Skip to main content
sharethis

วานนี้ (11 พ.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชิปไตย (ครป.) กล่าวสนับสนุนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ ส.ส.ร.ปรับท่าทีโดยพยายามรับฟังความเห็นจากสังคมมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเน้นการประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ มากกว่าการประชาพิจารณ์จริงๆ แนวโน้มที่กรรมาธิการยกร่างจะทบทวนมาตรา 68 วรรค 2 เรื่องคณะกรรมการคลี่คลายวิกฤต และที่มา ส.ว.ระบบเลือกตั้ง รวมทั้งข้อพิพาทเรื่องบทบาทของศาลนั้น ทำให้บรรยากาศในการร่างรัฐธรรมนูญดีขึ้น และหากมีการทบทวนแก้ไขในประเด็นที่ถูกต่อต้านเชื่อว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะทำความเข้าใจกับประชาชนได้ง่ายขึ้น แรงต้านก็จะไม่ขยายตัวไปไกลถึงขั้นเผชิญหน้าอะไรกัน


 


นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า ต้องการเสนอความเห็นไปยังกรรมาธิการยกร่าง และ ส.ส.ร.ว่า อำนาจที่ทอนจากนักการเมืองเป็นอำนาจที่ประชาชนควรจะได้ ไม่ใช่ไปทดหรือแขวนไว้ที่ฝ่ายศาล หรือระบบราชการ และอยากให้ ส.ส.ร.และกรรมาธิการลดความหวาดระแวงหรือไม่ไว้วางใจประชาชนลงให้มาก ต้องเข้าใจว่าทิศทางหรือหัวเรือของการสร้างประชาธิปไตยสมัยใหม่นั้น ต้องกล้าเคลื่อนย้ายอำนาจไปสู่ภาคประชาชนและส่งเสริม หรือยกระดับการเรียนรู้ของประชาชนให้มากขึ้น


 


เพราะร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังรับฟังความเห็นในขณะนี้เกิดจากความหวาดระแวงระบอบทักษิณมากเกินไป ในขณะเดียวกันก็ไม่ไว้วางใจภาคประชาชน จึงพยายามสถาปนาอำนาวิเศษเกิดขึ้นจนกลายเป็นจุดด่างพร้อยและไปหักล้างหลายๆ ประเด็นที่มีความก้าวหน้าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 68 วรรค 2 และมาตรา 107 คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับจตุคามรามเทพไปในที่สุด


 


เลขาธิการ ครป.กล่าวในที่สุดว่า ในส่วนของสภาคู่ขนานภาคประชาชนนั้น สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง หรือ สปป. จะจัดประชุมกรรมการจากทุกเครือข่ายในวันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคมนี้เพื่อชำแหละร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ส.ส.ร.และจะทำความเห็นเพื่อยื่นต่อประธาน ส.ส.ร.รวมทั้งหาช่องทางผลักดัน ส.ส.ร.สายภาคประชาชนให้มีการเสนอแปรญัตติต่อไป


 


ขณะเดียวกัน ที่โรงแรมสยามอินเตอร์ฯ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวในการอภิปรายในหัวข้อ "รัฐธรรมนูญกับอนาคตการเมืองไทย" ซึ่งจัดโดยกลุ่ม "ธรรมาธิปไตย" โดยเขากล่าวว่าอย่าไปคาดหวังกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากนัก เพราะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับไทยๆ ที่ร่างขึ้นมาเพื่อต้องการป้องกันไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้กลับมาสู่วงการเมืองอีกครั้ง เพียงแต่ไม่ได้ระบุเอาไว้ตรงๆ เท่านั้น


 


ศ.ดร.ชัยอนันต์ กล่าวว่า สำหรับสาระร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่น่าสนใจ คือ เรื่องสิทธิ คือการเพิ่มสิทธิของประชาชน และลดข้อจำกัดในเรื่องการถอดถอนนักการเมือง เรื่องสถาบันทางการเมือง วิธีการเลือกตั้ง จำนวน ส.ส.ที่มา หรือการสรรหา ส.ว.ซึ่งสร้างความสับสน


 


ศ.ดร.ชัยอนันต์ เห็นว่า วิธีการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียวเหมาะสมดีอยู่แล้ว และเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ใส่รายละเอียดมากเกินไป และสร้างความซับซ้อนที่ไม่จำเป็น ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ดีคือมีหลักประกันในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และจำกัดอำนาจของรัฐบาล


 


อย่างไรก็ตาม ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยเห็นว่าไม่ต้องไปกังวลว่ามีหรือไม่รัฐธรรมนูญ เพราะสังคมไทยยังอยู่ได้ แต่ต้องมีการปรับตัวเนื่องจากประชาชนกลัวการรวมศูนย์อำนาจ


 


"เพราะถ้าทักษิณไม่กลับมาก็ไม่มีใครมีเงินมากที่กระจุกตัวอยู่คนเดียว เชื่อว่าคนตื่นตัว และจะไม่กลับไปสู่ยุคเก่าซึ่งจะเป็นรัฐบาลผสม และนักการเมืองจะระมัดระวังตัวมากขึ้น เพราะครั้งแล้ว(สมัยทักษิณ) จะมีการแสวงหาประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ มีการแก้กฎหมายซึ่งไม่เคยมีมาก่อน เพราะสมัยก่อนอย่าดีแค่กินค่าคอมฯ ไม่กระทบมาก" ศ.ดร.ชัยอนันต์ระบุ อย่างไรก็ดี เขาเห็นว่าต้องการปฏิรูปสื่อให้คนเข้าใจการเมืองมากขึ้น


 


ศ.ดร.ชัยอนันต์ยังเห็นว่า ในอนาคตทหารจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่จะไม่ใช่ในลักษณะโดยตรง แต่นักการเมืองจะต่อสายกับทหารมากขึ้น เพราะถ้าไม่มีการแตะต้องเรื่องงบประมาณหรือการล้วงลูกโยกย้ายมากนัก โอกาสที่จะปฏิวัติก็จะไม่เกิดขึ้น


 


"อย่าไปคาดหวังว่าการเมืองจะดีมากขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ดีอะไร เชยๆ ด้วยซ้ำ คนร่างก็ไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการร่างมากนัก" ศ.ดร.ชัยอนันต์ กล่าว


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกถามว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านการลงประชามติแล้วจะทำอย่างไร ศ.ดร.ชัยอนันต์ กล่าวว่า ก็ถือว่าดี เพราะจะได้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มีแก้ไขปรับใช้ เช่น ประเด็นอำนาจของวุฒิสมาชิก เป็นต้น


 


ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net