.ศอ.บต. ประชุมร่วมกับนายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าฯ ยะลา นายเดชรัฐ สิมศิริ ปลัดจังหวัดยะลา พล.ต.ต.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผบก.ยะลา ที่ห้องประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จ.ยะลา เพื่อรับทราบข้อเสนอและหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน จากนั้นตัวแทนชาวบ้านจำนวน 10 คน เข้าร่วมหารือกับเจ้าหน้าที่



 


วอนรัฐชูปัญหาความไม่สงบเป็นวาระแห่งชาติ


ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลนำปัญหาความไม่สงบเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่ให้ระดับท้องถิ่นแก้ปัญหากันตามลำพัง ให้ส่งรัฐมนตรีช่วยด้านความมั่นคงมาประจำในพื้นที่ จะได้นำปัญหาในพื้นที่เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ทันที นอกจากนี้ ต้องการให้เจ้าหน้าที่จัดกำลังทหารตำรวจตรวจค้นหมู่บ้านบริเวณที่เกิดเหตุได้ทันที ไม่ใช่ปล่อยให้คนร้ายดำเนินการได้อย่างเสรีและหลบหนีไปซุกซ่อนอยู่ในหมู่บ้านเหมือนทุกวันนี้ นอกจากนี้ ยังต้องการให้ใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด ให้หน่วยงานของรัฐมีความเป็นเอกภาพ แบ่งปันข้อมูลข่าวสารในการปฏิบัติการ ไม่สะเปะสะปะต่างคนต่างไปเหมือนทุกวันนี้



 


 ตัวแทนชาวบ้านยังเสนอด้วยว่า ต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายที่เห็นเป็นรูปธรรม ไม่ต้องการได้ยินคำว่า "เรามาถูกทางแล้ว" เป็นคำปลอบใจที่เสมือนการถูกทอดทิ้งให้เผชิญปัญหาตามลำพัง ในขณะที่ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.ยุโป อ.เมือง ได้เปิดเผยในที่ประชุมว่า ลูกบ้านถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทำร้ายเสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยมแล้วจำนวน 12 คน แต่ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐเลย



 


พระนายปัดขอพบนายกฯเป็นไปไม่ได้


จากนั้นนายพระนาย ชี้แจงต่อชาวบ้านว่า ตระหนักถึงปัญหาที่ชาวบ้านประสบ แต่ทุกหน่วยงานมีความตั้งใจแก้ปัญหา ส่วนการขอพบนายกรัฐมนตรี คงเป็นไปไม่ได้ แต่จะประสานงานให้พบกับแม่ทัพภาคที่ 4 แทน นอกจากนี้ ข้อเสนอต่างๆ ศอ.บต.จะรับไว้และดำเนินการในส่วนที่ดำเนินการได้ทันที แต่ในบางส่วนต้องรอการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี



 


หลังการหารือผ่านไปกว่า 1 ชั่วโมง สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ในระดับหนึ่ง แต่ตัวแทนชาวบ้านต้องการพบผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจได้ในทุกเรื่อง จึงยังไม่ยอมสลายการชุมนุม ซึ่งหากผู้บัญชาการทหารบกไม่มาพบ ผู้ชุมนุมก็ขอพบแม่ทัพภาคที่ 4 มาเจรจาหาข้อยุติกับกลุ่มผู้ชุมนุมอีกครั้ง



 


ส่วนนายกลิ่น บุญมาศ บิดาของ น.ส.พัชราภรณ์ กล่าวว่า ต้องการพบและเจรจากับนายกรัฐมนตรี หรือผู้บัญชาการทหารบกเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะไม่ยอมสลายการชุมนุม



 


"อยากจะให้เจ้าหน้าที่ช่วยกันหามาตรการในการป้องกัน และป้องปราม เมื่อมีการสับเปลี่ยนกำลังกันบ่อย ทำให้เกิดช่องว่างในการรักษาความปลอดภัย ลูกสาวของผมถูกกระทำในช่วงที่มีการสับเปลี่ยนกำลังของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ที่มาทำงานในพื้นที่พอรู้เส้นทางของกลุ่มคนร้าย ก็ถูกสับเปลี่ยนกำลัง ทำให้การทำงานไม่ต่อเนื่อง จึงจะขอพบ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก และประธาน คมช.เพื่อขอความชัดเจน" นายกลิ่น กล่าว



 


 สำหรับรยากาศของการชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดยะลา มีผู้มาร่วมชุมนุมประมาณ 400 คน เป็นชาวบ้านจาก ต.ยุโป ต.ตาชี และ ต.ตาเซะ มีการตั้งศพ พร้อมกับเต็นท์ 5 หลัง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องจัดพื้นที่การชุมนุม ด้วยการนำแผงเหล็ก กรวยยางให้ทหารและตำรวจคอยดูแลความปลอดภัยแก่ผู้ชุมนุมโดยรอบ ส่วนบริเวณถนนหน้าศาลากลาง ซึ่งเป็นจุดชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้แบ่งผิวการจราจรครึ่งหนึ่ง เพื่อให้รถสามารถสัญจรได้ และมีการตั้งด่านเพื่อตรวจสอบและสกัดการเดินทางเข้าร่วมชุมนุมของประชาชนจาก จ.นราธิวาส และปัตตานี โดยแกนนำผู้ชุมนุมมีมากกว่า 10 คน



 


แม่ทัพภาค 4 มาเจรจาหลังผู้ชุมนุมลดเงื่อนไข


ต่อมาเมื่อเวลา 14.30 น. พล.ท.วิโรจน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาคที่ 4 มายังศาลากลางจังหวัดยะลา เพื่อเจรจากับแกนนำผู้ชุมนุม หลังจากที่กลุ่มผู้ชุมนุมยอมลดเงื่อนไข และเจรจากับแม่ทัพภาคที่ 4 จากเดิมที่ต้องการเจรจากับนายกรัฐมนตรีและประธาน คมช.เท่านั้น หลังการเจรจามีรายงานว่าชาวบ้านยอมสลายการชุมนุมและจะเคลื่อนย้ายศพ น.ส.พัชราภรณ์ไปบำเพ็ญกุศลที่วัดยุโป แต่กลับมีการเคลื่อนย้ายเต็นท์เข้ามาเพิ่มยังที่ชุมนุมอีก โดยแกนนำผู้ชุมนุม กล่าวว่า เงื่อนไขของผู้ชุมนุมยังเหมือนเดิมคือ ให้นายกรัฐมนตรี หรือประธานคมช.ลงมาพบและรับปากต่อผู้ชุมนุมเรื่องความปลอดภัยให้ชัดเจนเท่านั้น หากไม่ลงมาตามข้อเรียกร้อง การชุมนุมก็จะเดินหน้าต่อไป



 


นักวิชาการเตือนสถานการณ์สุกงอม


ด้าน ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการก่อความรุนแรงในพื้นที่บันนังสตา และยะหา ซึ่งมีการประกาศเคอร์ฟิวมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งล่าสุดการก่อเหตุสังหารและเผา น.ส.พัชราภรณ์อย่างโหดเหี้ยม จนนำไปสู่การแห่ศพประท้วงที่หน้าศาลากลางจังหวัดยะลา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ราษฎรไทยพุทธถือได้ว่าเป็นคนกลุ่มน้อยมีเพียง 3 แสนคน แต่มีสถิติการเสียชีวิตจากความรุนแรงในพื้นที่ประมาณ 1,000 คน ถือว่าเป็นจำนวนมากหากเทียบกับประชาชนไทยมุสลิมในพื้นที่กว่า 1 ล้านคน ที่สำคัญกว่า 3 ปี ข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นพบว่าราษฎรไทยพุทธขณะนี้มีประมาณ 1 แสนคน ที่เหลือได้ย้ายไปอยู่นอกพื้นที่ คนที่ยังเหลืออยู่คือกลุ่มที่ตัดสินใจสู้



 


นักวิชาการด้านความมั่นคง กล่าวต่อว่า ชาวบ้านมีการจัดวางกองกำลังกันเอง รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อดูแลป้องกันตนเอง ทั้ง อรบ. ชรบ. ซึ่งสถานการณ์ลักษณะนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก เนื่องจากครั้งนี้ถือเป็นการรวมตัวของประชาชนไทยพุทธจำนวนมากและหนาแน่นที่สุด อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ฉะนั้นวิธีเดียวที่จะทำให้มั่นใจในความปลอดภัยมากที่สุดนั่นคือการรวมกลุ่ม และเคลื่อนไหวกดดันรัฐเพื่อให้ช่วยเหลือในการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยกว่าที่ผ่านมา



 


"สถานการณ์ในขณะนี้ค่อนข้างสุกงอม สิ่งที่รัฐต้องพึงระวังและเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดคือการเคลื่อนไหวของภาคประชาคม ซึ่งถือป็นตัวแปรสำคัญ โดยเฉพาะเหตุการณ์ความรุนแรงคือสิ่งเร้าสำคัญที่มีโอกาสกระตุ้นอุณหภูมินำไปสู่การเผชิญหน้าของม็อบสองฝ่าย" ดร.ปณิธาน กล่าว



 


 จับตาแผน"ทะเลเพลิงกลางเมือง"


ดร.ปณิธาน กล่าวต่อว่า แนวโน้มของสถานการณ์ในพื้นที่ขณะนี้น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ เนื่องจากฝ่ายตรงข้ามพยายามสร้างสถานการณ์ต่อเนื่องจากปีใหม่ ตรุษจีน โดยเลือกก่อเหตุช่วงเวลาที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ นอกจากนี้ฝ่ายตรงข้ามมีความพยายามประกอบระเบิดขนาดใหญ่ เพื่อลดจำนวนความถี่ในการก่อเหตุ และจะเน้นการสร้างสถานการณ์ด้วยความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะสัปดาห์ที่ผ่านมาคนร้ายก่อเหตุที่ร้านขายอุปกรณ์การเกษตรใน อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส โดยนำเอาปุ๋ยยูเรียบรรจุถุงแบ่งขาย หลบหนีไปด้วย



 


"ประเด็นที่น่าเป็นห่วงอีกประการ กรณียังไม่พร้อมก่อเหตุด้วยระเบิดขนาดใหญ่ ฝ่ายตรงข้ามจะใช้วิธีการโจมตีเป้าหมายสำคัญ เพื่อสร้างกระแสข่าวความปั่นป่วนระดับเฮดไลน์ เช่น รถน้ำมัน หรือสถานีน้ำมัน โดยขณะนี้เริ่มมีกระแสแผนทะเลเพลิงกลางเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก" ดร.ปณิธาน กล่าว



 ดร.ปณิธาน เสนอแนะว่า จากนี้ไปกองทัพภาคที่ 4 ควรพิจารณาประกาศเคอร์ฟิวเพิ่มพื้นที่อื่น โดยเฉพาะอำเภอรอยต่อบันนังสตา และยะหา เนื่องจากผู้ก่อเหตุจะใช้วิธีกบดานและเคลื่อนไหวอยู่บริเวณรอบนอก เช่น อ.ธารโต จ.ยะลา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการควบคุมพื้นที่ และง่ายต่อการไล่ล่าฝ่ายตรงข้ามที่เคลื่อนไหว เพราะพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นขุมกำลังของฝ่ายตรงข้ามสำคัญแห่งหนึ่งในขณะนี้



 


