นายกรัฐมนตรีฟังพรรคการเมืองเรื่องรธน. เตรียมแก้ไขประกาศคณะปฏิรูปฯ

 


ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.20 น.วันที่ 8 พ.ค. พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมกับหัวหน้าพรรคการเมืองเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ พรรคการเมืองทั้ง 44 พรรค ขาดประชุมเพียง 2 พรรค คือ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า และพรรคพลเมืองไทย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้จัดโต๊ะไว้ต่างหากเพื่อให้กลุ่มมัชฌิมา ที่ได้ส่งนายโสภณ เพชรสว่าง เป็นตัวแทนร่วมสังเกตการณ์ด้วย

 

ทั้งนี้การจัดโต๊ะเพื่อหารือกันนั้น ได้จัดเป็นโต๊ะยาวสองแถว เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมหันหน้าเข้าหากัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยนายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไม่ได้นั่งที่หัวโต๊ะ แต่นั่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับพรรคการเมืองใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ หัวหน้าพรรคมหาชน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช และนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย ที่นั่งเรียงกันตามลำดับ

 

พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ถือว่าได้รับเกียรติจากประธาน ส.ส.ร.ที่เดินทางมารับฟังข้อคิดเห็นและข้อมูลโดยตรง ทั้งนี้ ตนได้ติดต่อประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแต่บังเอิญยังติดประชุมอยู่ ไม่สามารถประชุมได้ แต่แค่มีประธาน ส.ส.ร.อยู่รับฟัง ก็คงจะได้แลกเปลี่ยนและนำความเห็นต่างๆไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามการประชุมหารือในวันนี้มีเวลาไม่มากนัก ตนจึงอยากได้ข้อคิดเห็นซึ่งเป็นประเด็นหลัก

 

ส่วนรายละเอียดให้จัดทำเป็นเอกสารเพื่อส่งให้ ส.ส.ร.พิจารณาต่อไป ในส่วนของรัฐบาลซึ่งเป็น 1 ใน 12 องค์กรที่มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่จะต้องดำเนินการให้ความเห็น ซึ่งพูดได้ว่ารัฐบาลได้ดำเนินการถึงขั้นที่เรียกว่าได้รวบรวมความเห็นจากรัฐมนตรีสมบูรณ์แล้ว โดยจะสรุปเป็นประเด็นหลักของ ครม.ต่อไป ซึ่งประเด็นที่ ครม.เตรียมนำเสนอนั้นเกี่ยวข้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และเรื่องที่ภาครัฐบาลต้องพิจารณาเพื่อเสนอต่อ กมธ.ยกร่าง

 

 "ซึ่งการที่ผมกำหนดเวลาไว้ที่ 15.30 น.นั้น เพราะผมต้องนำรัฐมนตีใหม่ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ไปเข้าเฝ้าฯ แต่ถ้าหากทุกคนต้องการจะอยู่เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อ ก็จะขอให้ประธาน ส.ส.ร.อยู่เพื่อรับฟังความิคดเห็นต่อไป ไม่ได้ต้องการที่จำกัดเวลาแค่เพียง 15.30 น." นายกรัฐมนตรี กล่าว

 

นายกรัฐมนตรีเตรียมแก้ไขประกาศคณะปฏิรูปฯ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวภายหลังการหารือเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ระหว่างพรรคการเมือง กับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ว่า นายกรัฐมนตรีแจ้งในการหารือว่า กำลังคิดเรื่องที่พรรคการเมือง ขอให้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถเปิดประชุมภายใน พิจารณาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการเตรียมการเลือกตั้ง โดยที่ไม่จำเป็นต้องยกเลิกประกาศดังกล่าว และคงจะแก้ไขในเวลาอีกไม่นาน

 

"นายกรัฐมนตรีบอกว่า ได้คุยกับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แล้ว ผมหวังว่า คำว่าอีกไม่นานของนายกรัฐมนตรีจะตรงกับเรา" นายจาตุรนต์ กล่าวและว่า ได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีหารือกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อคิดกระบวนการการทำประชามติที่ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้น และควรจะเปิดโอกาสให้ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มีสิทธิที่แสดงความคิดเห็นได้ ไม่ใช่เพียงแต่ออกเสียงลงประชามติเท่านั้น

