Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 2 พ.ค. 50 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการชุมนุมวันแรงงานสากล ประเทศไทย วานนี้ (1 พ.ค.) ซึ่งแต่เดิมตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ปี 2546 เป็นต้นมา มีการแยกจัดการเดินขบวน 2 ขบวน โดย "คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย" จัดงาน "วันแรงงานสากล" โดยแยกออกจากงาน "วันแรงงานแห่งชาติ" ที่จัดโดย "สภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย" ซึ่งจัดงานกับรัฐบาลนั้น


 


ปรากฏว่าในปีนี้ มีกลุ่มผู้ใช้แรงงานแยกออกมาจากกลุ่มที่จัดงานกับรัฐบาลเพิ่มอีก 1 กลุ่ม ทำให้การชุมนุมวันแรงงานสากลประกอบไปด้วยกรรมกร 3 กลุ่ม ซึ่งต่างมีจุดร่วมเสนอให้ปรับปรุงคุณภาพชีวิตแรงงาน และสิทธิแรงงาน แต่มีข้อเสนอบางประการและจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน ได้แก่กลุ่ม 11 สภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย และ สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย โดยมีนายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทยเป็นประธานในการจัดงาน ได้ร่วมกับกระทรวงแรงงานจัดกิจกรรม "วันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2550" ของ ภายใต้คำขวัญ "80 พรรษา องค์ราชัน แรงงานสมานฉันท์ สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย ใช้ชีวิตพอเพียง" โดยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใช้เงินจากกองทุนประกันสังคม กระทรวงแรงงานมาจัดงาน


 


สำหรับสองกลุ่มหลังซึ่งจัดงาน "วันแรงงานสากล" และ ไม่ได้ใช้เงินของรัฐบาลจัดงาน ประกอบด้วย กลุ่มของ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ที่มี น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย เป็นแกนนำและ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ที่มีนายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายศิริชัย ไม้งามและนายสาวิตย์ แก้วหวานเป็นแกนนำ ประกอบด้วยองค์กรแรงงาน 67 องค์กร ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม "วันแรงงานสากล" โดยตั้งขบวนที่หน้ารัฐสภา ด้านถนนอู่ทองใน ก่อนเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้องยกระดับสภาพการทำงานของกรรมกร


 


และกลุ่มที่สาม ซึ่งแยกออกมาใหม่คือกลุ่ม "สมัชชาแรงงาน 1550" ซึ่งประกอบด้วย สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานกระดาษและการพิมพ์แห่งประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานอาหารและเครื่องดื่มแห่งประเทศไทย, สหภาพแรงงานกรุงเทพผลิตเหล็ก, พันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตย และพรรคแนวร่วมภาคประชาชน ซึ่งร่วมกันจัดกิจกรรมใน "วันแรงงานสากล"


 


โดยจะจัดกิจกรรม "ชำแหละรัฐธรรมนูญ" โดยเวทีประชุมสมัชชาผู้ใช้แรงงาน ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าในช่วงเช้าและการประกาศมติผู้ใช้แรงงานคว่ำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับกรรมาธิการ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เวลา 12.30 น.


 



 



ภาพ (AP Photo/Apichart Weerawong)


 



 



ขบวนของสภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย 11 องค์กร


 


แรงงานเสื้อเหลืองขอเลือกเส้นทางชีวิตใช้เศรษฐกิจพอเพียง


โดยกลุ่มแรกจัดงาน "วันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2550" ที่มีกระทรวงแรงงานร่วมกับ 11 สภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย และ สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย ที่มีนายมนัส โกศล เป็นประธานในการจัดงานนั้นจัดงานภายใต้คำขวัญ "80 พรรษา องค์ราชัน แรงงานสมานฉันท์ สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย ใช้ชีวิตพอเพียง" กลุ่มนี้ส่วนใหญ่สวมเสื้อสีเหลืองที่มีตราฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ครองสิริราชสมบัติครบ 60 พรรษา


 


โดยได้จัดสำหรับกิจกรรมประกอบไปด้วยพิธีทำบุญตักบาตรที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีนายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมกับข้าราชการ และแกนนำผู้ใช้แรงงานซีกของนายมนัสร่วมงาน ก่อนเดินขบวนไปที่สนามหลวงเพื่อฟังนายกรัฐมนตรีกล่าวสุนทรพจน์


 


 


เช้าพิธีสงฆ์ เที่ยง "ยุทธ์" ออกมาให้พร เย็นมีคอนเสิร์ตจาก "เครื่องดื่มชูกำลัง" หนุน!


หลังพิธีสงฆ์ กลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวนแปดพันคนจากสภาองค์การลูกจ้างต่างๆ และสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจประเทศไทย ได้จัดตั้งริ้วขบวนประกอบด้วย ริ้วขบวนเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ขบวนเศรษฐกิจพอเพียง และริ้วขบวนข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ได้เดินจากลานพระบรมรูปทรงม้า ไปตามถนนราชดำเนิน เข้าสู่ท้องสนามหลวง เพื่อร่วมพิธีเปิดงานในเวลา 12.00 น. โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมทั้งรับข้อเรียกร้อง 9 ข้อ จากกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ


 


สำหรับกิจกรรมในงาน มีการแข่งขันกีฬาของผู้ใช้แรงงาน นิทรรศการด้านบริการต่างๆ ของกระทรวงแรงงาน อาทิ การเปิดบริการด้านสุขภาพ ประกันสังคมแบบเบ็ดเสร็จ การทำบัตรรับรองสิทธิ ตอบปัญหาชิงรางวัล และการแสดงดนตรีจากนักร้องชื่อดังโดยมีเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดังเป็นสปอนเซอร์หลัก


 


 


เปิดข้อเรียกร้อง 9 ข้อ ยื่นนายกรัฐมนตรี


ส่วนข้อเรียกร้อง 9 ข้อ ที่เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1.ขอให้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในมาตรา 5(3) จ้างเหมาค่าแรงโดยลูกจ้างเหมาค่าแรงจะต้องได้ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์เท่ากับลูกจ้างในระบบจ้างปกติของสถานประกอบการนั้นๆ 2.ขอให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยเพิ่มมาตรา 52 เรื่องการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยในการทำงาน เป็นองค์กรทางวิชาชีพ 3.ขอให้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน 4.ขอให้ปรับอัตราค่าจ้างให้กับลูกจ้างตามอัตราเงินเฟ้อและให้ปรับเงินในอัตราเดียวทั้งประเทศ และให้ควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นต่อการครองชีพ


 


5.ขอให้ประกาศยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 6.ขอให้ประกาศกฎหมายที่ให้ผู้ใช้แรงงานและประชาชนที่อาศัยหรือทำงานในพื้นที่นอกทะเบียนบ้านสามารถใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.ในเขตพื้นที่ซึ่งตนอาศัยหรือทำงานอยู่ได้ 7.ขอให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จัดตั้งโรงพยาบาลของตนเอง เพื่อบริการการรักษาแก่ผู้ประกันตน 8.ในกรณีที่ผู้ประกันตนเกษียณอายุไม่ว่าจะรับบำเหน็จหรือบำนาญ ขอให้ สปส.รักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนฟรี ไม่ต้องไปใช้โครงการ 30 บาท และ 9.ขอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการฝ่ายรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ร่วมกับผู้แทนฝ่ายลูกจ้างทั้ง 11 สภาฯ กับ 1 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ติดตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานที่ยื่นในวันนี้ พร้อมทั้งให้แต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานสัมพันธ์ เป็นเลขานุการ


 


 


"ยุทธ์" สุนทรพจน์ แม้มีเวลาสั้นๆ แต่ไม่ละเลยผู้ใช้แรงงาน


พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เดินทางเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2550 ที่สนามหลวง โดยได้กล่าวในระหว่างเปิดงานตอนหนึ่งว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาหลายด้าน การสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ และความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านแรงงาน ถือเป็นสิ่งที่ดีต่อการสร้างสันติสุขในประเทศ รัฐบาลนี้ แม้จะมีเวลาในการทำงานเพียงสั้นๆ แต่ก็ไม่ได้ละเลยต่อปัญหาและความต้องการของผู้ใช้แรงงาน


 


นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วง 5 - 6 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเร่งรัด ส่งเสริม และพัฒนากิจการแรงงาน เพื่อไม่ให้ผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบจากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งกระทรวงแรงงานได้นำแนวทางไปจัดทำแผนพัฒนาแรงงาน ปี 2550 เน้นการดูแลทุกกลุ่มในสังคม ในทุก ๆ สถานการณ์ ซึ่งรัฐบาลได้ผ่านความเห็นชอบแผนพัฒนาแรงงานสมานฉันท์ไปแล้ว เพื่อรองรับและขับเคลื่อนการพัฒนาแรงงานปี 2550 หวังว่าแผนต่าง ๆ จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้สังคมมีความสงบสุข สมานฉันท์ และทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และกลุ่มองค์กรต่างๆ


 


 


จะขอทบทวน กม. แรงงาน 7 ฉบับ เน้นไตรภาคี ย้ำ "นายจ้าง ลูกจ้าง รัฐ" ให้ร่วมมือ


นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานที่ขอให้มีการแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติม และประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับต่าง ๆ นั้น รัฐบาลได้ทบทวนและนำเสนอร่างกฎหมายแรงงานสำคัญ ๆ อย่างน้อย 7 ฉบับ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการขยายการคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน ให้ครอบคลุมถึงแรงงานนอกระบบ เรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวะอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เรื่องการส่งเสริมการประกอบอาชีพ และการทำงานของคนต่างด้าว การจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน การขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนโดยสมัคร และการเพิ่มอำนาจคณะกรรมการค่าจ้าง ให้สามารถกำหนดแนวทางการปรับอัตราค่าจ้างประจำปี ตามภาวะเศรษฐกิจและสังคมได้


 


"ส่วนข้อเรียกร้องด้านอื่น ๆ เช่น เรื่องอัตราค่าจ้าง และการจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาดำเนินการ ผมเชื่อมั่นว่าสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างเต็มกำลังนี้ นอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ใช้แรงงาน นายจ้างในสถานประกอบการต่าง ๆ แล้ว ยังจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไปด้วย" นายกรัฐมนตรี กล่าว


 


และยังย้ำต่อว่า รัฐบาลยินดีที่จะให้การสนับสนุน ส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งผู้ประกอบการในด้านที่ถูกต้อง และต้องการเห็นนายจ้างกับลูกจ้าง มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาของประเทศ มีความสมานฉันท์ สันติวิธี ภายใต้ประชาธิปไตย และต้องการให้บรรยากาศความร่มเย็นในวันนี้ เป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือของคนไทย และเป็นสัญลักษณ์ความร่วมมือระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีหน้าที่ดูแลแรงงานต่อไป


 


 


ผู้นำแรงงานพอเพียงปลื้มสุรยุทธ์ลงมารับหนังสือ


ด้าน นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานจัดงาน "วันแรงงานแห่งชาติ ปี 2550" กล่าวภายหลังการยื่นข้อเรียกร้อง 9 ข้อต่อนายกรัฐมนตรี ในระหว่างพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ที่ท้องสนามหลวงว่า ดีใจและคาดไม่ถึงว่านายกรัฐมนตรีจะมารับข้อเรียกร้องด้วยตนเอง สิ่งที่อยากให้เกิดผลสำเร็จเร็วที่สุดในรัฐบาลชุดนี้ คือการแก้ไขกฎหมาย เนื่องจากเป็นสภาเดียว โดยเฉพาะการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในมาตรา 5(3) มาตรา 75 และมาตรา 120 ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รับหลักการไปแล้ว และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รับหลักการนำไปพิจารณาอีก 30 วัน ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 19 พ.ค.นี้


 


ทั้งนี้ เพื่อให้มีการคุ้มครองและดูแลลูกจ้างเหมาค่าแรง ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากับลูกจ้างในระบบจ้างปกติ รวมทั้งกรณีนายจ้างสั่งหยุดงานหรือย้ายสถานประกอบการต้องจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชย 100 เปอร์เซ็นต์


 


 


อีกสองเดือนจะมาทวงคำตอบรัฐบาล ยันถ้าฝนไม่ตกวันนี้มาเป็นหมื่น


นายมนัส โกศล กล่าวว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานจะกลับมาทวงคำตอบจากรัฐบาลในเรื่องนี้ในอีก 2 เดือนข้างหน้า ส่วน พ.ร.บ. 2 ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้คือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดหางานและคุ้มครองคนงาน และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว จะต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน คือ กฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายที่คุ้มครองแรงงานและเป็นประโยชน์กับผู้ใช้แรงงานเช่นกัน


 


ส่วนการเรียกร้องให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามอัตราเงินเฟ้อนั้น ยืนยันว่าควรจะต้องยกเลิกโครงสร้างค่าจ้างขั้นต่ำที่มี 22 ระดับ มาใช้โครงสร้างใหม่ที่เป็นอัตราเดียวทั้งประเทศและมีการปรับขึ้นให้ผู้ใช้แรงงานทุกปี


 


นายมนัส ยังกล่าวถึงการเคลื่อนไหวของผู้ใช้แรงงานอีกกลุ่มหนึ่งในวันเดียวกันนี้ว่า ไม่ถือเป็นการขาดเอกภาพหรือความขัดแย้งแต่อย่างใด โดยการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ที่ท้องสนามหลวง จัดโดย 11 สภาองค์การลูกจ้างและสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย ซึ่งถ้าไม่ติดฝนตก มั่นใจว่าจะมีผู้มาร่วมงานนับหมื่นคน แต่วันนี้ก็มากันหลายพันคน


 


 



 



 



ขบวนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 


 


สมานฉันท์แรงงานฯ เสนอมี กม.คุ้มครองสิทธิแรงงาน ต้านแปรรูปรัฐวิสาหกิจ 3 ฉบับ


สำหรับบรรยากาศของกลุ่มคนงาน อีก 2 กลุ่ม ที่แยกออกมาจากกลุ่มที่จัดงานกับรัฐบาลนั้น ในปีนี้ประกอบด้วยส่วนของ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรแรงงาน 67 องค์กร ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม "วันแรงงานสากล"


 


โดยกลุ่มของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และ สมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ส่วนใหญ่สวมเสื้อสีส้ม ประมาณสี่พันคนถือป้ายข้อเรียกร้องรัฐสวัสดิการ และการยกระดับคุณภาพชีวิตกรรมกร มีขบวนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยส่วนหนึ่งได้การแต่งกายเป็นฤๅษีและเต่าเพื่อล้อเลียนรัฐบาล และ ชูป้ายข้อความตำหนิการทำงานของนายอภัย รมว.แรงงาน ระบุว่า "รัฐมนตรีกระทรวงแรง งานทำงานมา 6 เดือนแล้วไม่มีผลงาน ทำงานช้า คิดช้า หรือ จะรอให้เต่าเรียกพ่อ" "รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานต้องอยู่ในหัวใจของผู้ใช้แรงงานไม่ใช่อยู่บนหัวของผู้ใช้แรงงาน"


 


โดยทั้งหมดได้รวมกันที่หน้ารัฐสภาด้านถนนอู่ทองในจากนั้นได้เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1. ให้รัฐบาลประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ... (ฉบับผู้ใช้แรงงาน) 2. ให้รัฐบาลประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย อาชีว อนามัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ พ.ศ. .... (ฉบับผู้ใช้แรงงาน) และ 3. ให้รัฐบาลประกาศยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกรูปแบบ และยกเลิกพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 (รายละเอียดข้อเรียกร้อง)


 



 


"ประสงค์" รับข้อเสนอ รธน.50 จากแรงงาน ฮึ่มโหวตไม่รับ รธน. หากข้อเรียกร้องไม่บรรจุ


โดยระหว่างการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ออกมารับหนังสือจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานดังกล่าว ที่ได้ขอให้ช่วยผลักดันแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานในร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เพิ่มเติม หลังจากก่อนหน้านี้เคยนำเสนอไปในช่วงกำลังยกร่างฯ 15 ประเด็น โดยครั้งนี้เสนอเพิ่ม 5 ประเด็น ประกอบด้วย 1.กำหนดให้ผู้ใช้แรงงานที่อาศัยหรือทำงานในพื้นที่นอกทะเบียนบ้านสามารถใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ในเขตพื้นที่อาศัย หรือทำงานอยู่ได้ 2.ไม่ควรมีการกำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาของ ส.ว.และ ส.ว.ควรจะมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่การสรรหา รวมถึงตำแหน่งรัฐมนตรีที่ต้องจบการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี 3.ให้รัฐบาลคุ้มครองการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรอง 4.ให้ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ และ 5.ให้สนับสนุนการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยการทำงานในสถานประกอบการ โดยให้เป็นองค์กรอิสระภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ซึ่ง น.ต.ประสงค์ รับปากจะพิจารณา และช่วยผลักดันให้


 


"หลังจากนี้เราจะติดตามการดำเนินงานของภาครัฐต่อไป ซึ่งหากข้อเรียกร้องของเราไม่ถูกบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พวกเราอาจไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่จะออกมา เพราะถือว่าไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง" น.ส.วิไลวรรณ กล่าว



 


 


 



'สมัชชาแรงงาน 1550' ต้านรัฐธรรมนูญ คมช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย


 


'สมัชชาแรงงาน 1550' ต้าน คมช. ส่งตัวแทนปีนคลุมผ้าดำอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย


สำหรับกลุ่มที่รวมกันใหม่และต้านรัฐประหาร คือ "สมัชชาแรงงาน 1550" ซึ่งประกอบด้วย สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานกระดาษและการพิมพ์แห่งประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานอาหารและเครื่องดื่มแห่งประเทศไทย, สหภาพแรงงานกรุงเทพผลิตเหล็ก, พันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตย และพรรคแนวร่วมภาคประชาชน ซึ่งร่วมกันจัดกิจกรรมใน "วันแรงงานสากล" โดยผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมเสื้อสีดำ และมีบางส่วนสวมเสื้อสีแดงมีข้อความ "No ไม่รับ ไม่ปลื้ม รัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหาร" มีการถือป้ายผ้า "สิทธิแรงงานต้องบรรจุในรัฐธรรมนูญ - ผู้ใช้แรงงานต้องมีสิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการ" "หยุดเห็นคนไทยโง่ หยุดรัฐธรรมนูญเผด็จการ เลือกตั้งใหม่เดี๋ยวนี้ ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540" (อ่านแถลงการณ์สมัชชา 1550)


 


โดยในช่วงเช้ามีการตั้งเวทีที่ลานพระบรมรูปทรงม้าจัดกิจกรรม "ชำแหละรัฐธรรมนูญ" ผ่านเวทีประชุมสมัชชาผู้ใช้แรงงาน และต่อมาในช่วงเที่ยงมวลชนประมาณพันกว่าคนได้เดินขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน เพื่อประกาศมติผู้ใช้แรงงานคว่ำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับกรรมาธิการ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน และมีการนำตัวแทนขึ้นไปคลุมผ้าดำที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นสัญลักษณ์ เผารถจำลองที่บรรทุกสมาชิก คมช. ก่อนที่จะสลายตัว โดยผู้ชุมนุมบางส่วนได้ไปประชุมสมัชชาผู้ใช้แรงงานต่อ ที่โรงแรมเวียงใต้ ย่านบางลำพู


 


 


"สมศักดิ์ โกศัยสุข" เรียกร้องสิทธิแรงงาน แต่ขอจิกพวกต้านรัฐประหาร


อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในระหว่างที่กลุ่ม "สมัชชาแรงงาน 1550" ปราศรัยต้าน คมช. ที่ลานพระบรมรูปทรงม้านั้น ที่เวทีของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หน้าทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ที่ปรึกษาประธานสหภาพแรงงานการรถไฟแห่งประเทศไทย อดีตเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ขึ้นเวลาที่ปราศรัยถึงปัญหาของผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ได้รับความไม่ปลอดภัยจากการทำงาน จึงต้องการให้มีสิทธิคุ้มครองการทำงานในภาคอุตสาหกรรม เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากผู้ใช้แรงงาน แต่เกิดจากนายจ้าง นอกจากนี้ปัญหาถูกเลิกจ้าง ยังเป็นเรื่องสำคัญ โดยก่อนหน้านี้ได้เคยยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ


 


โดยในช่วงหนึ่งของการปราศรัยนายสมศักดิ์ได้กล่าวว่า ได้มีเอ็นจีโอบางคนเข้ามายั่วยุ ให้ขบวนการแรงงานแตกแยก เพราะการที่มีขบวนผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งไปประท้วงคัดค้านรัฐธรรมนูญปี 2550 และเสนอให้กลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 นั้น เราผู้ใช้แรงงานไม่ควรสนับสนุน เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่สนับสนุนสิทธิของผู้ใช้แรงงาน เพราะกำหนดให้ ส.ส. ต้องจบปริญญาตรี


 


ทั้งนี้คาดว่านายสมศักดิ์โจมตี "สมัชชาแรงงาน 1550" ซึ่งเป็นกลุ่มกรรมกรที่แยกออกมาชุมนุมต้านรัฐประหารและต้านรัฐธรรมนูญ คมช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันแรงงานสากล โดยแหล่งข่าวสายแรงงานระบุว่า 'เอ็นจีโอ' ที่นายสมศักดิ์ โกศัยสุขน่าจะหมายถึงคือ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานที่ปฏิบัติงานในกลุ่ม 'พันธมิตรแรงงานประชาธิปไตย' ซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งในกลุ่มสมัชชาแรงงาน 1550 ที่ออกมาต้านรัฐประหาร


 


 


"ย่านรังสิต" แยกจากขบวนสมานฉันท์แรงงานฯ เหตุห้ามแกนนำพูดต้าน คมช.


นอกจากนี้มีรายงานว่าสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ซึ่งต้องการร่วมแสดงเจตนารมณ์สนับสนุนข้อเรียกร้องปรับปรุงสภาพการทำงานของคนงานต่อรัฐบาลของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้ถอนตัวจากการชุมนุมของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกลางคัน เพราะแกนนำสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ซึ่งเตรียมขึ้นปราศรัยบนเวทีของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยถูกกันไม่ให้ขึ้นเวทีปราศรัยเนื่องจากแกนนำกลุ่มย่านรังสิต เตรียมปราศรัยโจมตีการยึดอำนาจและการทำงานของ คมช. ทำให้มวลชนของสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียงแยกออกมาจากขบวนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและขอเดินทางกลับก่อน แต่มีมวลชนส่วนหนึ่งได้เข้าไปร่วมการชุมนุมและประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับสมัชชาแรงงาน 1550 ที่จัดการประชุมสมัชชาผู้ใช้แรงงาน ในช่วงบ่ายที่โรงแรมเวียงใต้ ย่านบางลำพู


 


 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ประมวลภาพวันกรรมกรสากล-วันแรงงานแห่งชาติ


 


อ่านข่าวประชาไทย้อนหลัง

สมัชชาผู้ใช้แรงงาน 1550 ออกแถลงการณ์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ประชาไท 1 พ.ค. 50


วันกรรมกรสากล : เปิดข้อเรียกร้องคณะกรรมสมานฉันท์แรงงานไทย ประชาไท 1 พ.ค. 50

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net