นายกฯยันหาทางแก้ไขโดยไม่ต้องใช้กำลัง


พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ที่ชาวยะลาออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินว่าเป็นเรื่องที่มีความหนักใจ และอีกไม่กี่วันก็จะลงไปเยี่ยมเยียนรับฟังปัญหา รวมถึงหาทางแก้ไขในส่วนที่รัฐบาลสามารถจะดำเนินการให้ได้ เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อจิตใจของพี่น้องคนไทยมากที่สุด ส่วนเหตุการณ์ที่มีการทำร้ายผู้หญิงซึ่งไม่มีทางต่อสู้ใดๆ เลยนั้น เป็นเรื่องที่คิดว่าไม่ควรจะอยู่ในวิสัยของคนไทย คนไทยถ้าจะทำ คงทำในส่วนที่มีเหตุ มีผลมากกว่านี้ ไม่ใช่เป็นการแสดงความโหดเหี้ยม แสดงความไร้มนุษยธรรมในลักษณะที่สังหารผู้หญิง



 


 ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ผู้ก่อความไม่สงบพยายามสร้างความขัดแย้งระหว่างไทยพุทธ-ไทยมุสลิม มีความกังวลหรือไม่ เพราะอาจถึงเวลาที่ชาวบ้านจะจับอาวุธมาสู้รบกันเอง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่อยากให้ถึงวันนั้น ไม่อยากเห็นคนไทยต้องมาปะทะและฆ่ากันเอง สิ่งใดที่สามารถช่วยกันเจรจาและทำความเข้าใจกันได้ ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ส่วนนี้ยังหวังอยู่ว่ามีคนส่วนใหญ่ที่เข้าใจและหาทางที่จะแก้ไขปัญหาตรงนี้ แน่นอนว่าผลกระทบที่เขาพยายามที่จะสร้างสถานการณ์ สร้างความเคียดแค้นให้เกิดขึ้นและในที่สุดก็จะเกิดความรุนแรง เป็นเรื่องที่จะต้องระมัดระวังและหาทางแก้ไขคลี่คลายให้ได้



 


เมื่อถามว่า ชาวบ้านบอกว่านโยบายสมานฉันท์ของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ใช้ไม่ได้ เพราะนโยบายนี้รัฐบาลโอนอ่อนกับมุสลิมโดยที่คนไทยพุทธตกเป็นเหยื่อของนโยบาย พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาล ไม่ได้โอนอ่อนตามสิ่งใดเลย การแก้ไขปัญหา คือ การหาทางเจรจาพูดกันโดยสันติ หาทางแก้ไขโดยที่ไม่ต้องใช้กำลัง ใครที่ใช้กำลังเราไม่อยากที่จะเจรจาด้วย คงใช้มาตรการทางกฎหมายที่จะดำเนินการ นั่นเป็นสิ่งที่ได้ชี้แจงไว้ตั้งแต่ต้นว่า การแก้ไขปัญหานั้นเราจะเจรจาเฉพาะผู้ที่อยากจะเจรจาเท่านั้น ใครที่ไม่อยากเจรจา ใครที่ใช้กำลังเราก็ต้องใช้กฎหมายเข้าไปดำเนินการ



 


ระเบิดตลาดสดยะลา บาดเจ็บ 11 คน


ส่วนสถานการณ์ความรุนแรงยังมีอย่างต่อเนื่อง เเมื่อเวลา 06.34 น. วันที่ 12 เมษายน เกิดเหตุระเบิดที่หน้าแผงขายเนื้อหมู ภายในตลาดสดพิมลชัย (ตลาดสดรถไฟ) เขตเทศบาลนครยะลา ตรวจสอบที่เกิดเหตุพบหลุมที่เกิดจากแรงระเบิดกว้าง 50 ซม. ลึก 80 ซม. และเศษสะเก็ดระเบิดเป็นเหล็กตัดขนาด 1 ซม. รวมทั้งเศษสายไฟ จึงเก็บไว้เป็นหลักฐาน นอกจากนั้นยังมีรถจักรยานยนต์สีดำ ทะเบียน ฌ 1306 ยะลา ซึ่งจอดดยู่ตรงจุดดังกล่าวได้รับความเสียหาย



 


ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลศูนย์ยะลา จำนวน 11 คน คือ 1.นางอรนัน นามยศ อายุ 50 ปี 2.นส.สาย วรโชติดิลก อายุ 45 ปี 3.นายปราโมทย์ คงคลอด อายุ 34 ปี 4.ส.ต.ท.วินัย เกษรชื่น อายุ 28 ปี 5.นางน้อย สุวรรณโณ 6.นายธนัฐ หิรัฐพิจิตร อายุ 19 ปี 7.นางทองมา หนองประทุม อายุ 42 ปี 8.นางทิพา บุญธเนศ อายุ 48 ปี 9.นางบุญตา หอมรส อายุ 58 ปี 10.อาสาสมัคทหารพรานรวิศ ชูชื่น อายุ 27 ปี และ ส.ต.อ.อนุชิต เตจะกาศ อายุ 33 ปี ทั้งหมดได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย สอบสวนทราบว่า ขณะที่ประชาชนกำลังเดินจับจ่ายซื้อกับข้าวอยู่ภายในตลาดสด คนร้ายได้ใช้โทรศัพท์มือถือจุดชนวนซึ่งซุกไว้ในท่อน้ำบนถนนที่กำลังก่อสร้าง ทำให้มีผู้บาดเจ็บดังกล่าว



 


วางบึ้มอีกหลายจุดแต่กู้ทัน


เมื่อเวลา 06.00 น. เจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิดที่คนร้ายวางไว้บนตู้โทรศัพท์สาธารณะ บริเวณแยกมาสด้า ถ.รวมมิตร อ.เมือง จ.ยะลา พบเป็นวัตถุระเบิดน้ำหนัก 2 กก. บรรจุในกล่องเหล็กพร้อมที่จะระเบิด โดยต่อเชื่อมด้วยโทรศัพท์มือถือ เจ้าหน้าที่จึงตรวจสอบซิมที่พบในโทรศัพท์ว่าเป็นของผู้ใดเพื่อดำเนินการขยายผลต่อไป ต่อมาเวลา 11.30 น. เจ้าหน้าที่เข้าเก็บกู้วัตถุระเบิดหน้าร้านซังเต็ง 2 ซึ่งเป็นร้านทอง ในเขตเทศบาลนครยะลา ถนนสิโรรส อ.เมือง จ.ยะลา ตรวจสอบพบเป็นระเบิดน้ำหนัก 5 กก. บรรจุในกล่องเหล็กพร้อมที่จะระเบิด โดยก่อนเกิดเหตุมีชายวัยรุ่น 2 คนขับรถจักรยานยนต์นำตัววัตถุต้องสงสัยมาวางไว้ก่อนจะขับรถหลบหนีไป



 


เวลาไล่เลี่ยกัน ได้รับแจ้งว่า พบวัถตุต้องสงสัยที่หน้าโชว์รูมเชฟโรเลต ฝั่งตลาดเก่า เขตเทศบาลนครยะลา ด้วยเช่นกัน ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดจาก ภ.จว.ยะลา เข้าตรวจสอบพบว่าเป็นกระเป๋าเสื้อผ้า ไม่ใช่วัถตุระเบิดแต่อย่างใด นอกจากนั้นคนร้ายได้โทรศัพท์แจ้งไปยังร้านจักรยานยนต์ซูซูกิ ตลาดเมืองใหม่ เขตเทศบาลนครยะลา ว่า มีระเบิดซุกอยู่ใต้เบาะรถจักรยานยนต์ จึงได้แจ้งให้ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดจาก ภ.จว.ยะลา เข้าตรวจสอบแต่ไม่พบวัถตุระเบิด



 


ต่อมาเวลา 13.40 น. เกิดเหตุระเบิดภายในห้องน้ำสำนักงานขนส่งจังหวัดยะลา เขตเทศบาลนครยะลา แรงระเบิดทำให้กำแพงห้องน้ำเสียหาย เบื้องต้นคาดว่าคนร้ายนำระเบิดชนิดแสวงเครื่องมาซุกไว้บนเพดานห้องน้ำ แล้วจุดระเบิด ก่อนเกิดเหตุคนร้ายได้โทรศัพท์มายังสำนักงานขนส่งจังหวัดยะลา บอกว่ามีระเบิดอยู่ในสำนักงาน อีก 15 นาที จะเกิดระเบิด ทางเจ้าหน้าที่ขนส่งจึงรีบอพยพเจ้าหน้าที่และชาวบ้านออกจากสำนักงาน จากนั้นประมาณ 5 นาที จึงเกิดระเบิดขึ้นจนได้รับความเสียหายดังกล่าว



 


 พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ โฆษกกองทัพบก หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์คนร้ายลอบก่อเหตุป่วนเมืองอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวันในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเขต อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งมีทั้งการลอบวางระเบิด การโทรศัพท์ข่มขู่ว่ามีการลอบวางระเบิดหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นร้านทอง ร้านตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สถานีขนส่ง และสถานีรถไฟ ทำให้เกิดความโกลาหล ล่าสุดเจ้าหน้าที่ต้องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือทุกชนิดตลอดทั้งวันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง



 



รายงานข่าวจากเจ้าหน้าที่กองกำลังศรีสุนทร จ.ยะลา ได้รับแจ้งว่า เมื่อเวลา 12.30 น.วันที่ 12 เมษายน ได้มีกลุ่มสตรีและเด็กได้มาชุมนุมประท้วงในพื้นที่ อ.บันนังสตา 2 แห่ง คือ ที่บริเวณบ้านบางลาง ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ประมาณ 100 คน และที่บริเวณบ้านสนามบิน ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา อีกประมาณ 100 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้เข้าเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว นอกจากนี้ยังได้รับแจ้งอีกว่าในหลายพื้นที่กลุ่มคนร้ายได้ตัดต้นไม้ขวางถนนเพื่อปิดเส้นทางการสัญจร โดยเฉพาะที่บ้านบียอ ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา



 


กรมบัญชีกลางจ่ายเบี้ยเสี่ยงภัยให้ทหาร


นายมนัส แจ่มเวหา รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรมบัญชีกลางได้สั่งการไปยังสำนักงานคลังเขต สำนักงานคลังจังหวัดให้ตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินเบี้ยเสี่ยงภัยสำหรับทหารในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว โดยได้รับการรายงานจากคลังจังหวัดปัตตานี และนราธิวาส ว่า ได้เบิกจ่ายเงินเบี้ยเสี่ยงภัยให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าวจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2550 เรียบร้อยแล้ว



 


สำหรับเบี้ยเสี่ยงภัยของ จ.ยะลา ได้เบิกจ่ายเงินจากงบดำเนินงานของส่วนราชการที่ กอ.รมน.ภาค 4 โดยเบิกจ่ายจากสำนักงานคลังจังหวัดนครศรีธรรมราช และจากการประสานไปยัง กอ.รมน. ภาค 4 ทราบว่า งบประมาณเพิ่งโอนมาให้ กอ.รมน. ภาค 4 จำนวน 420 ล้านบาท เมื่อเดือนมีนาคม 2550 สำหรับการจ่ายเงินตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 เป็นต้นมา ซึ่งส่วนใหญ่เบิกจ่ายเรียบร้อยแล้ว มีเพียงบางหน่วยงานที่ยังไม่วางหลักฐานเบิกจ่าย และทาง กอ.รมน. ภาค 4 ได้เร่งให้รีบเบิกจ่ายแล้ว



 


โฆษกกรมบัญชีกลางกล่าวว่า การจ่ายเบี้ยเสี่ยงภัยให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอัตรา 1,000 บาท/คน/เดือน ลดลงจากเดิมที่เคยจ่าย 2,500 บาท/คน/เดือน เนื่องจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) มีมติเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2549 อนุมัติในหลักการการจ่ายเงินให้ข้าราชการและลูกจ้างที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปฏิบัติงานประจำ หรือลักษณะประจำ ได้รับเบี้ยเสี่ยงภัยในอัตรา 1,000 บาท/คน/เดือน โดยเบิกจ่ายจากงบบุคลากรของส่วนราชการ



 


เรียบเรียงจาก คม ชัด ลึก



  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net