Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นพพล อาชามาส


 


"จอทูหิวและไปแอบหยิบขนมในย่ามพาฉิมากิน พาฉิโกรธมากจึงต่อยตีจอทูจนเลือดไหล ครูเรียกเด็กทั้งสองคนมาคุยกัน ทั้งคู่ยอมรับว่าตนทำไม่ถูก ครูบอกว่าจอทูไม่มีสิทธิไปเอาของของเพื่อน และพาฉิก็ไม่มีสิทธิไปทำร้ายเพื่อนถึงแม้เขาจะทำผิด มีคนบอกครูว่า เด็กสองคนนี้ทำผิด ควรจะถูกตีแรงๆ และขังไว้ในห้องเรียนเป็นการทำโทษ แต่อีกคนหนึ่งบอกว่าครูน่าจะให้ทั้งสองคนนี้ไปช่วยทำความสะอาดโรงเรียนด้วยกัน แล้วตักเตือนว่าถึงทำผิดอีกจะลงโทษมากกว่านี้


 


"ถ้าครูถามความคิดเห็นของเธอว่าควรจะทำอย่างไรกับจอทูและพาฉิ เธอจะตอบครูว่าอย่างไร?"


 



 


นี่เป็นเรื่องเล่าและคำถามหนึ่งในหลายๆ เรื่องและหลายๆ คำถามที่หนังสือชื่อ สิทธิของเด็กเด็ก เล่มนี้บอกและถามกับผู้อ่าน  แม้จะเป็นเรื่องง่ายที่จะอ่านเรื่องเล่าเหล่านี้เข้าใจ เมื่อเทียบกับการอ่านเรื่องสิทธิ ในหนังสือกฎหมายเล่มโต แต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะตอบคำถามที่ถูกตั้งขึ้นมา


 


หนังสือเล่มไม่เล็กไม่ใหญ่ ขนาด 102 หน้าเล่มนี้ เป็นหนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อให้เด็กๆ ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ชายแดนมีหนังสือที่ไม่ใช่ตำราเรียนอ่าน ดังนั้น "ครูชาวกะเหรี่ยงในโรงเรียนและหอพักนักเรียนแถบชายแดน รวมถึงเด็กๆ ที่มาช่วยเขียนและวาดรูป จึงได้ช่วยกันผลิตหนังสือเล่มนี้ขึ้น เพื่อให้เด็กๆ ได้อ่านหรือดูภาพนอกเวลาเรียน และเกิดความเข้าใจในสิทธิของตนและผู้อื่น"


 


หนังสือเล่มนี้ทำขึ้นโดยโครงการเพื่อนไร้พรมแดน (Friends without Borders) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมเครือข่ายสิทธิมนุษยชนภาคประชาชนหลากหลายชนเผ่า ทั้งในประเทศไทยและพม่า วัตถุประสงค์หลักคือ สร้างความตระหนักรู้และให้การศึกษาแก่สังคมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน การย้ายถิ่นฐาน ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ รวมถึงสร้างทัศนคติอันดีต่อผู้ลี้ภัย แรงงานอพยพ และกลุ่มชาติพันธุ์ และให้การศึกษาต่อประชาชนพลัดถิ่นจากพม่าในไทย เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน สังคมการเมือง วัฒนธรรม และบริบททางกฎหมายของไทย


 




 


สิทธิของเด็กเด็ก ใช้วิธีเล่าเรื่อง และให้ความรู้โดยใช้ภาพเป็นตัวสื่อสำคัญ ซึ่งช่วยให้เด็กๆ ที่อ่านเข้าใจง่ายขึ้น อีกทั้งภาพประกอบเรื่องเหล่านี้นั้น เป็นภาพที่เด็กๆ ชาวกะเหรี่ยงหลายคนช่วยกันวาดขึ้น โดยลีลาฝีมือลายเส้นที่หลากหลาย ทั้งใช้สีเทียน บ้างสีน้ำ สีไม้ หรือเขียนระบายด้วยดินสอ จึงสะท้อนความหลากหลายของความคิดเด็กๆ ไปด้วย


 


เรื่องของเด็กเด็กจึงไม่ได้เพียงถูกเขียนโดยผู้ใหญ่ แต่มีเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอด ถูกเล่าเรื่องด้วยตัวของเด็กเด็กเอง ด้วยวิถีทางที่พวกเขาคงถนัดมากกว่าการเขียนเป็นตัวอักษร  แต่เป็นการวาดภาพ


 


อีกทั้งหนังสือยังใช้เรื่องเล่าหรือประสบการณ์ของเพื่อนชาวกะเหรี่ยง ที่ถูกละเมิดสิทธิ และประสบปัญหา ความยากลำบากต่างๆ  เช่นการไม่ได้เรียนหนังสือ ถูกทารุณทำร้าย ต้องพลัดถิ่น อยู่ในภาวะสงคราม ฯลฯ หรือการใช้เนื้อเพลง และกลอนเปล่าในการเล่าเรื่อง ก็ช่วยในการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องสิทธิอย่างง่ายๆ 


 


สารที่สลับกับภาพหรือเรื่องเล่า ซึ่งมีทั้งภาษาไทยและภาษากะเหรี่ยง เพื่อช่วยในการเรียนรู้ภาษาไปด้วยในตัว ก็มีวิธีสอดแทรกที่แยบคาย จนไม่น่าเบื่อและหนักอึ้งเกินไป


 


"เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีอาหารเพียงพอ มีเสื้อผ้าใส่ให้ร่างกายอบอุ่น มีบ้านอยู่ และได้รับการดูแลป้องกันไม่ให้ป่วยไข้ หรือเมื่อไม่สบาย ก็ต้องได้รับการดูแลรักษา"


 


"เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะมีคนฟังสิ่งที่เขาพูด เด็กๆ ต้องรับฟังความคิดเห็นของเพื่อน และผู้ใหญ่ก็ต้องฟังความคิดเห็นของเด็ก"


 


"การศึกษาที่ดี คือการศึกษาที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง ในขณะเดียวกันก็ได้เข้าใจเรื่องราวและวัฒนธรรมของคนอื่นด้วย"


 


สารสั้นๆ ที่ส่งผ่านไปยังผู้อ่านนี้ ไม่เพียงทำให้เด็กๆ รู้ว่าอะไรเป็นสิทธิที่ตนเองมีแล้ว ยังทำให้รู้ว่าอะไรคือสิทธิที่ผู้อื่นมี เราจึงไม่ควรละเมิดสิทธิที่ผู้อื่นมีนั้น  


 


จุดเด่นสำคัญอีกประการหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ คือการตั้งคำถาม ที่เปิดโอกาสให้ผู้อ่านขบคิด หาคำตอบ รวมไปถึงการถกเถียง แลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นคำถามประกอบรูปภาพ คำถามตามหลังเรื่องเล่า คำถามความคิดเห็นของผู้อ่านเอง


 


"เธอคิดว่าเธอช่วยเหลือเพื่อนๆ ชุมชนและโลกอย่างไรบ้าง?


 


"เธออยากให้ผู้ใหญ่ ชุมชนและโลกดูแลเธออย่างไรบ้าง"


 


"เธอชอบไปโรงเรียนไหม? ไปโรงเรียนสนุกอย่างไรบ้าง เธอได้เรียนรู้อะไรบ้าง? เธออยากให้ครูสอนอะไรเธอเพิ่มเติมอีกบ้าง?"


 


"การที่เด็กคนหนึ่งไม่ได้รับการยอมรับเป็นพลเมืองของประเทศใดเลยจะทำให้ชีวิตเด็กคนนั้นเป็นอย่างไร?"


 


"เธอเคยไม่เห็นด้วยกับเพื่อนบ้างไหม? เธอทำอย่างไรเมื่อเธอไม่เห็นด้วยกับเพื่อน?"


 


ถ้ามองหนังสือเล่มนี้ในฐานะหนังสือประกอบการเรียนของเด็กๆ ชาวกะเหรี่ยง ก็น่าสนใจมากว่าชาวกะเหรี่ยงที่ถูกมองจากคนเมืองว่า "ล้าหลัง" หรือ "ไร้การศึกษา" กลับมีการถ่ายทอดความรู้เรื่องสิทธิ หรือสิทธิมนุษยชนให้แก่เด็กๆ โดยที่เด็กๆ ก็เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตหนังสือ ผลิตสื่อของพวกเขา และสื่อที่ออกมาก็ไม่ได้เป็นหนังสือเรียนเล่มหนาที่มีแต่ตัวหนังสือ มีแต่สิ่งที่ถูกยัดเยียดให้จำ และน่าเบื่อ แต่กลับมีวิธีการจูงใจในการอ่าน มีการตั้งคำถาม และเปิดโอกาสให้ผู้อ่านคิดหรือตอบเอง


 


หนังสือเด็ก แต่ความคิดไม่เเด็กเล่มนี้ จึงไม่เพียงเป็นแบบเรียนที่ช่วยให้เด็กๆ เข้าใจในสิทธิที่ตนเองมี แต่ยังเป็นแบบเรียนสำหรับผู้ใหญ่ ให้ตระหนักถึงสิ่งที่ตนเองพึงกระทำต่อเด็กๆ ตั้งคำถามกับผู้ใหญ่ว่าสื่อประเภทใดที่ควรผลิตให้เด็ก และที่สำคัญ-สิ่งที่ผู้ใหญ่พึงกระทำต่อกันเอง


 


ท่ามกลางภาวะสงคราม ความรุนแรง การกดขี่ทารุณ ที่เกิดขึ้นในโลกและสังคมปัจจุบัน หลายคำถามที่หนังสือเด็กแด็กเล่มนี้ถามขึ้น กลับเป็นผู้ใหญ่เองต่างหากที่ต้องตอบ


 


"เราหน้าตาไม่เหมือนกัน คิดไม่เหมือนกัน


บางคนพูดภาษาต่างจากเรา


แต่เราก็คือเด็ก และคือมนุษย์เหมือนกัน


ใช่ไหม?"


 


คุณๆ ผู้ใหญ่ของโลก


 


....................................................


 



 


หนังสือไม่มีวางจำหน่ายทั่วไป ถ้าท่านใดสนใจลองติดต่อไปได้ที่ ตู้ปณ.180 ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50202 โทร/แฟ็กซ์ 053-336298


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net