 

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ถือว่านายกรัฐมนตรีมีความตั้งใจดี และสิ่งที่นายกรัฐมนตรีรับฟังน่าจะทำได้จริง แต่ละพรรคการเมืองก็เสนอสั้น ๆ เนื่องจากเวลาน้อย จึงต้องการให้นายกรัฐมนตรีผลักดันอย่างจริง และมีกระบวนการต่อเนื่อง

 

ไม่เห็นด้วยลดจำนวนส.ส.-ที่มาของ ส.ว.

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า จากการหารือวันนี้ พรรคการเมืองหวังว่าประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งอยู่ในที่ประชุมด้วย จะนำข้อมูลความคิดเห็นที่ได้ไปประกอบการพิจารณาในรายมาตรา

 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นที่พูดถึงกัน คือ ในมาตรา 68 วรรค 2 องค์กรแก้ไขปัญหาวิกฤติชาติ เรื่องอำนาจของ ส.ว. เรื่องวิธีการเลือกตั้ง และอีกประเด็นที่สำคัญคือ การทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ไม่มีการลงลึกในรายละเอียด แต่จะไปอยู่ในกฎหมายลูก ตรงนี้หากใครมาเป็นรัฐบาลก็จะมาแก้ไขได้ ดังนั้น ควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลง

 

ด้าน พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ หัวหน้าพรรคมหาชน กล่าวว่า ประเด็นที่ควรจะต้องมีการปรับปรุง คือ หมวดแนวนโยบายแห่งรัฐจะไปกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญไม่ได้ ต้องกำหนดแบบกว้าง ๆ ไม่เช่นนั้นเมื่อเป็นรัฐบาลจะเอานโยบายของพรรคไปใช้ไม่ได้ เพราะจะขัดกับรัฐธรรมนูญ การกำหนดให้ศาลเข้ามามีบทบาทในการเลือกคณะกรรมการในองค์กรอิสระ และการให้อัยการเป็นอิสระ

 

"เท่าที่ฟังวันนี้ นายกรัฐมนตรีทำอะไรไม่ได้ เพราะต้องเอาไปเสนอให้กับสภาร่างรัฐธรรมนูญต่อไป และเชื่อว่า กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญน่าจะรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เสนอเข้าไป เพราะถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะเสียเงินเปล่า และพรรคการเมืองไม่ได้เข้าข้างตัวเอง การเสนอความคิดเห็นมีเหตุมีผล" พล.ต.สนั่น กล่าว

 

เมื่อถามว่า มองแนวโน้มแล้วแสดงว่าอาจมีการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ พล.ต.สนั่น กล่าวว่า อาจเป็นไปได้ ถ้าพรรคการเมืองไม่รับ สมาชิกพรรคที่มีอยู่ก็ต้องเหมือนกัน

 

ด้านนายโสภณ เพชรสว่าง ประธานฝ่ายกฎหมาย กลุ่มมัชฌิมา กล่าวว่า การหารือครั้งนี้บรรยากาศดีมาก ข้อเสนอส่วนใหญ่ของพรรคการเมืองสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันหมด นอกจากนี้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ยังเสนอว่า น่าจะมีโอกาสให้พรรคการเมืองเข้าไปคุยกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย

 

ส่วนนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช กล่าวว่า ได้เสนอในเรื่องที่เป็นสัจจะของการร่างรัฐธรรมนูญ คือ ให้คิดถึงพื้นฐานประเทศไทย อย่าไปเอาประเทศอื่นมาเทียบเคียง รวมถึงการให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องเข้าใจว่านายกรัฐมนตรีเองก็เป็นคน การให้อำนาจคนคนหนึ่งมากจะทำให้เกิดปัญหา เช่น เรื่องการยุบสภา เพราะในสมัยนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา 5-6 คน จะเห็นชัดเจนว่า เมื่อฝ่ายค้านมีข้อมูลว่ารัฐบาลทุจริตก็อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายนายกรัฐมนตรีก็ใช้วิธียุบสภาเพื่อเป็นทางออก แล้วก็นำเงินที่โกงประเทศมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่ ตรงนี้คือวงจรอุบาทว์ ที่สภาร่างรัฐธรรมนูญจะต้องหาวิธีร่างกติกาไม่ให้ประเทศต้องตกต่ำอีก

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การหารือวันนี้ กลุ่มมัชฌิมาได้ทำข้อเสนอเป็นเอกสารมามอบให้นายกรรัฐมนตรีด้วย ระบุว่า ต้องการให้นายกรัฐมนตรีเชิญหัวหน้าพรรคการเมือง อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 มาร่วมหารือ เรื่องการแก้ไขปัญหาความไม่สบงในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเกิดความสมานฉันท์ในสังคมด้วย

 

"นรนิติ"รับข้อเสนอส่งต่อให้กมธ.ยกร่างฯ

นายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือเรื่องรัฐธรรมนูญ ระหว่างพรรคการเมืองกับรัฐบาล วันนี้ (8 พ.ค.) ว่า หลังจากที่ได้ฟังตัวแทนพรรคการเมืองเสนอความคิดเห็นแล้ว ส่วนใหญ่เป็นข้อกังวลที่เคยมีการเสนอแนะเข้ามา ตนมีหน้าที่รับฟัง และนำเสนอต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญรับทราบว่า พรรคการเมืองมีความคิดเห็น และเข้าใจต่างจากสภารัฐธรรมนูญอย่างไร

"สำหรับประเด็นหลักที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่เป็นห่วง ทั้งเรื่องจำนวน ส.ส.ที่ลดลง และที่มาของ ส.ว. ซึ่งพรรคการเมืองส่วนใหญ่เสนอแนะว่า ไม่ว่าที่มาจะมาจากการเลือกตั้ง หรือสรรหา ต้องดูว่า ส.ว.ทำหน้าที่อะไร ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ซึ่งผมรับฟังไว้ บางพรรคการเมืองจัดทำเป็นเอกสารมา ก็จะเสนอให้กรรมาธิการยกร่างฯ ทันที" นายนรนิติ กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการรับฟังข้อคิดเห็น คิดว่ามีน้ำหนักพอที่จะไปแก้ไขต้นร่างหรือไม่ นายนรนิติ กล่าวว่า หลายเรื่องตรงกับที่มีการเสนอในการอภิปราย และเวทีต่าง ๆ แต่ต้องประมวลเสนอไปยังกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งพร้อมที่จะรับฟังความเห็น ส่วนจะพิจารณาอย่างไร ถือเป็นสิทธิของกรรมาธิการฯ ไม่สามารถบอกได้

 

"ผมจะนำข้อเสนอต่าง ๆ ไปให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้รับทราบด้วย เพื่อพิจารณาร่วมกันต่อไป เพราะขั้นนี้ถือเป็นขั้นที่ 2 ของการรับฟังความคิดเห็นประชาชน องค์กรอิสระ คนที่ไม่เห็นด้วย ขอให้ติติงมา เชื่อว่า กรรมาธิการยกร่างฯ และ ส.ส.ร. ต้องการที่จะปรับปรุงแก้ไข แต่ผลจะออกมาอย่างไร ต้องดูเป็นขั้นตอนต่อไป" นายนรนิติ กล่าว

 

ต่อข้อถามว่า มีการตั้งสมมุติฐานหรือไม่ว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านจะทำอย่างไรหรือไม่ นายนรนิติ กล่าวว่า ไม่มีเรื่องดังกล่าว แต่ขณะนี้มีการตั้งสมมุติฐานเสร็จแล้วว่า ถ้าไม่ผ่าน จะมีคนอื่นเป็นคนทำ

"แม้ผมจะเป็นคนกลางในการทำหน้าที่ แต่ก็ไม่หนักใจ และสภาร่างรัฐธรรมนูญคงไม่จัดเวทีเพื่อพบกับนักการเมืองอีก เพราะครั้งนี้ถือว่าได้รับฟังความคิดเห็นแล้ว และหากใครมีอะไรที่จะเสนอแนะ ก็ส่งเป็นเอกสารได้" นายนรนิติ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศในการประชุมหารือครั้งนี้ ส่วนใหญ่นายกรัฐมนตรีไม่ได้พูดอะไรมาก เพียงแต่เรียกให้ตัวแทนพรรคการเมืองเสนอแนะ และมีนายนรนิติเป็นคนชี้แจง

 

ครม.ยังหารือร่างรธน.ไม่เสร็จส่งสสร.สัปดาห์หน้า

นายณัฐฐวัฒน์ สุทธิโยธิน ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรธน.ของครม. ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีการรายงานผลสรุปที่ได้ประมวลมา ซึ่งก็มีข้อถกเถียงและอภิปรายในหลายประเด็นในวงกว้าง ซึ่งรมต.หลายท่านเห็นว่าควรมีการพูดคุยและพิจารณาร่วมกันอีกครั้งหนึ่งในรายละเอียดที่สำคัญ

 

ดังนั้นเบื้องต้นเป็นเพียงการรับทราบข้อคิดเห็นที่เสนอมา ส่วนการจะเสนอความเห็นของครม.จะขออภิปรายในครม.ครั้งหน้า ก่อนสรุปความเห็นเกี่ยวกับร่างรธน.จากที่ประชุมครม.ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

ผู้สื่อข่าวถามว่ารายละเอียดที่สำคัญคือเรื่องใด นายณัฐฐวัฒน์ กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจถึงความเหมาะสมว่าควรจะเปิดเผยก่อนหรือไม่ เนื่องจากได้คาดการณ์ว่านายกฯ อาจจะเป็นผู้เปิดเผยเองภายหลังการหารือในรายละเอียดกับครม.ในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตามความเห็นที่ยังไม่สามารถสรุปได้เนื่องจากจะต้องมีการกลั่นกรองเพื่อให้ความเห็นเป็นมติจากที่ประชุมครม.

 

"คือความเห็นจากรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงทุกคนมีอิสระ แต่ว่าความเห็นที่จะออกไปในนามคณะรัฐมนตรี มันเป็นเรื่องที่จะต้องได้รับความเห็นพ้องของคนส่วนใหญ่ดังนั้นจึงไม่สามารถสรุปได้ในวันนี้"

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าจะยังไม่ส่งร่างดังกล่าวให้กับส.ส.ร.ใช่หรือไม่ นายณัฐฐวัฒน์ กล่าวว่า ยังพอมีกรอบเวลาในการดำเนินการเช่นเดียวกับหน่วยงานอื่น ๆ

 

ด้านนางเนตรปรียา ชุมไชโย ผู้ช่วยโฆษกฯ กล่าวว่า ครม.ใช้เวลาในการหารือประเด็นดังกล่าวเพียงเล็กน้อย

 

เนื่องจากมีวาระที่เข้าพิจารณาในการประชุมจำนวนมาก โดยวันนี้ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าการประชุมครม.ครั้งหน้าขอให้มีวาระเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพื่อจะได้มีเวลาในการหารือเรื่องร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น

 

"บรรหาร"รับติงเลขาฯนายกฯต้องมีจดหมายเชิญ

นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า ที่ตนไม่ร่วมประชุมวันนี้ ก็ไม่เป็นไร โอกาสข้างหน้ายังมีมาก ที่ไม่ไป เพราะความชัดเจนในการนัดหมายไม่มี อาทิตย์ที่แล้วได้รับฟังข่าวจาก นสพ.ว่ารัฐบาลจะนัดพรรคการเมืองไปประชุมที่ทำเนียบ บ่าย 2 โมง บังเอิญตนนัด ปชป.วันเวลาเดียวกัน ขอเลื่อนไป ก็รอโทรศัพท์ เข้ามาก็ไม่มี ตนก็นัดหมายกับแพทย์ไว้ เมื่อเช้าไปประชุมพรรค ขณะที่ประชุมมีรองเลขาฯนายกฯโทรมาหาตน ว่าขอเชิญ ตนก็ว่าเชิญแบบนี้ไม่ได้ จะต้องมีหลักเกณฑ์ มีหนังสือเชิญมา เขาก็ว่า ติดต่อตนไม่ได้ ตนก็ว่าไม่ได้หรอก เพราะคนอยู่ในประเทศไทย จะติดต่อไม่ได้ได้อย่างไร

 

กมธ.ไม่หนุนพระพุทธศาสนาประจำชาติ

การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญการปฎิรูปการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายวิษณุ เครืองาม สนช. เป็นประธานฯ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับรับฟังความคิดเห็นเพื่อสรุปความเห็นเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ สนช.  ภายหลังการประชุม นายประพันธ์ คูณมี  รองประธานคณะกรรมาธิการฯ แถลงว่า คณะกรรมาธิการฯได้พิจารณาในส่วนขององค์กร และกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ เนื้อหาสาระในภาพรวมเสร็จแล้ว และได้รวบรวมความเห็นของ สนช.ทั้งหมดไว้ในร่างรายงานเพื่อให้ที่ประชุมได้พิจารณาด้วย

 

ทั้งนี้มีทั้งส่วนที่เห็นร่วมกันและความเห็นต่างกันของรายบุคคล  อย่างไรก็ตามในส่วนของคณะกรรมาธิการยกร่างฯอาจเกิดปัญหาเรื่องการยอมรับเพราะมีที่มาต่างจากการยกร่างรัฐธรรมนูญในปี 2540 ซึ่งอาจเกิดความหวาดระแวงจนกลายเป็นความกดดันในการร่างรัฐธรรมนูญ อาจโยงไปถึงรัฐธรรมนูญที่จะออกมาด้วย ทั้งนี้คณะกรรมาธิการฯดูภาพรวมของรัฐธรรมนูญแล้วเห็นว่า เหมือนว่ายังหาสาเหตุของวิกฤตของบ้านเมืองไม่เจอ

 

นายประพันธ์ กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้คณะกรรมาธิการฯได้มีข้อยุติในประเด็นใหญ่ๆดังนี้คือ เสนอให้ตัดรายละเอียดการกำหนดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐออกให้เหลือเพียงเรื่องหลักๆเท่านั้น ,เสนอให้ตัดมาตรา 68 วรรค 2  เกี่ยวกับองค์กรแก้วิกฤตประเทศ , เสนอตัดมาตรา 14  ที่เกี่ยวกับองคมนตรีออกทั้งมาตรา ส่วนบทคุ้ม ครองสิทธิฯให้ไปกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ,ให้ตัดอำนาจประชาชนที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาล,  เสนอไม่ให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติเนื่องจากเห็นว่าไม่ได้ทำให้ศาสนามั่นคงตามเหตุผลที่กล่าวอ้าง

 

และเห็นว่าไม่ควรดึงศาลเข้าเกี่ยวข้องกับการเมืองมากเกินไปเพราะอาจมีส่วนได้ส่วนเสียทำให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปหาผลประโยชน์ทางการเมืองกับศาลได้  ส่วนประเด็นการกำหนดให้อัยการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญอาจมีปัญหา เพราะอัยการเป็นทนายแผ่นดิน ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล หากเกิดคดีความแล้วรัฐบาลขอให้เป็นที่ปรึกษากฎหมายอาจถือเป็นการแทรกแซงองค์กรอิสระได้

 

นายคำนูณ  สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญการปฎิรูปการเมือง สนช.  กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯจะประชุมเพื่อพิจารณาส่วนที่เหลือให้เสร็จภายในวันที่ 9 พ.ค.นี้ เพื่อสรุปส่งให้ที่ประชุมใหญ่ สนช.พิจารณาได้ในวันที่ 17-18 พ.ค. ซึ่งเป็นการฟังความเห็นก่อนสรุปรวบรวมเป็นความเห็นของสนช.ทั้งคณะเพื่อส่งไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนำไปพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตามยังสมาชิกมีความเห็นแตกต่างจากกรรมาธิการฯอยู่บ้างซึ่งสามารถอภิปรายแสดงความเห็นในที่ประชุม สนช.ได้ โดยเฉพาะเรื่องการบัญญัติศาสนาประจำชาติที่คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สนช.มีมติให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

 

ซึ่งสนช.ยังสามารถเสนอความเห็นต่อที่ประชุมได้  ส่วนประเด็นที่มาของส.ว.ยังไม่ได้ข้อสรุปแต่เท่าที่รวบรวมความเห็นส่วนใหญ่ ไม่ให้สรรหาโดยตรง แต่อาจสรรหามา 2-3 เท่าแล้วให้ประชาชนเลือก ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส.ถ้าไม่เหตุผลที่ดีกว่าเดิมก็ควรคงไว้ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แต่ตัดฐานคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 5 เปอร์เซ็นต์ออกไป

 

อดีต3พรรคฝ่ายค้านอัดร่างรธน.ไม่เป็นปชต.

เช้าวันนี้(8พ.ค.) มีการประชุมอดีต 3 พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย นำโดยนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย และพรรคมหาชน นำโดยพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ หัวหน้าพรรคมหาชน เพื่อพิจารณาแสดงความเห็นถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับรับฟังความคิดเห็น ทั้งนี้ รูปแบบการประชุมเป็นการจัดเก้าอี้เป็นรูปวงกลม เพื่อให้ผลัดกันแสดงความเห็น โดยใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง

 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการหารือว่า ทั้ง 3 พรรคเห็นตรงกันว่า บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญหลายส่วนขาดความเป็นประชาธิปไตย เช่น การมีองค์กรต่าง ๆ เข้ามามีอำนาจหรือเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยไม่ได้ยึดโยกับประชาชน เช่น มาตรา 68 วรรค 2 ที่ให้มีองค์กรแก้วิกฤตชาติ นอกจากนี้ บทบัญญัติบางเรื่อง เช่น แนวนโยบายของรัฐ ที่เขียนละเอียดและพยายามผูกมัดมากจนทำให้ภาคการเมืองไม่มีช่องทางในการนำเสนอนโยบายของตัวเอง ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตย

ดังนั้นความเห็นนี้จะเป็นจุดร่วมที่แต่ละพรรคนำเสนอผู้เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อให้บ้านเมืองผ่านพ้นวิกฤต แต่การนำเสนอไม่ได้ผูกติดอยู่ที่การหารือกับนายกรัฐมนตรีในช่วงบ่ายวันนี้ (8 พ.ค.) เท่านั้น เพราะช่องทางที่ ส.ส.ร.รับความเห็นยังมีอีก 12 ช่องทาง ซึ่งเราสามารถนำเสนอความเห็นตรงไปยังส.ส.ร.เองได้

 

"ความเป็นห่วงของพวกเราคือ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาเพราะไปตั้งเป็นรายประเด็นเอาไว้ แล้วต้องตอบคำถามว่าสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้จุดสำคัญ คือ เราต้องการให้เป็นกติกาที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งถ้าเป็นประชาธิปไตยแล้ว ทุกอย่างก็ง่ายในวันข้างหน้า จึงขอให้ยึดหลักทำให้เป็นมาตรฐานที่เป็นประชาธิปไตยก่อน"นายอภิสิทธิ์ กล่าว

 

นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ คนที่จะเข้ามาอยู่ในวงการเมืองส่วนใหญ่ที่เข้าไปในสภา คือ นักการเมืองทั้งสิ้น ถ้าผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีอคติกับพรรคการเมือง ก็เชื่อว่าเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วจะมีความวุ่นวายยิ่งกว่าเดิมแน่นอน โดยพรรคการเมืองจะเป็นเบี้ยหัวแตก และเศรษฐกิจจะย่ำแย่ลง

 

ส่วนการกำหนดให้พรรคการเมืองไม่สามารถเสนอนโยบายของตัวเองได้นั้น คงเป็นไปไม่ได้ หรือแม้แต่เรื่องกำหนดให้อัยการเป็นองค์กรอิสระนั้น ก็อาจจะเกิดปัญหาในกรณีถ้ารัฐบาลมีปัญหาแล้ว ใครจะเป็นทนายของแผ่นดิน รวมทั้งวิธีการเลือกตั้งก็ไม่กำหนดให้ชัดเจน แต่กลับโยนไปให้อยู่ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ต้องใช้เวลาในการร่างในขณะที่เวลาเหลือน้อย อาจทำให้การเลือกตั้งก็ต้องถอยร่นไปถึงปี 2551

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงการเดินทางไปร่วมประชุมกับนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล ในช่วงบ่ายของวันนี้(8 พ.ค.) นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนได้รับปากไปแล้ว จึงต้องเดินทางไป ขณะที่พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ หัวหน้าพรรคมหาชน กล่าวว่า ตนได้รับปากทางโทรศัพท์แล้วว่าจะไปร่วมประชุม แต่ขอติงไว้นิดว่าครั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้ให้เกียรติกับพรรคการเมืองเลย เพราะหนังสือเชิญเพิ่งถูกส่งมาถึงพรรค เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา

 

ด้านนายบรรหาร กล่าวว่า คงต้องการหารือระหว่างกรรมการบริหารพรรคชาติไทยอีกครั้งว่าจะตัดสินใจอย่างไร เพราะเพิ่งได้รับติดต่อทางโทรศัพท์มาเมื่อเช้า และหนังสือเชิญที่เพิ่งส่งโทรสารไปที่พรรคชาติไทย ลงเวลา 09.34 น. แต่หนังสือเชิญลงวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่กลับส่งมาเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา จึงไม่รู้ว่ามาอย่างไร อย่างนี้คนทำงานต้องปลดให้หมดทุกคน ทั้ง 3 พรรคก็เพิ่งได้รับเดี๋ยวนี้

 

"ถ้าพูดถึงรูปแบบการทำงานว่ารัฐบาลชุดนี้ทำงานเป็นหรือเปล่า ผมตอบไม่ได้ เดิมทีเห็นข่าวในหนังสือพิมพ์ว่าวันอังคาร รัฐบาลจะเชิญไปประชุม เดิมทีผมนัดประชุม 3 พรรคในช่วงบ่ายเหมือนกัน ก็เลื่อนมาเป็นเวลา 09.30 น. หลังจากนั้นก็รอโทรศัพท์และดูทางสื่อว่ารัฐบาลเชิญมาหรือไม่ เสาร์-อาทิตย์ ผมเช็คแล้วก็ไม่เห็นมี จึงคิดว่าเรื่องไม่จริง ในการเข้าเฝ้าในวันฉัตรมงคล ผมพบกับนายกฯก็ไม่พูดสักคำ จึงคิดว่าเขาคงไม่เชิญ แต่สื่อเขียนไปเอง จนมาเมื่อเช้า รองเลขาธิการนายกฯโทรศัพท์มาหาผม ผมก็เลยอัดใส่เขาไป 2 กระบุง ใส่ไปถึงเลขาธิการนายกฯด้วยว่า พวกคุณทำงานอย่างนี้ นายกฯเสียหาย เรื่องใหญ่ ๆ อย่างนี้มีเจตนาจะเชิญพรรคการเมือง ก็ต้องทำเป็นเรื่องเป็นราว ออกสื่อแล้ว ก็ต้องโทรศัพท์มาด้วย ถ้าจะมาบอกว่าติดต่อหัวหน้าพรรคชาติไทยไม่ได้ 3-4 วันอย่างนี้ ก็ต้องเลิกเป็นรัฐบาลแล้ว แสดงว่าผมไม่อยู่หนีไปอยู่อังกฤษแล้วหรือ ผมตัดสินใจไม่ไปตั้งแต่เมื่อวาน เพราะคิดว่าไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ต้องหารือกันที่พรรคก่อน แต่ต้องบอกตรง ๆ ว่ารัฐบาลแย่ ถ้านายกฯมีคนทำงานอย่างนี้ แย่แน่ ๆ เรื่องใหญ่ ๆ ยุ่งแน่ ๆ เพราะเรื่องนัดกันแค่นี้ยังไม่เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ได้สติเลย " นายบรรหาร กล่าว

 

 

 

ที่มา: http://www.komchadluek.net

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท