Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 11 พ.ค.50 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม เวลา 13.00-16.00 น. ที่ห้อง 222 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มธ. ร่วมกับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ศูนย์ข่าวอิศรา และ มูลนิธิ Friedrich Ebert Stifting จัดการอภิปรายสาธารณะทางวิชาการ โครงการวิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ครั้งที่ 1 เรื่อง "ปัญหาหลักการพื้นฐานในร่างรัฐธรรมนูญฯ"


 


วิทยากรประกอบไปด้วย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. และ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มธ. ดำเนินรายการโดย ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


ต่อไปนี้คือ การอภิปรายทุกถ้อยกระทงความของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ แห่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


 


0 0 0


 


ผมขอเริ่มด้วยเรื่องของปฏิรูปการเมืองก่อน


 


คงจำได้ว่า อารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการของสังคมไทยในการปฏิรูปการเมืองนั้นเริ่มมีขึ้นตั้งแต่ก่อนการมีรัฐธรรมนูญ 2540 และถึงแม้ความต้องการดังกล่าวจะไม่รุนแรงเท่าในช่วงหลังปี 40 แต่ก็ยังอยู่สืบมาจนถึง 19 กันยา โดยไม่ว่าจะมีการรัฐประหารหรือไม่ การผลักดันไปสู่การปฏิรูปการเมืองก็ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และยังอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกของคนไทย ฉะนั้นการรัฐประหารจึงปฏิเสธการปฏิรูปการเมืองไม่ได้


 


ผมคิดว่าโจทย์สำคัญของรัฐธรรมนูญใหม่ คือปฏิรูปการเมือง แต่รัฐธรรมนูญนี้กลับทำให้อารมณ์ความรู้สึกที่ต้องการจะปฏิรูปหายไป กลายเป็นเพียง "หมายจับทักษิณ" เท่านั้น คือมันไม่ใช่รัฐธรรมนูญอีกแล้ว นี่เป็นเรื่องน่าเสียดาย


 


จริงๆ แล้ว รัฐธรรมนูญ 40 สามารถจับประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองได้ถูกต้องหลายประเด็นด้วยกัน แต่อาจจะวางวิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ เอาไว้ไม่เพียงพอ หรือในบางกรณีก็วางวิธีแก้ไว้ผิดทาง อย่างไรก็ตามสังคมไทยถือว่าโชคดีมาก ซึ่งจากประสบการณ์การใช้รัฐธรรมนูญ 40 มาแล้ว 10 ปี ทำให้สามารถดูได้ว่าจุดอ่อนอยู่ตรงไหน ดูได้ว่าจุดใดไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญต้องการ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 50 น่าจะสามารถนำไปปรับปรุงได้


 


แต่น่าเสียดายที่ร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมา กลับไม่ได้สนใจประสบการณ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมาไม่เหมาะสม และเป็นที่น่าเสียดายอีกเช่นกันที่ถึงแม้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นสามารถอ่านกฎหมายได้อย่างทั่วถึง แต่กลับไม่สามารถ "อ่านประเทศไทย" ได้ทั่วถึง


 


ประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นความไม่ก้าวหน้าของรัฐธรรมนูญสำหรับสังคมไทยนั้น นับตั้งแต่ก่อน 2475 "เรามีระบอบการปกครองที่พยายามทำให้การเมืองไม่เป็นการเมือง" หรือ "Depoliticization" มาโดยตลอด


 


โดยทั่วไปแล้ว "การเมือง" หมายถึง การต่อรองเชิงอำนาจในการจัดการทรัพยากร พูดง่ายๆ ก็คือ การต่อรองผลประโยชน์ในความหมายกว้าง ซึ่งรวมถึงในแง่อุดมการณ์ เช่น ไม่ว่าจะเชื่อในคอมมิวนิสต์ หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็สามารถขึ้นมาบนเวทีเพื่อต่อรองผลประโยชน์ให้โน้มเอียงไปในแนวทางของตนได้ โดยผลประโยชน์ในที่นี้อาจจะเป็นในแง่เงิน ในแง่อำนาจ หรือในแง่เกียรติยศทางสังคมก็เป็นได้


 


เมื่อการเมืองคือการต่อรองผลประโยชน์ ด้วยเหตุนี้ในโลกแห่งความเป็นจริงจึงไม่มีใครอยู่พ้นการเมืองไปได้ เมื่อไรที่พูดถึงการเมืองของระบอบประชาธิปไตย หัวใจของมันก็คือระบบที่ทำให้คนทุกกลุ่มสามารถขึ้นมาบนเวทีเพื่อต่อรองผลประโยชน์กันอย่างเท่าเทียม แต่ถ้ามีคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งขึ้นมาบนเวทีเพื่อต่อรองผลประโยชน์กัน ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้รับสิทธิ์นั้น เพียงแต่รอส่วนแบ่งจากคนกลุ่มน้อย อย่างนั้นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย


 


นับตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อครั้งประเทศไทยยังคงได้ชื่อว่าประเทศสยาม ระบอบการปกครองนั้นก็พยายามที่จะให้ "ไม่มีการเมือง" จะมีก็แต่การแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยผู้ปกครองที่ดี มีเมตตาธรรม รวมทั้งหลักเกณฑ์ที่ใช้ชี้วัดความเป็นคนดี ก็จะพิจารณาจากชาติตระกูล ใครมีชาติตระกูลดี ก็ย่อมได้รับการอบรมสั่งสอนมาดี ทำให้เป็นผู้มีคุณธรรม เป็นต้น


 


หลัง 2475 เมื่อประเทศไทยเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย ชนชั้นนำไทยก็ได้รับมรดกทางความคิดเรื่อง "ความไม่มีการเมืองในการเมืองไทย" สืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้ เพียงแต่ในหลัง 2475 นั้น ได้ปฏิเสธหลักเกณฑ์เดิมเรื่องชาติตระกูล มาเป็นเรื่องของการศึกษา หรือความมั่งคั่งในการใช้ชี้วัดความเป็นผู้ปกครองที่ดีแทน


 


ความ "ไม่มีการเมือง" ในการเมืองไทยนี้ คือการที่คนอื่นๆ ไม่ต้องเข้ามาเกี่ยว เอาเฉพาะชนชั้นนำเท่านั้นที่จะเป็นผู้แบ่งปันผลประโยชน์ แบ่งปันทรัพยากรอย่างเป็นธรรมให้แก่คนอื่น แต่เดิมชนชั้นนำไทย คือคนที่อยู่ในวงราชการเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาก็ขยายไปสู่นักธุรกิจหรือพ่อค้า ซึ่งก็ถือเป็นการเปิดกว้างขึ้น แต่การแบ่งปันผลประโยชน์ที่เปิดกว้างขึ้นนี้ ก็ยังจำกัดสำหรับกลุ่มคนเหล่านี้เท่านั้น ซึ่งก็ยังไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ดี


 


และถึงแม้ว่าคนที่สถาปนาตนเองมาเป็นผู้ปกครองจะมีความหลากหลายมากขึ้น โดยได้อำนาจจากการเลือกตั้งบ้าง หรือได้อำนาจจากการรัฐประหารบ้าง แต่ก็ยังคงความพยายามที่จะทำให้ "การเมืองไม่เป็นการเมือง" อยู่ดี


 


เช่นกัน ในรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ ก็มีความพยายามทำ "การเมืองให้ไม่การเมือง" แก่ทุกส่วนในสังคม สถาบันต่างๆ ในสังคม ถูกทำให้ไม่การเมืองทั้งโดยตรง และโดยอ้อม เช่น สถาบันสงฆ์ เราเชื่อกันเลยว่าพระไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่มันมีจริงหรือคนที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง มันเป็นไปได้อย่างไร ณ ที่นี้ไม่ต้องพูดไปไกลถึงการเรียกร้องให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เพียงแค่เรื่องการจัดการกับศาสนสมบัติก็คงแสดงให้เห็นภาพที่ชัดเจน


 


นอกจากสถาบันสงฆ์แล้ว ก็มีความพยายามดังกล่าวในสถาบันอื่นเช่นกัน โดยบางสถาบันก็ชัดเจนมาก แต่จะไม่ขอพูดถึงในที่นี้


 


ความคิดที่ "ไม่การเมือง" มันติดอยู่ตลอดรวมทั้งใน รัฐธรรมนูญ 40 ที่ชัดเจนที่สุดอันหนึ่งก็คือ การให้มีสมาชิกวุฒิสภาที่สามารถทำงานหลายๆ อย่างได้ แต่ "อย่าการเมือง" นั่นคือ ห้ามสังกัดพรรคการเมือง และห้ามหาเสียง


 


โดยผลของการ "Depoliticization" นี้ ก็คือการที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถต่อรองเชิงอำนาจได้ เว้นแต่บางคนที่ฉลาดพอที่สามารถทำให้งานของตน ซึ่ง "ถูกตราว่าไม่การเมือง" ให้มันมีผลทางการเมืองได้ เช่น นักวิชาการ ซึ่งมีส่วนเข้าไปกำหนดการจัดสรรทรัพยากร โดยต่างก็อ้างว่าตนเองว่ากันไปตามหลักวิชาการอย่างเดียว เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งก็ถือเป็นวิธีการที่จะ "ลอดรั้ว" เข้ามาเพื่อจะขึ้นสู่เวทีต่อรองผลประโยชน์ โดยยังคงรักษา "ความไม่การเมือง" เอาไว้ ซึ่งอันที่จริงแล้วก็ไม่ใช่เพียงนักวิชาการเท่านั้น ผมคิดว่ามีสถาบันอื่นอีก โดยถ้าฉลาดพอ คุณก็ลอดรั้วเข้ามา และอาจจะใหญ่กว่าพวกนักการเมืองเสียอีก เพราะคุณไม่การเมือง คุณบริสุทธิ์กว่า น่านับถือกว่า


 


ก่อนรัฐธรรมนูญ 40 มีความพยายามจำกัดการเมืองไว้ที่ระบบราชการ เช่น นายกฯจะเป็นใครก็ได้ กองทัพกำกับการเมืองโดยการเข้าไปนั่งในวุฒิสภา พรรคการเมืองก็ถูกทำให้อ่อนแอจนกระทั่งตั้งรัฐบาลเองได้ยาก และที่ยิ่งไปกว่านั้น คือการที่รัฐบาลเริ่มต้นนโยบายต่างๆ ได้ยาก เนื่องจากต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานราชการเสียก่อน 


 


สรุปก็คือ กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ ได้กีดกันคนอื่นไว้นอกเวทีของการต่อรองผลประโยชน์ด้วย "หีบบัตรเลือกตั้งที่ไร้ความหมาย"


 


แต่สำหรับผลของรัฐธรรมนูญ 40 ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม มันได้นำไปสู่การตั้งรัฐบาลที่อยู่เหนือระบบราชการ และยังทำให้สถาบันการเมืองต่างๆ ต้องขยายเวทีการเมืองไปสู่ระดับล่างมากขึ้น เช่น การใช้นโยบายประชานิยม เป็นต้น


 


โดยสรุปแล้ว รัฐธรรมนูญ 40 ทำให้การเมืองที่ไม่การเมืองมันเริ่มหดตัวลงมา แล้วก็ขยายให้ส่วนต่างๆ ได้เข้ามาอยู่ในการเมืองมากขึ้น


 


สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับรับฟังความคิดเห็นในปัจจุบัน ถือเป็นที่น่าประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะพยายามที่จะทำให้สถานการณ์ต่างๆ กลับไปในช่วงก่อนรัฐธรรมนูญ 40 และยิ่งพยายามจะทำให้สถาบันที่เป็นการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้มาทำให้ไม่การเมืองอีกครั้ง


 


สิ่งที่แสดงให้เห็นได้ชัดเจน คือการเอาฝ่ายตุลาการเข้ามาเป็นหัวหน้าของระบบราชการ แทนการให้ทหารออกหน้าดังเช่นในอดีต ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตุลาการมีหน้าที่รักษาระบบราชการไว้ มีอำนาจในการควบคุม ส.ส. เช่น กกต. มีอำนาจที่จะริเริ่มสิ้นสุดสมาชิกภาพของ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชนได้ แม้จะไม่มีผู้ใดร้องเรียนก็ตาม


 


ทั้งหมดเหล่านี้มาจากสมมติฐานที่ว่า "การเมืองประเภทเลือกตั้งมักได้คนเลว" ซึ่งส่วนหนึ่งก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ถ้าไม่ได้เลือกตั้งแล้วจะไม่ได้คนเลว


 


สำหรับรัฐธรรมนูญ 40 นั้น ก็ไม่ได้เชื่อการเลือกตั้งเสียทีเดียวนัก แต่รัฐธรรมนูญ 40 ได้ให้อำนาจพรรคในการควบคุม ส.ส. นอกจากนี้ ยังให้อำนาจในการควบคุมกับองค์กรอิสระที่ถูกทำให้ "ไม่การเมือง" ทั้งหลายอีกด้วย


 


ณ จุดนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า รัฐธรรมนูญกลับไม่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนเป็นคนควบคุมเสียเอง ซึ่งนั่นก็เพราะการไม่เชื่อประชาชน เห็นว่าประชาชนนั้นมักจะเลือกคนเลวเข้ามาเป็น ส.ส.เสมอ


 


สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ เวลาให้สิทธิประชาชนในการถอดถอนตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งของนักการเมือง ประชาชนจะมีสิทธิในการถอดถอนก็ต่อเมื่อ ส.ส.ทุจริตเท่านั้น แต่คนน้ำหน้าอย่างเราๆ จะไปจับ ส.ส.ทุจริตได้อย่างไร เอกสารราชการสักแผ่นเกิดมายังไม่เคยเห็นเลย


 


อย่างไรก็ตาม เราน่าจะยังคงสามารถบอกได้ว่า "มึงไม่ใช่ตัวแทนของกูอีกต่อไปแล้ว" เช่น ประชาชนที่คัดค้านเขื่อนปากมูล ซึ่งไปนอนอยู่ที่เขื่อนปากมูลอยู่เป็นปี ไม่มี ส.ส.โผล่หน้าไปสักคน ทำให้ "มึงไม่ represent กู มึงไม่ใช่เป็นตัวแทนของกู ฉะนั้นกูอยากจะถอดถอนมึง เพราะมึงไม่ใช่ตัวแทนของกูอีกแล้ว"


 


ตรงนี้ถามว่า สิทธิดังกล่าวมันมีไหม ไม่มีทั้งรัฐธรรมนูญ 40 และปัจจุบัน แต่ถ้ามีกระบวนการนี้จริง ถามว่าใครจะเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่ตุลาการแน่นอน แต่ต้องเป็นประชาชน โดยการกลับไปเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าจะเอาไอ้คนนี้ไว้เป็นผู้แทนหรือไม่


 


ฉะนั้น การให้สิทธิถอดถอนในรัฐธรรมนูญ 40 หรือ 50 ก็ตามแต่ จริงๆ แล้ว สิทธิในการวินิจฉัยเหล่านั้นกลับไม่ได้อยู่ในมือประชาชน บางเรื่องผมก็เห็นด้วยว่า ประชาชนวินิจฉัยไม่ได้ เช่น ทุจริต แต่บางเรื่องเช่นความเป็นตัวแทนนั้น ไม่สามารถที่ใครจะวินิจฉัยแทนประชาชนได้


 


เพราะฉะนั้นเวลาที่คุณพูดว่า เลือกตั้งก็เป็นการปล่อยเสือเข้าป่า ก็รัฐธรรมนูญมันเขียนให้เข้าป่ามาตั้งแต่ต้นแล้ว คือไม่ได้ให้เราเป็นคนควบคุม


 


สำหรับประเด็นเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ในขณะที่รัฐธรรมนูญ 40 ต้องการการเลือกตั้งที่แบ่งเขตให้เล็กลง ถามว่าซื้อเสียงได้ง่ายขึ้นไหม คำตอบก็คือง่ายขึ้นอย่างแน่นอน แต่ถ้าถามกลับกันว่า ไม่ซื้อเสียงง่ายขึ้นไหม มันก็ง่ายขึ้นด้วย


 


คำถามที่ตามมาก็คือ คุณเชื่อไหมว่า วันหนึ่งประชาชนจะเลือกไอ้คนที่ไม่ซื้อเสียง


 


คำตอบก็คือ คุณไม่เชื่อ คุณถึงบอกไม่เอาเขตเล็ก แต่ต้องเอาเขตใหญ่ถึงจะซื้อเสียงได้ยาก โดยสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า คุณไม่เชื่อในประชาชน ซึ่งมันน่าเสียดาย ถ้าคุณอ่านประเทศไทยให้ทั่ว ในปัจจุบันภาคประชาชนเริ่มมีการรวมตัวกันในการสร้างกลุ่มกดดัน ส.ส.ของตนเอง ซึ่งถ้าเมื่อไร ส.ส.ของตนต้องมาจากเขตใหญ่ระดับจังหวัด ก็เลิกกัน ไม่ต้องคิดถึงกระบวนการนี้อีก


 


ฉะนั้น ความพยายามจะแก้ปัญหาทางการเมืองของรัฐธรรมนูญ 40 กลับถูกนำมาแก้ไขโดยการพยายามทำให้สิ่งต่างๆ "ไม่การเมือง" มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ในร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดนี้ ผมคิดว่าเกิดจากการอ่านประเทศไทยไม่ทั่ว จึงไม่ได้ใช้ประโยชน์จาก 10 ปีที่ผ่านมา ถ้าเราอ่านประเทศไทยให้ทั่ว คงจะมองเห็นข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ 40 ที่เราจะเข้าไปแก้ไขได้เยอะแยะทีเดียว


 


สุดท้าย ในเรื่องหมวดที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ ถึงแม้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 40 จะให้สิทธิเสรีภาพเพิ่มขึ้น แต่ทั้งหมดเหล่านี้ก็ถือว่ามันเป็นเสรีภาพที่เป็นหมัน


 


ตัวอย่างเช่น สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เมื่อการชุมนุมคือการสื่อสาร การชุมนุมจึงต้องจัดในที่สาธารณะ แต่ที่สาธารณะในประเทศไทยล้วนแล้วแต่มีเจ้าของทั้งนั้น ดังนั้นการชุมนุมจึงต้องเป็นไปตามกติกาการใช้พื้นที่ต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับอำนาจในการวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ ถ้าเจ้าหน้าที่วินิจฉัยว่าประชาชนที่มาชุมนุมก่อให้เกิดการจราจรติดขัด ก็ต้องสลายการชุมนุมเพราะผิดเทศบัญญัติ


 


ดังนั้นสิทธิตามรัฐธรรมนูญจึงไม่มีความหมาย เมื่อคุณใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแต่ดันไปผิดเทศบัญญัติ ซึ่งทำให้สิ่งที่กำหนดในรัฐธรรมนูญไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าคุณกลับไปอ่านประเทศไทยให้ทั่ว คุณต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้มันศักดิ์สิทธิ์จริง


 


การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Impact Assessment (EIA) เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งบริษัทผู้สร้างโครงการเป็นผู้จ่ายค่าวิจัยให้แก่นักวิชาการ โดยโครงการหนึ่งๆ ก็มีมูลค่าราวๆ 60 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อคุณเป็นนักวิชาการ คุณก็ต้องเขียนให้มันสร้างได้ ตรงนี้ผมไม่ว่าอะไร แต่ถ้าอย่างนั้นคุณก็ต้องมีอีไอเอ อีกชิ้นหนึ่งของคนที่ไม่ได้เป็นผู้จ้างให้สร้างโครงการนั้น เขียนขึ้นมาประกบกัน ซึ่งในความเป็นจริงที่ผ่านมา ประชาชนทำในสิ่งเหล่านี้โดยความอนุเคราะห์ของนักวิชาการใจดีตลอดมา


 


ตัวอย่างได้แก่ กรณีบ้านกรูด อีไอเอจากบริษัทที่จ้างทำโครงการสร้างท่าเทียบเรือบอกว่าไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ทางชาวบ้านกลับพบว่า ในพื้นที่นั้นมีปะการัง ไม่เหมาะสมที่จะสร้างท่าเทียบเรือ อย่างไรก็ตาม ทางโครงการก็ยังยืนยันที่จะดำเนินการต่อไป จนกระทั่งชาวบ้านต้องเอานักวิชาการ ไปจนถึงสื่อมายืนยัน ถึงจะได้ยอมรับว่ามีปะการังอยู่จริง


 


โดยสรุปแล้ว เรื่องสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ 50 ซึ่งลอกมาจากรัฐธรรมนูญ 40 นั้น ถือว่าไม่เวิร์ค เรื่องปฏิรูปที่ดินก็ไม่เวิร์ค ไม่ว่าจะมองในแง่ของการกระจุกตัว การเก็งกำไร ความเสื่อมโทรมในที่ดิน หรือการมีคนจำนวนมากไร้ที่ดินในการประกอบอาชีพ รวมไปจนถึงการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในเรื่องของโทรศัพท์มือถือก็เช่นกัน


 


ทั้งหมดนี้เป็นวิกฤติที่ต้องรีบแก้ แต่เขา (ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ) กลับมองไม่เห็น เห็นแต่วิกฤติการเมือง ซึ่งทำให้ทั้งหมดนี้เป็นหมันไปหมด เพราะคุณไม่เคยหันกลับไปอ่านประเทศไทยให้ทั่ว และมันน่าเสียดายมาก


 


 


.....................................


หมายเหตุ : กำลังคนมีจำกัด...โปรดติดตามอ่าน ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ และ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ในวันต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net