Skip to main content
sharethis


กับดักรัฐธรรมนูญ [1]


 


                                                                                    โดย นายชัยพงษ์ สำเนียง[2]


 


เกริ่นนำ


           


            ภายใต้สถานการณ์ที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารที่ได้ชื่อว่า คมช. (แล้วแต่จะแปล) โดยคณะกรรมาธิการยกร่างส่วนใหญ่เป็นนักนิติศาสตร์ หรือนักกฎหมาย รวมถึงผู้ที่ออกมาแสดงความคิดความเห็นก็เป็นผู้ที่มีความรู้ทางด้านกฎหมายเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจทำให้มองได้ว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ผูกขาดโดยนักกฎหมาย (ซึ่งก็ไม่จริงเพราะผู้ผูกขาดการตัดสินใจที่แท้จริงก็ คือ ผู้แต่งตั้งกรรมาธิการฯ ต่างหาก) ซึ่งอาจทำให้ขาดมุมมองอื่นๆ จึงนำมาสู่การเขียนบทความชิ้นนี้ เพื่อร่วมแสดงความคิดความเห็นในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ในเวลานี้ โดยในบทความชิ้นนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. ความหมายและความสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2. กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ : การมีส่วนร่วมของประชาชน 3 . กับดักรัฐธรรมนูญ เพื่อชี้ให้เห็นรัฐธรรมนูญในฐานะระเบิดเวลาทางสังคมที่จะสร้างปัญหาในอนาคต


 


1. ความหมายและความสำคัญของรัฐธรรมนูญ


รัฐธรรมนูญถูกให้ความหมายว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงสุด กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ นี้เป็นความหมายโดยทั่วไปของรัฐธรรมนูญ แต่ในที่นี้ขอให้ความหมายของรัฐธรรมนูญใหม่ว่า รธน.เป็น "พื้นฐานของการเคลื่อนไหวของมวลชน กลุ่มองค์กรต่างๆ เพื่อธำรงไว้ซึ่งสิทธิ เสรีภาพ ประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิต ทรัพยากรที่สำคัญในการดำรงชีวิต (ดิน น้ำ ป่าไม้ ฯลฯ) และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" ภายใต้เงื่อนไขของสังคมที่มองตัวหนังสือสำคัญกว่าคุณค่าของความเป็นคน รัฐธรรมนูญจึงมีความหมายอย่างที่นำเรียน ประการหนึ่ง


           


ประการต่อมา คือ รัฐธรรมนูญเป็นเสมือนบทบัญญัติที่จัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างบุคคล องค์กรทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตว่ามีตำแหน่งแห่งที่ หรือที่ยืนของตนเองอย่างไร องค์กร/คนไหนมีอำนาจมาก องค์กร/คนไหนมีอำนาจน้อย หรือองค์กร/คนไหนไม่มีอำนาจเลย หรือพูดง่ายๆ ว่าท่านควรเป็นไพร่ที่ไร้อำนาจ หรือมีอำนาจน้อย หรือเป็นเจ้าศักดินา ขุนนางผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์ศฤงคาร ด้วยการใช้อำนาจที่อาจฉ้อฉล รัฐธรรมนูญจึงเป็นเสมือนบทบัญญัติที่จัดตำแหน่งแห่งที่ขององค์กรต่างๆ ตราบที่ยังไม่มีใครฉีกทิ้ง


           


ท้ายที่สุด รัฐธรรมนูญเป็นเสมือนตรายางประทับความชอบธรรมของการกระทำต่างๆ ที่บอก/อ้างว่าชอบธรรม โดยรัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่กำหนดแต่ถูกตีความโดยเนติบริกรก็ตาม


           


รัฐธรรมจึงมีความสำคัญทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของคน/องค์กรต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ภายใต้สังคมที่บูชาอักษร เหนือคุณค่าความเป็นคน


 


2. กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ : การมีส่วนร่วมของประชาชน


กฎหมายรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงสุดที่กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งไม่ได้ (โดยที่เราจะมองว่ามันทำงานได้จริงหรือไม่ก็ตาม) รวมถึงเป็นตัวจัดความสัมพันธ์ของคน/องค์กรต่างๆ กฎหมายรัฐธรรมจึงมีผลต่อการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมที่ถือใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


           


ในอดีต การร่าง หรือการเขียนรัฐธรรมนูญล้วนเกิดจากผู้มีอำนาจที่ครอบครองอำนาจรัฐ ทั้งคณะปฏิวัติ รัฐประหารชุดต่างๆ ที่ต่างอ้างตัวว่าเป็น "รัฐฐาธิปัตย์" ซึ่งชอบธรรมบ้างไม่ชอบธรรมบ้าง (โดยอย่างหลังจะมากกว่า) ตั้งคณะกรรมาธิการฯ บ้าง เขียนโดยคน 2-3 คนบ้างออกมาเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. ... ออกมาบังคับใช้ เพื่อสนองต่ออำนาจของกลุ่ม/องค์กร/คณะบุคคล แห่งตน โดยประชาชนคนเดินดินกินข้าว หาเช้าบ้างไม่พอถึงค่ำ ไม่ได้มีส่วนในการเข้าไปร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญที่จัดความสัมพันธ์ระหว่าง "เขา" กับ "รัฐ" เลย


 


รัฐธรรมฉบับก่อนปี พ.ศ. 2540 จึงมีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนน้อยมาก หรือ ถึงมีการบัญญัติก็ถูกปฏิบัติใช้น้อยมากจะกล่าวอย่างละเอียดข้างหน้า ฉะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับก่อนปี พ.ศ. 2540 จึงเป็นแต่เพียงตรายางของผู้มีอำนาจเท่านั้น


 


รัฐธรรมนูญของไทยหลายต่อหลายฉบับที่ว่าดีแต่ก็ถูกฉีกทิ้งอย่างง่ายดาย รวมทั้งฉบับปี พ.ศ.2540 ด้วย โดยผู้กระหายอำนาจที่อ้างความสงบสุขของประชาชนและประเทศนำหน้าแบบหน้าด้านๆ แต่เพราะเหตุใดเล่ารัฐธรรมนูญที่ว่าดีจึงถูกฉีกได้อย่างง่ายดาย โดยประชาชนคนไทยไม่ลุกขึ้นมาต่อต้านผู้กระทำการนั้นๆ คำตอบก็อยู่ในสายลม คือ "ประชาชนคนไทยไม่มีส่วนในความเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญฉบับนั้นทั้งในสำนึก และในทางปฏิบัติ รัฐธรรมนูญกินไม่ได้ ในความหมายไม่ตอบสนองต่อวิถีชีวิต และการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคมให้คนตัวเล็กตัวน้อยผู้เข้าถึงทรัพยากรได้น้อยกว่าผู้ลากมากดี/ขุนศึกศักดินา/พ่อค้านายทุนยังไงล่ะ" รัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งที่ประชาชนไม่ควรหวงแหนในเมื่อมันไม่ให้อะไรแก่เขาเหล่านั้นเลย แล้วจะเสียเวลาออกมาปกป้องเพื่ออะไร


 


การแสดงความคิดเห็นข้างต้นอาจถูกตีความได้ว่าแล้วเราในฐานะประชาชนก็ไม่จำเป็นต้องสนใจ และไม่จำเป็นต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญเลยก็ได้ ในเมื่อมันไม่เกิดประโยชน์แก่เรา "ผิดถนัด" ครับ เพราะอย่างไรเสีย เราก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากการบังคับใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังมีการร่างนี้ได้ ยกเว้นเราเนรเทศตัวเองไปอยู่ ณ โลกอื่นเสีย


 


กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 เปรียบเทียบกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550


           


กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540


รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ที่ถูกคณะรัฐประหารภายใต้ชื่อ คปค. หรือเปลี่ยนมาเป็น คมช.(แล้วแต่จะแปล) ฉีกทิ้ง มีบริบทของการเกิดที่มีนัยยะสำคัญ คือ เกิดจากเสียงเรียกร้องของประชาชนที่กว้างขวางในทุกระดับให้มีการปฏิรูปการเมือง รวมถึงต้องการสร้างบทบัญญัติเพื่อป้องกันนักการเมืองทุจริตประพฤติมิชอบ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ต้องการให้มีการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคน/องค์กรต่างๆ ในสังคมใหม่


 


รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 จึงมีที่มาจากการเรียกร้องของมวลมหาชน การที่มีที่มาจากการเรียกร้องของคนหลากหลายกลุ่มนำมาสู่วิธีการร่างรัฐธรรมนูญ"40 หรือ สร้างบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปี" 40 ที่เปิดโอกาสให้คนกลุ่มต่างๆ ได้เข้าไปมีส่วนในการร่างฯ อย่างกว้างขวาง คือ


 


1. มีการเลือกตั้งทางอ้อมของตัวแทนประจำจังหวัดต่างๆ จังหวัดละ 1 คน จำนวน 76 จังหวัด ไปรวมกับผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ อีก 23 คน รวมเป็น 99 คนเป็นกรรมาธิการยกร่าง


 


2. ในแต่ละจังหวัดมีคณะอนุกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อนำความคิดเห็นของคน/กลุ่ม/องค์กร ต่างๆ ไปเสนอให้คณะกรรมาธิการยกร่าง ในการนี้มีกลุ่ม/องค์กรเสนอความคิดเห็นอย่างหลากหลาย


 


3. การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี" 40 มีการทำประชาพิจารณ์ และให้ประชาชนเสนอความคิดเห็นอย่างกว้างขวางตามจังหวัดและภูมิภาค โดยคณะกรรมาธิการฝ่ายรับฟังความคิดเห็นของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ


 


ด้วยกระบวนการที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการร่างอย่างกว้างขวาง และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างและแสดงความคิดเห็น นำมาซึ่งบทบัญญัติด้านสิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ การเข้าถึง และรักษาทรัพยากรที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใดก่อนหน้านี้ (แม้รัฐบาลที่ได้ชื่อว่ารัฐบาลพระราชทานก็ตาม) รวมถึงการเกิดองค์กรใหม่ๆ ที่เอื้อต่อการจรรโลงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ในหลายๆด้าน(แม้จะมีข้อบกพร่องไปบ้างก็อยู่ในวิสัยที่แก้ไขได้ไม่ใช่กลุ่ม/คณะใดจะลุแก่อำนาจในการฉีกทิ้งอย่าง คมช. กระทำ) จนเกิดกลุ่มที่เห็นด้วย (ใช้ธงเขียวเป็นสัญลักษณ์) และกลุ่มไม่เห็นด้วย (ใช้ธงเหลืองเป็นสัญลักษณ์)ต่อเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ"40 แต่การแสดงออกของประชาชนทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแสดงให้เห็นการมีส่วนร่วม รับรู้ และสนใจต่อรัฐธรรมนูญ"40 อย่างกว้างขวาง ท้ายสุดกลุ่มธงเขียวสามารถกดดันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นผู้ลงมติผ่านร่างได้ในที่สุด ดังนั้นรัฐธรรมนูญปี" 40 จึงได้ชื่อว่า "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน"


 


กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550


รัฐธรรมปี 2550 ที่กำลังร่างกันอยู่ ณ เวลานี้ เกิดขึ้นภายใต้บริบทของการรัฐประหารของ คมช. ที่ทำการโค่นอำนาจของรัฐบาลเผด็จการทุนนิยม? ที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (คนดีศรีเชียงใหม่ ขวัญใจรถแดง...) ที่ฉ้อฉล ตีความ บิดพลิ้ว เล่นแร่แปรธาตุรัฐธรรมนูญปี" 40 โดยความร่วมมือของเนติบริกร ที่แม้ปัจุบันก็กลับมามีอำนาจอีกครั้งภายใต้คติประจำใจว่า "อำนาจอยู่ที่ไหน กูชอนไชอยู่ที่นั้น...(คิดเองว่าตัวอะไร)" จนทำให้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจของ คมช.


           


ฉะนั้นการร่างรัฐธรรมนูญ" 50 จึงอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เป็นสถานการณ์ของบ้านเมืองที่ปกคลุมด้วยเผด็จการของคนดี? ที่อ้างว่าจะเข้ามาแก้ไขวิกฤติของบ้านเมือง (แต่ ณ เวลานี้คนทั่วไปเริ่มรู้สึกว่ามาสร้างวิกฤติอีกรูปแบบหนึ่ง)


 


ภายใต้เงื่อนไขข้างต้น จึงได้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา และในสภาร่างรัฐธรรมนูญใช้วิธีการเลือกกันเองจากสมาชิกกลุ่มสาขาอาชีพ องค์กรต่างๆ ให้เหลือ 200 คน แล้วให้ คมช. เลือกให้เหลือ 100 คน แล้วให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญคัดเลือกสมาชิกสภาร่างฯ ขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกับตัวแทนที่ คมช. ส่งมาอีก 10 คน ซึ่งกระบวนการนี้มีผู้ออกมายกย่องว่าเป็นการเลือกที่กระจายตามกลุ่มอาชีพอย่างทั่วถึง (อย่างไรก็ตามก็พึงเข้าใจว่าพวกคุณแอบเหล่านี้ล้วนได้ดิบได้ดีโดยการอวยตำแหน่งโดย คมช.อย่างถ้วนหน้า) การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีกำหนดไม่เกิน 1 ปี และในขณะที่ร่างฯ ก็ได้มีการออกรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนบ้าง (อย่างประปรายประหนึ่งฝนที่ตกปรอยๆ ไม่ค่อยทั่วฟ้า เพราะเหล่าเทวดาไม่เต็มใจให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้สดับตรับฟังพระสุรเสียงอันศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญปี"50 แต่ท่านเหล่านั้นก็ส่งพวกลิ้วล้อสอพลออาชีพออกมาตำหนิติเตียนประชาชนว่าไม่สนใจรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นประชาชนจึงโง่ แล้วก็โง่ ไม่ฉลาดอาจรู้สู้ชาวฟ้าผู้อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังการรัฐประหาร 19/9/49 ได้) แต่พึงสังเกตว่ากระบวนการแต่งตั้งบุคคลเข้ามาเป็นสภาร่างฯ และกรรมาธิการยกร่างฯ คมช. ล้วนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทั้งสิ้น


 


ท้ายสุดของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐธรรมเป็นเหมือนตัวหนังสือเปื้อนกระดาษที่ชอบธรรม ก็ให้มีการลงประชามติโดยประชาชน เพื่อเป็นตราประทับรวมถึงมัดมือชก ว่าประชาชนเห็นชอบและมีส่วนร่วมกับรัฐธรรมนูญฉบับ"50 แล้ว ถ้าประชามติไม่ผ่าน ทาง คมช. ก็มีสิทธิ์ที่จะยกเอารัฐธรรมนูญปีไหนก็ได้ในอดีต(ฉบับที่เอื้อต่อการครองอำนาจได้มากที่สุด) มาใช้


 


จะเห็นได้ว่าภายใต้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญปี"50 ประชาชนมีส่วนร่วมน้อยมาก รวมถึงความตื่นตัวของประชาชนเสนอความคิดความเห็นต่อบทบัญญัติต่างๆ ในรัฐธรรมนูญก็น้อยเช่นกัน จึงเป็นคำถามว่าเพราะเหตุใดผู้คนในสังคมจึงมีความสนใจต่อการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้น้อย คำตอบก็อยู่ในสายลม ก็ในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีพิมพ์เขียวเสียแล้ว เสียงของชาวดิน (ประชาชน) ก็คงหมดความหมายดูจากกระบวนการร่างฯ การคัดสรรคนเข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างฯ การรับฟังความคิดเห็น ฯลฯ ประชาชนมีส่วนในการกำหนดน้อยมาก แล้วจะหวังอะไรกับคนที่ตนไม่สามารถกำหนด/ควบคุมได้ ไอ้ที่พอจะควบคุมได้มันยังทรยศเลย


 


รัฐธรรมนูญ"50 จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่แปลกแยกจากผู้คนและสังคม เมื่อเปรียบเทียบระหว่างรัฐธรรมนูญ"40 และร่างรัฐธรรมนูญ"50 ทั้งกระบวนการและเป้าหมาย วิธีคิด ฯลฯ รัฐธรรมนูญฉบับแรกได้ชื่อว่า "ฉบับประชาชน"ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมาก ทั้งกระบวนการ เป้าหมาย วิธีคิด ฯลฯ ส่วนฉบับหลังน่าจะได้ชื่อว่า "ฉบับเผด็จการของคนดี" เพื่อคนดี?(ชั้นสูง) และความสมบูรณ์พูนสุขของ...กระมัง ซึ่งจะเสนอต่อไปข้างหน้าว่ารัฐธรรมนูญ"50 เป็นกับดักและระเบิดเวลาของสังคมไทยอย่างไร


 


3 . กับดักรัฐธรรมนูญ


ในข้างต้นได้แสดงให้เห็นถึงความหมาย และความสำคัญของรัฐธรรมนูญ รวมถึงกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบระหว่างรัฐธรรมปี 2540 และร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีกระบวนการได้มาภายใต้เงื่อนไขที่ต่างกัน นำไปสู่กระบวนการที่จะไปสู่เป้าหมายที่ต่างกันในที่นี้จะขอละการอธิบายในส่วนของรัฐธรรมนูญ"40 ว่าส่งผลอะไรต่อสังคมไว้ก่อนเพราะบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ"40 ได้ถูกฉีกทิ้งแล้ว (แม้หลักการและบรรทัดฐานที่รัฐธรรมนูญปี"40 จะคงมีอิทธิพลต่อสังคมในบ้างด้านก็ตาม) ในที่นี้จะขออภิปรายถึงประเด็นต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ"50 ที่จะเป็นกับดักของสังคมต่อไปในอนาคต


 


3.1  กระบวนการและเป้าหมายที่แยกจากกันนำสู่ความแปลกแยกของรัฐธรรมนูญฉบับ"50


ร่างรัฐรัฐธรรมปี"50 เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดภายใต้เงื่อนไขของการทำรัฐประหาร ดังที่ได้


อธิบายข้างต้น ซึ่งนำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญ"50 ที่อาจมีเป้าหมายเพื่อจัดโครงสร้างทางอำนาจในสังคมใหม่? ซึ่งอาจเป็นเจตนาที่ดี? แต่มีวิธีคิดที่เป็นปัญหา คือ "การแยกระหว่างเป้าหมายออกจากกระบวนการ" ซึ่งเป้าหมายที่ดีนั้นไม่มีใครมองว่าผิด แต่กระบวนการที่ดีก็สำคัญไม่แพ้กัน ดังที่อธิบายข้างต้นการที่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ"50 ประชาชนถูกตัดตอนออกจากกระบวนการร่างฯ ถึงมีก็น้อยมาก จะส่งผลต่อความเป็นเจ้าของในรัฐธรรมนูญ"50 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะประชาชนไม่มีส่วนในการกำหนดทิศทางของรัฐธรรมนูญ"50 เลย


           


โดยแท้จริงแล้วภายใต้สถานการณ์การรัฐประหารที่ชาวประชามองว่าไม่ชอบธรรม เพื่อนำสู่เป้าหมายบางอย่าง ผู้กระทำการย่อมต้องพึ่งสำเหนียกถึงกระบวนการที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าเพื่อสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้น ในที่นี้ก็คือ การร่างรัฐธรรมนูญย่อมต้องนำเข้ามาสู่กระบวนการที่ชอบธรรม คือ ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนอย่างมากที่สุด เพื่อกำหนดทิศทางของ รธน. แต่นี้ไม่ ประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วมเลย ซึ่งกระบวนการที่ไม่ชอบธรรมจะนำสู่เป้าหมายที่ชอบธรรมย่อมยากยิ่ง (ซึ่งก็แปลกดีนะที่อ้างว่าเป็นคณะคนดีแต่ทำไมกระบวนการมาไม่ดีดันเป็นคนดีได้)


 


รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็น รธน. ที่แปลกแยกจากสังคมและประชาชน ใครมาฉีกทิ้งหรือทำลายก็ไม่เกี่ยวเพราะไม่ใช่ของ... เปรียบเหมือนภรรยาเราท่านคลอดลูกโดยไม่มีอะไรกันมาเป็นเวลา 1 ปีกว่าๆ แล้ว พอลูกคลอดออกมาบอกว่าเป็นลูกของท่าน ท่านกรรมาธิการยกร่างฯ ที่เคารพท่านยอมรับหรือไม่ ก็เหมือนกันในเมื่อ รธน.ฉบับนี้ประชาชนไม่มีส่วนในกระบวนการร่าง แต่พอจะให้ลงประชามติมาบอกว่านี้ของเอ็งต้องรับ ถึงรับก็ไม่เต็มใจ และไม่มีความเป็นเจ้าของด้วยครับ


           


สมมติมีการรับอย่างจำใจ จะมานำสู่อายุของ รธน. ฉบับนี้ที่มีอายุการใช้งานที่สั้นมากเนื่องจากเจ้าของประเทศที่แท้จริงเขาไม่ยอมรับ ไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการทำให้คลอด(ร่างฯ) แต่ดันมีพ่อรู้ดีมาบอกว่าต้องเอา ต้องรับ สุดท้ายท่านหมดอำนาจเมื่อไหร่เขาก็โละทิ้งก็ชอบธรรมไม่หยอก


 


3.2  มโนทัศน์การร่างรัฐธรรมนูญปี 2550[3]


การร่าง รธน.ปี"50 เกิดภายใต้สถานการณ์พิเศษ (นำมาสู่การใช้อภิสิทธิ์อย่างพิเศษของคน


พิเศษด้วย) ดังอธิบายข้างต้น โดยมีแนวคิดหลักในการร่าง คือ


 


ประการที่หนึ่ง กำจัด หรือป้องกันการกลับมาของ "ระบบทักษิณ" นำมาสู่การสร้างระบบป้องกัน และกำจัด "ระบบทักษิณ" ในวิถีทางต่างๆ และจากแนวคิดทำนองนี้ทำให้การร่าง รธน. เป็นการร่างเพื่อเผชิญปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อกำจัดระบบที่ไม่พึงประสงค์นี้ โดยคณะกรรมาธิการยกร่างฯจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่ รธน. ที่ท่านร่างนี้จะส่งผลต่ออนาคตแน่นอน เพราะเมื่อเราคิดกลไกในการกำจัดระบบใดระบบหนึ่งย่อมต้องคิดเครื่องมือเพื่อกำจัด ทำลายเป้าประสงค์นั้นๆ โดยทำให้ละเลยหนทางแก้ปัญหาในวิกฤต หรือระบบแบบอื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือเครื่องมือที่ท่านสร้างอาจเป็นตัวทำลายระบบที่ท่านสร้างเอง เช่น การเอาอำนาจต่างๆทั้งการแก้วิกฤตของประเทศ การเลือกองค์กรอิสระ ฯลฯไปแขวนไว้ที่ศาลซึ่งอาจส่งผลต่อการรักษาความเป็นกลางของศาล และการถูกแทรกแซงจากองค์กรทางการเมือง จนนำสู่ความไม่น่าเชื่อถือของศาลต่อไปในอนาคตได้ ฉะนั้นการร่าง รธน. ที่เป็นเครื่องมือจัดความสัมพันธ์ทางสังคมจึงต้องพึงระวังในการประดิษฐ์สร้างเครื่องมือที่มิใช่ตอบสนองผลประโยชน์ในปัจจุบัน แต่ในทางตรงกันข้ามย่อมต้องคิดถึงอนาคตให้มากกว่านี้


           


ประการที่สอง การไม่ไว้ใจประชาชน เป็นความเข้าใจของผู้เขียนว่าผู้ร่าง รธน. ฉบับนี้ คมช.คณะรัฐมนตรี ฯลฯ (ส่วนใหญ่) มองประชาชนในชนบทว่าโง่ และถูกหลอกจาก "ระบบทักษิณ"เป็นผู้เสพติดประชานิยม จึงมองประชาชนอย่างไม่ไว้วางใจ จนนำมาสู่การให้เข้ามามีส่วนร่วมในการร่าง รธน. น้อยมากดังที่ได้เสนอไว้ข้างต้น และนำมาสู่การสร้างเครื่องมือเพื่อควบคุมการใช้อำนาจประชาชน เช่น การเลือกตั้ง สว. ที่เป็นบทบัญญัติใน รธน. ปี"40 ในฉบับปี"50 ก็เปลี่ยนมาเป็นระบบสรรหาซึ่งจะสร้างปัญหาในอนาคตจะอภิปรายในหัวข้อต่อไป รวมถึงการออกมากร่นด่า ประณามผู้ไม่เห็นด้วยของบรรดาเทวดาทั้งหลาย ที่บอกว่าผู้ต่อต้าน หรือจะลงมติไม่รับร่าง รธน."50 เป็นพวกทักษิณ โดยไม่มองว่าเขาไม่เห็นด้วยในประเด็นใด มองเหมารวมว่าเป็นพวกทักษิณหมด คนที่ออกมาต่อต้านเป็นคนเลว ไม่รักชาติ (ชาติจึงเป็นสมบัติของผู้เห็นด้วยเท่านั้น) ไม่เชื่อลองฟังจากคำพูดของ รมว.กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และบรรดา คมช. ฯลฯ เถิดพี่น้องทั้งหลาย ประชาชนจึงเป็นส่วนเกินของ รธน."50


           


ประการที่สาม การเมืองของคนดี นิยามของการเมืองถ้ายึดตามร่าง รธน."50 ที่กำลังร่างกันอยู่นี้ต้องเป็นการเมืองของคนดี? เป็นการเมืองของเทวดา ต้องเป็นผู้ไม่โลภ? เป็นผู้ใสสะอาดบริสุทธิ์ดังผ้าขาวเปื้อนขี้ (ขออภัยนึกว่าผ้าอ้อมเด็ก) ที่ไม่มีมลทิน เป็นผู้ที่ไม่ต้องการแสวงหาอำนาจแต่ชักใยอยู่เบื้องหลัง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "การเมืองแบบไทย" ต้องเอาคนดีเข้ามาปกครองบ้านเมือง โครงสร้าง/ระบบมันจะฉิบหายอย่างไร ถ้าคนดีเข้ามาปกครองดีหมด พูดง่ายระบบไม่เกี่ยว "คนดี"??ในที่นี้จึงเป็นประหนึ่งเทวดาที่มาเนรมิตความเจริญ ความเท่าเทียมให้สังคมไทย


 


ประชาชนต้องคอยช่วยคนดีปกครอง ห้ามถาม ห้ามเรียกร้อง น้ำจะท่วมนา ปลาจะตายลอยน้ำ ฝนจะแล้ง หมอกควันจะทำให้หายใจไม่ออก โจรผู้ร้ายจะฆ่าผู้บริสุทธิ์ ฯลฯ ท่านทั้งหลายอย่าได้ปริปากเดี๋ยวจะหาว่าไม่รักชาติ "ชาติ" "การเมือง"จึงเป็นของคนดีเท่านั้น (..ม..ไม่เกี่ยว)


 


            ปัญหาของคนดีที่ รธน. มองไม่เห็น คนดีไม่จำเป็นต้องทำงานเป็น คนดีอาจไม่ดีจริง คนดีในมุมมองต่างๆ อาจไม่เหมือนกัน บางสถานการณ์เราอาจต้องการคนดีที่เก่งด้วย ทำงานเป็นด้วย บ้างครั้งเราอาจต้องการคนดีที่โง่แต่ตรวจสอบได้ บางครั้งเราอาจต้องการคนดีที่เข้มแข็ง ฯลฯ ฉะนั้นคนดีจึงไม่จำเป็นต้องถึงพร้อมแบบเทวดา? แต่ในเมื่อเราบอกว่า "ดี"ที่ไม่ต้องตรวจสอบถูกรับประกันโดยใครบางคนแล้วเราก็บอกว่า "ดี"แล้วอย่างนี้มีดีให้ประชาชนไหมละ


 


3.3  ร่างรัฐธรรมนูญ"50 ให้สิทธิ เสรีภาพ ประชาชนอย่างกว้าง VS ดึงอำนาจส่วนบน (การบริหารประเทศ นโยบาย) ในกำกับของชนชั้นนำ


 


รัฐธรรมนูญปี"50 จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิ เสรีภาพ อำนาจ อย่างกว้างขวางแก่ประชาชน มากกว่าหรือเทียบเท่า รัฐธรรมนูญ"40 เช่น การเสนอกฎหมาย การถอดถอนนักการเมืองจากเดิมต้องลงชื่อถอดถอนจำนวน 50,000 ชื่อถึงทำได้ แต่ใน รธน."50 ใช้ 20,000 ชื่อก็สามารถทำได้แล้ว หรือการคงบทบัญญัติด้านสิทธิ เสรีภาพตาม รธน."40 หรือให้เรียนฟรี 12 ปี ฯลฯ ซึ่งการคงบทบัญญัติเหล่านี้ หรือขยายสิทธิ เสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางขึ้น มี 2 นัยยะ นัยยะแรก คือ เป็นเจตนาดีที่เห็นคุณค่า และบทบาทของประชาชน นัยยะที่สอง คือ เพื่อเป็นเป้าล่อให้ประชาชนลงมติให้ผ่านการประชาพิจารณ์ (ท่านจะคิดนัยยะไหนก็แล้วแต่หรือผสมกันก็ไม่ผิด)


 


แต่อย่างไรก็ตามพึงสำนึกว่าอำนาจในการบริหารนโยบาย การเงิน ระบบราชการล้วนเป็นของชนชั้นนำ (คนดี) ทั้งสิ้นโปรดดูหัวข้อข้างบน แล้วสิ่งที่บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรที่ "ชวนฝัน" กับความจริงมันต่างกัน สิ่งที่ชวนฝันเป็นมายาที่จะปฏิบัติไม่ปฏิบัติก็ได้ นโยบาย ระบบข้าราชการ เงินงบประมาณต่างหากที่เป็นของจริง ดังที่ได้พิสูจน์มาแล้วทั้งการลงชื่อถอดถอนนักการเมือง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฯลฯ ล้วนไม่เกิดผลในทางปฏิบัติทั้งนั้น ตัวอักษรไม่สามารถทำงานด้วยตัวมันเองได้ แต่ตัวระบบต่างหากที่ทำงาน


           


3.4  การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)


 


ร่างรัฐธรรมนูญ"50 กำหนดว่าสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 160 คนต้องมาจากการสรรหาของ


คณะกรรมการชุดหนึ่ง ซึ่งมีองค์ประกอบ 1,2,3.....101 จากตัวแทนจังหวัดละหนึ่งคน จำนวน 76 คน และอีก 84 คนมาจากสาขาอาชีพต่างๆ ซึ่งต่างจาก รธน."40 ที่กำหนดให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แม้จะมีปัญหาดังที่รู้กันแต่สมควรหรือไม่ที่จะกลับไปใช้ระบบเต่าหนึ่งล้านล้านปี


           


ระบบเลือกตั้งแม้จะมีปัญหา แต่ในอีกแง่หนึ่งประชาชนก็สามารถใช้อำนาจในการตรวจสอบ ควบคุมนักการเมืองได้ในระดับหนึ่ง เพราะนักการเมืองย่อมต้องคำนึงถึงฐานเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยในที่นี้ขอเรียกว่า "การเมืองภาคประชาชน"


           


ระบบสรรหาเป็นระบบที่ประชาชนไม่สามารถกำหนดได้ อำนาจการสรรหาตกไปอยู่ในมือชนชั้นนำไม่กี่คน ที่ประกันได้หรือไม่ว่าจะได้คนที่เรียกว่า "ดี"??? และดีของใคร???ซึ่งก็ไม่พ้นข้าราชการแก่บ้าง หนุ่ม(ที่มากกว่า 50) บ้าง และข้าราชการเหล่านี้ก็ไม่พ้นมองชาวบ้านว่าโง่ แล้วชาวบ้านประชาชนจะใช้เครื่องมืออะไรควบคุมคนเหล่านี้ในเมื่อประชาชนไม่ใช่คนแต่งตั้ง ไม่ต้องคำนึงถึงฐานเสียง สุดท้ายวุฒิสภาก็เหมือนที่แล้วๆ มาที่เป็นเพียงแต่สภาตรายาง วุฒิสภาจึงเป็นกับดักอีกตัวหนึ่งของ รธน."50


 


ข้อเสนอของผมในส่วนของวุฒิสภา แม้จะเป็นแต่เสียงนกเสียงกาที่ท่านเทวดาทั้งหลายไม่ได้ยิน ผมว่าให้คงระบบเลือกตั้งแบบเดิม โดยอาจลดจำนวนวุฒิสภาให้เหลือจังหวัดละ 1 หรือ 2 คน โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง มีอายุแต่ละสมัย 6 ปี ในรอบ 3 ปีให้จับฉลากออกครึ่งหนึ่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ และแต่ละคนเป็นได้ไม่เกิน 2 สมัย ซึ่งในการเลือกตั้งประชาชนไม่ได้โง่ ประชาชนรู้ว่าใครมีประโยชน์ไม่มีประโยชน์ และไม่จำเป็นที่เทวดาที่ไหนจะมาตัดสินแทนว่าใครคือตัวแทนของเขา แต่ถ้ายังดื้อที่จะให้มีการสรรหาต่อไป การสรรหาวุฒิสภาก็เป็นเหมือนกับดักที่พร้อมจะให้สังคมไทยติดกับได้ทุกเวลาในอนาคต


 


3.5  นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ( ส.ส.)


 


ร่างรัฐธรรมนูญ"50 กำหนดไว้ว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกของสมาชิกสภาผู้แทน


ราษฎร โดยมีถ้อยคำตามรัฐธรรมนูญ"40 แต่อย่างไรก็ตาม รธน."50 เกิดภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติดังที่กล่าวก่อนหน้านี้ รวมถึงอารมณ์ของสังคมที่จับจ้องต่อ คมช. ว่าจะสืบทอดอำนาจต่อหรือไม่


           


การร่าง รธน."50 กำหนดว่านายกฯต้องมาจากการเลือกตั้งของ ส.ส. นำมาสู่ข้อถกเถียงว่านายกฯจะมาจากคนนอกที่ไม่เป็น ส.ส.ได้หรือไม่ เพราะ รธน. เปิดช่องไว้ว่ามาจากการเลือกของ ส.ส. ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ก็ได้ แต่ถ้าเขียนอีกอย่างหนึ่งว่า นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.ก็จะตีความได้ชัดเจนกว่าถ้อยคำแรก


 


ถ้าเป็นสถานการณ์ในยามปกติการบัญญัติว่า "นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกของสมาชิกสภาผ้แทนราษฎร" ย่อมไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน เหมือนปี"40 ที่ถ้อยคำทำนองนี้ไม่มีการถกเถียง หรือตั้งข้อสงสัยมากมายเหมือนเวลานี้ แต่ ณ สถานการณ์ปัจจุบันที่สังคมหวาดระแวง เกิดความสงสัยต่อการสืบทอดอำนาจของ คมช. ถ้อยคำที่เปิดช่องให้มีการตีความที่กว้างขว้างอย่างนี้ย่อมไม่เป็นที่ไว้ใจของสังคม โดยสำนึกหรือไม่ก็ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯต้องพึงระวัง และอย่าแกล้งลืมว่าวีรชน 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, และ พฤษภาคม 2535 ล้วนหลั่งเลือด พลีชีพ เพื่อรักษาระบบประชาธิปไตย ภายใต้อุดมการณ์ที่เขาเชื่อว่าถูกต้อง ดีงาม และในท้ายที่สุดจะนำสันติประชาธรรมสู่สังคมได้ ซึ่งแตกต่างจากทหารหาญบางคนที่ออกมาบอกว่าไม่มีใครที่จะสละชีพเพื่ออุดมการณ์อะไรได้ แล้วไอ้คำปฏิญาณที่ว่าจะสละชีพเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์นั้นก็ไม่มีความหมายกระนั้นหรือ


 


ท้ายสุดถ้าคณะกรรมาธิการยกร่างฯจะเขียนอย่างมีนัยยะก็ดี ไม่มีนัยยะก็ดีท่านจงสำนึกไว้เถิดว่าท่านได้สร้างกับดักอีกตัวไว้ให้สังคมไทยแล้ว และจะเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง แตกแยกของสังคมต่อไปในอนาคตแน่นอน


 


สรุป


ในสถานการณ์ปัจจุบันที่กระแสการร่างรัฐธรรมนูญเงียบเหงา ซบเซา และกำลังจะเศร้าสร้อย ผู้คนในสังคมวางเฉยด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม บทความนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความคิดความเห็น แลกเปลี่ยน ภายใต้บริบทของสังคมที่เราไม่สามารถหนีพ้นจากรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรได้ ยกเว้นว่าเราจะหนีออกไปอยู่ ณ โลกอื่น


 


วิถีทางเดียวที่เราในฐานะประชาชนตัวเล็กตัวน้อยจะทำได้ คือ "การตั้งคำถาม" ตั้งคำถามกับอำนาจที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตเรา รวมถึงตรวจสอบการใช้อำนาจนั้นๆ


           


รัฐธรรมนูญจึงเป็นฐานของการใช้สิทธิ เสรีภาพของเราในการต่อสู้กับอำนาจ แต่เหนือสิ่งอื่นใด "สิทธิความเป็นมนุษย์" เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในฐานะมนุษย์ การต่อสู้ในหนทางสันติวิธีเพื่อธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จึงเป็นสิทธิที่พึงกระทำได้


           


รัฐธรรมนูญแม้จะอธิบายกันว่าเป็นกฎหมายสุดสูง กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งมิได้ แต่เมื่อมันเป็นแต่เพียงกระดาษที่เปื้อนหมึกหากไม่มีการนำไปปฏิบัติใช้อย่างจริงจัง ความศักดิ์สิทธิ์ก็ย่อมมลายหายเป็นธรรมดา


           


ในปัจจุบันที่เรากำลังร่างรัฐธรรมนูญกันอยู่นี้ โดยคณะผู้ร่างฯจะสำนึกหรือไม่สำนึกก็ดีท่านได้วางกับดักให้สังคมไทยในอนาคตในหลายประเด็นดังที่ได้อธิบายมาข้างต้น และประเด็นเหล่านี้ที่ท่านวาดหวังว่าจะเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาให้แก่สังคม อาจกลับมาเป็นเครื่องมือที่ทำลายสังคมเองก็ได้ ก็ในเมื่อท่านไม่ไว้วางใจในประชาชนเสียแล้ว ยกอำนาจราชศักดิ์ มั่นใจนักมั่นใจหนาในความดีของชนชั้นนำชาวฟ้า พวกไพร่ชาวดินก็คงหมดความหมาย แล้วเขาจะหวังอะไรเล่ากับรัฐธรรมนูญฉบับ"50


 


                                                โลก[4]


                       


                        โลกนี้มิอยู่ด้วย     มณีเดียว


            ทรายและสิ่งอื่นมี              ส่วนสร้าง


            ปวงธาตุต่ำกลางดี             ดุลยภาพ


            ภาคจักรพาลมิร้าง             เพราะน้ำแรงไหนฯ


                                                           


                                                            ภพนี้มิใช่หล้า                   หงส์ทอง เดียวเอย


                                                กาก็เจ้าของครอง                          ชีพด้วย


                                                เมาสมมุติจองหอง             หินชาติ


                                                น้ำมิตรแล้งโลกม้วย                       หมดสิ้นสุขศานต์ฯ


 


 






[1] ในการเขียนบทความครั้งนี้ได้ขโมยแนวคิดมาจากการสนทนากับอาจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ พี่โป๊ะ พี่เอ็ป และลุงทองแห่ง คกนฺ และการได้รับเชิญให้ไปออกรายการข่วงผญาทางสถานีวิทยุ FM 100 ในส่วนของชื่อบทความได้ แนวคิดจากคุณชัยนุวัฒน์ เพื่อนร่วมห้อง ส่วนความผิดพลาดของบทวามทั้งหมดล้วนเกิดจากความเขลา ความไม่รู้ และความตื้นเขินของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว



[2] นักศึกษาระดับปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิยาลัยเชียงใหม่



[3] มโนทัศน์ ในที่นี้ต้องการให้สื่อความหมายถึง วิธีคิด มุมมอง ที่มีต่อปรากฏการณ์ วัตถุ แล้วนำมาสู่การกำหนดการกระทำ หรือทีท่าต่อปรากฏการณ์นั้น ๆ หรืออาจมองว่าเป็นการกำหนดท่าทีต่อโลกก็อาจได้



[4] อังคาร กัลยาณพงศ์, "โลก" ใน กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์,ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7, กรุงเทพฯ: กินรินทร์,2548, หน้า 31 อ้างใน ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, ความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากหลอมรวมเป็นหนึ่ง สู่ผสมผสานพันทาง, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2550, หน้า 162.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net