ประชาธิปไตยที่ "ไม่แตกต่าง" ในเอเชียใต้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เรียบเรียงข้อมูลจากบทความ Same-Same

จากหนังสือพิมพ์ Nepali Times

 

 

ใครที่คิดว่าสภาวะการเมืองในประเทศไทยน่าเบื่อจนเกินจะทน อาจดูมีความหวังมากขึ้น ถ้าได้อ่านผลงานศึกษาวิจัยที่จัดทำโดยสำนักพิมพ์ International IDEA ซึ่งได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อว่า "พรรคการเมืองในแถบเอเชียใต้: ความท้าทายแห่งการเปลี่ยนแปลง" (The Political Parties in South Asia - Challenge of Change) ซึ่งก็คือการศึกษาวิจัยพรรคการเมืองใน บังคลาเทศ อินเดีย เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกา

 

บทความวิจารณ์หนังสือเล่มดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Nepali Times ฉบับวันที่ 2-7 พฤษภาคม 2550 และเป็นหนังสือที่ถูกพูดถึงพอสมควรในแวดวงนักวิชาการเนปาล

 

หนังสือเล่มนี้จะมีทั้งหมด 7 บท สำหรับการถกเถียงในเรื่องของบริบท เนื้อหา สถานการณ์ เงื่อนไข และปัจจัยที่ทำให้เกิดพรรคการเมืองในระดับภูมิภาค

 

คนอ่านจะได้เห็นว่าชะตากรรมของระบอบการเมืองของประเทศในแถบเอเชียใต้ ล้วนมีความสั่นคลอนไม่แน่นอน ไม่ต่างจากการเมืองไทยในตอนนี้สักเท่าไหร่ และการสืบทอดอำนาจทางการเมืองที่พิกลพิการ ขาดการถ่วงดุลระหว่างอำนาจและเสรีภาพในยุคหลังสงครามเย็น (1960"s) ส่งผลให้ระบบการเมืองในปัจจุบัน มีสภาพที่ถูกควบคุมและครอบงำไม่ให้เกิดเสรีภาพตามแบบประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น

 

มีเพียงอินเดียเท่านั้นที่ยกเว้น เพราะอินเดียใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียตมากกว่าสหรัฐอเมริกา แต่เรื่องตลกร้ายก็คือว่าการทำงานที่ผิดปกติของพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่มักจะเกิดขึ้นในประเทศที่เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยมากกว่า

 

CK Lal ซึ่งเป็นผู้วิจารณ์หนังสือเล่มนี้กล่าวว่า...เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายที่สุดของทุกๆ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกครอบงำคือ "พรรคการเมือง" ทั้งหลาย เพราะพวกเขาล้มเหลวที่จะปรากฏตัวในฐานะตัวละครหลักของกระบวนการทางการเมือง

 

ภาพดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนจากระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีขอบเขตจำกัดซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างที่เกิดยุคสงครามเย็นเป็นส่วนใหญ่ และส่งต่อมาถึงยุคปัจจุบัน เช่น ในประเทศอินโดนีเซีย ระบอบการปกครองแบบลูกผสมซึ่งประชาชนถูกกวาดต้อนให้ทำตามผู้มีอำนาจทางการทหาร (ก่อนจะกลายมาเป็นผู้นำประเทศ) ได้รับการเรียกขานว่าเป็น "ประชาธิปไตยแบบชี้นำ" หรือ Guided Democracy

 

ในขณะที่ประเทศปากีสถาน นายพลอายุบ ข่าน เรียกระบอบเผด็จการของตัวเองว่าเป็น "ประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน" (Basic Democracy) และพรรคการเมืองในปัจจุบัน (ของปากีสถาน) ก็ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่า "พื้นที่แห่งการตอบสนองความทะเยอทะยานของปัจเจกบุคคล"

 

ทางด้านบังคลาเทศ ธุรกิจการเมืองที่สืบทอดต่อๆ กันมา มีลักษณะคล้ายกับการสืบทอดกิจการของครอบครัว และพรรคการเมืองในเนปาลซึ่งกษัตริย์มเหนทราพยายามพูดถึงระบอบประชาธิปไตยเพื่อความหลากหลายของเชื้อชาติ หรือ Indigenous Democracy ที่ตอบรับกับธาตุลม น้ำ และดิน ของเนปาล ถูกมองเป็นแค่เศษเสี้ยวเล็กๆ ส่วนหนึ่งของฉากการเมืองในแถบเอเชียใต้

 

ถึงแม้ว่าผู้บริจาคเงินให้แก่ประเทศยากจนทั้งหลายจะพอรู้แล้วว่าการบรรเทาปัญหาความยากจนต้องการการปกครองแบบธรรมาภิบาล แต่มันเป็นเรื่องซึ่งไม่มีทางเกิดขึ้นได้ถ้าขาดแรงกระตุ้นหรือการผลักดันจากพรรคการเมือง

 

ทว่าการก่อตั้งพรรคการเมืองดีๆ กลับเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลย ไม่เคยมีสูตรสำเร็จ และไม่มีวิธีการที่จะสามารถจำลองนโยบายที่มีประสิทธิภาพจากที่อื่นๆ มาใช้ในระบอบการเมืองแถบเอเชียใต้ได้เลย

 

ปัญหาของพรรคการเมืองในเอเชียใต้ส่วนใหญ่เกิดจากกองทัพทหารเข้ายึดครองพื้นที่พรรคการเมือง ทั้งที่เป็นกองทัพเก่าแก่ เช่นที่เป็นอยู่ในรัฐสภาของเนปาล แต่ก็ยังล้มเหลวในการปกครอง รวมถึงความไม่มีเสถียรภาพ

 

แม้แต่กองกำลัง Maoists ที่นิยมลัทธิเหมาแบบสุดโต่งก็เป็นได้แค่พรรคการเมืองที่มีแนวคิดแบบสังคมนิยมซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นเพียงความสิ้นหวังเท่านั้น และพรรคการเมืองอื่นๆ ที่สำคัญก็สืบทอดขั้วอำนาจกันภายในพรรคจนกลายเป็นเรื่องปกติไม่ต่างอะไรจากการสืบทอดราชวงศ์

 

ด้วยเหตุนี้ การศึกษาเรื่องดังกล่าวจึงเกิดขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อชี้ให้เห็นว่าการสร้างรากฐานประชาธิปไตยจากประสบการณ์คือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนแต่ละประเทศ

 

ในการศึกษาครั้งนี้ พรรคการเมืองในเอเชียใต้จึงถูกนำมาสรุปว่า "ไม่มีอะไรแตกต่าง" กันเลย เพราะไม่ได้มีแต่ผู้นำปากีสถานอย่าง "เบนาร์ซี บุตโต" เท่านั้นที่รู้จักสบถสาบานว่าจะยอมเจรจากับฝ่ายตรงข้ามที่คิดเห็นต่างกัน เพื่อให้เกิดระบอบประชาธิปไตยขึ้น (แต่ก็ไม่เคยทำ)

 

ในขณะที่ในเนปาลสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ว่าพรรคการเมืองต้องการที่จะสืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็ตาม คนเนปาลจึงได้เห็นดารา-นักแสดง ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบในหมู่ผู้คนถูกทาบทามมาเป็นนักการเมือง…

 

แม้รายงานการวิจัยเล่มนี้จะถูกสรุปว่าไม่ต่างอะไรจากหนังสืออื่นๆ ในหมวดหมู่เดียวกัน เพราะข้อมูลที่หนัก มีการกำหนดทิศทางหนังสือไว้ตั้งแตแรก เต็มไปด้วยข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างเดียว แต่แทบจะไม่มีภาพประกอบอะไรเลย หนังสือเล่มนี้จึงเต็มไปด้วยคำอธิบาย แต่ไม่ได้ช่วยให้เกิดปัญญาในการเรียนรู้และรับมือกับปัญหาสักเท่าไหร่

 

แต่กระนั้นก็ดี การได้อ่านทบทวนถึงความเป็นมา ปัญหา และความเป็นไปอันน่าหนักใจในปัจจุบัน น่าจะช่วยให้นักอ่านที่เป็นคอการเมืองมองเห็นภาพบางอย่างชัดเจนขึ้น และอาจจะนำไปสู่การรับมือกับภาวะหรือสถานการณ์แห่งความวุ่นวายที่ใครๆ ต่างพูดถึงได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท