Skip to main content
sharethis


รายงานโดย ณภัค เสรีรักษ์, ปัญจารี ปราบใหญ่, ภารุต เพ็ญพายัพ


 


 

ปรากฏการณ์ "จตุคามรามเทพฟีเวอร์" ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันถือเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ โดยเมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ในเครือมติชน ร่วมกับ บริษัท หลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ได้จัดเสวนาหัวข้อ "จตุคามรามเทพ: สังคม ศรัทธา และมูลค่าการตลาด" ที่ห้องประชุมชั้น 9 บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)


 


โดยการเสวนาแบ่งเป็น 2 ช่วง ในช่วงแรกเป็นการพยายามอธิบายปรากฏการณ์นี้ในทางสังคมวิทยา, โบราณคดี และประวัติศาสตร์ ขณะที่ส่วนที่สองเป็นการอธิบายในเชิงการตลาด การโฆษณาและการประชาสัมพันธ์


 


วิทยากรในการเสวนาช่วงแรกประกอบไปด้วย รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาวารสารเมืองโบราณ, .ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, ไมเคิล ไรท นักวิชาการอิสระ และ รศ.ฉลอง สุนทราวาณิชย์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการด้วย


 


 


 


จากซ้ายไปขวา : ไมเคิล ไรท นักวิชาการอิสระ, รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาวารสารเมืองโบราณ, ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, และ รศ.ฉลอง สุนทราวาณิชย์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


 


เมื่อ "เครื่องราง" กลายเป็น "สินค้า"


รศ.ฉลอง สุนทราวาณิชย์ กล่าวว่า ในเรื่องความเชื่อในอำนาจของเครื่องราง ที่เป็นที่เคารพนับถือ และเอื้ออำนวยให้บรรลุผลสำเร็จทางโลกหรือมีฤทธานุภาพป้องกันภัยนั้น มีอยู่ในหลายๆสังคมไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในสังคมไทย แต่ดูเหมือนว่าสังคมไทยจะเป็นสังคมเดียวในโลกที่ "เครื่องราง" กลายไปเป็น "สินค้า" ที่มีมูลค่าสูง และเป็นสังคมเดียวที่มีตำราหรือคู่มือเกี่ยวกับเครื่องรางว่าเป็นของแท้หรือไม่ หรือมีฤทธานุภาพอย่างไร ฯลฯ


 


ที่สำคัญ "เครื่องราง" ในสังคมไทยได้ยกระดับเป็น "อุตสาหกรรม" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ มีการประเมินว่าในปีที่ผ่านมาจำนวนเงินหมุนเวียนในอุตสาหกรรมเครื่องรางของไทยมีถึง 25,000-30,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 1.5% ของ GDP


 


 


พัฒนาการ "เครื่องราง-พระเครื่อง" ในสังคมไทย


รศ.ฉลอง กล่าวว่า "พระเครื่อง" ในความหมายที่รู้จักกันในปัจจุบันเกิดขึ้นครั้งแรกประมาณสมัยรัชกาลที่ 4 โดยเกิดขึ้นเพื่อทดแทนเครื่องรางของฝรั่งซึ่งเข้ามาจำนวนมาก และอีกประการหนึ่งคือ การที่ "พระพุทธเจ้า" กลายมาเป็น "บุคคล" ในประวัติศาสตร์ที่มี "ฤทธิอำนาจ" จึงเกิดความคิดบูชาพระพุทธเจ้าในรูปพระเครื่องขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีเทคโนโลยีที่ส่งเสริมการเติบโตของ "พระเครื่อง" คือเทคโนโลยีในการถ่ายภาพ และการปั๊มเหรียญ ซึ่งการปั๊มเหรียญนี้เองถือเป็นการเปิด "พื้นที่" ใหม่ให้กับเครื่องรางหรือพระเครื่องเพราะมีพื้นที่เพิ่มเป็นสองเท่าในด้านหลัง ซึ่งทำให้สามารถใส่ลายต่างๆเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์


 


การเกิด "ตลาดพระเครื่อง" ในช่วงปลายและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับพระเครื่อง และต่อมามีการทำตำราเกี่ยวกับพระเครื่องมากมาย ที่สำคัญเช่นหนังสือชุด "เบญจภาคี" จนทำให้ความรู้เกี่ยวกับพระเครื่องกลายมาเป็น "ศาสตร์" ในที่สุด


 


การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกครั้งคือช่วงสงครามเย็น เมื่อพื้นที่บนพระเครื่องซึ่งเดิมทีจะมีแต่ภาพของ "พระพุทธเจ้า" ได้เริ่มมีภาพของ "เกจิอาจารย์" เข้ามายึดพื้นที่บนพระเครื่องไป


 


หลังจากนั้น เมื่อปี 2529-2530 มีจุดเปลี่ยนที่สำคัญในประวัติศาสตร์เครื่องรางไทยคือการที่ "จตุคามรามเทพ" ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นเพียงเทพที่รักษาพระธาตุได้มาปรากฏอยู่บนเหรียญหรือเครื่องราง และล่าสุดเมื่อภาพ "ขุนพันธรักษ์ราชเดช" ได้ปรากฏอยู่บนเครื่องราง เพราะเป็นครั้งแรกที่มี "สามัญชน" ปรากฏอยู่บนพระเครื่องและได้รับการยอมรับ


 


 


ใคร? เลื่อมใสศรัทธาจตุคามรามเทพ


.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า กลุ่มคนที่เลื่อมใสศรัทธาจตุคามรามเทพคือ "คนชั้นกลาง" ซึ่งประกอบไปด้วย 1.กลุ่มวิชาชีพ เช่น ทนายความ วิศวกร ฯลฯ 2.กลุ่มคนที่อยู่ในระบบการผลิตแบบตลาดอย่างเข้มข้น เช่น กลุ่มคนที่ทำงานบริษัทต่างๆ ทำอาชีพค้าขาย หรือผู้ที่มีกิจการของตัวเอง และ 3.กลุ่มคนที่ทำงานภาคบริการ และถ้าสังเกต "อุดมการณ์" "หลักจริยธรรม" และ "อุดมคติชีวิต" ของลัทธิจตุคามรามเทพ ก็จะพบว่าตอบสนองต่อชีวิตคนชั้นกลางอย่างยิ่ง


 


 


"อุดมการณ์" และ "จริยธรรม" คนชั้นกลาง กับ "ลัทธิจตุคามรามเทพ"


.ดร.นิธิ กล่าวต่อมาว่า เมื่อสังเกตชื่อรุ่นของจตุคามเทพแล้วค่อนข้างชัดเจนว่าคนเช่าจตุคามรามเทพนั้นอยากรวย ไม่ว่าจะเป็น รุ่นทรัพย์วิเศษ, ทวีโภคทรัพย์, มหาโชค, มั่งมีทรัพย์, รวยล้นเหลือ, รวยไม่เลิก, มหาเศรษฐีพันล้าน, รวยทันใจ ฯลฯ ซึ่งเป็นการสะท้อน "อุดมการณ์" แบบคนชั้นกลางได้อย่างชัดเจน


 


และถ้าสังเกตคำอธิษฐานบูชาของจตุคามรามเทพซึ่งพูดถึง "ความเจริญก้าวหน้า" ก็จะพบว่าเป็นวิธีคิดแบบคนชั้นกลาง ที่มองว่าความสุขความเจริญต้องมากับความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เพราะคนชั้นกลางเท่านั้นที่คิดว่าชีวิตที่ดีมีความสุขคือชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ก้าวหน้าขึ้น ขณะที่ชาวนาคิดเป็นแบบวงกลมคือในแต่ละปีก็ขอให้ดีเท่าปีที่ผ่านๆมาก็พอ


 


.ดร.นิธิ ชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง "ผู้นับถือ" กับ "จตุคามรามเทพ" ที่เป็นความสัมพันธ์แบบครอบครัวที่ค่อนข้างเสมอภาค ต่างกับสมัยก่อนที่ความสัมพันธ์จะเป็นแบบต่างชั้นกัน ไม่เท่าเทียมกัน วิธีคิดแบบนี้ก็เป็นแบบคนชั้นกลางเช่นกัน


 


ในส่วนของ "หลักจริยธรรม" ศ.ดร.นิธิ กล่าวว่า ลัทธิจตุคามรามเทพนั้นไม่มีหลักจริยธรรม ซึ่งค่อนข้างคล้ายกับลัทธิความเชื่อของคนชั้นกลางสมัยใหม่ที่อิงกับศีลธรรมจริยธรรมน้อย อิงกับกฎหมายเพียงอย่างเดียวก็ถือว่าเพียงพอ


 


 


"ลัทธิจตุคามรามเทพ" กับชีวิต "บริโภคนิยม"


.ดร.นิธิ กล่าวว่า "อุดมคติชีวิต" ของลัทธิจตุคามรามเทพตรงกับอุดมคติชีวิตของคนชั้นกลาง โดยเฉพาะ "บริโภคนิยม" ซึ่ง ศ.ดร.นิธิให้ความหมายถึง การบริโภควัตถุที่ได้ผลในเชิงนามธรรม การครอบครองคุณสมบัติของวัฒนธรรมที่วัตถุนั้นอ้างว่าตัวมี การบริโภค "สัญญะ" จนอาจกล่าวได้ว่า การห้อยจตุคามรามเทพถือเป็นการตอบสนองการบริโภคความหมายบางอย่างได้เช่นกัน


 


ยิ่งไปกว่านั้น การที่ "จตุคามรามเทพ" พูดผ่านคนประทับทรงว่า "ให้เก็บจตุคามรามเทพให้ดีๆ เพราะว่าจะ "แพง" ขนาดเดียวกับสมเด็จวัดระฆัง" นั้นไม่ต่างอะไรกับการเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วพยายามทำให้คนเชื่อว่าในอนาคตมูลค่าจะสูงขึ้นเพื่อจะได้มีคนมาซื้อ


 


"นี่คือวัฒนธรรมหุ้น ซึ่งผมคิดว่าชาวนาไม่เข้าใจ"


 


 


"จตุคามรามเทพ" สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใน "ศาสนารวย"


.ดร.นิธิ กล่าวว่า ความเชื่อเรื่องจตุคามรามเทพและความเชื่ออื่นๆที่ไปอ้างถึงพุทธศาสนาอยู่บ่อยๆนั้น โดยแก่นแท้แล้วขัดกับหลักของพุทธศาสนา เพราะพระพุทธเจ้าบอกไว้ว่า "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" แต่ลัทธิความเชื่อแบบคนชั้นกลางนั้นมักมีความคิดแบบ "ไม่พึ่งตนเอง" มักไปพึ่งสิ่งที่พ้นไปจากตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น เสด็จพ่อ ร.5, เจ้าแม่กวนอิม, จตุคามรามเทพ ฯลฯ


 


เมื่อมองลึกลงไปจะพบว่าในกรณี "ลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร.5" เป็นกรณีที่ "คนชั้นกลาง" เชื่อมโยงตัวเองเข้าไปกับ "วีรบุรุษ" ของประเทศไทยสมัยใหม่ ส่วน "ลัทธิกวนอิม" เป็นการพยายามเติมศีลธรรมบางอย่างลงไป แต่ "ลัทธิความเชื่อจตุคามรามเทพ" มีพื้นฐานความเชื่อจาก "บริโภคนิยม" ไม่เกี่ยวกับศีลธรรม ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา แต่เป็น "ศาสนารวย" ที่ชนชั้นกลางสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองวิถีชีวิตของตน


 


 


พุทธศาสนาอ่อนแอและไร้ความหมาย ?


.ดร.นิธิ กล่าวว่า ปรากฏการณ์ "จตุคามรามเทพ" ที่เกิดกับคนชั้นกลางซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทมากในสังคม เป็นการแสดงถึงความอ่อนแอและไร้ความหมายของพุทธศาสนาในสังคมไทยปัจจุบัน


 


ก่อนจะจบการอภิปราย ศ.ดร.นิธิ ทิ้งคำถามที่สำคัญเอาไว้ "เราในฐานะที่เป็นชาวพุทธ จะทำอะไรได้บ้างที่จะเพิ่มพลังของพุทธศาสนากลับคืนมาสู่สังคมของเรา"


 


 


"จตุคามรามเทพ" ไม่มีจริงในประวัติศาสตร์?


ไมเคิล ไรท ได้อธิบายถึงตำนานความเชื่อดั้งเดิมที่เชื่อมโยงมาถึงจตุคามรามเทพในสมัยปัจจุบัน โดยเขาได้ชี้ให้เห็นว่าจตุคามรามเทพนั้น ไม่เคยปรากฏในตำนาน หรือคัมภีร์ใดๆ มาก่อน แต่การเกิดขึ้นของจตุคามรามเทพนั้น เกิดจากการเข้าใจที่บิดเบือน หรือผิดเพี้ยนไปจากความเชื่อในอดีต


 


หากพิจารณาตามวรรณคดีต่างๆ ในภาษาบาลี โดยเฉพาะ "ชินกาลมาลีปกรณ์" คงแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างจตุคามรามเทพของไทยในปัจจุบัน กับตำนานในอดีตกาล จากตำนานดังกล่าว เป็นเรื่องเล่าครั้นพระร่วงได้ยินถึงกิตติศัพท์ของพระพุทธสิหิงค์ ณ กรุงลังกา จึงไปปรึกษากับเจ้าปกครองนครศรีธรรมราชเพื่อหาหนทางอัญเชิญพระพุทธรูปดังกล่าวมายังดินแดนของตน แต่กลับได้รับการห้ามปราม โดยเจ้าเมืองปกครองนครศรีธรรมราชชี้ให้เห็นว่าพระพุทธสิหิงค์นั้นไม่สามารถอัญเชิญมาได้ เนื่องด้วยมีเทพปกปักษ์รักษาดินแดนลังกาอยู่สี่องค์ด้วยกัน ได้แก่ พระราม พระลักษมณ์ สุมนเทวราช และขัตตุคามเทพ


 


ที่มาที่ไปของจตุคามรามเทพ จึงน่าจะมาจากความสับสน และความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไป จากเทพปกปักษ์รักษาสี่องค์ที่ได้กล่าวไปแล้ว ก็หลงเหลือเพียงสององค์ให้กล่าวขวัญกัน ได้แก่ ขัตตุคามเทพ และรามเทพ ต่อมาการเรียกขานก็ถูกผนวกรวมกันให้คล้ายกับว่าเป็นเทพเพียงองค์เดียว ได้แก่ "ขัตตุคามรามเทพ" ซึ่งสุดท้ายก็ผิดเพี้ยนกลายเป็น "จตุคามรามเทพ" ในปัจจุบัน


 


 


"จตุคามรามเทพฟีเวอร์" ความล้มเหลวของพุทธศาสนาในประเทศไทย?


ภายหลังการอภิปรายถึงที่มาที่ไปของจตุคามรามเทพตามตำนานเรื่องเล่าขาน รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ได้ชี้ให้เห็นว่ากระแสการขานรับอย่างกว้างขวางต่อจตุคามรามเทพนั้น เกิดจากความไม่มั่นคงของชีวิตมนุษย์ในยุคปัจจุบัน จึงต้องการหาที่พึ่งทางจิตใจ


 


โดยทั่วไปแล้ว ระบบความเชื่อซึ่งเป็นที่พึ่งทางใจนั้นอาจแบ่งคร่าวๆได้สองส่วนด้วยกัน คือ ความเชื่อทางศาสนา ซึ่งเป็นความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ สร้างกฎเกณฑ์กติกาให้มนุษย์ดำรงอยู่ภายใต้กรอบศีลธรรมต่างๆที่เป็นไปเพื่อส่วนรวม ส่วนความเชื่อที่สอง คือ ไสยศาสตร์ ซึ่งเป็นความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติเช่นกัน แต่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนบุคคล


 


ความเชื่อในองค์จตุคามรามเทพว่าผู้ที่ได้ถือครองแล้วจะร่ำรวย ถือเป็นสิ่งที่ส่งเสริมผลประโยชน์ส่วนตน ซึ่งก็ค่อนไปทางไสยศาสตร์ ด้านหนึ่งสิ่งนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของพุทธศาสนาในประเทศไทย


 


เดิมที การถ่ายทอดความรู้ทางศาสนาพุทธนั้น จะดำเนินผ่านกลไกสองส่วนควบคู่กันไป ได้แก่ การถ่ายทอดผ่านความเชื่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ชาวบ้านทั่วไปสามารถเข้าถึงหลักการทางศาสนาได้ง่าย ผ่านเรื่องเล่า เช่น ชาดกต่างๆ และอีกส่วนหนึ่งได้แก่ การถ่ายทอดผ่านหลักปรัชญาของศาสนาโดยตรง ซึ่งมีเพียงผู้ทรงปัญญาเท่านั้นที่จะเข้าใจได้


 


ในระยะหลัง พุทธศาสนาของไทยได้เน้นแต่เพียงการถ่ายทอดศาสนาผ่านปรัชญาโดยตรงเท่านั้น ซึ่งส่วนหนึ่ง ก็ถือเป็นส่วนสำคัญให้ชาวบ้านหันไปนับถือไสยศาสตร์ที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า


 


 


"จตุคามรามเทพ": "พุทธ" หรือ "ผี"?


ณ จุดนี้ รศ.ศรีศักร ได้ยกตัวอย่างการนับถือผีบ้านผีเรือน จนถึงการนับถือเสด็จพ่อ ร.5 ซึ่งเปรียบดังผีเมืองที่คอยปกปักษ์รักษาให้ชาวบ้านอยู่กินอย่างร่มเย็นเป็นสุข ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความเชื่อในสองระดับด้วยกัน ได้แก่ ความเชื่อในเรื่องผี และความเชื่อในพุทธศาสนา


 


ความเชื่อในเรื่องผีนั้น ถือเป็นเรื่องของโลกปัจจุบัน ซึ่งผีจะเป็นผู้ที่คอยคุ้มครองเราให้รอดพ้นจากภัยอันตราย รวมถึงค้ำจุนให้มั่งมี ส่วนความเชื่อในพุทธศาสนานั้น ถูกจัดแบ่งให้เป็นเรื่องของโลกหน้า เป็นเรื่องของความบริสุทธิ์ เป็นเรื่องของโลกุตระ ในแง่นี้จตุคามรามเทพจึงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี


 


 


ขาดความมั่นคงทางใจหรือขาดความมั่นคงทางทรัพย์?


รศ.ศรีศักร สนับสนุนการอภิปรายของ ศ.ดร.นิธิ ที่ว่าจตุคามรามเทพนั้นเป็นกระแสของชนชั้นกลาง โดยชี้ให้เห็นว่าถึงแม้ชาวชนบทจะนับถือผีเช่นกัน แต่การเคารพบูชาผีของชาวชนบทเป็นไปเพื่อขอความร่มเย็นเป็นสุขในสังคม เน้นการสร้างความเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันกระแสทุนนิยมที่ลุกล้ำเข้ามา แต่กระแสจตุคามรามเทพนั้นแตกต่างกันออกไปตรงที่การนับถือบูชาดังกล่าวเป็นไปเพื่อความร่ำรวยส่วนตน ซึ่งเป็นแนวคิดแบบปัจเจกนิยม


 


สุดท้าย รศ.ศรีศักร ฝากไว้ว่า ถ้าการเชื่อในจตุคามรามเทพเป็นไปเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งก่อให้เกิดความผ่อนคลายแล้ว ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่การลุ่มหลงมัวเมาเกินไป จนเกิดเป็น "สงฆพาณิชย์" ที่บานปลายดังสถานการณ์ปัจจุบันนั้นถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง


 


 


เสวนาช่วงหลัง จตุคามมูลค่าการตลาด


การเสวนาช่วงหลังดำเนินรายการโดย ฐากูร บุนปาน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด โดยมีวิทยากรคือ ผศ.ธีรพันธ์ โล่ทองคำ CCO. บริษัท Through The Line Communication จำกัด และ สรณ์ จงศรีจันทร์ CEO. บริษัท Dentsu Young & Rubicam จำกัด


 



จากซ้ายไปขวา : ผศ.ธีรพันธ์ โล่ทองคำ CCO. บริษัท Through The Line Communication จำกัด, สรณ์ จงศรีจันทร์ CEO. บริษัท Dentsu Young & Rubicam จำกัด และ ฐากูร บุนปาน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด


 


ฐากูร บุนปาน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด ผู้ดำเนินรายการในช่วงที่สอง เริ่มต้นกล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วที่ต้องทำข่าวเรื่องจตุคามรามเทพในฐานะปรากฏการณ์อย่างหนึ่งในสังคมไทย ไม่คิดว่ามูลค่าการตลาดของจตุคามฯในวันนี้อยู่ที่ 22,000 ล้านบาทอย่างที่ธนาคารกสิกรไทยประเมินไว้เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา


 


"ตอนที่ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่ามูลค่าการตลาดรวมจตุคามบวกกับ อุตสาหกรรมต่อเนื่อง การท่องเที่ยว การเดินทาง ในตอนนั้นมีการสร้างจตุคามประมาณ 200 กว่ารุ่น สถิติที่เก็บได้เมื่อวานนี้คือมีผู้จัดสร้างและประกาศจัดสร้างไปแล้วรวมทั้งสิ้น 340 รุ่น แต่เดิมสร้างรุ่นละหมื่นชิ้นหรือสามหมื่นชิ้นเป็นอย่างมาก เดี๋ยวนี้แต่ละรุ่นแสนชิ้นเป็นอย่างต่ำ บางรุ่นเป็นล้านชิ้น ที่น่าประหลาดคือทุกรุ่นมีให้เช่าและขายได้หมดทุกรุ่น"


 


 


ทำไมจตุคามรามเทพจึงเข้าถึงก้นครัวชาวบ้านได้มากกว่าเครื่องรางของขลังอื่น ๆ?


ธีรพันธ์มองในมุมของนักการตลาด ว่าจุดเริ่มต้นมาจากขนาดหรือรูปลักษณ์ภายนอกที่มีความแปลก สะดุดตา น่าสนใจ จุดต่างนอกจากขนาดแล้ว คือ มีเรื่องราวที่เล่าแล้วน่าสนใจ น่าติดตาม เช่น วิธีการใช้ แหล่งวัตถุดิบ


 


"ถ้าเป็นพระก็อาจจะต้องห้อยข้างใน แต่นี้ห้อยข้างนอก แล้วขนาดก็ช่างมโหฬาร คนก็จะมองว่าห้อยอะไร เมื่อรู้ว่าเป็นจตุคามฯ ก็จะเกิดคำถามต่อไปว่า จตุคามฯ คืออะไร จตุคามฯ เป็นมวลสารแล้วมวลสารมาจากที่ไหน ทำให้เกิดเป็นเรื่องราวขึ้นมา ภาษาทางการตลาดเรียกว่า tell story"


 


สื่อก็มีผลต่อจตุคามฯ โดยการรับรู้เรื่องของจตุคามผ่านทางโทรทัศน์ที่เห็นคนมีชื่อเสียงบอกกล่าวในเรื่องของจตุคามฯ ซึ่งในภาษาทางการตลาดเรียกว่า Celebrity marketing คือ การใช้แล้วเกิดเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างหนึ่ง


 


นอกจากนี้ การเกิด Word of Mouth ก็มีผลที่ทำให้กระแสของจตุคามฯ มีความรุนแรงมากขึ้นด้วยความเชื่อความศรัทธา มีการออกสายผลิตภัณฑ์ มีราคาให้เลือกได้หลากหลายหาซื้อได้หลายช่องทาง


และในสภาพที่เศรษฐกิจที่ธุรกิจอื่น ๆ ชะลอตัว ซบเซา จตุคามฯ เป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูและส่งผลให้ธุรกิจอื่น ๆ เติบโต เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ร้านเหลียมพระ ร้านอัดกรอบพระ ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจโรงแรม


 


 


มหัศจรรย์ความเชื่อและความศรัทธา


สรณ์ เรียกปรากฏการณ์ของจตุคามฯ ว่า มหัศจรรย์ความเชื่อและความศรัทธา (The miracle of faith and belief) และย้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ Industry Revolution (การปฏิวัติอุตสาหกรรม, Technology Revolution (การปฏิวัติเทคโนโลยี), Information Revolution (การพัฒนาข้อมูลข่าวสาร), Service Revolution (การพัฒนาการบริการ), Sufficlency Revolution (วิวัฒนาการในด้านความพอเพียง), Faith & Believe Revolution (วิวัฒนาการความเชื่อ) ซึ่งก็มีผลมาถึงกระแสของจตุคามฯ ด้วย (Jatukam Fever)


 


ในมุมมองของนักสร้างแบรนด์ของสรณ์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นอีกทฤษฎีหนึ่งในการสร้างแบรนด์ คือการเข้าใจในความต้องการของมนุษย์ ซึ่งก็เป็นไปตามทฤษฎีของมาสโลว์เรื่องความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์


 


"ถ้าเราถอดรหัสของทฤษฎีและเข้าใจ เราจะเห็นว่าองค์จตุคามรามเทพสามารถเข้าไปอยู่ในทุกขั้นตอนของความต้องการของผู้บริโภคได้"


 


ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนที่เป็นสูตรการสร้างแบรนด์ DREK - Differrenation (ความแตกต่าง) Relevance (ความจำเป็น) Esteem (ความมีชื่อเสียงและความชมชอบ) Knowledge (ความเป็นที่รู้จัก) จตุคามฯก็สามารถเข้าไปอยู่ในสูตรนี้ได้เช่นกัน


 


"จากประสบการณ์ที่สร้างแบรนด์มาทั่วโลก 80 บริษัททั่วโลก ไม่เคยมีแบรนด์ใดในโลกที่ใช้เวลาน้อยกว่าหนึ่งปีสามารถดันแกน 4 ธาตุนี้ขึ้นได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ในเวลาที่สั้นขนาดนี้"


 


นอกจากสูตร DREK แล้ว สรณ์ยังมีเพิ่มมาอีก คือ DREKE - Energy (พลัง) "พลังของจตุคามรามเทพคือความมีอิทธิฤทธิ์ การอธิษฐาน การตั้งจิต"


 


 


ข้อจำกัดของจตุคามฯ


ฐากูรตั้งคำถามว่า ทั้งที่จตุคามฯ สามารถสนองความต้องการคนได้ทุกกลุ่ม แต่ความที่ Supply เยอะมาก เข้าใจว่าในตลาดมีเป็น 10 ล้านองค์ แล้วจะมีข้อจำกัดอยู่หรือไม่


 


ธีรพันธ์กล่าวว่า ตราบใดที่ออกนวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ และน่าสนใจ และยังมีความต้องการอยู่ ก็ยังบอกไม่ได้ว่าจะหมดลงเมื่อไร แต่ละทีก็มีเรื่องราวของจตุคามฯ ที่แตกต่างกันซึ่งมีผลต่อความต้องการด้วย และก็เป็นเรื่องคาดเดาไม่ได้


 


"ท่านมาในช่วงที่เหมาะเจาะ เพราะว่าคนไทยมีความรู้สึกว่าชีวิตไร้ร่องรอย มีการพึ่งความเชื่อความศรัทธาเพื่อความสบายใจ"


 


ธีรพันธ์กล่าวเสริมแบบกำปั้นทุบดินว่า เมื่อผลิตแล้วส่วนใหญ่ไม่มีใครสั่งจองก็จะหมดไป แต่ก็ยังตอบไม่ได้ว่าเมื่อไร


 


สรณ์ แยกระหว่างสินค้าและตราสินค้าเป็นคนละอย่างกัน แต่ความต้องการในด้าน Demand & Supply ขึ้นอยู่กับจำนวนของวันนั้นที่จะมาถึง


 


"ถ้าในวันนี้เราทุ่มผลิตล้านองค์ ในวันพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้หรือปีหน้าอาจจะลดลงมาเหลือแค่หนึ่งหมื่นหรือหนึ่งพัน แต่ความต้องการในแง่ Demand & Supply ยังคงเป็นกลไกที่ผลักดันให้เกิดการซื้อขาย แต่เป็นในระดับที่เล็กลงมา"


 


 


จุดแข็ง-จุดอ่อน "มูลค่าการตลาด"


ฐากูรตั้งคำถามว่า การที่ต่างคนต่างสร้างจตุคามฯ นั้นจะเป็นจุดอ่อนจุดแข็งหรือว่าจะช่วยเสริมทางการตลาดมากขึ้น


 


สรณ์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการสร้างแบรนด์ของจตุคามฯ เพราะการสร้างแบรนด์ที่กระจัดกระจายจะอยู่ได้ไม่นาน แต่ถ้าอยู่ที่คนๆ เดียวก็สามารถที่จะคุมอำนาจทางตลาดในระยะไกลได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม สรณ์ก็มีประเด็นที่เสนอว่า มุมบวกของความกระจัดกระจายของการตลาดในปีนี้มีกระแสที่แรงมากแต่ก็นำไปสู่หายนะได้ และมูลค่าขององค์จตุคามจะเสื่อมไปในแง่ของความศรัทธาของคนในระดับหนึ่ง


 


ธีรพันธ์ กล่าวเสริมในประเด็นของสรณ์ว่า การกระจัดกระจายนี้ไม่มีการกำหนดทิศทางที่ชัดเจน แต่ละคนต่างก็ทำของตัวเองออกมา ทำให้ไม่มีการควบคุม Brand (สินค้า) ซึ่งบางที่ที่ผลิตออกมาไม่ดีก็จะมีผลกระทบต่อ Brand เพราะไม่มีความศรัทธาต่อ Brand และจะเกิด Word of Mouth ในเชิงลบซึ่งก็มีผลต่อการผลิตด้วย อย่างไรก็ตาม การผลิตก็ควรดูตามกระแสด้วย มีการเช็คตลาดก่อนที่จะผลิต


 


 


ความเป็นไปได้ในแง่ธุรกิจส่งออกจีน


ฐากูรตั้งคำถามว่า จะใช้ความเชื่อซึ่งมีอยู่มากในหมู่ชาวตะวันออกให้เป็นประโยชน์ในแง่เชิงธุรกิจจะมีความเป็นไปได้หรือไม่


 


สรณ์ กล่าวว่า การส่งสิ่งที่คนไม่ศรัทธาเป็นเรื่องใหญ่ เพราะไม่มีความเข้าใจในความเชื่อของคนไทย ในขณะที่จีนไม่มีความเชื่อความศรัทธา ไม่เห็นความศักดิ์สิทธิ์ของจตุคาม


 


อย่างไรก็ตาม สรณ์มองว่าความเป็นไปได้ในแง่ของธุรกิจของจตุคามอาจเกิดขึ้นได้ในคนกลุ่มเล็ก ๆ เช่น สิงคโปร์, มาเลเซีย


 


ธีรพันธ์ เสริมความคิดเห็นของสรณ์ในเรื่องที่ Product benefits (ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์) เห็นผลไม่ชัด เป็นเรื่องอีกไกล ต้องพิสูจน์และขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละบุคคลและการเกิด Word of Mouth ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net