แฉแก้เงียบพ.ร.บ.วัตถุอันตราย ช่องโหว่เกินรับมือขยะพิษจากเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น

23 เม.ย.50 - กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม, กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโครงการยุทธศาสตร์ฐานทรัพยากรธรรมชาติ
ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ร่วมกันแถลงข่าวตั้งข้อสังเกตต่อการแก้ไขพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ที่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปอย่างเงียบเชียบเมื่อ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยเนื้อหาสาระของการแก้ไขมีหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเมื่อเชื่อมโยงกับข้อกังวลเรื่องการเปิดให้นำเข้าของเสียอันตรายจากญี่ปุ่นในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ที่เพิ่งลงนามไป

นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง จากกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม กล่าวว่าในช่วงที่ภาคประชาชนรณรงค์คัดค้านเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ได้มีการพูดถึงอันตรายที่จะเกิดในวันข้างหน้าจากการเปิดเสรีให้นำเข้าของเสียอันตรายจากญี่ปุ่นเข้ามาได้ ขณะนั้นกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำตลอดมาว่าไม่ต้องห่วงใยอะไรเพราะมีกฎหมายภายในคือ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ดูแลเรื่องนี้เสมือนว่าพ.ร.บ.นี้เป็นปราการสำคัญในการป้องกันการไหลทะลักเข้ามาของของเสียอันตราย แต่เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.นี้ที่ได้แก้ไข กลับมองไม่เห็นการเชื่อมโยงกับข้อตกลงที่เพิ่งทำกันไป อีกทั้งการแก้ไขเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ทราบเรื่องมากนักแม้กระทั่งหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง

กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรมยังนำเสนอสาระสำคัญของการแก้ไขที่จะยิ่งเป็นช่องโหว่มากขึ้น ได้แก่ กำหนดให้ผู้กล่าวหาแบกรับภาระการพิสูจน์ความผิดทางอาญาของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งแต่เดิมไม่มีการบัญญัติมาตรานี้, ให้เอกชนผลิต นำเข้า ครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยได้โดยต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ ซึ่งฉบับเดิมวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 นั้นจะห้ามประกอบการเด็ดขาด, การอนุญาตให้หน่วยงานรับผิดชอบจ้างเอกชนเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบและจัดทำรายงานผลการตรวจสอบแทนได้ และผู้ประกอบการจ้างบุคคลจัดทำรายงานหรือเอกสารประจำสถานประกอบการแทนได้


"พ.ร.บ.นี้ทั้งฉบับเดิมและฉบับแก้ไขไม่ได้พูดถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนแม้แต่มาตราเดียว ไม่พูดถึงการเข้าถึงข้อมูล ในทางตรงกันข้าม ร่างนี้กลับไปบั่นทอนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะเข้ามาติดตามตรวจสอบวัตถุอันตราย โดยมีการระบุในมาตรา 15กำหนดให้ผู้กล่าวหาแบกรับการพิสูจน์ความผิดทางอาญาของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งภาระในการพิสูจน์เป็นปัญหาใหญ่ในสังคมบ้านเราอยู่แล้ว ภาระการพิสูจน์ในเรื่องวัตถุอันตรายเป็นเรื่องยากมาก ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญมากมาย การแก้ไขที่ผลักภาระแบบนี้จะยิ่งซ้ำเติมความเดือดร้อนของชาวบ้าน" เพ็ญโฉมกล่าว

 

ข้อเรียกร้องครั้งนี้ต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอเรื่องนี้ก่อน และให้ภาคส่วนต่างๆ มาร่วมแสดงความเห็นในการปรับปรุงกฎหมายนี้เพื่อรองรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ทางด้านนายธารา บัวคำศรี เจ้าหน้าที่รณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่ากรมควบคุมมลพิษได้ทำงานศึกษาเมื่อปี 2549 ระบุชัดเจนว่า จำเป็นต้องทบทวนกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตาม อนุสัญญาบาเซล เช่น ไทยต้องแจ้งให้สมาชิกทราบหากมีการนำเข้าของเสียอันตรายมาเพื่อการกำจัด
แล้วก็วิพากษ์ข้อบกพร่างของกฎหมายวัตถุอันตรายว่ามีปัญหาเรื่องการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ เพราะคำจำกัดความของของเสียอันตรายยังไม่ชัดเจน และของเสียอันตรายที่อยู่ในบัญชีในกฎหมายก็ไม่สอดคล้องกับรายชื่อของของเสียอันตรายที่อยู่ในอนุสัญญาบาเซล อย่างไรก็ตาม การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ กลับไม่ได้เอาข้อสังเกตจากหน่วยราชการด้วยกันมาพิจารณาและปรับปรุงด้วยเลย

ทั้งนี้ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์ฐานทรัพยากรธรรมชาติ ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญคือ กรมควบคุมมลพิษที่มีบทบาทปกป้องสิ่งแวดล้อมและดูเหมือนมีข้อเสนอก้าวหน้า ไม่มีบทบาทจริงในการแก้ไขกฎหมาย จะแก้อะไรต้องมาผ่าน พ.ร.บ.วัตถุอันตราย และสิ่งแวดล้อม 2535 ทำให้กรมควบคุมมลพิษแทบไม่มีน้ำยาในการแก้ไขพ.ร.บ.วัตถุอันตราย แม้จะมีการศึกษาชัดเจนก็ตาม


นางสาวทัศนีย์ วีระกันต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรทางเลือกเปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (24 เม.ย.) สถาบันสุขภาพแห่งชาติ จะจัดประชุมเป็นการเร่งด่วนเพื่อขอความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ประเด็นที่ฝ่ายสาธารณสุขเป็นห่วงมากคือ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของบริษัทเคมีการเกษตร ที่ผ่านมา
สมัชชาสุขภาพได้ผลักดันการจำกัดการโฆษณาและการส่งเสริมการขายสารเคมีทางการเกษตรจนเป็นมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 30 พ.ค.49 และมีมติครม.ออกมาในการควบคุมดูแลสารเคมีการเกษตร
และส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ แต่พ.ร.บ.วัตถุอันตรายที่แก้ไขเพิ่มเติมไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับเคมีด้านการเกษตรเลย ดังนั้น สถาบันสุขภาพแห่งชาติจึงจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ และเพื่อวิเคราะห์จุดอื่นๆ ด้วย


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท