เสาวนีย์ สำลี : "ท่าเรือปากบาราแย่งบ้าน-ชิงที่หาปลาของเรา"

โดย  มูฮำหมัด ดือราแม

 

 

 

แม้ขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่า โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล จะเริ่มต้นเมื่อไหร่ แต่คาดว่าคงจะเริ่มลงมือสร้างในอนาคตอันใกล้นี้ ด้วยเพราะมีการออกแบบและสำรวจเสร็จเรียบร้อยแล้ว

 

ขณะที่ทางด้านชายฝั่งทะเลอ่าวไทยก็เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ในการสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 เชื่อมโยงการขนส่งสินค้ากับท่าเรือปากบารา ฝั่งอันดามัน โดยมีแนวโน้มจะสร้างที่ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

 

ถึงแม้โครงการท่าเรือน้ำลึกเชื่อมระหว่าง 2 ทะเล จะคืบหน้ามาตามลำดับ แต่น้อยคนนักที่จะได้ยินเสียงสะท้อน จากผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะจากชาวประมงพื้นบ้าน

 

เสียงของ "เสาวนีย์ สำลี" ชาวประมงพื้นบ้านจากบ้านปากบารา อำเภอละงู ที่กำลังจะเผชิญหน้ากับอภิมหาโครงการท่าเรือน้ำลึกโดยตรงน่าจะพูดให้เห็นภาพ "ชีวิต" ของชาวบ้านที่นั่นได้อย่างชัดเจน

 

 ".....ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่จะสร้างอยู่ห่างจากชายฝั่งปากบารา พื้นที่กว่า 700 ไร่ ตรงนั้นเป็นที่ทำกินของชาวประมงในพื้นที่กว่า 500 ลำ รวมแล้วกว่า 1,000 ครอบครัว ถ้าสร้างท่าเรือตรงนั้นแล้ว จะให้เขาไปหากินที่ไหน พวกเราจะหาปลาตรงไหน"

 

เสาวนีย์เล่าว่าที่บ้านปากบารา ปัจจุบันมีปัญหามากมายอยู่แล้ว เช่น ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาจำนวนมาก ถ้าสร้างท่าเรือขึ้นมาอีก ไม่รู้จะมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาเพิ่มอีกเท่าไหร่ และบริเวณที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกนั้นในช่วงหน้ามรสุมเป็นพื้นที่หาปลาของคนถึง 4 อำเภอ ในจังหวัดสตูล เพราะเป็นที่กำบังลม บริเวณที่จะตั้งท่าเรือน้ำลึกปากบาราก็เช่นกัน ตั้งอยู่ใกล้กับแหลมชี ซึ่งเป็นบริเวณที่พวกเราไปวางอวนดักกุ้ง ปู ถ้ามีการขุดร่องน้ำด้วย

 

"เราเป็นลูกชาวประมงพื้นบ้าน หากินกับทะเลได้อย่างเดียว ถ้าสร้างท่าเรือตรงที่เราทำมาหากินอยู่ จะให้เราไปทำงานอะไร จะให้ทิ้งเรือไปทำงานก่อสร้าง เราก็ทำไม่เป็น ถ้าเราไม่ได้ออกทะเลเราก็อยู่ไม่ได้

หรือจะให้ไปทำงานในโรงงาน เขาให้เราวันละ 100 - 200 บาท มันก็ไม่มาก เราเองก็ไม่มีฝีมือ ไม่มีความสามารถ อายุก็มากแล้ว โรงงานเขาไม่รับเข้าทำงานหรอก"

           

ยิ่งไปกว่านั้น ที่ดินที่ชาวประมงส่วนใหญ่พักอาศัยอยู่ขณะนี้ซึ่งเป็นที่ดินขององค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ อำเภอละงู ก็ยังจะถูกใช้เป็นลานตั้งตู้คอนเทนเนอร์ 2 ล้านกว่าตู้ คนปากบาราส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ถ้าไม่สร้างบนที่ดินขององค์การบริหารส่วนตำบล ก็เป็นที่ป่าสงวน หากถูกยึดไปทำลานตั้งตู้คอนเทนเนอร์อีก ก็หมายความว่าจะไม่มีหลังพิงใดๆ เหลืออยู่...สำหรับพวกเขา

 

เรื่องสิ่งแวดล้อมก็เช่นกัน ตอนนี้ในคลองปากบารามีแต่คราบน้ำมัน เพราะเรือที่จอดอยู่ตรงแพปลาปล่อยน้ำมันลงในน้ำ ชาวบ้านจึงมีความกังวลมากกว่าหากสร้างท่าเรือใหญ่ขึ้นมาอีก พวกเรือใหญ่ก็ปล่อยน้ำมันทิ้งลงน้ำเพิ่มขึ้น สิ่งแวดล้อมยิ่งเสียหายหนักเข้าไปอีก

 

"เราคิดว่าโครงการของรัฐบาล กำลังเอาที่ทำมาหากินของพวกเรา ไปให้คนอื่น เราอุตส่าห์หวงแหนพื้นที่ตรงนี้ เราลุกขึ้นปกป้องปากบาราของเรา ช่วยกันดูแล จนปากบารากลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม แต่พวกที่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว กลับไม่ใช่พวกเรา กลายเป็นคนรวยๆ ที่ทำธุรกิจการท่องเที่ยว"

 

"โครงการฯ ที่มีกระทบมากอย่างนี้ เราไม่สู้ได้อย่างไร เพราะกระทบกับเรามาก พวกผู้นำในหมู่บ้านเราเขาเห็นด้วยกับโครงการนี้ทั้งหมด เพราะงบประมาณที่ลงมตกอยู่กับพวกเขาด้วย คนที่เข้าไปร่วมประชาพิจารณ์โครงการก็ไม่ใช่พวกเรา ไม่ใช่คนปากบารา เราไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าเป็นใครมาจากที่ไหน มายกมือสนับสนุน เราไม่อยากรับผลกระทบ เหมือนกับที่ท่าเรือน้ำลึกสงขลาสร้างผลกระทบกับทะเลสาบสงขลา ที่เคยมีความอุดมสมบูรณ์

 





 

โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล

 

เป็นโครงการของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม เพื่อเชื่อมเส้นทางคมนาคมและการขนส่งสินค้า ระหว่างฝั่งทะเลอ่าวไทย ที่จังหวัดสงขลา กับฝั่งทะเลอันดามัน ภายใต้กรอบความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจไทย - มาเลเซีย - อินโดนีเซีย และยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ มีมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท

 

จุดที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึก อยู่ตรงบริเวณบ้านปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล โดยจะใช้แนวสันดอนทรายในทะเลบริเวณปากคลองปากบารา เป็นพื้นที่ลานจอดรถบรรทุกและที่ตั้งอาคาร มีพื้นที่ประมาณ 600 ไร่

 

ส่วนท่าเทียบเรือน้ำลึกและลานกองตู้สินค้า จะถมทะเลประมาณ 165 ไร่ ใกล้แนวน้ำลึกห่างจากฝั่งประมาณ 4 กิโลเมตร ตรงด้านใต้เกาะเขาใหญ่ ขนาดกว้างประมาณ 350 เมตร ยาวประมาณ 750 เมตร จอดเรือที่มีความยาว 225 เมตร ได้ 3 ลำพร้อมกัน โดยจะสร้างถนนและทางรถไฟเชื่อมเข้าไปยังท่าเรือ

 

นอกจากนั้น ยังมีท่าเรือประมงและท่าเรือท่องเที่ยวเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นได้ใช้ประโยชน์ด้วย

 

กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ได้ว่าจ้างบริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด และบริษัท แปซิฟิค คอนซัลแตนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้สำรวจออกแบบท่าเรือน้ำลึกปากบารา และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ท่าเรือน้ำลึกปากบารา กำหนดแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2549

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท