Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 14 พ.ค. 2550 จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และอาสาสมัครกว่า 1,000 นาย รวมกำลังเข้าควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่สวนปาล์มของบริษัท ทักษิณปาล์ม (2521) จำกัด หมู่ 12 ต.ท่าขนอน อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมดกว่า 1,600 ไร่ หลังจากที่ นายวิมล เชิดชูชน ประธานองค์การพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรภาคใต้ ได้ชักนำชาวบ้านจากหลายจังหวัดในภาคใต้ รวมทั้งประชาชนชาวมุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณ 3,000 คน บุกเข้ายึดครอบครองพื้นที่สวนปาล์มตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้แจ้งเตือนให้ทยอยออกจากพื้นที่ และชาวบ้านบางส่วนยอมออกจากพื้นที่ เหลือเพียงประมาณ 1,000 คน ที่เจ้าหน้าที่ตัดสินใจเข้าสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2550


 


ในช่วงเย็นวันเดียวกัน นายปรีชา จันทรภักดี ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรพันธมิตรภาคประชาชน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เดินทางเข้าไปตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุสลายการชุมนุม รวมทั้งพื้นที่รอบๆ โดยระบุว่า จุดที่มีการสลายการชุมนุมเป็นคล้ายส่วนกองบัญชาการของผู้ชุมนุม ซึ่งมีคนชุมนุมจำนวนมาก ส่วนจุดอื่นๆ ที่ชาวบ้านเข้าไปชุมนุมด้วยเป็นกลุ่มเล็กๆ มีการสร้างกระต็อบหลังเล็กๆ แต่ได้มีการสลายตัวไปหลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม โดยขณะนี้มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายดูแลพื้นที่อยู่


 


นายปรีชา เปิดเผยกับ "ประชาไท"ว่า จากการสอบถามชาวบ้านที่อยู่ในที่เกิดเหตุหลายคนระบุว่า มีคนตายจากการสลายการชุมนุมครั้งนี้ด้วย ไม่น้อยกว่า 2 คน และเชื่อว่าน่าจะมีคนหายด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะหนีไปขณะสลายการชุมนุม ส่วนคนตายอาจถูกนำไปฝังแล้ว เนื่องจากในช่วงสลายการชุมนุมชาวบ้านเห็นมีการนำรถแบ็กโฮเข้าไปด้วย 5 คัน ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เข้าสลายการชุมนุม ชาวบ้านเชื่อว่าบางส่วนไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตัวจริง แต่น่าจะเป็นคนงานชาวพม่าที่แต่งชุดลายพราง แต่สวมรองเท้าแตะ ทั้งนี้เนื่องจากบริษัท ทักษิณปาล์ม (2521) จำกัด มีคนงานที่เป็นชาวพม่าอยู่ด้วยหลายคน


 


นายปรีชา เปิดเผยอีกว่า นอกจากนี้ รถยนต์และรถจักรยานยนต์หลายคันที่ถูกตำรวจยึดไปไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอคีรีรัฐนิคมนั้น หากเจ้าของรถต้องการนำรถคืน จะถูกเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงินด้วย โดยอ้างว่า เป็นค่ายกรถจากที่เกิดเหตุไปไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอคีรีรัฐนิคม ถ้าเป็นจักรยานยนต์ต้องจ่ายคันละ 1,500 บาท ส่วนรถยนต์คันละ 3,000 บาท ซึ่งทำให้เจ้าของรถเดือดร้อนมาก แต่ก็ต้องจ่ายเพราะห่วงทรัพย์สินของตนเอง


 


นอกจากการเข้าตรวจสอบพื้นที่แล้ว นายปรีชากล่าวเพิ่มเติมว่าพวกตนยังต้องการศึกษาด้วยว่าชาวบ้านที่มายึดสวนปาล์มนั้นมีเหตุผลอะไร ซึ่งบางส่วนพบว่า เป็นคนจนไม่มีที่ดินทำกินจริงๆ เดือดร้อนไม่มีที่ไปแล้ว จึงต้องมายึดสวนปาล์มที่หมดอายุสัญญาเช่า ซึ่งพวกนี้รัฐจำเป็นต้องให้การช่วยเหลือ


 


ส่วนกรณีที่มีการตั้งค่าหัวแกนนำโดยเฉพาะนายวิมล ถึง 3 แสนบาทนั้น เป็นเรื่องทำไม่สมควรเนื่องจากไม่ใช่คดีเกี่ยวกับความมั่นคง อีกทั้งในการสลายการชุมนุม ก็ไม่ใช่การทำสงครามเช่นกัน เพราะได้รับทราบข้อมูลจากชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วยว่า ใช้ระเบิดเอ็ม79 ยิงเข้าใส่ที่ชุมนุมด้วย ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงมาก ดังนั้นในเวลา 09.00 น. วันที่ 14 พฤษภาคม 2550 ที่ลานริมน้ำตาปีสะพานนริศ ในเขตเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานี ทางเครือข่ายจะแถลงข่าว เพื่อเรียกร้องให้รัฐชี้แจงว่า เหตุใดจึงต้องสลายการชุมนุมด้วยการใช้ความรุนแรงด้วย และขอให้สอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น


 


นายปรีชา เปิดเผยด้วยว่า สำหรับนายวิมลและองค์การพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรภาคใต้ เป็นคนละกลุ่มกันกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ ที่เคยบุกยึดสวนปาล์มในจังหวัดสุราษฎร์ธานีละกระบี่ เมื่อปี 2545 แต่ในอดีตเคยทำงานร่วมกัน


 


ขณะที่หนังสือพิมพ์คมชัดลึกรายงานว่า เมื่อเช้าวันที่ 13 พฤษภาคม ภายในพื้นที่ซึ่งชาวบ้านบุกรุก คนงานของบริษัททักษิณปาล์ม (2521) ซึ่งเป็นเจ้าของที่ตามกฎหมาย ร่วมกับตำรวจ ได้เข้าไปรวบรวมทรัพย์สินของชาวบ้าน และนำไปจัดเก็บไว้ที่ สภ.อ.คีรีรัฐนิคม โดยมีชาวบ้านที่ถูกตำรวจควบคุมตัวขึ้นรถโดยสารประจำทางไปทำประวัติที่โรงเรียนตำรวจภูธรภาค 8 อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี แล้วปล่อยตัวกลับ ซึ่งมีญาติเดินทางเข้าไปรับสิ่งของเครื่องใช้และกลับภูมิลำเนาทั้งหมดแล้ว เช่นเดียวกับชาวบ้านที่มาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ราว 200 คน ที่เจ้าหน้าที่แนะนำให้เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม โดยในส่วนของชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว ตำรวจมีเพียงการแจ้งข้อหาบุกรุกที่สวนปาล์มกับชาวบ้าน 178 คน ก่อนปล่อยตัวกลับภูมิลำเนาชั่วคราว


 


พล.ต.ต.เทศา ศิริวาโท ผบก.ภ.จว.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ได้สอบปากคำชาวบ้านครบหมดทุกคนแล้ว ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ให้การว่า ได้รับข้อมูลจาก นายวิมล เชิดชูชน ประธานองค์การพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรภาคใต้ว่า หากชาวบ้านคนไหนเป็นสมาชิกก็จะได้ครอบครองที่ดินทำกินคนละ 10 ไร่  พวกชาวบ้านจึงสมัครเป็นสมาชิก


 


"ชาวบ้านส่วนใหญ่ถูกหลอกลวงมาโดยไม่ได้รับทราบข้อมูลที่ชัดเจน ตำรวจจึงทำประวัติไว้แล้วปล่อยตัวกลับภูมิลำเนาทั้งหมด ในส่วนของการแจ้งข้อหานั้น มีการแจ้งข้อหากับชาวบ้านเพียง 178 คน ข้อหาร่วมกันบุกรุกที่สวนปาล์ม พร้อมทำประวัติไว้ จากนั้นก็ปล่อยตัวกลับชั่วคราวทั้งหมดแล้วเช่นกัน" ผบก.ภ.จว.สุราษฎร์ธานี กล่าวและยืนยันว่า


 


สถานการณ์ในขณะนี้ทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยขนำและที่พักต่างๆ คนงานของบริษัททักษิณปาล์ม (2521) ได้ทำลายและเข้าไปเก็บรวบรวมทรัพย์สินบางส่วนของชาวบ้าน เพื่อรอให้ชาวบ้านไปรับเรียบร้อยแล้ว ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด


 


พล.ต.ต.เทศา กล่าวถึงแกนนำ 6 คนที่ตำรวจออกหมายจับว่า ตำรวจจับกุมได้เพียงคนเดียว คือ นายมานะ การดี อายุ 47 ปี ที่เหลืออีก 5 คน คือ นายวิมล เชิดชูชน อายุ 49 ปี นายมะแอ ลาเต๊ะ อายุ 59 ปี นายอารี เพ็ชรสวัสดิ์ อายุ 37 ปี นายเริง เกตุแก้ว อายุ 50 ปี และนางปะริด๊ะ ลาเต๊ะ อายุ 33 ปี ยังหลบหนีไปได้ โดยตำรวจยังคงแจ้งเบาะแสและหมายจับไปทุกพื้นที่ ให้ช่วยสอดส่องดูแลเพื่อจับกุมตัวให้ได้


 


นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา กรรมการผู้จัดการบริษัททักษิณปาล์ม (2521) กล่าวว่า หลังจากเจ้าหน้าที่เข้าไปคลี่คลายเหตุการณ์ครั้งนี้ ส่งผลให้คนงานเริ่มมีความมั่นใจในการเข้าไปเก็บเกี่ยวปาล์มมากขึ้น หลังไม่กล้าเข้าไปในพื้นที่เพราะกลัวถูกทำร้าย ทำให้สูญเสียรายได้ไปไม่ต่ำกว่า 8 แสนบาท ซึ่งเหตุการณ์ที่คลี่คลายครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เข้าไปคลี่คลายสถานการณ์ให้ดีขึ้น และหวังว่าชาวบ้านจะได้ไม่ถูกหลอกอีกต่อไป


 


"ผมยืนยันว่า พื้นที่สวนปาล์มแห่งนี้ทั้งหมด 1,600 ไร่ เป็นที่ น.ส.3 ก.ทั้งหมด มีเอกสารสิทธิถูกต้อง ไม่ได้เป็นที่สาธารณะแต่อย่างใด โดยบริษัทครอบครัวดำเนินการบุกเบิกมาตั้งแต่ปี 2521 จนถึงปัจจุบัน" นายธนารักษ์ กล่าว


 


ขณะที่ นายนิวัตน์ สวัสดิ์แก้ว ผู้ว่าฯ สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การที่เจ้าหน้าที่เข้าไปสลายม็อบสวนปาล์มนั้น เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทำดีที่สุดแล้วจนได้รับบาดเจ็บหลายคน หลังพยายามเจรจาด้วยดีมาตลอด รวมทั้งมีการแจกใบปลิวให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไป แต่ชาวบ้านไม่ยินยอม


 


"ผมขอยืนยันว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำนิ่มนวลที่สุด ส่วนแกนนำการบุกรุก คือ นายวิมล เชิดชูชน นั้น ตำรวจได้ตั้งรางวัลนำจับถึง 3 แสนบาท" ผู้ว่าฯ สุราษฎร์ธานี กล่าวและว่า การแก้ไขปัญหาความยากจน โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องที่ดินทำกินนั้น เป็นการแก้ไขปัญหาแบบจังหวัดไหนจังหวัดนั้น คนในจังหวัดอื่นจะเข้ามาครอบครองที่ดินในอีกจังหวัดไม่ได้ กระบวนการพิจารณาต้องพิจารณาคนในพื้นที่ก่อนเป็นอันดับแรก


 


สำหรับการสลายการชุมนุมครั้งนี้ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นาย ที่ยังต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี คือ ส.ต.ท.ปัญญา ทองสุข อายุ 34 ปี ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) นครศรีธรรมราช ถูกชาวบ้านใช้มีดพร้าฟันผ่านโล่ ถูกแขนซ้ายเอ็นขาดและกระดูกร้าว ส.ต.อ.วัชกรณ์ พริกบุญจันทร์ อายุ 35 ปี นปพ.สุราษฎร์ธานี ถูกชาวบ้านขับรถกระบะพุ่งชนขาได้รับบาดเจ็บกระดูกหัก และ จ.ส.ต.ทวี นิ่มนวล อายุ 46 ปี นปพ.นครศรีธรรมราช ถูกชาวบ้านใช้มีดพร้าฟันจนกระดูกแตก ขณะที่ชาวบ้านที่ได้รับบาดเจ็บซึ่งยังต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี มีเพียง 1 คนที่อาการหนัก คือ นายพัชรินทร์ ศิริวัฒน์ อายุ 33 ปี ผู้ที่ขับรถกระบะพุ่งชนตำรวจ จึงถูกเจ้าหน้าที่ยิงเข้าที่ขา ส่วนคนอื่นๆ ทยอยออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net