ข่าวมอนิเตอร์ประจำวันที่ 22 เมษายน 2550

กมธ.ปฏิรูปการเมืองถกร่างรธน. "วิษณุ" ชี้พอใช้-เสนอแก้ 4 ประเด็น

กรุงเทพธุรกิจ : โรงแรมดุสิตรีสอร์ท หัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี คณะกรรมาธิการวิสามัญการปฏิรูปการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดสัมมนาเพื่อเตรียมความพร้อมในการเสนอความเห็นเกี่ยวกับร่างแรกรัฐธรรมนูญที่เสร็จแล้ว ตามมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2549 โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน สนช.เป็นประธาน และมีสมาชิกสนช. คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) กว่า 200 คนร่วมงาน

 

นายวิษณุ เครืองาม ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญการปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า แม้จะดีระดับหนึ่ง แต่ควรมีข้อการปรับแก้ 4 เรื่องคือ

 

1.หลักคิดและปรัชญา ต้องกระจ่างแจ้ง ไม่เช่นนั้นจะตีความไม่ตรงกัน 2.หลักภาษาและถ้อยคำ ที่นำภาษาอื่นมาใส่โดยยังไม่บัญญัตินิยามชัดเจน ทำให้ตีความไม่ตรงกัน 3. หลักการและสารัตถะ บางมาตราละเอียดยืดยาดพิสดาร บางหมวดกลับกระชับรวบรัด และโยนหลักเกณฑ์ที่สำคัญไปไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง ถ้าไม่บัญญัติเรื่องสำคัญไว้ในกฎหมายสูงสุด และ4.การเรียงหมวดหมู่มาตรา บางมาตรามีการยุบรวม และใส่เป็นอนุมาตรา ทำให้ออกมาทั้งหมดเหลือ 299 มาตรา แต่การยุบมาตราและตั้งชื่อหมวดนั้นอาจทำให้ตีความคลาดเคลื่อน บางเรื่องที่ควรและเคยเรียงมาก่อน ก็ไปเรียงไว้ท้ายๆ การตีความจึงอาจเกิดปัญหามาก เช่น การบัญญัติให้มาตราหลังๆ มาใช้โดยอนุโลมกับมาตราแรกๆ

 

ด้านนายมีชัย กล่าวเปิดการสัมมนาว่า คนที่ถูกกดดันมากที่สุดคือ ส.ส.ร. เพราะมีเวลาในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่จำกัด ส่วนที่มีความเป็นห่วงว่าจะมีปัญหาในขั้นการประชามติ ตนมองว่าไม่น่าจะเป็นปัญหา อย่างน้อยที่สุดคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ดูกฤษ์ยามที่จะจัดส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกในวันที่ 26 เมษายน ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว นอกจากนี้รัฐธรรมนูญก็มี 299 มาตรา ซึ่งเป็นตัวเลขที่สวย เมื่อฤกษ์ผานาทีเป็นแบบนี้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหา

 

"อยากจะบอกให้กรรมาธิการยกร่างฯได้ สบายใจ เดี๋ยวจะเสียขวัญ ไอ้ที่มีข่าวว่า ผมและนายวิษณุ นายบวรศักดิ์ ทั้ง 3 คน ไปร่างรัฐธรรมนูญที่ประเทศฝรั่งเศส ผมคงไม่ได้โง่หรือขยันจนถึงกลับไปที่ปารีส ถ้าจะทำที่ไหนห้องนี้ก็ทำได้"นายมีชัย กล่าว

 

 

'พรรคการเมือง' ระบุร่าง รธน.ปี 50 ยังไม่เกิดปฏิรูปทางการเมือง

สำนักข่าวเนชั่น : คณะรัฐประศาสนาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้จัดเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ "รัฐธรรมนูญใหม่ ! ปฏิรูปหรือถอยหลัง" โดยมีวิทยาการประกอบด้วย นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นายปกรณ์ ปรียากร โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย

 

โดยนายปกรณ์กล่าวว่า จุดเด่นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า รธน. ทำให้พื้นที่ของการทำงานการเมืองและการมีส่วนร่วมในการบริหารของประชาชนใหญ่ขึ้น และให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐมากขึ้น นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีดุลยภาพระหว่างสามอำนาจรัฐ คือ นิติบัญญัติ บริหาร และ ตุลาการ ต่อมายังเพิ่มการบริหารรัฐกิจที่ดีและมีธรรมาภิบาล โดยเนื้อหาไม่ได้ต่างจากโครงสร้างหลักของรัฐธรรมนูญทั่วไป แต่จะทำอย่างไรให้เป็นจริง ให้มีการตรวจสอบที่ดี สำหรับองค์กรตรวจสอบที่มีอยู่ในปี 2540 ก็ยังมีและมีความเข้มแข็ง แต่เราก็มีองค์กรอื่นขึ้นมาเช่น อัยการที่เป็นอิสระจากรัฐบาล กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะมีบทบาทมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ยังรับรองเรื่องสิทธิเสรีภาพ เช่นเพิ่มเรื่องสิทธิเสรีภาพตามพันธกรณีระหว่างประเทศ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนี้ประชาชนยังฟ้องร้องศาลรัฐธรรมนูญได้ เราได้บัญญัติให้ คุ้มครองสื่ออย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่นห้ามนักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ ขยายสิทธิชุมชน ประชาชนสามารถตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ลดจำนวนการเข้าชื่อของประชาชนเพื่อถอดถอนนักการเมือง หรือตรวจสอบการทำงาน และการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ประชาชนสามรถฟ้องร้องรัฐ จากการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม เราต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด แต่ประชาชนก็ต้องช่วยนักการเมือง โดยทำให้เขาเข้ามาสู่การเมืองโดยปราศจาการดูดทรัพย์ เรายังสามารถตรวจสอบการออกกฎหมาย การตราพระราชกำหนด นอกจากนี้ รธน.ยังกำหนดเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรมของนักการเมือง สำหรับองค์กรอิสระก็ได้ปรับระบบการสรรหา ปรับปรุงหน้าที่ต่าง ๆ ขององค์กรอิสระ

 

ด้านนายจุรินทร์ กล่าวว่า รธน. ฉบับนี้มีทั้งจุดดีและจุดอ่อน นอกจากจะปฏิรูปหรือถอยหลัง ยังมีบางส่วนที่จะปฏิรูปก็ไม่ใช่ ถอยหลังก็ไม่เชิง มีลักษณะครึ่ง ๆ กลาง ๆ โดยจุดดีมีหลายประเด็น ประการที่หนึ่ง มีการเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน เป็นการสถาปนาระบบประชาธิปไตยใหม่ ที่ควรมีประชาธิปไตยตัวแทนเดินขนานไปกับประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

 

ประเด็นที่สองคือ มีการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และบัญญัติไว้ในลักษณะที่มีผลทางปฏิบัติเป็นรูปธรรมมากกว่าปี 2540 ประเด็นที่สาม มีการเพิ่มหมวดที่เป็นประโยชน์เช่น การเงินการคลังและงบประมาณ เพื่อให้สามารถตรวจสอบการใช้งบประมาณได้ หรือต้องรายงานเรื่องการใช้งบกลาง และประการที่สี่ ร่างฉบับนี้สามารถอุดช่องว่างและแก้ปัญหาที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้สร้างไว้ เรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญล้อมคอกก็แล้วแต่ แต่ก็มีหลายประเด็นที่ได้ประโยชน์เช่น กำหนดให้รัฐบาลรักษาการจะมีการระบุขอบเขตการใช้อำนาจชัดเจนขึ้น หรือการกำหนดห้ามควบรวมพรรคการเมืองระหว่างอายุของสภา หรือการระบุเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งหากยุบสภาต้องทำในระหว่างสี่สิบห้าถึงหกสิบวัน ซึ่งก่อนหน้านี้ มีการกำหนดเร็วทำห้างพรรคได้เปรียบ

 

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่กรรมาธิการควรทบทวน เพราะบางประเด็นแม้มีเจตนาดี แต่กลับมีเจตนาที่มุ่งล้อมคอกจนลืมหลักประชาธิปไตย หรือมุ่งล้อมคอกแต่ล้อมไม่สุด และยังเกิดช่องจนอาจจะนำไปสู่ภาวะวิกฤตในอนาคต ประเด็นแรก คือเรื่องที่มาของส.ว. กรรมาธิการฯ มุ่งจะแก้ปัญหาให้ ส.ว. ปลอดจากอิทธิพลพรรคการเมืองให้ปลอดจาก สภาผัวเมีย จึงเลิกระบบเลือกตั้งแล้วหันมาใช้ระบบแต่งตั้ง แต่แทนที่จะเป็นการปฏิรูปกลับเป็นการถอยหลังเข้าคลอง ไปสู่ในอดีต มอบอำนาจให้เจ็ดคนเข้าไปเลือก ส.ว. 16 คน ทำไมไม่ให้ประชาชนได้เลือกด้วยตัวเขาเอง

 

ประการต่อมาคือเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นการล้อมคอกไม่สุด เพราะในอดีตเรากำหนดว่าหากจะอภิปรายไม่ไว้วางใจต้องใช้เสียงสองในห้า แต่หากรมต. ใช้แค่หนึ่งในห้า แต่ร่างใหม่ ดูเหมือนจะทำให้อภิปรายนายกฯ ง่ายขึ้น ลดจากสองในห้า เหลือหนึ่งในสี่ ดู ๆ ก็เหมือนอภิปรายง่ายขึ้น รมต.ให้ใช้ หนึ่งในห้าเช่นเดิม แต่การจะอภิปรายในเรื่องทุจริต ร่ำรวยผิดปกติ จงใจปฏิบัติขัดรัฐธรรมนูญ อยู่ๆ จะไปยื่นไม่ได้ ต้องยื่นถอดถอนต่อ ปปช. เสียก่อน ซึ่งก็ต้องใช้เสียงหนึ่งในสี่

 

ประเด็นต่อมาคือเรื่องการสิ้นสมาชิกภาพของส.ส.และส.ว. เรื่องการต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ยกเว้นความผิดลหุโทษ แต่ในส่วนนของรมต.กลับระบุเพิ่มให้ยกเว้นกรณี หมิ่นประมาทให้ ตนขอให้เพิ่มข้อยกเว้นนี้ให้กับ ส.ส. ส.ว.ด้วย หากไม่คุ้มครอง จะทำให้ ส.ส. ส.ว. บางคนใส่เกียร์ว่าง เพราะหากเขาตรวจสอบแล้วเจอข้อหาหมิ่นประมาทเขาอาจจะต้องพ้นจากตำแหน่ง

 

(โปรดอ่านพงศ์เทพ เทพกาญจนา วิพากษ์ในเวทีเดียวกันในข่าวประชาไท)

 

ขณะที่นายสุริยะใส กล่าวว่า เราต้องทำให้การเมืองภาคพลเมืองขยายไปให้มากกว่านี้ ร่างฉบับนี้มีทั้งจุดเด่นและด้อย รวมทั้งมีที่ไม่มีความชัดเจน โดยจุดเด่นมีห้าจุดประกอบด้วย หนึ่ง การขยายสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชน สองระบบถ่วงดุลตรวจสอบของภาคประชาชนมีมากขึ้นและน่าจะทำได้ง่ายขึ้น สามการบัญญัติว่าให้มีหมวดวาด้วยการมีส่วนร่วมโดยตรงของภาคประชาชน เป็นการเริ่มกระบวนการประชาธิปไตยทางตรง ประการที่สี่ การเพิ่มหมวดการเงินการคลัง งบประมาณ และการเพิ่มหมวดจริยธรรม อย่างไรก็น่าจะกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณได้ และประการที่ห้า มีความจำเป็นที่ต้องทอนอำนาจนักการเมื่องลง แต่เมื่อทอนแล้วจะเอาไปอยู่ที่ใคร

 

นายสุริยะใส กล่าวถึงจุดด้อยว่า ประการแรก การเพิ่มบทบาทของฝ่ายตุลาการตั้งแต่เป็นคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ เอานักการเมืองออกและเอาศาลเข้ามาทั้งระบบ นี่เป็นการเดิมพันต้นทุนเดียวที่เหลือของสังคมหรือไม่ ตนไม่เชื่อมั่นว่าตุลาการภิวัฒน์จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและไม่เชื่อว่าตุลาการจะถูกตรวจสอบได้โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตนคัดค้านการเพิ่มอำนาจตุลาการเพราะเห็นว่ามีมากเกินไป ทำไมเราตัดส่วนของนักการเมืองแต่ไม่เพิ่มอำนาจให้ประชาชน ประการที่สอง คือ การทำให้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ มีที่ยืนในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่นการบัญญัติ เจ็ดอรหันต์ มาเลือก ส.ว. เรามั่นใจใช่ไหมว่า เจ็ดคนนี้ซื้อไม่ได้ หรือการตั้งสิบเอ็ดอรหันต์ ที่มาตัดสินว่าประเทศถึงวิกฤติหรือยัง นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขาธิการคณะกรรมาธิการยกร่าง บอกว่า สิบเอ็ดคนนี้ไม่มีอำนาจ หากไม่มีอำนาจแล้วจะ บัญญัติทำไม ตนเชื่อว่ามันมีอำนาจในที่ประชุม แทนที่จะคลี่คลายจะกลายเป็นการสร้างวิกฤติ เพิ่ม

 

ประการที่สามคือระบบเลือกตั้ง การเปลี่ยนเป็นแบ่งเขตเรียงเบอร์ และใช้ระบบสัดส่วน นอกจากจะปัญหาไม่ได้ แต่กลับสร้างปัญหาใหม่ ระบบสัดส่วน 80 คนที่มาจากสี่เขต ซึ่งโดยพื้นฐานก็ต้องรวมเป็นภาค แบบนี้จะทำให้เกิดการเมืองแบบภูมิภาคนิยม เราจะมี ส.ส. ที่สะท้อนความเห็นของคนทั้งประเทศ แบบัญชีรายชื่อได้หรือไม่ สสร.บอกว่าที่ไม่เอาแบบเดิม เพราะป้องกัน ไม่ให้นายทุนเข้ามาเล่นการเมือง เราปล่อยเขาเข้ามาไม่ควรกีดกัน จำกัดสิทธิ เราต้องทำให้เกิดการตรวจสอบได้มากกว่า

 

ประการสุดท้ายคือ อำนาจของประชานบางส่วนถูกทอนไปจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่นสิทธิการเลือกตั้ง ส.ว. ส.ว. ไม่ได้ยึดโยงกับภาคประชาชน ผมเห็นด้วยกับการได้มาของบุคคลสาธารณที่ยึดโยงกับประชาชน เลือกตั้งจะดีจะร้าย แต่ก็ยึดกับประชาชน ทำไมเราไม่ทำให้ระบบนี้อยู่ต่อไป เพราะอย่างน้อยการเลือกตั้งเป็นเวทีเรียนรู้ของประชาชนต่อตัวแทนของเขา สำหรับความไม่ชัดเจนคือ หนึ่ง เส้นแบ่งทางอำนาจระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลาง

 

ตนไม่มั่นใจว่าทั้งสองอย่างจะมีดุลยภาพทางอำนาจ สองคือการแก้ปัญหาทุนผูกขาดกับการเมือง และสุดท้ายคือเรื่องดุลยภาพของอำนาจ การเมืองอาจจะเป็นการเมืองของการเผชิญหน้าไม่ใช่การเมืองสมานฉันท์ รัฐธรรมนูญยังหวาดกลัวการเติบโตของประชาชน

 

ขณะที่นายสมบัติ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญใช้ปี 2540 เป็นหลัก และเอาปัญหาที่พบจากการใช้มาเขียนปิดและสกัดกั้น สำหรับการสรรหาส.ว.ตนเห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และไม่ถือว่าถอยหลังเพราะเราต้องดูว่าหากมีที่มาอย่างไรก็ต้องกำหนดอำนาจเท่านั้น หากแต่งตั้งเราก็จะให้อำนาจน้อย ด้วยอำนาจที่ให้ปัจจุบันตนก็เห็นว่าไม่ขัดกับหลักสากลแม้ว่าจะเป็นการสรรหาก็ตาม รัฐธรรมนูญนี้แก้ปัญหาหลักของการเมืองไทยได้หรือไม่ โครงสร้างหลักปัจุบันจุดอ่อนมากที่สุดคือ การถ่วงดุลอำนาจอ่อนแอ เพราะคนที่เป็นหัวหน้าพรรคในสภาจะเป็นรัฐบาล รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการรัฐบาลที่อ่อนแอ เพราะเคยเจอรัฐบาลทักษิณ

 

อย่างไรก็ตามวันนี้การร่างรัฐธรรมนูญ ภายใต้บริบทของสังคมไทยที่จะสามารถปฏิรูปการเมืองมี สองทางคือ 1.ชนชั้นกลางในสังคมไทยจะต้องสนใจการเมืองและเข้าใจการตรวจสอบ 2.ต้องทำให้การเมืองภาคประชาชนเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้ให้ความสำคัญในจุดนี้เพิ่มขึ้น และอยากจะฝากขอคิดว่าคนจำนวนน้อยที่ตัดสินใจโดยนำเหตุผลและประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง จะเป็นประโยชน์กับสังคมมากกว่าการที่ปล่อยให้คนจำนวนมากมายที่ตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าสังคม ดังนั้นจึงไม่อยากจะให้นำเรื่องของจำนวนผู้ร่างมาเป็นประเด็นโจมตีว่าไม่มีความชอบธรรมในการกำหนดทิศทางของสังคม

 

 

แนะตัด ม.299 หวั่นรธน.ไม่ผ่านประชามติอาจมีปัญหา

คมชัดลึก  : นายลิขิต ธีรเวคิน หัวหน้าพรรคพลังแผ่นดินไท แถลงข่าวถึงจุดเด่นและจุดด้อยในร่างรัฐธรรมนูญว่า หลังจากการวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ ที่ยกร่างโดยคณะกรรมาธิการยกร่างฯ พบว่า ในหลายมาตราคล้ายกับร่างรัฐธรรมนูญที่พรรคได้เสนอต่อคณะกรรมาธิการฯไปก่อนหน้านี้ เช่น ประเด็น ส.ส.ไม่ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี การบรรจุหมวดจริยธรรม และการป้องกันปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน คอรัปชั่นเชิงนโยบาย แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงของร่างรัฐธรรมนูญ 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือ มาตรา 299 และมาตรา 68 โดยมาตรา 299 ซึ่งระบุว่า การกระทำใดๆที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้ คล้ายกับเป็นการนิรโทษกรรมให้กับการรัฐประหาร ซึ่งตนมองว่าการร่างกฎหมาย ไม่ได้มองในเชิงรัฐศาสตร์ หากต้องการนิรโทษกรรม หรือคุ้มครองการกระทำของ คตส. ก็ควรให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกเป็นพระราชบัญญัติ อย่าไปเสี่ยงกับการลงประชามติทั่วประเทศ เพราะหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ เท่ากับว่าจะไม่มีอะไรคุ้มครองเลย ตนจึงเสนอให้ตัดมาตรา 299 ทิ้งไป เพราะจะกลายเป็นการตายน้ำตื้น

 

 

คนกรุงหนุนปฏิรูป "ทีไอทีวี" เป็นสื่อสาธารณะ พร้อมหนุน "พีทีวี" ออกอากาศ

แนวหน้า  : นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "ความคิดเห็นกรณีทีไอทีวี - พีทีวี" : กรณีศึกษาประชาชนอายุ 18 - 60 ปี ในเขตกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่" ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูล จำนวนทั้งสิ้น 2,258 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20 มีนาคม - 2 เมษายน 2550 โดยประชาชนร้อยละ 68.3 รู้สึกพึงพอใจต่อการทำงานของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่า มีการนำเสนอข่าวได้ดี ฉับไว ทันต่อเหตุการณ์ นำเสนอเนื้อหาสาระที่ตรงประเด็น และมีการช่วยเหลือชาวบ้าน/ทำเพื่อประชาชน ขณะที่ร้อยละ 11.9 ระบุไม่พึงพอใจ โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีความเป็นกลาง สื่อมวลชนหาประโยชน์กับนักการเมือง ต้องการให้เป็นทีวีเสรีของประชาชน มีการนำเสนอข่าวคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และร้อยละ 19.8 ระบุไม่มีความคิดเห็น

 

เมื่อสอบถามเกี่ยวกับทีมงาน/พนักงานของไอทีวีภายหลังจากที่รัฐบาลยึดสถานีโทรทัศน์ไอทีวีมาแล้ว พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 67.8 ระบุต้องการให้ทีมงานเดิมทำงานต่อ ขณะที่ร้อยละ 9.4 ให้เปลี่ยนทีมงานใหม่ และร้อยละ 22.8 ไม่มีความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 58.8 รู้สึกเป็นห่วงว่า สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีมีโอกาสที่จะถูกครอบครอง โดยกลุ่มผู้มีอำนาจบางกลุ่ม มีเพียงร้อยละ 15.5 ที่ไม่ห่วง และร้อยละ 25.7 ไม่มีความคิดเห็น ส่วนความคิดเห็นกรณีรัฐบาลจะปฏิรูปสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีให้เป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ (อิสระ) พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 49.5 เห็นด้วย ส่วนร้อยละ 11.0 ไม่เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 39.5 ไม่มีความคิดเห็น

 

สำหรับความเหมาะสมหากจะให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเข้ามาบริหารจัดการสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีในระยะต่อไป พบว่า ร้อยละ 46.2 มองว่า องค์กรภาคประชาชนเป็นองค์กรที่มีความเหมาะสมมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 36.4 มองว่า ควรให้องค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายใหม่มาบริหารจัดการ ร้อยละ 33.2 เห็นว่า ควรให้บริษัทธุรกิจเอกชน นอกจากนี้ ประชาชนอีกส่วนหนึ่งขอให้หน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่ราชการ เช่น องค์กรมหาชน โมเดิร์นไนน์ ทีวี สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 สำนักนายกรัฐมนตรี รัฐสภาเข้ามาบริหารจัดการ

เมื่อสอบถามความคิดเห็นกรณีหากจะเปิดโอกาสให้มีสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี (แบบช่อง 3, 5, 7, 9, 11 หรือไอทีวี) เพิ่มขึ้น พบว่า ร้อยละ 72.8 เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 10.6 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 16.6 ไม่มีความคิดเห็น

 

ส่วนการติดตามข่าวที่คนของพรรคไทยรักไทยเคลื่อนไหวที่จะเผยแพร่รายการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมทางสถานีโทรทัศน์ PTV พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 64.3 ไม่ได้ติดตาม และร้อยละ 35.7 ติดตาม และเมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่ติดตามข่าวนี้ พบว่า ร้อยละ 41.0 สนับสนุนให้มีการออกอากาศของสถานี PTV ขณะที่ร้อยละ 38.2 ไม่สนับสนุน และร้อยละ 20.8 ไม่มีความคิดเห็น สำหรับความสนใจของกลุ่มตัวอย่างที่จะชมรายการทางช่อง PTV (หากมีการออกอากาศ) พบว่า ร้อยละ 43.2 สนใจที่จะชม ขณะที่ร้อยละ 30.1 ไม่สนใจ และร้อยละ 26.6 ไม่แน่ใจ/ไม่มีความคิดเห็น

 

 

เอนทรานซ์50ป่วน ศาล ปค.ยกเลิกมติ ทปอ.

คมชัดลึก : ศาลปกครองขอนแก่น มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ยกเลิกมติ ทปอ.ที่ใช้คะแนนโอเน็ตครั้งแรกครั้งเดียวในการสมัครแอดมิชชั่นส์ ด้าน สกอ.เตรียมอุทธรณ์ แจงหากไม่ใช่มติ ทปอ.ก็ไม่มีเกณฑ์ในการคัดเลือกเด็ก อาจส่งผลให้ไม่สามารถคัดเลือกและประกาศผลแอดมิชชั่นส์ปีนี้ได้

 

 

ผู้ป่วยมะเร็งในเอเชียส่อเค้าขยายตัวเร็ว

กรุงเทพธุรกิจ : ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมการประชุมเพื่อสุขภาพที่สิงคโปร์วานนี้ (21 เม.ย.) ระบุ ประชากรที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีอายุขัยยืนยาวขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านการรับประทานอาหารและการดำเนินชีวิต จะเป็นภาระสำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับการป้องกัน จัดหาวัคซีน และการรักษาที่มีราคาแพง

 

นายริชาร์ด ฮอร์ตัน บรรณาธิการและผู้พิมพ์วารสารการแพทย์ แลนเซ็ต กล่าวว่า คนส่วนใหญ่เชื่อว่ามะเร็งเป็นปัญหาสำหรับคนรวยและผู้สูงอายุ แต่ไม่เป็นความจริง เช่นเดียวกับที่หลายคนเชื่อว่ามะเร็งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อันที่จริงโรคมะเร็งประมาณ 40% สามารถป้องกันได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต

มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งตับ เป็นปัญหาสำคัญที่สุดในเอเชีย ตามมาด้วยมะเร็งทรวงอก และมะเร็งลำไส้ คาดว่าจะมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มจาก 4.5 ล้านคนเมื่อปี 2545 เป็น 7.1 ล้านคนในปี 2563 หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ

 

นายกัวะ บูน วัน รัฐมนตรีสาธารณสุขสิงคโปร์ กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวจะเป็นภาระใหญ่สำหรับผู้ป่วย ครอบครัว และระบบสาธารณสุขในแต่ละประเทศ ไม่เว้นแม้แต่สิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันประชากรเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเป็นอันดับต้นๆ

 

มะเร็งปอด ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่อันดับ 1 ของเอเชีย มีรายงานผู้ป่วยใหม่ปีละ 600,000 คน โดยมีสาเหตุหลักจากการสูบบุหรี่ ขณะที่ผู้ป่วยด้วยมะเร็งกระเพาะอาหารก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่อาจลดลงด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ และกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงอาหารเค็มและมัน นอกจากนั้น การป้องกันโรคตับอักเสบบีด้วยการให้วัคซีนจะช่วยลดโอกาสการพัฒนาเป็นมะเร็งตับ ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญอีกประการในเอเชีย

 

ทั้งนี้ ข้อมูลของสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศระบุว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละ 11 ล้านคน และเสียชีวิตปีละ 7 ล้านคน

 

 

"อันนัน" เตือนภัยโลกร้อนคุกคามมนุษย์ร้ายแรงสุด

กรุงเทพธุรกิจ : นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวต่อที่ประชุมประจำปีของพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลนอร์เวย์ ว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อมนุษยชาติ และยกย่องความคิดริเริ่มของนอร์เวย์ ที่ตั้งเป้าเลิกปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2593 พร้อมแสดงความคาดหวังว่า แผนการของนอร์เวย์จะเป็นมาตรฐานให้กับนานาประเทศ

 

ทั้งนี้นายยานส์ สโตลเต็นเบิร์ก นายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ กล่าวก่อนหน้านั้นว่า พรรคแรงงานจะจัดทำเป้าหมายด้านสภาพอากาศที่มุ่งมั่นที่สุดในโลก และเสนอแผนการที่มีเป้าหมาย 3 ประการ ระหว่างการประชุมประจำปี ซึ่งในปีนี้เน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ประกอบด้วย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10% ภายในปี 2555 ซึ่งมากกว่าที่นอร์เวย์ปฏิญาณไว้ภายใต้สนธิสัญญาเกียวโต และลดการปล่อยก๊าซลง 30% ภายในปี 2563 จากนั้นจะเลิกปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยสิ้นเชิงภายในปี 2593 หรืออีก 43 ปีนับจากนี้ โดยนอร์เวย์จะส่งเสริมให้ประชาชนใช้เทคโนโลยีสะอาดมากขึ้น ซื้อโควตาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากต่างประเทศ และช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาสร้างแหล่งพลังงานสะอาด อาทิเช่น พลังแสงอาทิตย์ และพลังงานลม เพื่อบรรลุเป้าหมายประการสุดท้าย

 

พรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ พรรคสังคมนิยมเอียงซ้าย และพรรคส่วนกลาง สนับสนุนเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30% ใน 13 ปี แต่ยังไม่เห็นพ้องกับเป้าหมายอีก 2 ประการที่เหลือ

 

 

เสียงข้างมากสมาชิกยูเอ็นหนุนเพิ่มมนตรีความมั่นคง

กรุงเทพธุรกิจ : นางฮายา ราชิด อัล-คาลิฟา ประธานสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งมีสมาชิก 192 ประเทศ กล่าวในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (20 เม.ย.) ว่า สมาชิกยูเอ็นส่วนใหญ่ต้องการให้ขยายขนาดคณะมนตรีความมั่นคง โดยรับประเทศเข้าร่วมมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีสมาชิกเพียง 15 ประเทศ ประกอบด้วยสมาชิกถาวร 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐ รัสเซีย ฝรั่งเศส จีน และอังกฤษ ซึ่งมีอำนาจยับยั้งมติของยูเอ็น ส่วนสมาชิกอีก 10 ประเทศมาจากทวีปละ 2  ประเทศ ได้รับเลือกเข้ามาอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงคราวละ 2 ปี

 

ระบบดังกล่าวใช้มาตั้งแต่ก่อตั้งยูเอ็นเมื่อปี 2488 และสมาชิกส่วนใหญ่เห็นพ้องว่า ควรขยายสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของโลกยุคใหม่ และเป็นตัวแทนของโลกกำลังพัฒนาให้มากขึ้น แม้ยังติดขัดว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่สมาชิกส่วนใหญ่ก็พร้อมจะประนีประนอม

 

ทั้งนี้ประเทศที่หวังว่าจะได้เป็นสมาชิกถาวรรายใหม่ในคณะมนตรีความมั่นคง รวมถึง เยอรมนี บราซิล อินเดีย ญี่ปุ่น ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ และอียิปต์ ขณะเดียวกัน ปากีสถาน อิตาลี และเกาหลีใต้ ต่างจัดการรณรงค์เพื่อรักษาเก้าอี้สมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงไว้เท่าเดิม และต่อต้านการแต่งตั้งสมาชิกใหม่ โดยปากีสถานต้องการต่อต้านอินเดีย ขณะที่อิตาลีต้องการต่อต้านเยอรมนี และเกาหลีใต้ต้องการต่อต้านญี่ปุ่น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท