Skip to main content
sharethis

อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา รายงาน


ณภัค เสรีรักษ์ ถ่ายภาพ




 



จากซ้ายไปขวา: ผศ.ดร. พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อ. ซี.เจ. ฮิงกิ กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT), รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผู้ดำเนินการเสวนา), พิมพกา โตวิระ ผู้กำกับอิสระ, สุภาพ หริมเทพาธิป บรรณาธิการนิตยสารไบโอสโคป และปรัชญา ปิ่นแก้ว นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์



 


 


เมื่อวันที่ 27 เม.ย. คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการเสวนาเรื่อง "จาก YouTube ถึงแสงศตวรรษ : การเซ็นเซอร์สื่อในยุครัฐบาลคมช." โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาได้แก่ อ. ซี.เจ. ฮิงกิ ผู้ก่อตั้งและผู้ประสานงานกลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT) ผศ.ดร. พิรงรอง รามสูต หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพกา โตวิระ ผู้กำกับอิสระ สุภาพ หริมเทพาธิป บรรณาธิการนิตยสารไบโอสโคป และปรัชญา ปิ่นแก้ว นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ โดยมี รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการเสวนา


 


อ. ซี.เจ. ฮิงกิ ผู้ก่อตั้งและผู้ประสานงานกลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT) กล่าวว่า ทุกวันนี้เราไม่มีโอกาสได้รู้ว่าเวบไซต์ใดบ้างที่ถูกบล็อค และการบล็อคนั้นมีหลักเกณฑ์อย่างไร สิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐทำล้วนเป็นความลับ ซึ่งน่าตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการทำงาน


 



อ. ซี.เจ. ฮิงกิ กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT)


 


สำนักงานตำรวจแห่งชาติคือหน่วยงานสำคัญในการบล็อคเวบไซต์ ด้วยวิธีการต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น ข้อมูลเมื่อเดือนมกราคม 2550 มีเวบไซต์กว่า 13,000 แห่งถูกบล็อคผ่านผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) ทั้ง 54 รายในประเทศไทย ถัดมาหลังจากนั้น ในเดือนมีนาคม 2550 คาดว่าผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ต (ISP) หลายรายอาจไม่เต็มใจที่จะบล็อคเวบไซต์ ทำให้เปลี่ยนวิธีการบล็อคไปปิดกั้นที่จุดเชื่อมสัญญาณที่เข้าสู่ประเทศไทย (Thailand Internet Gateway)


 


วิธีการเซ็นเซอร์ที่ไม่โปร่งใส พบเห็นมากขึ้นในระยะหลัง เช่น ผู้คนเข้าไม่ถึงเวบไซต์ที่มีเนื้อหาบางประเภทโดยไม่ทราบสาเหตุหรือตัวการที่ทำการปิดกั้น


 


อ. ซี.เจ. เล่าถึงตัวอย่างความไม่โปร่งใสในการทำงานของไอซีทีว่า เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา รองปลัดกระทรวงไอซีที ให้ข้อมูลกับคณะทำงานของมหาวิทยาลัย Harvard ว่า ประเทศไทยบล็อคเวบไซต์ประมาณ 2,000 แห่ง


 


แต่ถัดจากนั้น ในวันที่ 26 มกราคม ก็ปรากฏว่า รองปลัดกระทรวงไอซีทีคนเดิม ชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า ประเทศไทยมีการบล็อคเวบไซต์ประมาณ 50 แห่ง


 


อ. ซี.เจ. กล่าวถึงข้อมูลตัวเลขที่แตกต่างกันมากนี้ว่า รัฐบาลไม่ใช่แค่บล็อคเวบไซต์แบบลับๆ เท่านั้น แต่ยังโกหกด้วย หนำซ้ำแล้ว ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีประจำกระทรวงไอซีทียังให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนที่ผ่านมา (มีนาคม 2550) ว่า ตั้งแต่เขาเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ได้ทำการบล็อคเวบไซต์ไปแค่ 5 แห่งเท่านั้น (เสียงหัวเราะครืนในห้องประชุม)


 


แต่หลายกรณีเกิดจากการเซ็นเซอร์ตัวเองของเวบไซต์ต่างๆ เช่น การเลือกที่จะไม่นำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ The King Never Smiles โดยคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าหนังสือดังกล่าวถูกแบนในประเทศไทย แต่ที่แท้แล้ว หนังสือ The King Never Smiles ไม่เคยถูกแบนในประเทศไทย ทว่าการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารเรื่องนี้ก็ทำให้คนรู้สึกและเข้าใจไปเองว่าถูกห้ามกล่าวถึง จึงเซ็นเซอร์ตัวเอง


 


จากการประมาณการของ อ.ซี.เจ. คาดการณ์ว่าเวลานี้น่าจะมีเวบไซต์ที่ถูกปิดกั้นราว 45,000 แห่ง


 


อ.ซี.เจ. กล่าวว่า การเซ็นเซอร์เกิดมาก่อนหน้าการรัฐประหาร สมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ก็เคยบอกว่าจะปิดเวบไซต์ 800,000 แห่ง ปัจจุบันแม้พ้นยุคทักษิณแล้ว แต่กระทรวงไอซีทีกำลังสานต่อ


 


 


"การแบนไม่ช่วยอะไร" บทเรียนจาก YouTube.com


ผศ.ดร. พิรงรอง รามสูต หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความหมายของการเซ็นเซอร์ ไม่ใช่แค่การปิดกั้นให้เข้าไม่ถึงเท่านั้น แต่การแก้ไข ตัดความ ก่อนจะนำออกเผยแพร่ ก็คือการเซ็นเซอร์ด้วย



 



ผศ.ดร. พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


โดยเนื้อหาที่มักจะถูกเซ็นเซอร์ส่วนใหญ่ คือ เรื่องโป๊เปลือย เรื่องความรุนแรง เรื่องที่กระทบต่อการเมือง ศาสนา ฯลฯ ขณะเดียวกัน ก็มีการเซ็นเซอร์บางประเภทที่เกิดขึ้นได้โดยไม่มีการตั้งคำถาม เช่น เรื่องราวอันจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในสภาวะสงคราม เรื่องเด็กที่ถูกกระทำชำเรา


 


ในการนำเสนอเรื่อง "การเซ็นเซอร์ของประเทศไทยในยุคหลังรัฐประหาร จากทักษิณ ถึง YouTube.com" (Censorship in Post - Coup Thailand, from Thaksin to YouTube.com) ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าวว่า ตั้งแต่คมช.เข้ามากุมอำนาจ วิธีการคุมสื่อ ค่อนข้างเป็นไปในทางเคารพสื่อ คือ ไม่ตรวจเนื้อหาก่อน ไม่จับสื่อ แต่คมช. ใช้วิธีขอให้สื่อเซ็นเซอร์ตัวเองเป็นหลัก ซึ่งอาจจะร้ายแรงกว่า


 


"และมีการเชิญให้ผู้นำในวงการวิชาชีพสื่อเข้าไปอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ"


 


อีกด้านหนึ่ง ก็มีปรากฏการณ์การปิดกั้นเสรีภาพการสื่อสารที่เกิดขึ้น ได้แก่ การบล็อคเวบไซต์ซีเอ็นเอ็นและบีบีซี เวบไซต์ที่นิยมทักษิณถูกปิด วิทยุชุมชนถูกห้ามแพร่สัญญาณ เวบบอร์ดทางการเมืองมีทั้งที่ถูกสั่งปิด และปิดตัวเองไป มีประกาศคปค.ที่ห้ามมิให้ชุมนุมกันเกิน 5 คน นิตยสารไทม์ฉบับหน้าปกพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกห้ามขายบนแผงหนังสือ


 


หรือเช่นเมื่อเดือนมกราคม 2550 ซึ่งเป็นช่วงที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกมาเป็นข่าวถี่ครั้งนั้น ก็มีการขอความร่วมมือให้สื่องดการนำเสนอเกี่ยวกับทักษิณ มิเช่นนั้นจะใช้มาตรการตามประกาศคปค.ฉบับที่ 10 และ 11


 


จนเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2550 การบล็อคเวบไซต์ YouTube.com เป็นกรณีการเซ็นเซอร์ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นล่าสุด หลังจากที่คลิปภาพและเสียงที่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ


 


ผศ.ดร.พิรงรองกล่าวถึงเวบไซต์ YouTube.com ว่า เป็นเวบไซต์แลกเปลี่ยนภาพและเสียงฟรีที่ได้รับความนิยมสูงสุด และเมื่อไม่นานมานี้ ค่ายยักษ์ใหญ่ในโลกอินเตอร์เน็ตอย่าง Google.com ได้เข้าซื้อ YouTube.com ไป นิตยสารไทม์ยังเลือกให้เป็นบุคคลแห่งปี ซึ่งหมายถึงผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทุกคน ด้วย YouTube.com เป็นเวบไซต์ที่เปิดให้เกิดการแลกเปลรายนข้อมูลข่าวสารโดยเสรี


 


หลังคลิปที่เป็นประเด็นเผยแพร่ใน YouTube.com ทางกระทรวงไอซีทีได้ติดต่อไปยัง Google.com ซึ่งเป็นเจ้าของเวบไซต์ YouTube.com ว่าให้ถอดคลิปดังกล่าวออก แต่ทาง YouTube.com ตอบปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า กรณีคลิปนี้ไม่ผิดนโยบาย และการล้อเลียนทำให้ผู้นำประเทศเป็นตัวตลกไม่เกี่ยวกับ YouTube.com


 


ด้วยเหตุนี้ กระทรวงไอซีทีจึงบล็อคเวบไซต์ YouTube.com ทั้งเวบไซต์ แทนการบล็อคเฉพาะคลิปที่มีปัญหา ด้วยเหตุผลที่ว่า YouTube.com ไม่ให้ความเคารพ กระทรวงไอซีทีจึงต้องปิดกั้นทั้งเวบไซต์


 


หลังจากนั้น กรณีการบล็อค YouTube.com ก็เป็นข่าวไปทั่วโลก และยังทำให้เวบไซต์ YouTube.com มีจำนวนผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นสูง ด้านรัฐบาลไทยก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปในระดับโลกเช่นกัน ในฐานะเป็น "รัฐบาลที่ไม่โปร่งใส จะทำอะไรก็ทำกันตามใจ" ตามทัศนะของ Reporter without Border หรือองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน


 


ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าวถึงบทเรียนในกรณีนี้ว่า "การแบน ไม่ใช่การแก้ปัญหา" แต่นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็กล่าวถึงมิติอีกด้านหนึ่งเช่นกันว่า ถึงอย่างไรก็ดี เรื่องของ "วัฒนธรรม" ก็เป็นสิทธิประเภทหนึ่งเช่นกัน


 


ผศ.ดร.พิรงรองชวนให้คิดว่า การไร้ความอ่อนไหวของ YouTube.com ในประเด็นทางวัฒนธรรมของไทย มีเหตุผลเป็นเรื่องธุรกิจหรือเปล่า เพราะเมื่อมีกรณีที่ทำให้จำนวนผู้เข้าชมมากเท่าไร อัตราค่าโฆษณาก็ยิ่งสูงขึ้น


 


 


"กองเซ็นเซอร์" หน่วยงานบิดเบือนความจริง


ไม่เพียงแต่สื่ออินเตอร์เน็ต แต่บรรยากาศของคนไทยที่ต้องอยู่ในภาวะอึดอัดเพราะถูกลิดรอนเสรีภาพอย่างสม่ำเสมอนั้นถูกตอกย้ำยิ่งขึ้น เมื่อสื่อภาพยนตร์ก็ถูกอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐลิดรอนเสรีภาพอีกครั้งหนึ่ง  จากกรณีของภาพยนตร์เรื่อง "แสงศตวรรษ" ที่กำกับโดยอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ถูกพิพากษาว่ามี 4 ฉากที่ไม่ผ่าน ได้แก่ฉากที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของ "หมอ" และ "พระ"


 


ดูเหมือน "กองเซ็นเซอร์" คืออุปสรรคการเติบโตของวงการภาพยนตร์ไทย พิมพกา โตวิระ ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า มันเป็นระบบที่ปฏิเสธไม่ได้ หากผู้ผลิตภาพยนตร์ต้องการจะฉายภาพยนตร์ในประเทศนี้ แต่คำถามคือ อะไรคือมาตรฐานในการตัด


 


กฎเหล็กที่คนทำหนังต้องคิด ซึ่งกลายเป็นเรื่องเซ็นเซอร์ตัวเอง ก็คือ ต้องหลีกเลี่ยงที่จะทำเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ การเมือง และเรื่องโป๊


 


"หนังการเมืองนั้นมีคนพยายามจะทำ แต่เอาเข้าจริง เมื่อทำแล้วก็ไม่ได้แตะไปที่ประเด็นการเมืองที่แท้จริง" พิมพกากล่าว


 


พิมพกากล่าวว่า แล้วใครคือคนพิจารณา ใครคือคนตัดสิน ท้ายที่สุดมันเหมือนเราส่งหนังไปให้ใครก็ไม่รู้


 


จากกรณีของภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษ ฉากที่ไม่ผ่านทั้ง 4 ฉากที่เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของ "หมอ" และ "พระ" นั้น คือเป็นฉากที่มีภาพหมอที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หมอที่จูบคนรักในโรงพยาบาล พระที่นั่งเล่นกีต้าร์ และพระที่เล่นเครื่องร่อน


 


"ภาพยนตร์เป็นตัวแทนของความเป็นมนุษย์ คือ รัก โลภ โกรธ หลง แต่ทำไมกองเซ็นเซอร์จึงมองว่ามันคือความ "ไม่จริง" ทุกที แล้วความจริงคืออะไร" พิมพกากล่าว


 


ปรัชญา ปิ่นแก้ว นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวต่อกรณีนี้ว่า เหมือนเราเคยชินไปแล้วกับการถูกปิดกั้น กับบางเรื่อง ถ้าเราจะพูด "ความจริง" ของสังคม มันกลายเป็นเรื่องพูดไม่ได้ ต้องแอบพูดเบาๆ


 


"เราไม่ใช่เยาวชน เราโตแล้ว ทำไมเรายังถูกปิดกั้นอีก"


 


 


ชะตากรรมหนังที่รอวันประหาร


เนื่องจากรู้ว่า ค่ายภาพยนตร์ต่างๆ มีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่ค่อยรับหนังของคุณอภิชาติพงศ์เข้าฉายในโรง เพราะเป็นหนังเล็กแต่กระบวนการนำหนังเข้าโรงมีข้อต่อรองข้อจำกัดมาก สุภาพ หริมเทพาธิป บรรณาธิการนิตยสารไบโอสโคป จึงเสนอตัวมาลองเป็นผู้ดำเนินการ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่คนน่าจะมีโอกาสได้ดู และได้ดูอย่างผู้มีสติปัญญา คิดเองได้


 


"มีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า วงการหนัง ถ้าเราต้องการการเติบโต มันไม่สามารถเติบโตได้ในแบบที่เป็นอยู่ เลยคิดว่าน่าจะถึงเวลาที่จะปรับขยับระบบให้มีทางเลือก" บรรณาธิการนิตยสารไบโอสโคปกล่าว


 


แต่แล้วกองเซ็นเซอร์ก็สั่งให้ตัด 4 ฉากที่กองเซ็นเซอร์เห็นว่าไม่สมควรออกเสีย ซึ่งทีมงานภาพยนตร์เห็นว่าหากต้องตัด 4 ฉากนั้น ก็เลือกที่จะไม่ฉายในประเทศไทยก็ได้ จึงเลือกที่จะไม่เซ็นรับมติ


 


สุภาพกล่าวว่า ฝ่ายตำรวจคงจะงง เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีใครที่ไม่เซ็นรับมติ และยังโน้มน้าวให้ทีมงานภาพยนตร์เซ็นยอมรับไปก่อน แล้วค่อยใช้วิธีอุทธรณ์ในภายหลัง


 


"เราไม่ยอมรับ ในการพิจารณาเช่นนี้ การอุทธรณ์ แปลว่าต้องยอมรับสิ่งที่เขาพิจารณาก่อน" สุภาพกล่าว แต่กองเซ็นเซอร์ก็กลับไม่ยอม และยังมีทีท่าว่าจะตัดฟิล์มทั้ง 4 ฉากนั้นเอง เวลานี้ ฟิล์มต้นฉบับภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกยึดเอาไว้


ภาพยนตร์ถูกสั่งตัดตามมาตรา 4 [1] และยึดฟิล์มไว้ตามมาตรา 7 [2] ทั้งนี้ ในการยึดฟิล์ม เจ้าหน้าที่จะต้องชี้แจงเหตุผล ซึ่งจนวันนี้ยังไม่มีคำชี้แจงใดๆ และขั้นต่อไปที่น่ากังวลคือ หากยึดฟิล์มเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว ก็จะถูกทำลายทิ้ง


 


 


ทางออกแบบไหน ที่รัฐจะเข้ามายุ่งอย่างจำกัด


ด้านของเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตนั้น ผศ.ดร.พิรงรอง เล่าถึงพระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ... ที่กำลังอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า จากพระราชบัญญัตินี้ ดูเหมือนผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) จะเป็นผู้ที่แบกรับภาระมากที่สุด เนื่องจากกฎหมายระบุว่า ผู้ที่ต้องร่วมรับผิดชอบในเนื้อหานั้นรวมถึง ISP ด้วย โดย ISP มีหน้าที่ต้องเก็บเนื้อหาที่ไหลเข้าสู่ระบบมาเป็นระยะเวลา 1 เดือน


 


ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่นที่เยอรมัน ด้วยสังคมเยอรมันยังสะเทือนใจจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ดังนั้น จึงมีกฎหมายห้ามเผยแพร่เนื้อหาใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับลัทธินาซี รวมถึงสื่ออินเตอร์เน็ตด้วย แต่ก็มีคนที่ทำลิงก์ไปถึงเวบไซต์ Neo Nazi เรื่องนี้ ISP ที่ให้บริการกับเวบไซต์ดังกล่าวถูกฟ้องและศาลตัดสินให้ปรับ 5 หมื่นเหรียญสหรัฐ และมีโทษจำคุกด้วย


 


ผศ.ดร.พิรงรอง เห็นว่า ISP มีหน้าที่ต้องร่วมดูแลเช่นกัน ไม่ใช่เพียงให้บริการส่งสัญญาณ ทั้งนี้ เพราะเรื่องอินเตอร์เน็ตเป็นเรื่องต้องรับผิดชอบร่วมกัน ถามว่าถูกต้องไหมถ้าให้รัฐบาลมาเคอร์ฟิว แทนที่จะปัดไปรัฐบาล แต่ส่วนอื่นๆ น่าจะร่วมกันดูแล เช่น ISP ผู้ปกครอง เน็ตคาเฟ่ ฯลฯ


 


ด้านเสรีภาพของสื่อภาพยนตร์ไทยนั้น ระบบเรทติ้ง เป็นอีกทางออกหนึ่งที่พูดคุยกันมานาวนานในวงการภาพยนตร์ คือแทนที่จะใช้มาตรการเซ็นเซอร์ให้เกิดการตัดหนังหรือระงับการฉายบางส่วนหรือทั้งหมด ก็มาใช้ระบบเรทติ้งที่กำหนดประเภทของหนังแทน


 


พิมพกา ผู้กำกับอิสระตั้งประเด็นไว้ว่า เรื่องเรทติ้งจะทำอย่างไรให้ประชาชนกำหนดเรทติ้งของตัวเอง


 


ด้านของสุภาพ บรรณาธิการนิตยสารไบโอสโคป กล่าวว่า ระบบเรทติ้งก็คือการเรียนรู้ดูแลร่วมกันในสังคม


การมีคณะกรรมการมาเซ็นเซอร์แล้วบอกว่าอะไรควรดูและไม่ควรดู นั่นหมายความว่า เนื้อหาที่ผ่านการเซ็นเซอร์คือเนื้อหาที่ทุกคนดูได้ใช่หรือไม่ แต่เร็วๆ นี้ก็มีตัวอย่างกรณีภาพยนตร์เรื่อง Pan's labyrinth ที่หลายคนพาลูกหลานเข้าไปดูเพราะเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่เด็กดูได้ แต่ก็ไม่ใช่ มันมีฉากที่เด็กไม่ควรดู


 


สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ประเด็นนี้ถูกพูดถึงในเวบบอร์ดต่างๆ คนที่เข้ามาอ่าน ก็ได้รู้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้อาจจะไม่เหมาะสมที่จะพาเด็กไปดู ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สังคมช่วยกันดูแล และอาจเห็นได้ว่า สังคมมีความเข้าใจเนื้อหาของหนังว่าอะไรควรไม่ควร มากยิ่งกว่าคณะกรรมการเซ็นเซอรเสียอีก


 


เขากล่าวว่า เรื่องเรทติ้งน่าจะเป็นลักษณะของข้อแนะนำ คือ ไม่ต้องมีบทลงโทษ ยกเว้นกรณีเรื่องความรุนแรงมากๆ ที่อาจต้องมีบทลงโทษ ที่ว่าเป็นข้อแนะนำนั้นเป็นข้อมูลประกอบเพื่อให้แต่ละบุคคลไปคิดเองว่าเรทติ้งนั้นๆ เหมาะกับตนเองหรือไม่


 


 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :


เก็บตกเสวนา : ถึงเวลานับ "ภาพยนตร์" เป็น "สื่อมวลชน"?


ต้องรออีกกี่ศตวรรษ รัฐจะเลิกเซ็นเซอร์


 


ร่วมลงนามเพื่อเสรีภาพในการแสดงออก :


กรณีต่อต้านการปิดกั้นอินเตอร์เน็ต


สนับสนุนการเคลื่อนไหว เพื่อปลดปล่อยภาพยนตร์ไทยสู่เสรีภาพ






เชิงอรรถ


[1] มาตรา 4 ท่านห้ามมิให้ทำหรือฉายหรือแสดง ณ สถานที่มหรสพ ซึ่งภาพยนตร์หรือประกาศประกอบด้วยลักษณะฝ่าฝืนหรืออาจฝ่าฝืนต่อความสงบ เรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี ถึงแม้เพียงว่าการทำ การฉาย หรือการแสดง ภาพยนตร์ หรือประกาศนั้นๆ น่าจะมีผลเช่นว่านั้น ท่านก็ห้ามดุจกัน ภาพยนตร์หรือประกาศที่ทำในพระราชอาณาจักร ถ้ามีลักษณะหรืออาจ มีผลเช่นที่ว่านี้ไซร้ ท่านห้ามมิให้นำหรือส่งออกนอกพระราชอาณาจักร



[2] มาตรา 7 เมื่อนายตรวจเห็นว่าภาพยนตร์ใดมีลักษณะฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 4 ให้มีอำนาจ


(1) ห้ามมิให้ทำภาพยนตร์นั้นต่อไป


(2) ยึดภาพยนตร์ที่ทำเสร็จแล้วหรือที่ยังไม่เสร็จ และส่งภาพยนตร์นั้น ๆ แก่เจ้าพนักงานผู้พิจารณาขอให้พิจารณา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net