ข่าวประชาธรรม : ถึงเวลาทบทวนบทบาท ออป. ก่อนความขัดแย้งจะรุนแรง

อานุภาพ นุ่นสง

สำนักข่าวประชาธรรม

 

กรณีเหตุการณ์ที่ชุมชนบ้านปางโม่ ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ฯลฯ ซึ่งอยู่ใกล้ชิดสวนป่าของ ออป.ต้องออกมาเรียกร้องให้ ออป.ยุติการตัดโค่นป่าเพราะหวั่นเกรงว่าน้ำจะแห้ง  ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานดังกล่าวนั้น  ถึงเวลาแล้วที่จะมีการทบทวนบทบาทครั้งใหญ่   เพราะนอกจากจะไม่ก่อประโยชน์ใดๆ แล้ว การปฏิบัติงานของหน่วยงานดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย

 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(ออป.) นั้นนับวันยิ่งจะขยายตัวไปในวงกว้างทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ    นอกเหนือจากภาคเหนือ  ก็ยังมีภูมิภาคอื่นๆ  เช่นชุมชนบ้านห้วยน้ำขาว ต.ห้วยน้ำขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ชุมชนบ้านขนุน-ส่างพอก อ.สังขะ จ.สุรินทร์    โดยเฉพาะประเด็นการตัดไม้ในสวนป่าของ ออป. ซึ่งชุมชนในหลายพื้นที่ต้องออกมาทักท้วง เพราะแม้กรรมสิทธิ์ในพื้นที่สวนป่าจะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ ออป.และการตัดไม้ตัดกล่าวจะถูกกฎหมายก็ตาม แต่ทว่าในเมื่อสวนป่าเหล่านั้นอยู่ในเขตชุมชน เมื่อป่าถูกตัดโค่นลงย่อมเกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างเลี่ยงไม่ได้

 

เป็นเรื่องน่าคิดไม่น้อยเพราะปัจจุบันรัฐมักอ้างเสมอว่าทรัพยากรป่าไม้ของไทยเหลือน้อยเต็มที ดังนั้นจำเป็นต้องมีการอนุรักษ์ไว้ เห็นได้จากการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ต่างๆออกมามากมาย ทั้งยังมีกฎหมายป่าไม้ต่างๆอีกหลายฉบับ ขณะเดียวกันเมื่อชุมชนท้องถิ่นต้องการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการป่าเพื่อการอนุรักษ์บ้างในรูปแบบของป่าชุมชนก็กลับถูกกีดกันจากรัฐ แต่หากพิจารณาบทบาทของ ออป.ในปัจจุบันหลายคนคงเกิดคำถามว่า ณ พ.ศ.นี้ ออป.ยังมีคุณูปการต่อสังคมไทยอยู่อีกหรือไม่...

 

..............................................................

 

องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้หรือ ออป.เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2499 ด้วยทุนแรกเริ่มที่รัฐจัดสรรให้จำนวน 10 ล้านบาท เพื่อทำหน้าที่หลักคือการทำไม้ในเขตสัมปทาน การทำไม้นอกเขตสัมปทานในพื้นที่โครงการต่างๆของรัฐ เช่น พื้นที่สร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ และการใช้หรือขายไม้ที่อายัดจากการลักลอบตัดไม้หรือการทำไม้เถื่อน เป็นต้น โดยการก่อตั้งดังกล่าวเป็นผลจากที่บริษัททำไม้จากอังกฤษและบริษัทต่างประเทศอื่นๆ ซึ่งทำไม้สักในประเทศไทยมานานเกือบ 100 ปี (ประมาณปี 2399-2497) สิ้นอายุการสัมปทานในปี 2497

 

นอกจากนี้ หากพิจารณาวัตถุประสงค์ในการก่อตั้ง ออป.นั้น นอกไปจากการทำไม้แล้วยังมีวัตถุประสงค์อื่นๆอีก เช่น ปลูกสร้างสวนป่า การค้นคว้าวิจัย และเผยแพร่ความรู้ แต่ที่ผ่านมาบทบาทหลักของ ออป.จะเน้นหนักอยู่ที่การประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมป่าไม้และการปลูกสร้างสวนป่าเท่านั้น

 

ดังนั้น จากการที่ ออป.เป็นผู้สัมปทานไม้รายใหญ่ของประเทศ และมีช่วงระยะเวลาการสัมปทานที่ยาวนานทำให้รายได้ของ ออป.ในแต่ละปีมีมูลค่ามหาศาล กล่าวคือ ตั้งแต่ปี 2490-2515 ออป.มีกำไรสุทธิรวม 1,739.91 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 66.9 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปี 2516-2533 ออป. มีกำไรสุทธิรวม 5,276.41 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 293 ล้านบาท ก่อนรายได้จะลดลงในปี 2534 และประสบภาวะขาดทุนในอีก 2 ปีต่อมา อย่างไรก็ตาม แม้ยุคนั้นรายได้จากการทำไม้จะสูงเพียงใดแต่ ออป.ไม่เคยนำผลกำไรที่ได้เหล่านั้นเพื่อกิจกรรมสาธารณะประโยชน์แต่อย่างใด

 

ขณะเดียวกันช่วงปี 2529-2530 กระแสการตื่นตัวเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้นำไปสู่การลุกฮือของชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งองค์กรสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง เกิดกระแสการคัดค้านการสัมปทานไม้จากชุมชนในหลายพื้นที่ กระทั่งในเดือนมกราคม 2532 รัฐบาลจึงประกาศยุติการทำไม้ในพื้นที่สัมปทานป่าบกทั่วประเทศ (ยกเว้นป่าชายเลน) กรณีดังกล่าวส่งผลให้ ออป.ประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนักจนต้องหาทางออกด้วยการเข้าไปทำไม้ในประเทศพม่า แต่ทว่าทำได้เพียง 3 ปีรัฐบาลพม่าก็ยกเลิกการอนุญาต

 

แน่นอนว่า กรณีที่เกิดขึ้นทำให้รายได้ของ ออป.ลดลงอย่างมาก จาก 303.87 ล้านบาทในปี 2533 หรือเพียงแค่ 35.86 ล้านบาทในปี 2534 และ 24.76 ล้านบาทในปี 2535 หลังจากนั้น ออป.ก็หนีไม่พ้นภาวะขาดทุนซึ่งมากถึง 71.40 ล้านบาทในปี 2536 และขาดทุนสะสมเรื่อยๆ กระทั่งในปี 2541 ออป.ขาดทุนสูงถึง 225.88 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแม้ ออป.ไม่สามารถทำไม้ในเขตสัมปทานได้ แต่ยังมีกิจกรรมบางอย่างที่ ออป.ใช้เพื่อสร้างรายได้ให้องค์กรอยู่รอด เช่น การประมูลขายไม้ของกลางจากการตรวจยึด จับกุมของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการแปรรูปไม้จากสวนป่าที่ ออป.ใช้เป็นแหล่งรายได้หลัก แต่ขณะเดียวกันก็กำลังเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับ ออป.อยู่ในปัจจุบันนี้

 

มนูญศักดิ์ ตันติวิวัฒน์ รักษาการ ผู้อำนวยการ ออป. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายฉบับเมื่อวันที่ 30 มี.ค.2550 ที่ผ่านมา โดยเปิดเผยว่า ในแต่ละปี ออป.ต้องใช้งบประมาณในการบริหารจัดการสวนป่าที่อยู่ในความดูแลทั้งหมดว่า 200 แห่ง รวมพื้นที่ 1.2 ล้านไร่ ราว 1,300 ล้านบาท เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศชาติไว้ ภายใต้แนวทางการอนุรักษ์โดยอาศัย 3 ประสาน ได้แก่ มิติทางสังคม คือ ชาวบ้านในพื้นที่ให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและรักษาทรัพยากรป่าไม้ที่ ออป.ดำเนินการอยู่ในรูปแบบหมู่บ้านพัฒนาป่าไม้ รวมทั้งช่วยเหลือและสนับสนุนให้ชาวบ้านในพื้นที่มีที่ดินทำกินและมีอาชีพ โดยจัดสรรพื้นที่ภายในสวนป่าไม้ให้แก่ประชาชนได้เข้าทำประโยชน์และร่วมดูแลสวนป่าด้วยกัน

 

มิติทางด้านเศรษฐกิจ นอกจากการสร้างแนวร่วมกับประชาชนแล้ว ออป.ยังได้เข้าไปส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเพื่อให้ประชาชนมีสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยความร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและชาวบ้านในพื้นที่ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

 

มนูญศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หัวใจของการทำงานของ ออป.คือการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของประเทศชาติให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน ซึ่งการทำงานที่ผ่านมาของ ออป.ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงผลสำเร็จของการดูแลทรัพยากรป่าไม้ได้เป็นอย่างดี จากการปลูกสร้างสวนป่า และการดูแลสวนป่าไม้สักทองกว่า 5-6 แสนไร่ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 32,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ในปี 2550 นี้ ออป.ยังได้รับมอบหมายจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดูแลและฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมอีก 2-3 แสนไร่ จากหน่วยงานภาครัฐอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในหลักการที่รักษาการ ผอ.ออป.กล่าวมานั้นถือได้ว่ามีความขัดแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่น้อย เพราะอย่างกรณีการออกมาเคลื่อนไหวของชาวบ้านห้วยน้ำขาว ต.ห้วยน้ำขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ หรือชาวบ้านปางโม่ ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ให้ ออป.ยกเลิกการตัดโค่นไม้ในสวนป่าเพราะวิตกกังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อชุมชนโดยเฉพาะความแห้งแล้งที่จะเกิดขึ้นนั้น ออป.ก็ไม่รับนำข้อวิตกกังวลเหล่านั้นไปพิจารณาแม้แต่น้อย ขณะเดียวกันยังคงเดินหน้าตัดไม้ต่อไป จนชุมชนเหล่านั้นต้องออกมาเคลื่อนไหวกดดันอย่างหนัก

 

กรณีเหล่านี้เห็นได้ว่า ออป.มิได้ฟังเสียงท้องถิ่น ปฏิเสธการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งขัดแย้งกับหลักการที่ระบุสวยหรูว่า ออป.ให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและรักษาทรัพยากรป่าไม้ที่ ออป.ดำเนินการอยู่ในรูปแบบหมู่บ้านพัฒนาป่าไม้ ช่วยเหลือและสนับสนุนให้ชาวบ้านในพื้นที่มีที่ดินทำกินและมีอาชีพ โดยจัดสรรพื้นที่ภายในสวนป่าไม้ให้แก่ประชาชนได้เข้าทำประโยชน์และร่วมดูแลสวนป่าด้วยกัน

 

นิคม พุทธา ผู้อำนวยการโครงการลุ่มน้ำปิงตอนบน กล่าวว่า ประเทศไทยยกเลิกสัมปทานตัดไม้ช่วงปี 2531-2532 หลังการเลิกสัมปทานพบว่ามีหน่วยงานเดียวที่ยังคงตัดไม้ขายโดยถูกกฎหมาย นั่นคือ ออป. ดังนั้นแม้ปัจจุบันมีการพูดถึงเรื่องการอนุรักษ์แต่กระบวนการลดพื้นที่ป่าก็ยังคงอยู่

 

นิคม กล่าวต่อว่า การจัดการป่าไม่ว่าที่ใดก็ตามหากไม่พิจารณาปัจจัย เงื่อนไขท้องถิ่นก็ไม่มีความหมาย และก็จะเห็นว่ารัฐก็ยังรวมศูนย์อำนาจการจัดการทรัพยากรอยู่ดี และท้ายที่สุดป่าก็จะถูกทำลาย ดังนั้นตนเห็นว่าหาก ออป.ยังคงทำหน้าที่ต่อไปก็น่าจะมีการจัดการสวนป่าร่วมกับชาวบ้าน และต้องให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเขาคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับพื้นที่ตรงนั้นด้วย

 

นอกจากนี้ ผอ.โครงการลุ่มน้ำปิงตอนบน มีข้อเสนอแนะว่า เม็ดเงินที่ ออป.ได้จากการตัดไม้ไปขายต้องมีการคืนสู้ท้องถิ่นด้วย ส่วนไม้ในพื้นที่ที่เหลือต้องมีการวางแผนการจัดการใหม่โดยให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย และที่สำคัญหาก ออป.ยังจะตัดไม้ในแปลงอื่นๆต่อไปควรมีการเชิญชาวบ้านและส่วนที่เกี่ยวข้องมาแสดงความคิดเห็น และนำข้อสรุปที่ได้เสนอไปยังส่วนกลางเพื่อพิจารณาด้วย

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการก่อตั้งของ ออป.ตั้งแต่ต้นจะเห็นว่าเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นเพื่อการทำไม้โดยเฉพาะ ดังนั้นหลังรัฐบาลจะประกาศปิดป่าสัมปทานไปตั้งแต่ปี 2532 จึงกล่าวได้ว่าปัจจุบัน ออป.ที่หมดยุคสมัยไปแล้ว มิได้สร้างคุณูปการใดๆแก่สังคมไทยแม้แต่น้อย ในทางตรงข้ามกลับนำมาซึ่งความขัดแย้ง การเผชิญหน้ากับชุมชนท้องถิ่นไม่รู้จบ ขณะเดียวกันดูเหมือนว่ารัฐเองก็ยังคงสนับสนุนการดำเนินงานของ ออป.เช่น การมอบพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้ ออป.เข้ามาใช้ประโยชน์ท่ามกลางความกังวลของชุมชนท้องถิ่น

 

วีรวัธน์ ธีระประสาธน์ ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า ออป.น่าจะมีการยกเลิกไปตั้งแต่ช่วงมีการปิดสัมปทานป่าในปี 2532 แล้ว แต่เมื่อเป็นรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลไม่ยอมให้ยุบและให้เงินอุดหนุนมาโดยตลอด ออป.พยายามสร้างรายได้แต่ก็ไปไม่รอด ขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปัจจุบัน

 

วีรวัธน์ กล่าวต่อว่า รายได้หลักในปัจจุบันของ ออป.คือการประมูลไม้ของกลางขาย แต่ก็ไม่สามารถสู้ภาวะขาดทุนได้ รัฐบาลจึงให้ความช่วยเหลืออีก คือให้ทำสวนป่า กรมป่าไม้ได้มอบหมายให้ดูแลเป็นพื้นที่กว่า 9 แสนไร่ นอกจากนี้กรมป่าไม้ยังให้ ออป.เช่าพื้นที่ป่าสงวนในราคาถูกเพื่อขยายพื้นที่สวนป่าด้วย ตนเห็นว่าหากส่งเสริมให้มีการปลูกป่าหรือทำธุรกิจสวนป่าก็ควรเป็นพื้นที่เอกชนที่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ไม่ใช่เอาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติมาดำเนินการ

 

ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาตนเสนอให้มีการยุบ ออป.มาตั้งนานแล้วเพราะหน้าที่หลักของ ออป.คือการทำไม้ ซึ่งปัจจุบันการทำไม้นั้นมีการปิดสัมปทานไปนานแล้ว ดังนั้นหน้าที่ของ ออป.ก็หมดไปจึงควรที่จะยุบไปด้วย แต่ปัจจุบันรัฐบาลอุดหนุนดูแลทั้งที่ไม่มีความจำเป็น ดังนั้นกรณีดังกล่าวเป็นการสร้างภาระกับบ้านเมืองโดยใช่เหตุ

 

ดังนั้น ในยุคสมัยที่พูดกันถึงเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรกันอย่างแพร่หลายคงถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องพิจารณาทบทวนบทบาทของ ออป.อย่างจริงจังว่าปัจจุบันองค์กรดังกล่าวยังมีความจำเป็นหรือไม่ มีคุณประโยชน์กับประชาชนแค่ไหน ก่อนที่ความขัดแย้ง การเผชิญหน้าระหว่างชุมชนท้องถิ่นที่ต้องการอนุรักษ์ป่ากับ ออป.ที่ต้องการตัดไม้ขายเลี้ยงตัวเองจะแหลมคมมากไปกว่านี้.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท