Skip to main content
sharethis

24 เม.ย.50 -  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี เป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ โดยจะตั้งคณะทำงานหนึ่งชุดมาจัดทำรูปแบบ โครงสร้างที่มาของรายได้ เพื่อนำเสนอ ครม.ต่อไป ขณะเดียวกันก็จะมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติองค์การแพร่ภาพกระจายเสียงสาธารณะ ซึ่งคาดว่าใช้เวลาไม่นาน เพราะมีการร่างไว้แล้ว โดยทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็มีการเสนอกฎหมายไปก่อนหน้านี้แล้วได้ โดยรูปแบบทีวีสาธารณะถือเป็นหน่วยงานในรูปแบบการบริหารขององค์การมหาชน ไม่มีโฆษณา แต่มีรายได้มาจากภาษีสรรพสามิต กองทุนมูลนิธิ และเงินบริจาคของประชาชน เพราะจะมีความอิสระจากทุนและการเมือง โดยจะมีการสรรหาคณะกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ มาทำหน้าที่ในการบริหาร คาดว่าจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 6 เดือนในการเปลี่ยนแปลงภายในรัฐบาลชุดนี้


 


ส่วนในอนาคตจะเปิดกว้างรับสมัครพนักงานในองค์กรใหม่ ซึ่งพนักงานทีไอทีวีเดิมก็สามารถสมัครได้ ขณะเดียวกัน ในส่วนของผู้ผลิตรายการเดิม อาจไม่จำเป็นต้องยกเลิกก็ได้ แต่ต้องมีการว่าจ้างใหม่ และต้องผลิตรายการตามเงื่อนไขของรูปแบบทีวีสาธารณะ ซึ่งไม่มีโฆษณา ส่วนสาเหตุที่คณะรัฐมนตรีไม่ตัดสินให้ทีไอทีวีเป็นทีวีเสรี เพราะติดขัดในเรื่องของการเปิดประมูลใหม่ หรือการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ เนื่องจากไม่มี กสช.


         


ด้าน นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ หนึ่งในคณะกรรมการ กล่าวว่า จะใช้เวลาไม่นานในการเสนอร่าง พ.ร.บ.เพราะได้มีการร่างกฎหมายไว้แล้ว และทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็มีการเสนอกฎหมายในลักษณะเดียวกันไว้ด้วย โดยในส่วนของการทำงานทั้งหมดนั้น คาดว่า จะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน คือ ภายในรัฐบาลชุดนี้ ในการที่จะผลักดันให้ทีไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะ


 


ขณะที่ปัญหาเอกชน หรือผู้ผลิตที่ดำเนินการอยู่กับทีไอทีวีในปัจจุบัน นายสมเกียรติ เห็นว่า อาจจะไม่จำเป็นต้องยกเลิก แต่อาจมีการเปลี่ยนรูปแบบเนื้อหาให้เข้ากับลักษณะของทีวีสาธารณะ และให้เป็นในลักษณะของการผลิตรายการกับองค์การมหาชน ที่จะมีขึ้นเพื่อมาบริหารทีวีสาธารณะ ขณะที่ในส่วนของผู้ที่จะทำหน้าที่บริหาร อาจจะมีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาทำหน้าที่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน


 


ตลท.ยอมขยายเวลาให้ทีไอทีวีส่งแผนฟื้นฟูกิจการออกไป 6 เดือน


นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงกรณีที่บริษัท ทีไอทีวี จำกัด (มหาชน) ยื่นขอขยายระยะเวลาการชี้แจงแนวทางการดำเนินการเข้าแก้ไขเหตุเพิกถอนออกไปอีก 6 เดือน หลังสิ้นสุดการให้บริการเข้าข่ายถูกเพิกถอนออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตอบกลับไปยังบริษัททีไอทีวีแล้ว โดยได้ขยายระยะเวลาอีก 6 เดือนตามที่ขอมา


         


กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังกล่าวถึงกรณีที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัททีไอทีวี เตรียมยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. และสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน.ว่า เป็นสิทธิ์ของผู้ถือหุ้นที่สามารถทำได้ แต่ยืนยันว่า ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ดำเนินการทุกอย่างถูกต้องตามระเบียบ


 


โดยวานนี้ (23 เม.ย.) ได้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2550 โดยนายสมคิด หวังเชิดชูวงศ์ ประธานกรรมการ ได้แจ้งต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นว่า บมจ.ไอทีวี กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการฟ้องร้องต่อศาลปกครองกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ใน 3 ประเด็น คือ 1.เป็นหน่วยงานรัฐปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ที่ไม่นำสัญญาข้อ 5 วรรค 4 เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็นที่มาให้ศาลพิพากษาให้คำสั่งของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะ


 


สำหรับสาระของสัญญาข้อ 5 วรรค 4 ระบุว่า หลังจากวันทำสัญญานี้ หากสำนักงาน หรือหน่วยงานของรัฐให้สัมปทานอนุญาตหรือทำสัญญาใดๆ กับบุคคลอื่นเข้าดำเนินกิจการให้บริการส่งวิทยุโทรทัศน์ โดยมีการโฆษณาหรืออนุญาตให้โทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกทำการโฆษณาได้ และเป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของผู้เข้าร่วมงานอย่างรุนแรง เมื่อผู้เข้าร่วมงานร้องขอสำนักงานจะพิจารณาและเจรจากับผู้เข้าร่วมงานโดยเร็ว เพื่อหามาตรการชดเชยความเสียหายที่ผู้เข้าร่วมงานได้รับผลกระทบดังกล่าว


         


2. สปน.ทำการบิดเบือนสัญญา ไม่นำข้อพิพาทเรื่องค่าปรับเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสถาบันอนุญาโตตุลาการ ซึ่งสถาบันอนุญาโตตุลาการได้รับคำเสนอข้อพิพาทฝ่ายไอทีวีไว้แล้ว และข้อ 3. การบอกเลิกสัญญา สปน. ทำโดยมิชอบ ที่ไม่ดำเนินการตั้งอนุญาโตตุลาการมาพิจารณาขอพิพาทของทั้ง 2 ก่อน ทั้งนี้ ขั้นตอนการฟ้องร้อง สปน. คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปลายเดือนเมษายนนี้ หรือต้นเดือนพฤษภาคมนี้


         


ทั้งนี้ ในการประชุมผู้ถือหุ้น บมจ.ไอทีวี ได้เพิ่มวาระอื่นๆ ในวาระ 10 พิจารณาอนุมัติแต่งตั้งกรรมการใหม่จากตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อยเพิ่มเติมจำนวน 1 คน ซึ่งทำให้กรรมการของบริษัทจะมีจำนวนรวมเป็น 6 คน โดยที่ประชุมมีมติให้นางสาวรัตนาพร นามมนตรี เป็นกรรมการจากตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อย


 


 


 


 


-------------------------------------------


ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์และสำนักข่าวเนชั่น


 


 


 


 


ข่าว / รายงานที่เกี่ยวข้อง


 


สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ : ข้อเสนอเต็มรูปแบบจาก ทีไอทีวี สู่ ทีวีสาธารณะ - 14 มีนาคม 2550


 


รายงานเวทีรับ ฟังความเห็นอนาคต "ทีไอทีวี" : การแย่งชิงพื้นที่ครั้งประวัติศาสตร์ - 6 เมษายน 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net