เก็บตกเสวนา : ถึงเวลานับ "ภาพยนตร์" เป็น "สื่อมวลชน"?

ถ้าเราเชื่อว่าบทบาทหน้าที่ของภาพยนตร์ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการให้ความบันเทิง แต่เป็นสื่อที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อชีวิตประจำวันของปัจเจกบุคคล และมีอิทธิพลต่อภาพใหญ่ของสังคมทั้งในด้านการเมือง วัฒนธรรม และเศรษฐกิจแล้ว การพัฒนาสื่อภาพยนตร์ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม แต่การที่ "ภาพยนตร์" ในฐานะ "สื่อ" ที่จะทำหน้าที่ต่อสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขปัจจัยของการมี "สิทธิ" และ "เสรีภาพ" อย่างยิ่ง

 

ถึงอย่างนั้น "ภาพ" ของสื่อภาพยนตร์ในสังคมไทยก็มักถูกมองเห็นเพียงด้านของการให้ความบันเทิง และไม่ได้ถูกจัดประเภทให้เป็น "สื่อมวลชน" เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ดังที่ในรัฐธรรมนูญส่วนที่ระบุถึง"สิทธิ" และ "เสรีภาพ" ของสื่อมวลชนไม่ได้รวมสื่อภาพยนตร์เข้าไว้ด้วย ทำให้สื่อภาพยนตร์ถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกับสื่อสาขาอื่นๆ

 

การสะท้อนปัญหาดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับก้าวแรกในการพัฒนาสื่อภาพยนตร์ ผู้เกี่ยวข้องกับสื่อภาพยนตร์ทั้งนักวิชาการ ผู้สร้างภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ฯลฯ จึงมาร่วมกันระดมความคิดเพื่อให้ได้มุมมองและแนวทางเกี่ยวกับ "สิทธิ" และ "เสรีภาพ" ของสื่อภาพยนตร์ เลยไปถึงการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

 

 

 

การเสวนาสาธารณะ "รัฐธรรมนูญใหม่กับภาพยนตร์ไทย" เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2550 ที่ห้องสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จึงถูกจัดขึ้นจากแนวคิดดังกล่าว

 

ผู้ร่วมเสวนาอย่างเป็นทางการประกอบไปด้วย รศ.ปิยกุล เลาวัณย์ศิริ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.), รศ.รักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อ.ไกรสร วงษ์อนันต์ศักดิ์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, รศ.บรรจง โกศัลวัฒน์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ., ปรัชญา ปิ่นแก้ว นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย, นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับภาพยนตร์, มานพ อุดมเดช ผู้กำกับภาพยนตร์ และ สุรศักดิ์ สรรพิทักษ์เสรี เลขาธิการสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ โดยมี ศรัญญู วงศ์กระจ่าง เป็นผู้ดำเนินการเสวนา นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการ ผู้กำกับภาพยนตร์ สื่อมวลชน และผู้เกี่ยวข้องอีกจำนวนมากเข้าร่วมการเสวนาครั้งนี้

 

"ภาพยนตร์" เป็น "สื่อ" ที่ทรงพลัง โปรดใช้ให้เป็นประโยชน์

รศ.ปิยกุล เลาวัณย์ศิริ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ. กล่าวว่า ภาพยนตร์เป็นสื่อมวลชนที่มีบทบาทสำคัญและทรงพลังที่สุดในบรรดาสื่อทั้งหมด สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการให้ความรู้ รวมไปถึงเปลี่ยนแปลงทัศนคติได้ เช่น ในรัสเซียเคยใช้สื่อภาพยนตร์ในการเปลี่ยนแปลงความคิดด้านการปกครอง หรืออเมริกาที่ใช้สื่อภาพยนตร์ในการขายวัฒนธรรม รวมถึงเกาหลี(ใต้)ซึ่งมีนโยบายสนับสนุนภาพยนตร์เพราะเขามองว่าเป็นสื่อที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

 

"ภาพยนตร์เป็นสื่อมวลชนที่ทรงอานุภาพ โปรดใช้ภาพยนตร์ให้เป็นประโยชน์ และการที่จะใช้ภาพยนตร์ให้เป็นประโยชน์ได้นั้น โปรดให้ความสำคัญกับภาพยนตร์ เมื่อใดก็ตามที่พูดถึง หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ขอให้ใส่ภาพยนตร์ลงไปด้วย วันไหนเราถึงจะยอมรับว่าภาพยนตร์เป็นสื่อสารมวลชนที่ยิ่งใหญ่แล้วใช้มันสร้างความเข้มแข็งแก่สังคมเรา ประเทศชาติเรา"

 

รศ.รักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสริมประเด็นนี้ว่า "สื่อภาพยนตร์ยังมีหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนสังคม สิ่งที่ภาพยนตร์นำเสนอนั่นคือสังคม สังคมเป็นอย่างไรสื่อสะท้อนออกมาอย่างนั้น และสื่อภาพยนตร์ยังเหมือนโคมไฟที่ส่องสว่างซึ่งกันและกันให้กับสังคมและมวลชนด้วย"

 

ทำไมต้องระบุในรัฐธรรมนูญว่า "ภาพยนตร์" เป็น "สื่อสารมวลชน"

อ.ไกรสร วงษ์อนันต์ศักดิ์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า หากรัฐธรรมนูญยังไม่รับรองให้ภาพยนตร์เป็นสื่อสารมวลชน การผลักดันเรื่องพ.ร.บ.ต่างๆ คงอ้างสิทธิเสรีภาพของการเป็นสื่อมวลชนไม่ได้ แต่ถ้ารัฐธรรมนูญรับรองแล้ว การพบปะพูดคุย ต่อรอง หรือแลกเปลี่ยนความคิด จะเป็นอีกบทบาทหนึ่ง และ อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนในแวดวงภาพยนตร์ไทยได้หันกลับมามองแล้วภูมิใจในอาชีพนี้ว่าไม่ได้มีหน้าที่แค่การให้ความบันเทิงแต่มีหน้าที่อะไรบางอย่างในฐานะสื่อมวลชน

 

มานพ อุดมเดช ผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า การมองว่าภาพยนตร์ไม่ใช่สื่อสารมวลชนเป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยของประเทศ เพราะขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ถ้ามีการระบุแล้ว นอกจากจะเป็นการแสดงถึงการมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ยังทำให้เกิดการสร้างงานมากขึ้นและเกิดการจ้างงานมากขึ้น นอกจากนี้ สิ่งที่จะเกิดหลังจากการยอมรับว่าภาพยนตร์เป็นสื่อสารมวลชนอย่างแท้จริงจะทำให้ประเทศไทยมีวัฒนธรรมด้านทางภาพยนตร์ที่แข็งแกร่ง ไม่ถูกรุกรานทางวัฒนธรรมอย่างเช่นในปัจจุบันทั้งจากสหรัฐอเมริกา และเกาหลี

 

รศ.ปิยกุล เลาวัณย์ศิริ กล่าวว่าการระบุดังกล่าวเป็นการทำความจริงให้เป็นความจริง และเมื่อคนตระหนักว่าภาพยนตร์เป็นสื่อมวลชนแล้วจะมีการใช้ประโยชน์จากภาพยนตร์อย่างเต็มที่ และทำให้เกิดการเจริญก้าวหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง

 

นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า การได้รับการยอมรับเป็นสิ่งสำคัญเพราะทำให้มีคนหันมามองและจับตามากขึ้น  ถึงแม้จะเป็นแค่การเริ่มต้นแต่ก็ควรเริ่มต้นได้แล้ว

 

"เมื่อคุณจะออกกฎหมายลูก กำหนด พ.ร.บ.ใหม่ๆ คุณก็จะมองเห็นว่าเรามีตัวตน"

 

สุรศักดิ์ สรรพิทักษ์เสรี เลขาธิการสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ กล่าวว่า การสื่อสารมวลชนจะมีผลในสองมิติ คือ มิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และมิติด้านความสงบเรียบร้อย ในประเทศที่มองสื่อภาพยนตร์ว่าเป็นสื่อสารมวลชนจึงมีการส่งเสริมพัฒนาสื่อภาพยนตร์ เช่น ฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกา, เกาหลี ขณะที่เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทยที่มองสื่อภาพยนตร์ว่าเป็นเพียงสื่อบันเทิง จึงมองเพียงมิติด้านความสงบเรียบร้อยซึ่งก็ทำให้เกิดการควบคุมสื่อภาพยนตร์ที่คิดว่าจะกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ดังนั้นการมองสื่อภาพยนตร์ว่าเป็นสื่อสารมวลชนก็จะเป็นการเปลี่ยนทัศนคติที่สำคัญของสังคม และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

 

การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์-อำนาจรัฐ-ประชาชน

มานพ อุดมเดช กล่าวว่า ไม่ได้ปฏิเสธการเซ็นเซอร์โดยสิ้นเชิงแต่ไม่ต้องการให้อำนาจรัฐมาแทรกแซงสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประชาชนสามารถดูแลกันเองได้ไม่จำเป็นต้องแทรกแซงโดยอำนาจรัฐ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่อำนาจรัฐไม่บริสุทธิ์พอที่จะทำให้ประชาชนเชื่อว่าเป็นเจ้าของอำนาจรัฐ อำนาจรัฐที่มีความเป็นเผด็จการ เอาเปรียบ และไม่ไว้ใจประชาชน

 

"เลิกเสียทีวิธีการตั้งคณะบุคคลใดบุคคลหนึ่งขึ้นมาและตัดสินแทนคนอื่นในสังคม ทำไมไม่ไว้ใจประชาชนว่ามีวิจารณญาณ"

 

"อังเคิล" อดิเรก วัฏลีลา ผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า จะมีการดูแลกันเองโดยภาครัฐไม่ต้องมาแทรกแซง

 

"อย่างน้อยที่สุดจะบอกไว้เหมือนกับ น้ำพริกขวดนี้เผ็ดน้อยหรือเผ็ดมาก ยาขวดนี้ยาเด็กหรือยาผู้ใหญ่ มีสลากแปะ แล้วคุณก็จะเชื่อใจประชาชนว่ามีสมอง ไม่โง่ รู้ว่าอะไรควรให้ลูกหลานกิน ถ้าลูกหลานกินแล้วเผ็ดก็เลิกกินไปเอง แต่ถ้ายิ่งห้ามก็ยิ่งดู ให้เรียนรู้ ให้ประชาชนรู้จักไว้ใจลูกหลานตัวเอง ไว้ใจพ่อแม่ให้ดูแลลูกหลานตัวเอง ทุกคนต้องไว้ใจซึ่งกันและกัน แล้วรัฐจะไม่เหนื่อย ถ้ายังทำกันอีกสังคมจะรับไม่ได้เอง"

 

ชลิดา เอื้อบำรุงจิต จากมูลนิธิหนังไทย กล่าวว่า อาจไม่ต้องเรียกร้องในฐานะสื่อสารมวลชนแต่อาจพูดในฐานะบุคคลธรรมดาที่ถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น เมื่ออยากดูหนังเรื่องหนึ่งแล้วมีคนบางคนมาบอกว่าตรงนั้นตรงนี้ดูไม่ได้ แต่ในการเดินไปในแนวทางประชาธิปไตย สังคมต้องเรียนรู้ร่วมกัน แต่ต้องไม่ใช่อำนาจรัฐเป็นตัวตัดสิน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท