ยุติการปิดถนน รัฐต้องเคารพสิทธิ

ประชาไท - 10 พ.ค. คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (Working Group on Justice for Peace) ออกแถลงการณ์ "ข้อเสนอภาคประชาชน แนวทางยุติการปิดถนน ชุมนุมเปิดเผย รัฐเคารพสิทธิ"

 

เนื้อความในแถลงการณ์ ระบุถึงเหตุการณ์การปิดถนนของชาวบ้านหลายครั้งหลายหนในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูง เช่นกรณีการประท้วงที่หน้าค่ายอิงคยุทธ์เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 50 ในกรณีการปิดถนนสายเบตง-กรงปีนังตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.50 การประท้วงหน้าค่ายอิงคยุทธ์บริหาร ที่สร้างความเดือนร้อนให้กับทุกฝ่ายในการสัญจรไปมา การสัญจรระหว่างเบตง - ธารโต - ตัวเมืองยะลา ต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทาง ยะลา - ยะหา - บันนังสตา - ธารโต - เบตง โดยมีทหารและตำรวจ คอยดูแลความปลอดภัยช่วงยะหา - บันนังสตา ตลอดเส้นทาง พร้อมกับวางกำลังทหาร ตำรวจ อาสาสมัครรักษาดินแดน คุ้มกันพื้นที่รอบนอก และตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ป้องกันไม่ให้คนนอกพื้นที่เข้าไปสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมเพิ่มเติม สร้างความเสียหายและเดือนร้อนแก่ประชาชนโดยทั่วไป

 

เหตุผลของการปิดถนนสายสำคัญและการประท้วงหน้าค่ายอิงคยุทธ์บริหารเพื่อขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยทุกคนจำนวน 24 คน ที่ถูกจับกุมจากการปิดล้อมหมู่บ้านอูเปและ บ้านลือมุ้ ต.กรงปีนัง อ.กรงปีนัง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 29 เม.ย.50 ในเวลาประมาณ ตีสาม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารประมาณ 150 คนได้ปิดล้อมหมู่บ้านและควบคุมตัว โต๊ะอิหม่าม สมาชิก อบต. ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านจำนวนทั้งสิ้น 24 คน ทั้งหมดถูกควบคุมตัวไปสอบสวนตามพรก.ฉุกเฉินที่ค่ายนำตัวไปควบคุ้มตัว ณ ค่ายอิงคยุทธฯ ต.หนองจิก จ.ปัตตานี

 

ชาวบ้านได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยทุกคน ขอให้ถอนทหารออกจากชุมชน และขอโทษชาวบ้านที่เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจค้นมัสยิดในยามวิกาลโดยไม่ให้ความเคารพกับสถานที่ซึ่งใช้ประกอบศาสนกิจ

 

เหตุผลของการปิดล้อมจับกุมของทางฝ่ายทหารคือ เพื่อสอบสวนขยายผล และเชื่อว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวมีส่วนในการก่อเหตุร้ายในพื้นที่ โดยทางทหารจับกุมบุคคลต้องสงสัยจำนวนมากในหมู่บ้านที่สงสัยว่าเป็นพื้นที่ของผู้ก่อการ หรือผู้สนับสนุนผู้ก่อการ โดยใช้อำนาจพ.ร.ก.ฉุกเฉินซึ่งมีอำนาจควบคุมตัวได้สูงสุดถึง 30 วัน

 

อย่างไรก็ดี จากการติดตามประเด็นเรื่องสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวภายใต้พรก. คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพพบสภาพปัญหาที่อาจนำไปสู่การเข้าใจผิดและการสร้างเงื่อนไขให้ชาวบ้านปฏิเสธกฎหมายและรวมกันปิดถนนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ดังกรณีปิดถนนหลายครั้งที่ผ่านมา

 

ทางคณะทำงานฯ พบว่า การควบคุมตัวภายใต้พรก. ฉุกเฉินของฝ่ายทางการมีปัญหาที่อาจสร้างเงื่อนไขให้เกิดการปิดถนน เนื่องจากทางทหารขาดการประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการควบคุมตัวที่ค่ายวิวัฒน์สันติ ความสับสนในใช้กฎหมายหลายฉบับในการจับกุมตัว (กฎอัยการศึก พรก.ฉุกเฉิน หรือการใช้กฎหมายอาญา) ข้อจำกัดในการเยี่ยมโดยญาติและทนายในการช่วยเหลือทางกฎหมายเบื้องต้น การปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินกรรมวิธีในการซักถาม และความเข้าใจของชาวบ้านชุมชนต่อผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวกลับจากการถูกควบคุมตัวภายใต้พรก. ฉุกเฉิน สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ชาวบ้านปฏิเสธการใช้อำนาจของรัฐและใช้วิธีการปิดถนนเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องสงสัย ทั้งเป็นการง่ายต่อการยุยงสร้างความไม่ไว้วางใจต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ

 

ทางคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ มีข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังนี้

 

หนึ่ง ประชาชนมีสิทธิในการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจของรัฐ ความไม่เป็นธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐโดยการชุมนุมของประชาชนต้องเป็นไปโดยสงบ เปิดเผย และปราศจากอาวุธ รวมทั้งการใช้ความรุนแรง ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการกระทำที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพของบุคคลอื่นๆภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย โดยผู้ชุมนุมจะต้องเปิดเผยตนเอง มีข้อเรียกร้องที่รับฟังได้ด้วยเหตุผลบนพื้นฐานของความเป็นจริง

 

สอง รัฐต้องใช้กฎหมายและเคารพสิทธิมนุษยชนต่อผู้ถูกควบคุมตัวตามพรก. ณ ศูนย์วิวัฒน์สันติ ค่ายอิงคยุทธ์บริหารฯ อย่างเคร่งครัด โดยตลอดระยะเวลาตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 ถึงปัจจุบัน มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชน เช่น มีการทำร้ายร่างกาย การบังคับให้สารภาพ การซัดทอดที่ทำให้เกิดการจับกุมเพิ่มเติม ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้เกิดความไม่ไว้วางใจของชาวบ้านและญาติต่อการควบคุมตัวที่ค่ายฯ อันเป็นเงื่อนไขให้ผู้ไม่หวังดียุยงหรือปลุกปั่น สร้างข่าวลือให้ชาวบ้านต่อต้านการใช้อำนาจตามพรก. ฉุกเฉินมากขึ้น

สาม รัฐต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและสาธารณชนเข้าใจถึงการใช้อำนาจพรก. ในการควบคุมตัวประชาชนเพื่อการสอบสวน โดยทางหน่วยงานทหารต้องสามารถอธิบายถึงขอบเขตการใช้อำนาจการสอบสวน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ชาวบ้านในพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งญาติของผู้ถูกควบคุมตัว

 

สี่ ขอให้ยกเลิกการบังคับใช้พรก.ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปีพ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นการใช้อำนาจในการควบคุมตัวบุคคลเป็นเวลา 30 วัน ซึ่งปัจจุบันขาดระบบการตรวจสอบความโปร่งใสและการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐโดยใช้อำนาจพรก. โดยภาพรวมของพรก. ฉุกเฉิน มีบทบัญญัติที่ยกเว้นการรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐต่อกรณีการละเมิดต่อประชาชน ที่ผ่านมาเมื่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยอาจใช้อำนาจเกิดขอบเขตโดยไม่ต้องรับผิด และการใช้อำนาจพรก. ฉุกเฉินเกือบสองปีที่ผ่านมา ก็ไม่สามารถลดความรุนแรงที่เกิดในสามจังหวัดชายแดนใต้ได้แต่อย่างไร จึงน่าจะมีการทบทวนผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมทั้งการทบทวนเรื่องการประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่

 

ห้า รัฐควรแยกแยะประชาชนที่บริสุทธิ์และแนวร่วมทางความคิด และผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดออกจากกัน โดยมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดและความรุนแรง และต้องไม่เหมารวมผู้บริสุทธิ์และแนวร่วมออกจากกัน โดยเรียกร้องขอให้ยุติการจับกุมผู้ต้องสงสัยจำนวนมากโดยปราศจากข้อมูลที่ชัดเจน การจับผู้ต้องสงสัยจำนวนมากซึ่งเป็นการเหวี่ยงแห โดยมีอาจมีชาวบ้านบริสุทธิ์ไม่มีส่วนรู้เห็นในการก่อการไปด้วยในคราวเดียวกัน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าถูกกลั่นแกล้งและเกิดเป็นเงื่อนไขในการปลุกระดมและยุยงให้ชุมชนลุกขึ้นมาปิดถนนเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยบ่อยครั้งมากขึ้น การจับกุมต้องดำเนินอย่างละมุนละม่อมและมีข้อมูลชัดเจนเชื่อถือได้ปราศจากอคติ รวมทั้งยินยอมให้มีการใช้อำนาจตรวจสอบตามกฎหมาย เช่น การให้สิทธิในการพบญาติและทนายความ เป็นต้น

 

หก ขอให้ร่วมมือกับภาคประชาชน ภาคประชาสังคมในการทำงานระดับชุมชนส่งเสริมการใช้นโยบายสันติวิธีและการใช้กฎหมายที่เป็นธรรม รัฐควรเคารพต่อการทำงานของภาคประชาชนและภาคประชาสังคมในพื้นที่ให้ร่วมกันแก้ไขปัญหาตามแนวทางสันติวิธี เพื่อดึงมวลชนที่รักสันติให้สามารถมีพื้นที่ท่ามกลางความรุนแรงและการก่อเหตุร้ายรายวัน ทั้งนี้จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนให้ร่วมยุติความรุนแรงในพื้นที่ได้ในที่สุด

 

 

 

 


คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.. 2549 เป็นการรวมตัวกันของปัจเจกชน องค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์การด้านสันติภาพ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ สามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท