Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 2 พ.ค. 2550 เมื่อวันที่

28 เมษายน มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร ร่วมกับ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม จัดเวทีสาธารณะ เรื่อง "วิกฤตสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน การมีส่วนร่วมและการพัฒนานโยบายสาธารณะ" ณ ห้องกิ่งเพชร โรงแรมเอเชีย ราชเทวี กรุงเทพมหานคร

 


 


ชีวิต ความตายและทางออกผู้ถูกกระทบจากการพัฒนา


จะเด็จ  เชาว์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวถึงกรณีศึกษาครอบครัวคนงานที่เสียชีวิต โศกนาฏกรรมโรงงานไฟไหม้บริษัท เคเดอร์อินด์เตรียล (ไทย ) ว่า กรณีศึกษานี้ศึกษาถึงผลกระทบจากครอบครัวของผู้เสียชีวิต ศึกษาติดตามข้อเรียกร้อง ศึกษาติดตามครอบครัว และหารูปแบบเพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้สูญเสีย


 


รัชนี นิลจันทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวถึงกรณีศึกษาผู้ถูกกระทบ ญาติผู้เสียชีวิต เหตุโรงงานอบลำไยระเบิดว่า จากการศึกษาพบว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ครอบครัวของผู้ถูกกระทบสูญเสียความมั่นคงในชีวิตทำให้ ขาดกำลังหลักของครอบครัว ครอบครัวขาดรายได้ การเรียกร้องความเป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการต่อสู้คดีมีความล่าช้า ทำให้ผู้ถูกกระทบตัดสินใจถอนฟ้องและรับค่าชดเชยจากโรงงานแทน 


 


สมบุญ ศรีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยกล่าวถึงกรณีศึกษาผู้ป่วยอาชีวอนามัยโรงงานทอผ้าว่า เมื่อมีการรวมกลุ่มกันของกลุ่มผู้ป่วยเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐ สังคมก็จะไม่เข้าใจในกลุ่มผู้ป่วย ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยเองก็เรียกร้องกองทุนยาเพื่อผู้ป่วยและเรียกร้องเรื่องความเป็นธรรมของคนงานและกลุ่มผู้ป่วยเอง


 


บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ ผู้อำนวยการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวถึง กรณีศึกษาสหภาพแรงงานและคปอ.( คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ) กับการมีส่วนร่วมพัฒนาความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการว่า การมีจป.( เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย)  คปอ. ซึ่งเกิดจากการเรียกร้องหลังจากเหตุการณ์โศกนาฎกรรมเคเดอร์ จะเป็นกลไกที่เป็นประโยชน์ในด้านความปลอดภัยในด้านสุขภาพการทำงาน จป. คปอ.จะทำหน้าที่ได้ดีสหภาพแรงงานก็ต้องมีส่วนรวมด้วย การทำงานของจป. คปอ.ต้องทำงานแบบมืออาชีพเพราะมีทรัพยากรสนับสนุนอยู่และเมื่อมีแล้วก็ต้องมีอำนาจบังคับให้เกิดการปฏิบัติและนำไปสู่การแก้ไขได้ ซึ่งตอนนี้รัฐบาลก็ได้แก้ไขที่มาของจป. คปอ.แต่ในการแก้ไขกฏหมายนี้ไม่ได้มีการมีส่วนรวมของสหภาพแรงงาน


 


การกำหนดนโยบายสาธารณะด้านชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน


ไพสิฐ พานิชยกุล คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิเคราะห์มิติทางกฎหมายจากกรณีศึกษา "ผู้ถูกกระทบ" จากการพัฒนาอุตสาหกรรมว่า จากการศึกษาทั้ง 5 กรณีแล้วพบว่า ผู้ถูกกระทบได้รับการปฏิบัติการคุ้มครองที่ไม่ต่างกันไม่ว่าสถานประกอบการนั้นจะถูกหรือไม่ถูกกฎหมายก็ตาม กรณีศึกษาทั้งหมดไม่ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ขึ้นในสังคมส่งผลให้สังคมขาดพลังอย่างสิ้นเชิงที่จะทำให้เกิดการสรุปบทเรียนและสร้างมาตรฐานความปลอดภัย


 


ไพสิฐเสนอว่า ควรมีการพัฒนาระบบศาลให้เป็นระบบศาลคู่อย่างแท้จริง คือ จัดศาลที่ดูแลเรื่องแรงงานโดยเฉพาะจากศาลชั้นต้นสู่ศาลสูงโดยไม่ต้องรอคิว การมีศาลสวัสดิการสังคมโยงกับกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน และควรมีองค์การที่ชี้ขาดแทนที่จะผลักหน้าที่ให้กับกระทรวงแรงงานซึ่งอาจจะนำไปสู่การสร้างองค์การใหม่ขึ้น เปลี่ยนบทบาทของศาลโดยการเป็นผู้สืบหาความจริง เป็นผู้ไต่สวนความจริง และจะช่วยทำให้บทบาทของผู้พิพากษาสมทบเปลี่ยนไปด้วย ควรมีองค์การที่ทำหน้าที่ชี้ขาดในคดีแรงงาน การมีองค์กรอิสระในการจัดหาผู้พิพากษาสมทบ และควรจะต้องมีการพัฒนาระบบอัยการแรงงาน


 


นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการรื้อระบบกฎหมายแรงงานใหม่โดยสร้างระบบแรงงานให้สอดคล้องกับรูปแบบการทำงานของแรงงานที่เปลี่ยนไป ทำให้สัญญาแรงงานเป็นสัญญาสำเร็จรูป คือ มีมาตรฐานขั้นต่ำ มีระบบในการตรวจสอบ ต้องสร้างกฎหมายในเรื่องของการสันนิษฐานถึงโรคที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ซึ่งมีกฎหมายในเรื่องนี้อยู่แต่ไม่เคยถูกนำมาใช้ ซึ่งในปัจจุบันที่เป็นอยู่ ลูกจ้างต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นโรคจากการทำงาน พัฒนาหลักกฎหมายในเรื่องการฟ้องร้องคดีของกลุ่ม มีการคิดคำนวณค่าความเสียหายใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาคิดแต่ในเรื่องของการทำงานโดยไม่ได้เอาส่วนอื่น ๆ มาคิดด้วย และควรมีหลักประกันในเรื่องความเสียหายของผู้ประกอบการ


 


ความไม่พอเพียงของกฎหมาย


รศ.แล  ดิลกวิทยารัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวทิยาลัย กล่าวว่าจากกรณีศึกษาทั้ง 5 กรณีนั้นสะท้อนความเป็นจริงในหลายด้าน แต่ด้านที่สำคัญนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เพียงพอของกฎหมายที่เราเชื่อว่าจะใช้คุ้มครองผลประโยชน์หรือสิทธิพื้นฐานของผู้ใช้แรงงาน


 


" เพราะว่าหลาย ๆ ครั้งที่เราเห็นเรื่องที่สู้กันด้วยกฎหมายแล้ว ลูกจ้างแพ้ตั้งแต่ต้น กฎหมายนั้นไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมได้แม้เป็นในขั้นเริ่มต้น"


 


ทั้งนี้เพราะการพัฒนาแบบทุนนิยมที่เน้นเรื่องของ "เงิน" เป็นตัวหลัก มีนายทุน เป็นเป้าหมาย เพราะฉะนั้นความสำคัญที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานจะได้รับจากรัฐจึงต้องทำการเรียกร้องเพื่อให้เกิดกฎหมายแรงงานที่เป็นธรรม


 


ยกเลิกค่าธรรมเนียมศาล


ธีรศักดิ์ ชึขุนทด นายกสมาคมนักกฎหมายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือดำเนินการในส่วนคดีความของผู้ถูกกระทบ เสนอให้ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมศาล เพราะว่าการฟ้องร้องในแต่ละครั้งนั้นผู้ถูกกระทบที่รายได้น้อย ต้องหาเงินเพื่อมาใช้ในการฟ้องร้องนี้อีก ซึ่งจริง ๆ แล้วเรื่องนี้เป็นบริการของรัฐที่ควรต้องจัดให้อยู่แล้ว


 


วรวิทย์กล่าวทิ้งท้ายการเสวนาว่า ประเด็นความขัดแย้งที่มีอยู่จริงทั้งหมดจากการเสวนาจะทำอย่างไรที่จะนำไปสู่สถาบันใหม่ได้ ประเด็นเรื่องค่าแรงถูกเป็นสิ่งที่ชักจูงให้คนเข้ามาลงทุน ประเด็นเรื่องสุขภาพความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงาน จะนำไปสู่การผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะและฝากความหวังไว้ที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยกันผลักดันให้เรื่องนี้เป็นนโยบายสาธารณะต่อไป


 


 


แถลงการณ์ 28 เมษายน 2550 ณ รร.เอเชีย


เรื่อง ขอคัดค้าน พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ ฉบับกระทรวงแรงงาน


 


เรียน พี่น้องสื่อมวลชน และประชาชนที่เคารพ


           


ด้วยสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ในสมัชชาคนจนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กลุ่มสหภาพแรงงานย่านต่าง ๆ ร่วมเป็นคณะกรรมการจัดงานวันกรรมกรสากลทุกปี ที่ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลให้จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยได้เสนอต่อรัฐบาลยาวนาน อย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่ปีที่ 10 แล้วตั้งแต่มีการตกลงร่วม ร่างในปี 40 ชื่อ (พ.ร.บ. จัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพฯ ) ผ่านกระบวนการเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อ เสนอต่อประธานรัฐสภา ถือเป็นร่าง ฉบับภาคประชาชน กระทรวงแรงงานก็กลับมีร่าง พ.ร.บ.ร่างอื่นตีควบคู่ เสนอ ครม. ทางสภาเครือข่ายฯ สมัชชาคนจนคัดค้าน จนปี 44 จากการผลักดัน กระทรวงแรงงานจึงได้แต่งตั้งกรรมการหลายฝ่าย ร่วมพิจารณาร่าง พรบ 2 ฉบับรวมร่าง 2 ฉบับเข้าด้วยกันเป็นฉบับบูรณาการแล้วตกลงร่วมว่าจะเสนอเข้า ครม. มาปัจจุบันกระทรวงแรงงานก็กลับยื่น พรบ. ฉบับใหม่อีก คือ (พ.ร.บ.ความปลอดภัย) ที่มี ม.52 ระบุเพียงว่า ถ้ามีความพร้อมให้จัดตั้งสถาบันส่งเสริมฯ ตั้งเป็นองค์กรอิสระ โดยตราเป็นพระราชกิจฎีกา


           


สภาเครือข่าย สมานฉันท์ สรส.เคยเข้าพบรมต. กระทรวงแรงงานเสนอให้ นำพ.ร.บ.ฉบับ บูรณาการนี้ เข้าสู่การพิจารณา ครม.ด้วย แต่กระทรวงแรงงานหาได้กระทำตามคำรับปากนั้น เพียงแต่ตัดม. 52 ออก ครั้นผ่านเข้าไปในสนช. กลับเสนอร่างที่มี ม. 52 เสนอคู่กันเข้า ครม. อีก แต่ร่างฉบับบูรณาการที่ร่วมร่าง ( พ.ร.บ.จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน) กลับถูกเขี่ยทิ้งไป ซึ่งพ.ร.บ. ความปลอดภัยฯ ทั้งที่ตัด ม. 52 หรือไม่ตัด ม.52 นั้นเป็นแค่กลลวงเท่านั้น เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานและสาธารณชนมองว่า เป็นความพยายามของภาครัฐที่จะออกกฎหมายความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้แรงงาน แท้จริงแล้ว หาได้เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงาน กลับเป็นการออกกฎหมายมาซ้ำซ้อน เพื่อให้รัฐมีอำนาจมากขึ้น ในการบริหารงานในระบบราชการตามเดิม ทั้งที่มีบุคลากรและหน่วยงานที่จำกัด หาได้เป็นการปฎิรูประบบการบริหารด้านสุขภาพความปลอดภัยแบบมีส่วนร่วม


 


ปัจจุบันนี้การบ่ายเบี่ยง บิดเบือน พ.ร.บ.ดังกล่าว ทำให้เห็นชัดว่ากระทรวงแรงงาน ละทิ้งหน้าที่ ไม่มีความใส่ใจ จริงใจ กับการดูแลแก้ไขปัญหาสุขภาพความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงานเลยแม้แต่น้อย ดูจากสถิติการเจ็บป่วยประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน มีมากขึ้น ซ้ำร้ายการเจ็บป่วยด้วยโรคสืบเนื่องจากการทำงาน ก็ยังไม่ได้รับการวินิจฉัย เพราะอำนาจการวินิจฉัย การเก็บรักษาเงินกองทุนเงินทดแทน และจ่ายเงินไปอยู่ในมือของประกันสังคมทั้งหมด จึงทำให้ขาดความโปร่งใสไม่เป็นกลาง ขาดการถ่วงดุลอำนาจ ทำให้คนงานที่เจ็บป่วย เรื้อรัง ประสบอันตราย สูญเสียอวัยวะและล้มตายไปส่วนใหญ่ ไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายกองทุนเงินทดแทน ซึ่งเป็นสิทธิของคนงานขั้นต่ำที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมายกองทุนเงินทดแทน ส่วนใหญ่คนงานถูกจำกัดสิทธิ์รักษาในระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นการเจ็บป่วย เรื้อรังต้องสูญเสียอวัยวะ พิการ นอกงานไปหมดหรือที่ล้มตายฟรี ไม่ได้รับสิทธิ์ใดใด ในการเจ็บป่วยตายจากการทำงาน


 


ในนามสภาเครือข่ายฯ สมัชชาคนจน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สรส.กลุ่มสหภาพแรงงานสหพันธ์ ย่านต่าง ๆ จึงประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน ในการที่จะผลักดัน พ.ร.บ.จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานต่อไปจนกว่าจะได้มาซึ่งสถาบันคุ้มครองสุขภาพฯ และขอ คัดค้านพ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ ฉบับกระทรวงแรงงาน ที่หาความชอบธรรมไม่ได้ ต่อไป จนถึงที่สุด


 


ด้วยความสมานฉันท์ 28 เมษายน 2550


ณ โรงแรมเอเชีย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net