สัมภาษณ์พิเศษ พระกิตติศักดิ์ฯ : บรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติใน รธน.ฤาจะถึงยุคเสื่อมของเถรวาทไทย?


พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ

 


สัมภาษณ์โดย องอาจ เดชา

 


ประเด็นกรณีที่มีพระและชาวพุทธบางกลุ่มออกมาเรียกร้องให้มีการบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ ได้กลายเป็นประเด็นขัดแย้งที่นับวันยิ่งจะร้อนแรงมากยิ่งขึ้น

 

ล่าสุด "ประชาไท" ได้สัมภาษณ์พิเศษ"พระกิตตศักดิ์ กิตติโสภโณ" ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์

ซึ่งได้วิพากษ์พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ:ฤาจะถึงยุคเสื่อมของพุทธศาสนาเถร วาทไทย?

 

000

 

มองอย่างไรกับที่มีข่าวพระและชาวพุทธเรียกร้องให้บรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ ในรัฐธรรมนูญใหม่

ถือว่าเป็นปรากฎการณ์ของพุทธศาสนากระแสหลักหรือพุทธศาสนาสายอนุรักษ์ของประเทศไทยที่สะท้อนให้เห็นถึงความหวั่นไหว ความไม่มั่นคง หรือความหวาดกลัวซึ่งเป็นปรากฎการณ์ในศาสนากระแสหลักทั่วไป เมื่อเผชิญหน้ากับโลกสมัยใหม่ โลกทุนนิยมในยุคหลังรัฐชาติเสื่อม ความเข้มแข็งของสถาบันมันลดลง สังคมเปลี่ยน การผลิตมันเปลี่ยน วิถีชีวิตเปลี่ยน ความเป็นศาสนิกถูกท้าทายจากวิถีชีวิตใหม่ๆ ความคิดความเชื่อใหม่ๆ มันก็เลยทำให้คนที่จำต้องอยู่ในวงการศาสนา หรือมีความเกี่ยวข้องกับวงการศาสนา มองความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นด้วยความวิตกกังวล เช่น จำนวนศาสนิกชนที่ศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยมอย่างมุ่งมั่นได้ลดน้อยลงไปทุกที หรือการเกิดลัทธิความเชื่อใหม่ๆ การแปลกแยกแตกต่างกันชัดเจนมากขึ้น หรือแม้กระทั่งกลุ่มคนที่ประกาศตัวว่าไม่นับถือศาสนาใดๆ ที่มากขึ้นทุกวัน

 

ปรากฎการณ์เหล่านี้ทำให้ศาสนากระแสหลักหวั่นไหว เช่นเดียวกับที่รัฐชาติกำลังหวั่นไหวคล้ายๆ กัน ในหลายๆ มิติทางสังคม ซึ่งจะพบว่า เกิดลัทธิชาตินิยมใหม่ มีการเรียกร้องให้มีการรักชาติ ต้องการความมั่นคงในชาติขึ้นมาพร้อมๆ กัน ซึ่งถือว่า นี่คือความหวั่นไหวของสิ่งที่ถูกเชื่อว่าเป็นสถาบันหลักในสังคม ไม่ว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่เคยถูกเรียกเป็นสถาบันหลักมาตั้งแต่ในยุคแรกๆ เมื่อครั้งยุคล่าอาณานิคม พอมาถึงยุคปัจจุบัน เจ้าอาณานิคมอย่าง อังกฤษ ก็ถูกท้ายทาย ในความเป็นจักรวรรดิ ในความเป็นสถาบันกษัตริย์ และชาติ ศาสนา ยุคนี้ต่างก็ถูกท้าทาย ต่างตกอยู่ในความหวั่นไหวทั้งสิ้น

 

ตั้งแต่พุทธกาลมาแล้ว ศาสนจักรและอาณาจักรนั้นอยู่ร่วมกัน โดยไม่ได้แบ่งแยกจากกัน ศาสนาพุทธก็ถือว่าเป็นศาสนาของทางตะวันออกที่มีความเชื่อมโยงทับซ้อนกับรัฐ โดยสมาชิกในอาณาจักรก็เป็นส่วนหนึ่งของศาสนจักรไม่ได้รู้สึกแปลกแยกออกจากกัน ซึ่งกษัตริย์ก็แสดงตนเป็นพุทธศาสนิกชน เป็นพุทธมามก ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของศาสนจักร ในขณะเดียวกันก็ให้ศาสนจักรร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรหรือรัฐชาติ ในสังคมยุคศักดินา เพียงแต่ว่า พอโลกเปลี่ยนแปลงมากขึ้น แนวคิดบางแนวคิดจากสังคมตะวันตก ยุโรป เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างอาณาจักรและศาสนจักร ก็เลยมีการแยกส่วนกันให้ชัดเจน กลายเป็นที่มาของการพยายามแยกส่วนและเกี่ยวข้องกันอย่างเป็นทางการ

 

ความพยายามเกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการชนิดระบุในรัฐธรรมนูญจึงเป็นแค่รูปแบบตามอย่างตะวันตก ไม่ใช่เนื้อหาสาระ อย่างที่เคยมีมาในอดีต

 

คนหลายกลุ่มมองว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ มีอะไรซ่อนแฝง

แน่นอนว่า ในช่วงที่การเมืองยังไม่นิ่ง ฝ่ายที่อยู่ขั้วตรงข้ามก็คงต้องการแสวงหาแนวร่วม หาพันธมิตรกันอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น จะมีอะไรซ่อนแฝงหรือไม่ ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ฝ่ายที่เชื่อว่ามีม็อบหนุนหลังก็หวั่นไหว เพราะตัวเองก็รู้สึกว่าลึกๆ แล้วก็ไม่มั่นคง และอีกฝ่ายที่ต้องการจะไปร่วมกับม็อบเหล่านี้ก็คือลึกๆ ตัวเองนั้นต้องการหาพวกเพื่อไปขย่มอีกฝ่ายหนึ่ง มันก็เลยเป็นเรื่องขนมจีนผสมน้ำยา ว่าจะต้องมีการชุมนุม เพราะรู้สึกสั่นคลอน ไม่เข้มแข็ง จึงต้องไปอิงกับรัฐชาติ โดยการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งอย่างเป็นทางการ ซึ่งตรงนี้ถือว่าสำคัญมาก

 

สะท้อนให้เห็นว่า ทั้งชาติและศาสนาต่างก็รู้สึกหวั่นไหวพอๆ กัน ชาติก็ต้องอาศัยโครงสร้างของประชาธิปไตยโดยอาศัยรัฐธรรมนูญไปเชื่อมโยงกับสังคมโลก ในส่วนของศาสนา ก็ไปผูกติดกับชาติ ไปสังกัดอยู่ในรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น ปรากฎการณ์เช่นนี้ มันสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นชาวพุทธหรือศาสนาพุทธในประเทศไทยอย่างชัดเจนว่า ถึงตอนนี้ ศาสนาไม่เชื่อมั่นว่า ตัวเองจะมีพื้นที่ทางสังคมที่ชัดเจนและเพียงพอ เพราะหากว่าสถาบันซึ่งเป็นที่ตั้งของความศรัทธาของประชาชน มีความหวั่นไหวอย่างนี้ ก็ไม่สามารถจะหล่อเลี้ยงจิตใจของพุทธศาสนิกชนเอาไว้ได้ เพราะสถาบันศาสนาไปหวั่นไหว หวาดกลัวเสียเอง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัว

 

ยิ่งความเป็นสถาบันของศาสนาสั่นไหว ก็ยิ่งทำให้สังคมคลอนแคลน

หากสถาบันศาสนาไม่ตั้งมั่น ไม่เข้มแข็งพอ ก็จะทำให้ศาสนิกออกนอกลู่นอกทาง เหมือนหัวขบวนรถไฟที่ไม่มั่นใจ ไม่รู้จะเคลื่อนไปทางใด ทำให้ท้ายขบวนกังวลสงสัย ส่องส่ายดูไม่มั่นใจว่าหัวขบวนจะพาไปทางไหน มันจึงเกิดพลวัตของความกลัวเกิดขึ้น ซึ่งในที่สุดมันก็เริ่มเกิดปฏิกิริยาแปลกๆ ออกมา เช่น ฝ่ายรัฐก็มีการเรียกร้องให้มีการทำบุญประเทศ ฝ่ายศาสนาก็มีการพยายามแสดงภาพในเชิงปริมาณของตัวเอง โดยกลบเกลื่อนบอกว่าตัวเองมี 90-95เปอร์เซนต์ แล้วก็พยายามจะเบียดแทรกช่วงชิงพื้นที่ทางสังคมกับความเชื่ออื่น ไปเบียดแทรกกับชาวคริสต์ ชาวมุสลิม จนเกิดการกระทบกระทั่ง พอถูกกระทบกระทั่ง ก็ยิ่งหวั่นไหว ก็จะยิ่งแสดงตัวตนหรือแสดงอัตลักษณ์ของตัวเองออกมาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น มันก็เลยเกิดวงจรของความรุนแรง

 

ล่าสุด มีข่าวว่ามีการลงพื้นที่ตามหมู่บ้านเพื่อล่ารายชื่อให้ชาวบ้านกรอกแบบฟอร์มว่านับถือศาสนาพุทธ บางคนไม่ยอมกรอก ก็ถูกกล่าวหาว่า เป็นพวกคอมมิวนิสต์ ท่านรู้สึกอย่างไร

แน่นอน นั่นถือว่าเป็นการสร้างภาพในเชิงปริมาณ ว่าชาวพุทธมีทั้งหมด 90 กว่าเปอร์เซนต์ ในประเทศไทย ซึ่งจริงๆ แล้ว ตัวสถาบันศาสนาเองก็ไม่ได้เชื่อว่า มีจำนวนสมาชิกเท่านั้น แต่จำเป็นต้องอ้าง เพราะไม่สามารถระบุในเชิงคุณภาพได้ ที่อ้างในเชิงคุณภาพเหลืออยู่ ไม่มีนักวิชาการ ทั้งฆราวาสทั้งพระที่เป็นนักคิดออกมาวิพากษ์สังคมอย่างชัดเจนอย่างเช่น ท่านพุทธทาสภิกขุ หรือวชิรญาโณภิกขุ ซึ่งนับวันจะน้อยลงก็ยิ่งทำให้รู้สึกหวั่นไหว ไม่ชัดเจน ก็เลยพยายามจะเน้นในเรื่องเชิงปริมาณ เช่น การรวมกลุ่มผู้ชุมนุม การแสดงจำนวนผู้ลงประชามติ

 

การกระทำอย่างนี้ มันยิ่งสร้างความแปลกแยก สร้างความแตกแยกให้กับสังคม เพราะว่าพอไปเรียกร้องการแสดงออกอย่างนี้กับคนรุ่นใหม่หรือคนชั้นกลาง ซึ่งคนเหล่านี้ก็ไม่พร้อมจะแสดงออก เพราะลึกๆ พวกเขาก็ไม่ได้เชื่อถือหรือนับถือศาสนากันสักเท่าใด การที่จะให้พวกเขาประกาศให้ชัดเจนว่าพวกเขาเป็นชาวพุทธ เขาก็หวั่นไหว เพราะว่าพวกเขาไม่รู้ เพราะว่าคนรุ่นใหม่หรือคนชั้นกลางสมัยนี้ไม่ได้มีความรู้ในเรื่องพระพุทธศาสนาดีเพียงพอ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ มันก็เลยส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน เป็นเรื่องการทำซ้ำในหลายๆ แง่มุม และสุดท้ายก็นำไปสู่จุดจบ นำไปสู่จุดตาย

 

นั่นหมายความว่า...?

หมายความว่า การที่พระหรือชาวพุทธจำนวนหนึ่ง ไปเรียกร้องความเชื่อมั่นความเป็นชาวพุทธ โดยให้มีการบรรจุพระพุทธศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ มันก็คือการนับถอยหลัง ในแง่ที่ว่า พุทธศาสนาเป็น "สถาบัน" ซึ่งแตกต่างกับพุทธศาสนาในแง่ของวัฒนธรรม วิถีชีวิต ของชาวบ้านทั่วไปที่ยังคงมีอยู่ ไม่ว่าการเข้าวัด ทำบุญตักบาตร ซึ่งอยู่ในวิถีชีวิตอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าไม่ค่อยตอบสนองความเป็น ศาสนาในความเป็นสถาบัน องค์กรศาสนาเท่านั้น

 

ประเมินการชุมนุมเรียกร้องครั้งนี้อย่างไรบ้าง

เชื่อว่า การชุมนุมเรียกร้องแบบนี้ ต่อไปข้างหน้าจะมีมากขึ้น ตามปริมาณของความหวาดกลัว เหมือนกับว่า หากตัวเองรู้สึกหวาดกลัว ไม่มั่นคง ก็จะพยายามสร้างเกราะป้องกันให้กับตัวเอง ครั้นพอยิ่งไม่มั่นใจ ก็ยิ่งสร้างเกราะป้องกันตัวเองมากเข้าๆ สุดท้ายเกราะป้องกันนั้นก็ขังตัวเองและมีน้ำหนักเกินจะรับไหว ก็ไปไหนต่อไม่ได้

 

มีหลายฝ่ายมองว่า การบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ จะยิ่งเป็นตัวเร่งสร้างความแตกแยกแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายกับศาสนาอื่นชัดเจนยิ่งขึ้น

ตอนนี้ ต่างฝ่ายต่างก็ตกอยู่ในความกลัว ทั้งกลัวว่าพุทธศาสนาจะไม่ได้รับการอุปถัมภ์จนต้องออกมาเรียกร้องให้บรรจุให้เป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือกลัวว่าถ้าหากบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว มันจะทำให้เกิดความแตกแยก ซึ่งความกลัวเหล่านี้ถือว่าเป็นอคติ พอกลัวแล้ว ก็มองความจริงกันไม่ออก ซึ่งแท้จริงแล้ว พุทธศาสนานั้นอยู่ด้วยปัญญา และจะต้องทำความเข้าใจกับปรากฎการณ์ต่างๆ ให้ชัดเจน ให้ถูกตรงกับความเป็นจริง และวางท่าทีให้เหมาะสม

 

บางคนมองไปถึงว่าหากบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ จะส่งผลต่อปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

ในกรณีของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น หน้าที่ของชาวพุทธควรทำอย่างไร ก็ต้องใช้ความเป็นชาวพุทธมองปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหมือนกับที่ชาวมุสลิมมองว่าสาเหตุปัญหาที่แท้จริงนั้นคืออะไร แล้วมาเรียนรู้ร่วมกันว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร แต่อย่าไปเอาเครื่องมือของชาวพุทธไปบังคับให้คนมุสลิมต้องยอมรับ หรืออย่าเอาเครื่องมือของชาวมุสลิมไปบังคับให้ชาวพุทธต้องยอมรับ ไม่เช่นนั้นมันจะกลายเป็นสนามฟุตบอล ที่มีคนดูเป็นจำนวนมากดูนักกีฬาทั้งสองฝ่ายห้ำหั่นกันเพื่อการทำประตู ซึ่งสถานการณ์ในตอนนี้ชาวมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มทนไม่ไหว เพราะยังไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

 

คิดอย่างไร กรณีมีพระผู้ใหญ่บางรูปเสนอว่าหากมีการบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ จะทำให้สถานการณ์ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ดีขึ้น

การที่มีพระผู้ใหญ่บางรูปเสนอว่าหากมีการบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ จะทำให้สถานการณ์ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ดีขึ้นนั้น เป็นการมองว่ารัฐจะเข้าไปช่วยปกป้องชาวพุทธใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วจะทำให้สถานการณ์ปัญหาดีขึ้นนั้น ถือว่าเป็นการสันนิษฐานขึ้นมาลอยๆ เพราะไม่ได้ถูกพิสูจน์ขึ้นมาเป็นทฤษฎีอะไร และก็ไม่จำเป็นจะต้องมีการพิสูจน์ด้วย เพราะเชื่อว่าไม่มีใครการันตีได้ว่า ผลที่ออกมาจะเป็นด้านบวกหรือด้านลบ

 

ตกลงไม่เห็นด้วย กับการเรียกร้องให้มีการบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ

การที่บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น อาตมาไม่ได้มองว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่อาตมามองว่าจะยิ่งนำไปสู่ความแตกแยกมากขึ้น และถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น เพราะประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่ามันจะนำไปสู่อะไร ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ และยากที่จะคาดการณ์ได้ในทางสังคม

 

แล้วจะมีทางออกไหม

น่าจะแก้ปัญหาจากจุดที่ตัวเองมีฐานอยู่ ฝ่ายพุทธศาสนาในฐานะสถาบันหลักเองที่หวั่นไหว ไม่แน่ใจในบทบาท ในสถานภาพก็หันกลับมาทำการบ้าน มาดูว่าปัญหาของพระพุทธศาสนาที่แท้จริงมันอยู่ตรงไหน ทำไมเด็กรุ่นใหม่ถึงไม่เข้าใจพุทธศาสนา ทำไมผู้ใหญ่ที่อ้างว่าตัวเองรู้เรื่องพระพุทธศาสนาจึงไม่ได้เอาวิธีคิดแบบพุทธมาใช้ ไม่ได้เอาเครื่องมือของพระพุทธศาสนามาใช้กับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างเช่น การนำไปกำหนดในนโยบายของพรรคการเมืองว่ามีหลักคิดของพุทธศาสนาและศาสนธรรมของศาสนาต่างๆ มาปรับใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารกันมากแค่ไหน ซึ่งตรงนี้เป็นตัวชี้วัดมากกว่าว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักหรือไม่

 

เพราะในพุทธกาล ศาสนาพุทธก็เป็นเพียงศาสนาเล็กๆ แต่ที่พุทธศาสนาอยู่ได้ก็ต่อเมื่อได้นำไปใช้เป็นเครื่องมือของการดับทุกข์ที่ชัดเจนของผู้คนในยุคสมัยนั้นๆ ซึ่งนั่นแหละศาสนาพุทธถึงจะเป็นสดมภ์หลัก หรืออยู่ที่ว่าเราจะหยิบยกเครื่องมือไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้ หรือนำไปใช้ในการดับทุกข์จริงๆ หรือไม่ ไม่เช่นนั้นแล้ว ก็ชุมนุมกันไม่รู้จักจบจักสิ้น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท