Skip to main content
sharethis

ประชาไท - เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 50 ม็อบชาวพุทธนำเต็นท์มาตั้งตลอดแนวถนนอู่ทองในทั้งสองฝั่ง โดยนำเสื่อไปปูในเต็นท์ เพื่อให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็นฆราวาสมานั่งฟังการปราศรัย


 


พล.อ.อ.วีรวุธ ลวะเปารยะ รองประธาน องค์กรพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถึงการชุมนุมจะมีทั้งฝ่ายสงฆ์และฆราวาสมาร่วมชุมนุมกันหนึ่งแสนคน จากชมรมพระพุทธศาสนาทุกจังหวัดของประเทศไทยซึ่งต้องการเรียกร้องให้ผู้มีหน้าที่ บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติลงไปในรัฐธรรมนูญ


เขากล่าวว่า ช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดที่จะบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะอยู่ในช่วงของการร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบกับประเทศเรามีพุทธศาสนามากว่าพันปี และมีรัฐธรรมนูญมากว่า 75 ปี แต่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่จะบัญญัติเรื่องดังกล่าวเอาไว้ ซึ่งหากได้ รธน. ปี 2550 ก็ จะเป็นฉบับแรก


 


เขาเชื่อว่า ประชาชนชาวพุทธทั่วประเทศจะมีความพอใจ และยืนยันว่าจะไม่เกิดความแตกแยกทางศาสนา เพราะประชาชนก็ยังมีสิทธินับถือศาสนาอื่น เพียงแต่เราต้องการให้ศาสนาในประเทศไทยมีความชัดเจนเมื่อบรรจุในรัฐธรรมนูญ ก็จะมีกฎหมายลูกประกอบ ซึ่งจะบัญญัติเรื่องข้อห้ามหรือทิศทางที่ชัดเจน อีกทั้งยังเป็นการคุ้มครองศาสนาหลักของประเทศไทย และยังเป็นการส่งเสริมศาสนา และเผยแผ่พุทธศาสนาไปในทุกสารทิศทั่วประเทศไทย


 


"ปัจจุบันจะเห็นว่าพุทธศาสนาและหลักคำสอนไม่ได้เข้าถึงปะชาชน เวลานี้ ประชาชนไม่เคยเข้าวัดเพื่อไปศึกษาหลักคำสอน แต่เป็นการเข้าไปเพียงเพื่อเสี่ยงโชคและไถ่บาป แต่หากเราบรรจุศาสนาพุทธลงไปจะทำให้ศาสนาบรรจุในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาฯ ก็จะทำให้เยาวชนหันมาเข้าวัดเหมือนในอดีตที่ชุมชนบ้านและวัดจะอยู่คู่กัน" พล.อ.อ.วรวุธกล่าว


 


รองประธานองคก์รพุทธศาสนากล่าวอีกว่า ในวันนี้จะยื่นหนังสือถึง น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อสอบถามความคืบหน้า เพราะขณะนี้ แม้แต่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ก็ยังเปิดไฟเขียวและเห็นด้วย แล้วเหตุใด น.ต.ประสงค์จึงไม่นำมาพิจารณา เขายังกล่าวต่อไปอีกว่า จะดูท่าทีอีกครั้ง หากยังไม่มีความชัดเจน เชื่อว่าในวันถัดไปจะมีชาวพุทธมาชุมนุมเพิ่มขึ้นเป็นสองแสนคน และจะมากขึ้นกว่านี้อีก และในวันนี้ พล.อ.ธงชัย เกื้อสกุล ประธานองค์กรพระพุทธศาสนาจะเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือถึงกรณีเดียวกันต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี


 


ด้าน พล.อ.ธงชัย เกื้อสกุล ประธานอำนวยการองค์กรพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่าตอนนี่จะเลยขั้นตอนของกรรมาธิการยกร่าฯไปแล้ว แต่เราก็เคลื่อนไหวเพื่อให้ สสร. นำประเด็นนี้ไปแปรญัตติ รวมถึงเรียกร้องให้ 12 องค์กรตามรัฐธรรมนูญนำเรื่องนี้ไปพิจารณาและสนับสนุน


 


ต่อกระแสข่าวที่ว่า จะมีกลุ่มจากวัดพระธรรมกายมาสนับสนุนการชุมนุมครั้งนี้ พล.อ.ธงชัย กล่าวยอมรับว่า องค์กรที่มาร่วม นอกจากจะมีองค์กรพุทธศาสนาแล้ว ก็ยังมีวัดในส่วนกทม. ชานเมือง และวัดพระธรรมกาย และวัดในส่วนภูมิภาคมาร่วมด้วย ในส่วนของวัดพระธรรมกายได้ส่งบุคลากร โดยให้ พล.อ.อ.วีรวุธ เป็นผู้นำในการปรึกษาหารือต่างๆ รวมถึงมอบเงินสนับสนุนในการชุมนุมครั้งนี้ พร้อมทั้งประชาชนที่สนับสนุนพระธรรมกายมาร่วมในการเรียกร้อง


 


ผู้สื่อข่าวถามถึงการสนับสนุนกำลังทรัพย์ โดยเฉพาะป้ายคัทเอาท์ซึ่งต้องใช้เงินเป็นจำนวนไม่น้อย พล.อ.ธงชัยกล่าว่า ใน ส่วนของป้าย มีเพื่อนที่มีจิตเมตตา และมีแนวคิดเดียวกัน ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัททำป้ายโฆษณายักษ์ใหญ่ ของ กทม. เป็นผู้สนับสนุน ส่วนเรื่องอาหารการกินก็มีสมาชิกที่มีฐานะดี ร่วมบริจาค


ด้านนายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) มีมติไม่คัดค้านหากจะบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า การเสนอความคิดเห็นของประธานคมช. และ คมช. เป็นไปตามมาตรา 26 ในรัฐธรรมนูญ 49 ก็ดีที่แสดงความคิดเห็น ซึ่งเข้าใจว่า 12 องค์กรตามรัฐธรรมนูญและนักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็คงจะแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง แต่เรื่องนี้ประธานคมช. ก็บอกแล้วว่า ไม่ได้กำหนด บังคับ แทรกแซงการทำงานของกมธ. ยกร่างฯ เป็นเพียงความเห็นหนึ่งเท่านั้น


 


ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า นายนรนิติไปเดินสายล็อบบี้พระผู้ใหญ่ตามวัดต่างๆ เขากล่าวว่า ไปวัดไปไหว้พระเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ใช่ไปเดินพบพระผู้ใหญ่ จะไปเดินพบท่านง่ายๆ ได้อย่างไร ส่วนจะมีการทำความเข้าใจกับพระผู้ใหญ่เรื่องการบัญญัติศาสนาพุทธหรือไม่นั้นไม่ทราบ ขั้นนี้ กมธ. ยกร่างฯ จะไปทำหรือไม่ก็ไม่รู้


 


"ยืนยันว่าเป็นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ละเอียดอ่อน ต้องดูกันให้รอบด้าน ศาสนาเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องเหนือการเมือง แต่การบรรจุหรือไม่บรรจุ จะดีกับประเทศชาติหรือไม่นั้น ก็ต้องพิจารณากันดู ไม่ใช่เฉพาะ ส.ส.ร. เท่านั้น แต่หมายรวมถึง องค์กรข้างนอกต่างๆ ที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ ซึ่งเขามีอำนาจตัดสินใจและให้ข้อเสนอแนะ รัฐธรรมนูญไม่ใช่ของส.ส.ร. 100 คน" นายนรนิติ กล่าว


 


ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) มีมติไม่ขัดข้องหากบัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติลงในรัฐธรรมนูญว่า ทุกคนทุกฝ่ายสามารถเสนอความคิดเห็นได้ เพราะยังอยู่ในช่วงการพิจารณารับฟังความเห็น ใครอยากเสนออะไรก็ทำได้ เพราะยังไม่เป็นข้อยุติ ซึ่ง ส.ส.ร.ก็จะนำมาพิจารณาประกอบว่า เหตุผลใดดี มีประโยชน์ต่อส่วนรวม และในขั้นการแปรญัตติของส.ส.ร. ก็มีโอกาสทำได้ในการแก้ไขเพิ่มเติม


 


ส่วนการที่กลุ่มองค์กรพุทธศาสนาประกาศจะเดินหน้าเคลื่อนไหวจนกว่าจะประสบความสำเร็จ ก็เป็นสิทธิ แต่ความเห็นต่างก็มี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุว่าถ้ามองรัฐธรรมนูญฉบับนี้แบบผิวเผิน จะเห็นว่าเป็นร่างที่ดี แต่ถ้ามองลึกลงไปในรายมาตรา จะเห็นว่ายังมีส่วนที่ยังไม่สามารถชี้แจงได้ชัดเจน ซึ่งน.ต.ประสงค์กล่าวว่า เป็นความเห็นของนายมีชัย แต่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ทำหน้าที่ในการยกร่างอย่างดีที่สุด กระบวนการยกร่างตามมาตราก็อาศัยเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ เป็นนักร่างกฎหมาย ซึ่งช่วยทำให้มาตราต่างๆ กระชับและถูกต้องตามถ้อยคำของกฎหมาย


 


"ขอให้เข้าใจผมหรือ กมธ.ทั้ง 35 คน พวกผมร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญนี่ พวกผมไม่ใช่เนติบริกร ผมร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน ไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือแม้กระทั่งร่างเพื่อเอาใจผู้มีอำนาจ อันนี้ต้องขอเรียนตรงๆ "น.ต.ประสงค์ กล่าว


 


เมื่อถามต่อว่า กมธ.กังวลกลุ่มชาวพุทธที่จะมาชุมนุมมากขึ้นหรือไม่ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า กมธ.ฯไม่ได้กังวลอะไร และเป็นสิทธิ์ที่จะมีผู้เสนอความเห็นได้ แต่ก็ต้องพึงระมัดระวัง เพราะสมณเพศกับฆราวาสนั้น การประพฤติและการปฏิบัติต้องมีความระมัดระวัง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net