นักวิชาการชี้ "ยามเฝ้าแผ่นดิน" ปลุกปั่นทางการเมือง ยกสถาบันเป็นข้ออ้าง

 

ประชาไท - เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 50 ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 2540 จัดสัมมนาในหัวข้อ "กระแสยุให้ปราบประชาชน:จากดาวสยามถึง ผู้จัดการ"

 

นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตคนเดือนตุลา กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันนี้ มีแนวโน้มอาจเกิดเรื่องน่ากลัวอยู่สองเรื่องที่จะซ้ำรอยในอดีต คือ

 

หนึ่ง เรื่องของการปลุกระดมที่มีการปลุกผีคอมมิวนิสต์ขึ้นมาใหม่ แล้วนำมาเชื่อมโยงให้เห็นว่าพวกคอมมิวนิสต์คือพวกที่ไม่ภักดี เพราะคอมมิวนิสต์มีภาพที่คู่กับการทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

 

สอง เรื่องของการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาใส่ร้ายโจมตี ป้ายสี เพื่อสร้างกระแสให้อยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลม เรื่องนี้อาจจะรุนแรงถึงขนาดทำให้คนลุกขึ้นมาฆ่าคนอื่นเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยคนเหล่านี้ฉวยเอาสถานการณ์ที่ประชาชนคนไทยรู้สึกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่สูงส่งมาเป็นการดำเนินเรื่อง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก

 

ผศ.ดร.สุธาชัยกล่าวต่อว่า สิ่งนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือในช่วง 6 ตุลาคม ที่หนังสือพิมพ์ดาวสยามเอาภาพซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาลง กรณีภาพแขวนคอ ด้วยกระแสที่สร้างขึ้นมาอย่างรวดเร็วในคืนวันนั้นเอง ตำรวจได้ลงมือฆ่านักศึกษา โทษฐานหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

 

"ถึงวันนี้ โอกาสที่จะเกิดขึ้นแบบในวันที่ 6 ตุลาคม มันเกิดขึ้นแน่ หลายครั้งที่สื่อมวลชนหนังสือพิมพ์หรือนักวิชาการหลายท่าน แทนที่จะช่วยกันห้าม แต่กลับช่วยกันพูดยุยงให้รัฐบาลปราบปรามประชาชน"

 

กระแสเหตุการณ์เหล่านี้ เป็นการจุดชนวนความรุนแรงขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่นักศึกษาที่ถูกฆ่าถูกแขวนคอที่บริเวณสนามหลวง ซึ่งเหตุการณ์รุนแรงไปกว่านั้น เพราะประชาชนที่เห็นเหตุการณ์ต่างปรบมือ ร้องเพลงส่งเสียงไชโย โดยไม่ได้คำนึงว่า นักศึกษาที่ถูกแขวนคอกระทำผิดจริงหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม หากถามว่าปัจจุบันเหตุการณ์ในลักษณะนี้จะเกิดอีกหรือไม่ ขอตอบได้เลยว่าเกิดขึ้นได้แน่นอน เพราะมีการนำประเด็นสถาบันที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาปลุกระดมขึ้นมาเหมือนอดีตที่เคยเกิดขึ้น แล้วทำให้เกิดการฆ่าฟันผู้ที่บริสุทธิ์ขึ้นอย่างไร้เหตุผล

 

ผศ.ดร.สุธาชัย ยกตัวอย่างโดยกล่าวถึงหนังสือพิมพ์ผู้จัดการว่า ใช้ถอยคำทั้งในการพูดและการเขียนที่รุนแรง รวมทั้งยุยงส่งเสริม เช่นกรณีที่ยอดรักกรรมกร (นามปากกา) เขียนบทความด้วยถ้อยคำรุนแรงต่อกรณีการชุมนุมที่สนามหลวงว่า "ฆ่ามันเลย" ซึ่งความพยายามที่จะทำอย่างนี้มีมาแล้ว ตั้งแต่คราวที่นายสนธิเคลื่อนไหวต่อต้านพ.ต.ท.ทักษิณ และได้พยายามสร้างภาพตัวเองว่าเป็นยามเฝ้าแผ่นดิน รวมทั้งพยายามสร้างเรื่องขึ้นมา เพื่อให้คนคิดว่าการต่อสู้ของสนธิเป็นการต่อสู้เพื่อนายหลวง เพื่อปกป้องในหลวง คล้ายกับตัวเองเป็นตัวแทน และเริ่มด้วยการเอาผ้าสีเหลืองมาโผกหัว แล้วใช้ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์มาโจมตีพ.ต.ท.ทักษิณว่าไม่เคารพสถาบันกษัตริย์

 

"อดีตมีการใส่ร้ายป้ายสี พยายามทำให้อีกกลุ่มเป็นฝ่ายผิดด้วยการนำเอาสถาบันอันเป็นที่เคารพมากล่าวอ้าง นอกจากนี้ยังมีสื่อคอยโหมกระแสยุยง เช่น หนังสือพิมพ์ผู้จัดการพยายามสร้างภาพพวกเขาว่าเป็นยามเฝ้าแผ่นดิน ทำให้เห็นว่าการต่อสู้ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล คือ การต่อสู้เพื่อปกป้องสถาบันด้วย" นายสุธาชัย กล่าว

 

"ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์จะแสดงบทบาททางการเมืองใดๆ มิได้ เพราะฉะนั้นพระมหากษัตริย์จึงเป็นสัญลักษณ์ที่แท้จริงของประเทศ ถ้าหากว่าระบอบพระมหากษัตริย์ลงมาใช้อำนาจในการแทรกแซง มันเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าเรากระตุ้นหรือเรียกร้องให้พระองค์ทรงใช้พระราชอำนาจแบบรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวเราก็ถือว่าเรากำลังเรียกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมา" ผศ.ดร.สุธาชัย กล่าว

 

ด้านนายวีระ มุสิกพงศ์ ประธานบริหารบริษัทเพื่อนพ้องน้องพี่ หรือ พีทีวี กล่าวยกตัวอย่างในอดีตที่การก่อการกบฏของทหารที่เข้ายึดอำนาจ เหตุผลส่วนใหญ่ไม่พอใจฝ่ายบริหารที่ใช้อำนาจในทางที่มิชอบ ไม่ใช่การไม่ชอบสถาบัน แต่เป็นเรื่องของกลุ่มคนที่แอบอ้างสถาบัน ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าสื่อมวลชนได้ยึดครองใจประชาชนส่วนใหญ่ได้มาก รวมถึงครอบงำโลก

 

วีระเห็นว่า ใครที่ครอบครองสื่อก็เป็นผู้มีอิทธิพล ในประเทศไทยหากใครจะทำอะไรให้สำเร็จ ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับสื่อถือว่าโง่มาก หลังเกิดการรัฐประหาร 19 กันยา สื่อที่เคยเป็นเครื่องมือสื่อสารของประชาชน ขณะนี้ไม่ได้เป็นแล้ว เพราะว่าอยู่ในความครอบครองของทหาร ที่ใช้เครื่องมือโดยใช้ฟรีทีวีครอบงำความคิดของประชาชนไว้

 

"อิทธิพลของสื่อตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีผลของการต่อสู้ของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย และสื่อเป็นเครื่องมือของเผด็จการในหลายยุคหลายสมัย เพียงแต่ว่าสมัยก่อนมีการกบฏเพื่อประชาธิปไตย แต่ปัจจุบัน กบฏเมื่อ 19 กันยายนเป็นกบฏที่ทำเพื่อเผด็จการ ซึ่งมันจะต่างกันตรงนี้ ฉะนั้นสื่อเองก็ยังคงทำหน้าที่คงเส้นคงวา เคยเป็นอะไรที่ไม่ตรงไปตรงมา ก็ไม่ตรงไปตรงมาเหมือนเดิม" นายวีระ กล่าว

 

"ประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ในการปฏิวัติในอดีตที่ผ่านมา มีความจำเป็นที่จะต้องกระทำเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย แต่เหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 ที่ทาง คปค. ได้ปฏิวัติ ไม่ใช่ทำแบบประชาธิปไตย เพราะเขายังรักษาอำนาจเอาไว้ ดังนั้นไม่สามารถเรียกได้ว่า เป็นประชาธิปไตย 100 % ได้ แต่ขอบอกว่า อย่าได้น้อยใจ โทษสื่อ หรือประชาชนด้วยกัน ถ้าพูดเรื่อง 6 ตุลา ประชาชนจะรู้สึกว่าทำไมคนไทยฆ่ากันเองได้ เหมือนคนไทยโหดร้าย ความจริงไม่ใช่ เพราะคนไทยเลว หากแต่คนไทยตกอยู่ภายใต้อำนาจของสื่อบางส่วนที่ปลุกปั่นกระแสขึ้น เรียกว่า อิทธิพลของสื่อบางฉบับ" นายวีระ กล่าว

 

เขายกตัวอย่างว่า ในอดีต ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช สร้างสยามรัฐขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ยอมรับว่าเขาสร้างพีทีวีขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการเพื่อเป็นสื่อที่ต่อต้าน คปค. แต่ไม่ได้มีเจตนาอื่นแอบแฝง ซึ่งพวกเขาก็รู้ทันจึงไม่ให้ออกอากาศ พีทีวีจึงเป็นทีวีที่มีชื่อเสียง ไปไหนคนก็รู้จัก ขณะที่ไม่สามารถรับฟังรับชมได้ ที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมด เพราะต้องการให้รับทราบว่า บทบาทของสื่อยังไม่เปลี่ยนไป ถ้าต้องการให้ประชาชนหรือประชาธิปไตยได้รับชัยชนะ ต้องให้ความสำคัญกับสื่อ ไม่ใช่ปล่อยไปตามยถากรรมอย่างที่เป็นอยู่

 

ด้านหนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์รายงานข่าวนี้โดยพาดหัวข่าวว่า "วีระโบ้ย ความรุนแรงในอดีตเกิดจากอิทธิพลสื่อ" ในเนื้อข่าวระบุใจความว่า ในการเสวนานี้ นายวีระ มุสิกพงศ์ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีทีวี กล่าวว่า สื่อมีอิทธิพลต่อสังคม หากเข้าถึงสื่อได้จะได้เปรียบ โดยที่ผ่านมาเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาและประชาชนแต่ละครั้งไม่ได้เกิดจากความโหดร้ายของคนไทย แต่เกิดจากการปลุกกระแสของสื่อที่ทำให้คนไทยทำร้ายกันเอง และเห็นได้ว่า เครื่องมือสื่อสารส่วนใหญ่จะอยู่ในมือของผู้มีอำนาจ รวมถึงสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีที่อยู่ภายใต้การควบคุมของทหาร ซึ่งเข้าคุมความคิดของประชาชน และดึงพลังประชาชนมาทำร้ายกันเอง

 

ผู้จัดการออนไลน์ยังรายงานว่า นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการ กล่าวแสดงความเป็นห่วงว่า อาจเกิดความรุนแรงเหมือน 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการทำร้ายนักศึกษา เนื่องจากมีสื่อบางรายปลุกผีคอมมิวนิสต์ และดึงสถาบันเบื้องสูงมาเกี่ยวข้อง เพื่อทำให้ประชาชนเห็นว่า การทำร้ายผู้ที่ต่อต้านเป็นความชอบธรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท